เปิดประวัติใครริเริ่ม "งานแห่เทียนพรรษาอุบล" ผ่านบันทึก ครูประดับ ก้อนแก้ว
เริ่มแล้วประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี 2565 ชมฝีมือช่างเทียนเมืองอุบลสุดอลังการ สืบประวัติใครเป็นผู้ริเริ่มประเพณีแห่เทียนพรรษาเมืองอุบลจากบันทึก ครูประดับ ก้อนแก้ว ปรมาจารย์ทำเทียนพรรษาอุบล ชนะเลิศ 17 ครั้ง
ประเพณี แห่เทียนพรรษา เป็นงานบุญประเพณีที่สำคัญและยิ่งใหญ่ของจังหวัด อุบลราชธานี มาอย่างยาวนาน โดย ประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี ใน "วันเข้าพรรษา" ปีนี้ใช้ชื่องานว่า “121 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2565 ณ บริเวณหน้าศาลหลักเมืองอุบลราชธานี จ.อุบลราชธานี
นั่นหมายความว่า “ประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี” เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2444
เอกสารประกอบการอบรมในโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดทำต้นเทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อสืบสานตำนานประเพณีดั้งเดิม” ที่จัดโดยสำนักวิทยบริการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เผยแพร่ข้อมูลที่ ครูประดับ ก้อนแก้ว ผู้รวบรวมและเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใน งานประเพณีแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ระบุว่า
ก่อนพุทธศตวรรษที่ 24 ในช่วง “บุญเดือนแปด” หรือ บุญเข้าพรรษา ชาวบ้านชาวคุ้มเมืองอุบลราชธานีแต่ละบ้านจะทำ เทียนพรรษา ไปถวายพระสงฆ์ โดยจะฝั้นขี้ผึ้งให้เป็นเทียนเล่มเล็ก ๆ ขนาดความยาวเท่าคืบ เท่าศอก เท่ารอบศีรษะ หรือเทียนเวียนหัว (ภาษาอีสานเรียกว่า ค่าคืบ ค่าศอก ค่าคิง)
ความวิจิตรของเทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี พ.ศ.2565 (ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี)
ต่อมาได้มีการจัดทำ เทียนพรรษาแบบรวมกลุ่ม โดยแต่ละบ้านที่อยู่ในชุมชนหรือในคุ้มจะนำเทียนมารวมกันก่อน แล้วจึงนำไปถวายพระสงฆ์ที่วัดร่วมกัน
โดย เทียนเล่มสั้น ก็จะทำเป็น “เทียนพุ่ม” หรือพุ่มเทียน ตั้งวางบนพานหรือขัน เพื่อให้เกิดความสวยงาม
เทียนเล่มยาว หรือขนาดเท่าตัว ก็จะนำมามัดรวมกันเข้าเป็นรูปทรงกลมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้าง ผูกติดไว้กับโครงไม้เพื่อป้องกันเทียนหัก การรวมเทียนพรรษาเป็นกลุ่มนี้แสดงถึงความสามัคคีในหมู่คณะ
ครูประดับ ก้อนแก้ว
จะรู้จักเทียนพรรษาอุบลฯ ต้องรู้จักครูประดับ ก้อนแก้ว
ครูประดับ ก้อนแก้ว อดีตผู้อำนวยการ ระดับ 9 โรงเรียนอุบลวิทยาคม เกิดเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ.2473 เป็นศิลปินช่างทำเทียนผู้สั่งสมองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญในการทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีมากกว่า 60 ปี เป็นผู้รวบรวมและเรียบเรียงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในงานประเพณีแห่เทียนพรรษาของจังหวัดอุบลราชธานี
