เข้าพรรษาปีนี้ ชวน "ซูเปอร์แม่พ่อ" Say NO! พอแล้วเหล้าเบียร์

เข้าพรรษาปีนี้ ชวน "ซูเปอร์แม่พ่อ" Say NO! พอแล้วเหล้าเบียร์

ถอดบทเรียนความสำเร็จจากแคมเปญ "งดเหล้าเข้าพรรษา" สู่ "ซูเปอร์แม่พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์" กระตุ้นสร้างพลังใจให้พ่อแม่ทั่วประเทศ เลิกดื่มแอลกอฮอล์เพื่อเป็นของขวัญให้กับลูกๆ

แม้ทุกคนจะรับรู้ดีกว่า "การดื่ม" เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เช่น ก่อให้เกิดความรุนแรงในบ้าน เพิ่มความเสี่ยงอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างค่าใช้จ่ายหนี้สินในครัวเรือนมากขึ้น รวมถึงส่งผลต่อสุขภาพ แต่ต้องยอมรับว่า การจะทำให้ใครสักคนอยากลด ละ เลิก เหล้าแอลกอฮอล์นั้น ก็ไม่ใช่เรื่องทำได้ง่ายๆ

บ่อยครั้งที่หลายคนพยายามเลิก แต่สุดท้ายก็กลับมาเริ่มใหม่ บางคนเคยตั้งปฏิญาณหลายครั้ง แต่สุดท้ายก็แพ้ใจตัวแองทุกที สำหรับใครที่วันนี้เลิกไม่ได้ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ "ผิด" หากตั้งหลักได้เมื่อไร ก็อย่าลืม "ลุก" ขึ้นมาลองพยายามอีกสักตั้ง

ซูเปอร์พ่อผู้ไม่ "ท้อใจ"

"ผมเคยตั้งปฏิญาณว่าจะงดจะเลิกเข้าพรรษาทุกปี แต่เราจะทำได้แค่ไม่ถึงสองอาทิตย์ ก็แตก (หัวเราะ) แต่ตอนที่น้องปันปัน ลูกสาวประมาณ ป.3 ป.4 เราก็เห็นว่าเขาเริ่มโตแล้ว ก็อยากทำให้เขา เลยตั้งปฏิญาณว่าช่วงเข้าพรรษาจะหยุดดื่มให้ยาวถึงสิบปี สุดท้ายก็ทำได้ ตอนนี้ผมหยุดดื่มมาได้หนึ่งปีแล้ว"

สมพงษ์ สมควร ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองน่าน สมาชิกโครงการปลูกพลังบวกเพื่อสร้างจิตสำนึกภูมิคุ้มกันลดปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) สำหรับเด็กปฐมวัย ระดับจังหวัด ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จังหวัดน่าน เปิดใจถึงเคล็ดลับส่วนตัวในการเลิกดื่มของเขา ในงานแถลงข่าวงดเหล้าเข้าพรรษา มหามงคล "ซูเปอร์แม่พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์" ซึ่งจัดโดยเครือข่ายงดเหล้าเข้าพรรษา สำนักเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ด้วยหวังกระตุ้นสร้างพลังใจให้ "ซูเปอร์พ่อแม่" ทั่วประเทศหันมาเลิกดื่มแอลกอฮอล์เป็นของขวัญให้กับลูกๆ

จักรี ทองประดิษฐ์ ตัวแทนโครงการรณรงค์ชุมชนสู้เหล้า อ.พิมาย จ.นครราชสีมา กล่าวว่า เริ่มดื่มเหล้าตั้งแต่ยังวัยรุ่น ต่อมาได้รู้จากนักเรียน เราลองลด เลิกดื่ม อีกอย่างอยากประกอบอาชีพสร้างฐานะ พอเลิกแล้วดีขึ้น มีเงินเก็บ จากซื้อเบียร์วันละสองขวด วันละเกือบร้อยบาท มาเป็นเงินเก็บให้กับลูกๆ นอกจากนี้ ยังมีเวลาให้กับครอบครัวให้กับลูกๆ ด้วย

งดเหล้าเข้าพรรษาช่วยชาติประหยัดกว่า 3 พันล้าน

ช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทศกาล "วันเข้าพรรษา" ได้กลายเป็นก้าวแรก หรือหมุดหมายสำคัญให้กับนักดื่มที่อยากลด ละ เลิกแอลกอฮอล์ โดยมีหลายคนสามารถละเลิกได้จนครบกำหนดเวลา 3 เดือน ขณะเดียวกัน ยังมีคนอีกนับล้านคนสามารถเลิกดื่มเหล้าได้ตลอดชีวิตหลังในช่วง เทศกาลเข้าพรรษา นี้

เข้าพรรษาปีนี้ ชวน \"ซูเปอร์แม่พ่อ\" Say NO! พอแล้วเหล้าเบียร์

ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า เป็นเวลา 20 ปี สสส. และภาคีเครือข่ายทำหน้าที่รณรงค์ให้ประชาชนไทยหันมา ลด ละ เลิกเหล้าต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันความสำเร็จการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี 2564 สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า และสมาคมเครือข่ายงดเหล้า ลดปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาพ สำรวจพบคนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดื่มช่วงเข้าพรรษา 6,608,242 คน แบ่ง 3 กลุ่ม 1. งดเหล้าได้ตลอดพรรษา 3 เดือนและตั้งใจงดต่อไปจนออกพรรษา 2,780,216 คน 2. งดเป็นบางช่วง (ไม่ครบพรรษา) 1,401,864 คน และ 3. ไม่งดแต่ลดการดื่มลง 2,426,162 คน 

ขณะที่ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ (SAB) พบการงดเหล้าเข้าพรรษาทำให้สุขภาพกายใจดีขึ้น ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายทั้งประเทศได้ประมาณ 3,397,661,367 ล้านบาท เฉลี่ยในช่วง 3 เดือน พบประหยัดเงิน 1,432 บาท/ครัวเรือน และหลายคนตั้งใจจะลด ละ เลิก ในปีต่อๆ ไป เพราะส่งผลดีต่อตัวเองและครอบครัว และเป็นเรื่องน่าดีใจที่หลายคนสามารถเลิกเหล้า และร่วมขบวนชักชวนคนอื่น เป็นต้นแบบ เป็นวิทยากรในการชวนคนอื่นให้เลิกเหล้าไปด้วย

จากงดเหล้าเข้าพรรษา ถึงซูเปอร์แม่พ่อฯ

สำหรับในปี 2565 นี้ เหล่าภาคีจึงร่วมกันขับเคลื่อนงานผ่านแนวคิด "ซูเปอร์แม่-พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์" ลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ อบายมุขเพื่อสร้างสุขให้สังคม ตนเอง ครอบครัว 

ดร.สุปรีดา อธิบายว่า การดำเนินงานปีนี้มีแคมเปญรณรงค์ต่อเนื่องจากปี 2564 ใช้ชื่อว่า "Mr.พ่อ พอแล้วเหล้า" มีเป้าหมายให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ทำหน้าที่เสมือนฮีโร่ในใจลูก เป็นตัวอย่างของการห่างไกลอบายมุขทุกชนิด โดยเฉพาะเหล้า-บียร์ และ "ระวังมันมาเล็ง" เพื่อทำให้เห็นพิษภัยของเหล้าว่าไม่ใช่แค่ทำให้เกิดมะเร็งตับ แต่ยังทำให้เป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร และเต้านม