ครูประดับให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ "การศึกษาภูมิปัญญาท้องถิ่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอุบลราชธานี เขต1" ว่า จากสมัยเด็กเคยอยู่วัดเป็นลูกศิษย์ วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) เห็นการทำเทียนประกวดมาตั้งแต่เด็ก พอเข้าปี 2497 จึงขอช่างทำด้วยคน ทีแรกช่างหวงวิชา ไม่ให้เข้าใกล้ จนวันหนึ่งช่างซึ่งมีอายุ 70 ปีล้มป่วย ครูประดับแอบโขมยทำเทียน ช่างตื่นมาเห็นฝีมือดี ถามใครทำ พอรู้เป็นครูประดับก็ขอให้ทำต่อ แต่เมื่อส่งเทียนพรรษาเข้าประกวดก็ไม่ชนะ
ปี 2498 "ครูประดับ" อาสาทำเทียนพรรษาใหม่ด้วยความคิดตนเองทั้งหมด เป็น เทียนประเภทติดพิมพ์ และมีการแต่งรถ ได้อาจารย์อารี สินสวัสดิ์ ช่วยแนะนำ ทำให้การตกแต่งขบวนรถสวยงามขึ้นมา ต้นเทียนพรรษาก็ชนะเลิศในปีนั้นเป็นปีแรกในชีวิต ได้เงิน 100 บาท ข้าวสาร 1 กระสอบ น้ำมันก๊าด 1 ปี๊บ เป็นของรางวัล
การตกแต่งต้นเทียนพรรษายุคแรก (ภาพ : มหาวิทยาลัยอุบลฯ)
ต้นเทียนพรรษาในช่วงแรกๆ ยังไม่สูงใหญ่มาก ขนาดเท่าลำต้นหมาก ดูไม่สวยเท่าไร ครูประดับคิดทำองค์ประกอบเสริมเพื่อให้น่าดู จึงนำไม้อัดมาฉลุเป็นพญานาค ติดเข้ากับฐานต้นเทียนทั้้งสี่ด้านให้เป็นพญานาค 4 ตัว แต้มลายสี เอา “ดอกผึ้ง” ที่พิมพ์ออกมา ติดเป็นเกล็ดนาคตามลำตัว ดูสดสวยขึ้นมา การส่งเทียนพรรษาเข้าประกวดในปี 2499 ก็ชนะเป็นครั้งที่สอง
ครูประดับ ถือเป็นช่างเทียนคนแรกของอุบลราชธานีที่ทำองค์ประกอบติดต้นเทียน เป็นต้นแบบของต้นเทียนพรรษาอุบลฯ มาจนทุกวันนี้
ครูประดับทำเทียนพรรษาเข้าประกวดในนาม วัดมหาวนาราม ได้รางวัลชนะเลิศรวม 17 ครั้ง ต่อเนื่องสูงสุด 4 ปี จากนั้นไปทำเทียนพรรษาให้ วัดศรีประดู่ วัดก็ได้รางวัลชนะเลิศ
หลังจากรับตำแหน่งผู้อำนวยการ ระดับ 9 โรงเรียนอุบลวิทยาคม ซึ่งโรงเรียนรับเป็นเจ้าภาพทำเทียนพรรษาให้ วัดปทุมมาลัย ในปี 2531 เทียนพรรษาปีนั้นหลายคนชมว่าสวยงามที่สุด คว้ารางวัลชนะเลิศตามคาด และถือเป็นครั้งสุดท้ายที่ครูประดับทำเทียนพรรษา เนื่องจากคณะช่างเทียนขอให้ครูประดับหยุดทำเทียน เพราะถ้ายังทำอยู่ โอกาสที่ช่างคนอื่นๆ จะได้รางวัลก็เหลือน้อย โดยขอให้ครูประดับเริ่มบทบาทใหม่เป็นคณะกรรมการตัดสิน
- สำนักงานวัฒนธรรมแห่งชาติ ประกาศให้ครูประดับ ก้อนแก้ว เป็น ผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม ในปีพ.ศ.2530
- สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ประกาศเชิดชูเกียรติให้ครูประดับ ก้อนแก้ว เป็น ศิลปินพื้นบ้านอีสาน ประจำปีพ.ศ.2560 สาขาประติมากรรมและสาขาสถาปัตยกรรม
ขบวนแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี เอื้อเฟื้อภาพโดย คุณสาทิส หาญสกุล
ลำดับการแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 24
- พ.ศ.2444 กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์ ข้าหลวงต่างพระองค์ของรัชกาลที่ 5 ผู้มาปกครองหัวเมืองมณฑลอีสานและประทับที่เมืองอุบลราชธานี ได้ดำริให้มีการแห่ขบวนเทียนพรรษารอบเมืองเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ.2444
- พ.ศ.2470 มีการคิดริเริ่มหล่อเทียนพรรษาด้วยการทำเป็นรางไม้หรือโฮงไม้ขึ้นเป็นครั้งแรก