เข้าพรรษาปีนี้ ชวน \"ซูเปอร์แม่พ่อ\" Say NO! พอแล้วเหล้าเบียร์

"ปีนี้ สสส. รณรงค์ลด ละ เลิกเหล้า 1,048 ชุมชน รวม 158 อำเภอทั่วประเทศ ตั้งเป้าขยายไป 500 อำเภอ ผ่านโครงการพัฒนาคนหัวใจหิน หัวใจเหล็ก หัวใจเพชร ซึ่งในเรื่องงดเหล้าเข้าพรรษาปีนี้ จุดเน้นอยู่ครอบครัว เนื่องจากเราได้บทเรียนว่าครอบครัวเป็นส่วนสำคัญในการกระตุ้นให้ลด ละ เลิกดื่ม ครอบครัวเป็นส่วนที่น่าจะดึงรั้งได้ เพราะพ่อแม่เป็นซูเปอร์ฮีโร่ของลูกอยู่แล้ว การเป็นต้นแบบในเรื่องต่างๆ แทบทุกเรื่อง" ดร.สุปรีดา กล่าว

ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) พลังเครือข่ายงดเหล้าเข้าพรรษา : ซูเปอร์แม่พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์ เอ่ยถึงความสำเร็จที่ผ่านมาว่า ผลลัพธ์โครงการนี้ ไม่ใช่แค่เปลี่ยนพฤติกรรมนักเลิกแต่ยังเปลี่ยนนักดื่มหน้าใหม่ ซึ่งเราไม่ได้มองชุมชนแค่ชุมชนสู้เหล้า แต่เรามองความยั่งยืนในหลายพื้นที่ ซึ่งโจทย์สำคัญคือเราจะขยายผลอย่างไร สิ่งที่จะขยายผลคือข้อมูล มีข้อมูลที่จะชี้แจงว่างดเหล้าในหลายพื้นที่สามารถประหยัดเงินเท่าไหร่ มีครอบครัวดีขึ้นอย่างไร มีต้นแบบอย่างไร 

"ที่ผ่านมา เราสามารถเปลี่ยนงานประเพณีปลอดเหล้า ซึ่งประหยัดเงินได้ 140 ล้านบาท ข้อมูลเหล่านี้จะส่งฟีดแบ็กกลับไปที่ระดับอำเภอ ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่นายอำเภอได้เห็นข้อมูลฟีดแบ็ค ก็จะทำให้เห็นว่าเกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง จะทำให้เกิดความยั่งยืนได้" ผจก.เครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าว

ซูเปอร์แม่พ่อ พอแล้วเหล้าเบียร์

ปัจจุบันมีครอบครัวเป็นสมาชิกเลิกเหล้าเบียร์เป็นซูเปอร์ฮีโร่ กว่า 5,000 ครอบครัวในชุมชนต่างๆ ทั่ว ธีระยังเอ่ยแนะนำทักษะในการใช้ภาษารักในครอบครัว สร้างแรงจูงใจให้คนในบ้านลด ละ เลิกได้ โดยปีนี้แนะนำให้ทุกบ้านใช้คำพูด 3 เพิ่ม 1 เลี่ยง ได้แก่

  1. เพิ่มแสดงความรู้สึก เช่น กังวล เป็นห่วง เสียใจ ไม่สบายใจ  ดีใจ เป็นกำลังใจ  
  2. เพิ่มเวลาฟัง เพราะคนที่มีปัญหาส่วนหนึ่งอยากให้มีคนฟังและเข้าใจ 
  3. เพิ่มการสัมผัสกอด และกิจกรรมในครอบครัว
  4. เลี่ยงคำพูดหรือการกระทำที่ทำให้ผู้ดื่มเหล้าไม่สบายใจ 

เข้าพรรษาปีนี้ ชวน \"ซูเปอร์แม่พ่อ\" Say NO! พอแล้วเหล้าเบียร์

ว่าที่ร้อยตรีนิพล แสงศรีธูป แห่งบ้านคลองไทร จ.นครสวรรค์ หนึ่งในแกนนำโครงการรณรงค์โพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า เผยแรงจูงใจการเข้าร่วมโครงการ ร่วมกับภรรยา และลูกสาว "น้องไอโฟน" ว่า ตนเองเคยดื่มมาก่อน แต่หลังเข้าร่วมโครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ 2553-2554 ต่อมายังเข้าร่วมโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า เกิดความซึมซับ และตั้งเป้าจะเป็นตัวอย่างให้กับลูกศิษย์ 

"ผมเป็นครูสอนเด็ก เราก็ต้องเป็นตัวอย่างให้เขา เราเคยสำรวจเด็กๆ ในห้องพบว่าผู้ปกครองส่วนใหญ่ดื่มเหล้าเกือบทุกคน เด็กบางคนอายุเพียง 13-14 ปีก็เริ่มดื่มแล้ว โดยกิจกรรมในปีแรกๆ มีทั้งการเดินรณรงค์ในชุมชน การส่งเสริมให้เด็กๆ วาดภาพระบายสีบอกรักคุณพ่อคุณแม่ให้เลิกเหล้า นอกจากนี้ ผมยังเป็นตัวอย่างเล่าประสบการณ์ตรงว่าแอลกอฮอล์ส่งผลเสียอย่างไรต่อสุขภาพต่อครอบครัว" ครูนิพล กล่าว

ยุวดี แสงศรีธูป ภรรยาของครูนิพล กล่าวว่า ที่บ้านเป็นร้านขายของชำ เราจะเห็นภาพคนในชุมชนตลอด เคยมีพ่อกับลูกคู่หนึ่งมาซื้อเหล้า กำเงินมาประมาณ 40 บาท ลูกก็ร้องขอพ่ออยากกินขนม พ่อตอบกลับว่าจะกินทำไมไม่มีประโยชน์ แต่ก็ตะโกนขอซื้อเหล้า เราอยากเป็นต้นแบบให้คนอื่นเห็นว่า เราโชคดีที่คนในครอบครัวไม่ดื่มเหล้า มันทำให้ครอบครัวเรามีความสุข เลยอยากเป็นตัวอย่างที่ดี 

ภาคีร่วมใจ ชวน ช่วย เชียร์ ไม่ดื่ม

บุญลือ ธรรมธรานุรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารการปกครองท้องที่ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า เนื่องในวันเข้าพรรษาทุกปี ถือเป็น "วันงดดื่มสุราแห่งชาติ" ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 14 กรกฎาคม 2565 ปีนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบคำขวัญในวันงดดื่มสุราแห่งชาติ ไว้ว่า "ปลอดเหล้า ปลอดโรค ห่างไกลโควิด19" เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนลดการดื่มแอลกอฮอล์ เพิ่มเงินในกระเป๋า เพิ่มภูมิคุ้มกันร่างกาย เพิ่มความสุขในครอบครัว กระทรวงมหาดไทย ในฐานะภาคีเครือข่ายร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เชิญชวนนายอำเภอทั้ง 878 อำเภอ จัดกิจกรรม "นายอำเภอชวนชาวบ้านงดเหล้าเข้าพรรษา" ผ่านกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และเครือข่ายงดเหล้าในพื้นที่ โดยเชิญชวนประชาชนแสดงเจตนารมณ์งดดื่มแอลกอฮอล์ และลงทะเบียนออนไลน์เข้าร่วมโครงการ ตามแนวทาง 4 ช. ได้แก่ "ชวน ช่วย เชียร์ เชิดชู" 