- พ.ศ.2480 มีการทำต้นเทียนพรรษาเพื่อการประกวดครั้งแรก จำนวน 4 ต้น ซึ่งนายประดับ ก้อนแก้ว เคยเห็นว่าต้นเทียนพรรษามีลักษณะทำเป็นลายดอกขนาดโตติดตามลำต้น และติดห่าง ๆ กัน
- พ.ศ.2494 นายชอบ ชัยประภา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี สนับสนุนให้ การแห่เทียนพรรษาเป็นงานประจำปี ของจังหวัดอุบลราชธานี
- พ.ศ.2495 มีการนำ รถยนต์ มาใช้ในการตั้งต้นเทียนพรรษาแทนเกวียน และมีการรื้อฟื้นการประกวดเทียนพรรษาแบบมัดรวม และแบบติดพิมพ์
- พ.ศ.2498 นายประดับ ก้อนแก้ว ริเริ่มการทำต้นเทียนพรรษาโดยจัดทำรูปสัตว์มาเป็นองค์ประกอบของต้นเทียนพรรษา ซึ่งเป็นรูปสัตว์ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา คือ พญานาค
ขบวนแห่เทียนพรรษา จ.อุบลราชธานี พ.ศ.2565 (ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี)
ลำดับการแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ช่วงพุทธศตวรรษที่ 25
พ.ศ.2500 นายประดับ ก้อนแก้ว ยังคงทำพญานาคเป็นองค์ประกอบของต้นเทียนพรรษา แต่มีขนาดใหญ่ชูหัวชูตัวโอบล้อมฐานต้นเทียน โดยการปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์
ในปี 2500 นี้มี "ครูสวนและครูสงวน คูณผล" มาช่วยสนับสนุนอุปกรณ์ในการทำ คือ สีตราสตางค์สีเขียว สีเหลือง และผลไม้ต่าง ๆ เพื่อนำมาแกะสลักทำเป็นเกล็ดของพญานาค ทำเป็นแม่พิมพ์สำหรับทำดอกผึ้ง (ดอกขี้ผึ้ง) เช่น ฟักทอง มะละกอ มันเทศ
การทำเกล็ดพญานาค ใช้ขี้ผึ้งหลอมให้ละลายด้วยความร้อนผสมกับสีเขียว จากนั้นนำผลไม้ที่แกะสลักเป็นรูปเกล็ดพญานาคหรือแม่พิมพ์เสียบด้วยไม้
ใช้มือจับก้านเสียบแล้วจุ่มลงในขี้ผึ้งให้ติดกับแม่พิมพ์ แล้วนำไปจุ่มในน้ำเย็น เพื่อให้ขี้ผึ้งหลุดออกจากแม่พิมพ์เป็นดอก ๆ เรียกว่า “ดอกผึ้ง” ทำไว้จำนวนมากพอสำหรับติดบนลำตัวพญานาค
ต้นเทียนพรรษาที่ทำขึ้นในปีนั้นเป็นของ “วัดมหาวนาราม” สร้างความฮือฮาให้แก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก
พ.ศ.2502 เริ่มมีการทำเทียนพรรษาแบบแกะสลักขึ้นโดยนาย คำหมา แสงงาม ช่างปูนและช่างไม้ที่เคยทำลวดลายประตู หน้าต่าง ซุ้มประตูให้กับวัด ได้ดัดแปลงนำ ลวดลายกนก มาแกะสลักลงบนต้นเทียนพรรษาแทนการติดดอก เป็นการทำต้นเทียนพรรษาให้แก่คุ้มบ้านวัดกุกเป่ง อำเภอวารินชำราบ
ชุมชนทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี
แต่พอถึงปี พ.ศ.2510 ไม่มีการจัดงานแห่เทียนพรรษา ไม่มีการประกวดต้นเทียนพรรษา ด้วยเพราะมีคณะชาวพุทธสมาคมจังหวัดอุบลราชธานี ค้ดค้านว่าเป็นเรื่องงมงาย สิ้นเปลือง และเสียเวลา
แต่หยุดจัดงานได้ปีเดียว ก็มีการจัดงานแห่เทียนพรรษาขึ้นอีกครั้งในปีพ.ศ.2511 ครั้งนี้มีกำลังศรัทธาในการสร้างมากขึ้น ทำให้มีการทำต้นเทียนพรรษาที่มีขนาดใหญ่และสูงขึ้นกว่า 2 เมตร ด้วยความเชื่อว่าจะจุดได้สว่างและทนทานขึ้น เมื่อทำการประกวดต้นเทียนพรรษาเสร็จแล้ว คุ้มวัดจะนำต้นเทียนพรรษาไปถวายที่วัด แต่เนื่องจากมีขนาดใหญ่ไม่สามารถเข้าประตูวัดได้ พระสงฆ์จึงรับแต่เครื่องไทยทาน
พ.ศ.2520 เป็นปีแรกที่ องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนให้การจัดงานแห่เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานีเป็นงานระดับชาติ เป็นปีที่ ต้นเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ว่ามีความยิ่งใหญ่ สวยงามตระการตา มีการจัดงานแห่เทียนพรรษาถึง 3 วัน 3 คืน ประชาสัมพันธ์อย่างครึกโครม ทำให้ประชาชนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลมาชมงานอย่างหนาแน่น
ความโด่งดังของ งานแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี ทำให้เริ่มมี สถานีโทรทัศน์ เข้ามาถ่ายทำงานแห่เทียนพรรษาในปีพ.ศ.2529 ช่างทำเทียนแต่ละวัดมีความกระตือรือร้นในการทำเทียนพรรษา เพราะมีรางวัลเพิ่มขึ้น
เทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ปี 2547 เอื้อเฟื้อภาพโดย อ.ปัญญา แพงเหล่า
มีหลายครั้งที่ "งานแห่เทียนพรรษาอุบล" จัดขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- เริ่มจากปีพ.ศ.2530 เป็นปีที่ "ในหลวง รัชกาลที่ 9" ทรงมีพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา จึงได้มีการจัดทำเทียนพรรษาเพื่อเทิดพระเกียรติ
- พ.ศ.2539 จัดงานแห่เทียนพรรษา เพื่อเฉลิมพระเกียรติ “รัชกาลที่ 9” ทรงครองสิริราชสมบัติ 50 ปี กาญจนาภิเษก
- พ.ศ.2542 “งานแห่เทียนพรรษา เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา มหาราชา” เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ “รัชกาลที่ 9” และเป็นที่มาของเทียนเฉลิมพระเกียรติฯ ตั้งอยู่ในบริเวณทุ่งศรีเมือง และจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษา จำนวน 10 วัน เป็นครั้งแรก
- พ.ศ.2543 ชื่องาน “หลอมบุญบูชา ถวายไท้นวมินทร์” มีความหมายถึง การหล่อเทียนพรรษาของชาวอุบลฯ เป็นการบำเพ็ญกุศลร่วมกัน การหล่อหลอมจิตศรัทธาให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่องค์พระมหากษัตริย์ เนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลอง ปีกาญจนาราชาภิเษก 50 ปี ของ รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- พ.ศ.2547 ชื่องาน “ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา เทิดไท้ 72 พรรษา มหาราชินี” เนื่องจากเป็น ปีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- ปี 2548 ชื่องาน “น้อมรำลึก 50 ปี พระบารมีแผ่คุ้มเกล้าฯ ชาวอุบลฯ” เนื่องจากเมื่อวันที่ 16-17 พฤศจิกายน พ.ศ.2498 รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จเยือนอุบลราชธานีเป็นครั้งแรก
- พ.ศ.2549 ชื่องาน “60 ปี พระบารมีแผ่ไพศาล งามตระการเทียนพรรษา เทิดราชัน” มีแนวคิดในการจัดงานเพื่อแสดงความจงรักภักดีแด่ “รัชกาลที่ 9” ในวโรกาสทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
- พ.ศ.2550 ชื่องาน “ฮุ่งเฮืองเมืองธรรม เลิศล้ำเทียนพรรษา ปวงประชาพอเพียง” เนื่องจากเป็นปีมหามงคลเฉลิมพระเกียรติ รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระชนมพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 เพื่อแสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่มีต่อพสกนิกรปวงชนชาวไทย และการน้อมนำแนวพระราชดำรัสมาใช้ดำเนินชีวิต