  1. "ชวน" ได้แก่ การชักชวนภาคีเครือข่าย ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของรัฐ ผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และชาวบ้านทั่วไปร่วมกิจกรรมงดเหล้า เข้าพรรษา 
  2. "ช่วย" ได้แก่ การช่วยสนับสนุน ประชาสัมพันธ์ รณรงค์ ร่วมถึงการขับเคลื่อนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาผ่านภาคีเครือข่าย เช่น บวร คือ บ้าน วัด โรงเรียน เข้าร่วมกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษา 
  3. "เชียร์" คือ การเยี่ยมให้กำลังใจและเชิญชวนประชาชนงดเหล้าช่วงเข้าพรรษา และเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนกิจกรรมงดเหล้าเข้าพรรษาต่างๆ 
  4. "เชิดชู" คือ การยกย่อง เชิดชู ชุมชน หมู่บ้าน กลุ่มบุคคล หรือบุคคล เพื่อเป็นต้นแบบตัวอย่างเป็นการสร้างแรงจูงใจให้ประชาชน 

ดร.ประยูร อรัญรุท นายอำเภอเมืองหนองบัวลำภู จ.หนองบัวลำภู "นายอำเภอต้นแบบ : นักรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา" เปิดใจว่า ได้ดำเนินโครงการนี้มาตั้งแต่สมัยเป็นนายอำเภอด่านซ้าย วังสะพุง จนย้ายมาที่นหนองบัวลำภู ก็ยังนำแนวคิดดังกล่าวมาขับเคลื่อนในชุมชน 

"ทุกเวทีที่พูด เวลาประชุมพยายามสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลเองก็รณรงค์ในเรื่องการลดค่าใช้จ่าย ลดความยากจน อย่างในงานประเพณี งานบุญต่างๆ เมื่อไม่มีเหล้าก็ประหยัดมากๆ รวมถึงช่วงปีใหม่ สงกรานต์เราก็ให้งดเหล้าเพื่อลดอุบัติเหตุ ผมพยายามยกตัวอย่างให้เห็น เราเองก็ไม่ใช่ไม่เคยดื่ม แต่ดื่มแล้วส่งผลกระทบต่อชีวิตเราอย่างไร ทั้งสุขภาพ เงินทอง สติปัญญา พอเลิกแล้วก็มีทุนทรัพย์ที่จะเรียนต่อ สุขภาพดีขึ้น และเมื่อใครคิดเลิกเหล้าเราก็จะเชิดชู ให้เกียรติเขา" นายอำเภอต้นแบบ กล่าว

รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้อำนวยการศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด กล่าวเสริมถึงการให้คำปรึกษาผู้ที่อยากเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่ม โดยให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์แบบครบวงจรรวมไปถึงการสื่อสารช่องทางต่างๆ ทางสื่อสังคมออนไลน์ ช่วงเข้าพรรษาของทุกปี มีคนโทรเข้ามาปรึกษาเลิกเหล้ามากขึ้น ปี 2563-2564 ตั้งแต่กรกฎาคม-กันยายน พบคนโทรมาขอคำปรึกษา 3,500 – 5,000 สาย เพื่อรองรับการให้บริการช่วงเข้าพรรษา สายด่วน 1413 ได้เพิ่มจำนวนคู่สาย และเพิ่มนักจิตวิทยาให้คำแนะนำประเมินความเสี่ยงกับประชาชน ที่ต้องการเลิกดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อเป็นสะพานเชื่อมให้คนที่อยากเลิกดื่มเริ่มเข้าสู่กระบวนการบำบัด รับการรักษาด้วยวิธีเหมาะสม และไม่เป็นอันตราย

รศ.พญ.รัศมน ให้ข้อมูลทิ้งท้ายว่า ปีนี้ 1413 สายด่วนเลิกเหล้า เพิ่มการให้คำปรึกษาสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมโครงการโพธิสัตว์น้อยลูกขอพ่อแม่เลิกเหล้า ส่วนประชาชนที่ต้องการลด ละ เลิกเหล้า หรือผู้ได้รับผลกระทบจากการดื่ม สามารถติดต่อได้ทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ ศูนย์ปรึกษาเพื่อการเลิกสุราและการเสพติด หรือทางไลน์ @1413helpline บริการทุกวันวันจันทร์-อาทิตย์ ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 08.00 - 20.00 น.