เทียนพรรษาวัดพระธาตุหนองบัว พ.ศ.2565 (ภาพ : ประเสริฐ เทพศรี)
จังหวัดอุบลราชธานีจัดงานประเพณีแห่เทียนพรรษาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งถึง ปีพ.ศ.2562 ใช้ชื่องานว่า “118 ปี เทียนพรรษา เทิดราชาขวัญแผ่นดิน” แนวคิดเพื่อย้อนตำนาน 118 ปี นับจากที่ "กรมหลวงสรรพสิทธิประสงค์" ดำริให้มีการแห่ขบวนเทียนพรรษารอบเมืองเป็นครั้งแรกแทนการแห่บุญบั้งไฟ เมื่อพ.ศ.2444
ประการสำคัญ เพื่อเป็นการเฉลิมฉลองเนื่องในโอกาส พระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดี ศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ์ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 4-6 พฤษภาคม 2562
เทียนพรรษา อุบลฯ ปีพ.ศ.2565
บรรยากาศพิธีเปิดงานแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี 2565
บรรยากาศพิธีเปิดงานแห่เทียนพรรษาอุบลราชธานี 13 ก.ค.2565
ล่าสุดปีพ.ศ.2565 จังหวัดอุบลฯ ใช้ชื่องานประเพณีแห่เทียนพรรษา ว่า “121 ปี ทวยราษฎร์ใฝ่ธรรม งามล้ำเทียนพรรษา” ระหว่างวันที่ 11-17 กรกฎาคม 2565 โดยใน วันพฤหัสฯ ที่ 14 ก.ค. มีพิธีอัญเชิญเทียนพรรษาพระราชทานและผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน เป็นเทียนชัยมิ่งมงคลนำขบวนแห่เทียนพรรษา ณ บริเวณปะรำพิธีหน้าวัดศรีอุบลรัตนาราม พิธีทอดถวายเทียนพรรษา-ผ้าอาบน้ำฝนพระราชทาน และพิธีมอบรางวัลการประกวดต้นเทียนพรรษา, ภาคกลางคืนมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมประกอบแสง-เสียงบริเวณหน้าวัดศรีอุบลรัตนารามและหน้าลานขวัญเมือง (ศาลากลางหลังเก่า)
- วันที่ 14-17 ก.ค. จัดแสดงต้นเทียนพรรษาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รองชนะเลิศอันดับ 1 และรองชนะเลิศอันดับ 2 บริเวณทุ่งศรีเมือง
- วันที่ 14-17 ก.ค. ชมวิถีวัฒนธรรมเฮือนอีสาน การแสดงศิลปวัฒนธรรมอัตลักษณ์เมืองอุบล (5 กลุ่มอำเภอ), การจำหน่ายสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชน บริเวณลานเทียน ทุ่งศรีเมือง
- วันที่ 19-31 ก.ค. กิจกรรม "เทียนอุบล ยลได้ตลอดเดือน" ณ วัดบูรพา วัดพลแพน วัดพระธาตุหนองบัว วัดผาสุการาม และวัดศรีประดู่
จังหวัดอุบลราชธานีและหลายภาคส่วนได้ร่วมกันส่งเสริมและสนับสนุนให้มีกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับการทำเทียนพรรษาตลอดทั้งเดือนก่อนจะถึงวันเข้าพรรษา อาทิ การเยือนชุมชนทำเทียนพรรษา การแสดงและการแห่เทียนพรรษา โดยมีพัฒนาและสร้างสรรค์งานอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด เพื่ออนุรักษ์งานประเพณีอันดีงามนี้ไว้ เพื่อสร้างบุญกุศล สืบสานศิลปวัฒนธรรม
และสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนจังหวัดอุบลราชธานี
* * * * *
อ้างอิงและขอบคุณภาพจาก
บันทึกท้องถิ่น ประดับ ก้อนแก้ว ปรมาจารย์การทำเทียนพรรษาจังหวัดอุบลราชธานี ตอนที่ ๑
สารสนเทศท้องถิ่นอีสาน ณ อุบลราชธานี
สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
ประเสริฐ เทพศรี