พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน เปิดเข้าชมฟรี วันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 ก.ค.2565
เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2565 “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” เปิดเข้าชมฟรี 10.00 - 15.30 น. พร้อมรอบการแสดงโขน
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน คือ พิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผลงานของช่างสถาบันสิริกิติ์ ที่ "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง" ทรงตั้งพระราชหฤทัยให้มีพิพิธภัณฑ์ที่รวบรวมผลงานตั้งแต่เริ่มทำในระยะแรกๆ จนถึงผลงานประณีตศิลป์ชิ้นเอก (Masterpiece) ที่ช่างสถาบันสิริกิติ์รังสรรค์อย่างพิถีพิถัน ด้วยสองมือลูกหลานชาวนาชาวไร่ผู้ยากจน ไม่มีแบบ ไม่มีพิมพ์ ไม่มีหุ่น
ผลงานบางชิ้นใช้เทคนิคที่มีรากฐานจากศิลปะไทยโบราณตั้งแต่สมัยอยุธยา และหลายชิ้นได้รับการสร้างสรรค์โดยใช้ เทคนิคที่คิดค้นขึ้นเป็นครั้งแรก ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เนื่องในโอกาส วันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2565 “พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน” เปิดเข้าชมฟรี ระหว่างเวลา 10.00 - 15.30 น.
โดยผลงานที่จัดแสดงใน พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน อยู่ในขณะนี้ "สถาบันสิริกิติ์" ได้คัดเลือก ผลงานประณีตศิลป์ชิ้นเอก และ ผลงานศิลปาชีพคัดสรร ซึ่งรวบรวมเทคนิคโบราณของไทยไว้มากมาย อาทิ งานคร่ำเงิน คร่ำทอง ถมเงิน ถมทอง งานแกะสลักไม้ งานตกแต่งด้วยปีกแมลงทับ
เรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยจำลอง
เรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยจำลอง
เรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยจำลอง สร้างจำลองมาจากเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชย ซึ่งเป็นเรือพระที่นั่งรองในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 ปัจจุบันเหลือเพียงโขนเรือรูปหน้าเหรา (เห-รา) ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เรือพระราชพิธี ส่วนลำตัวเรือนั้นเสียหายจากระเบิดในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2
ช่างสถาบันสิริกิติ์จำลองเรือลำนี้ โดยมีโครงและคานเรือทำด้วยเงินทาทอง กงเรือเป็นงานสลักไม้ปิดทองคำเปลว ท้องเรือและลำเรือทั้งสองข้างถมทองลายดอกพุดตาน โขนเรือเป็นทองคำลงยาสลักรูปหน้าเหรา กลางเรือทอดพระมหาสุวรรณบุษบกบัลลังก์ทองคำลงยา พระวิสูตรหรือผ้าม่านที่ตกแต่งในบุษบกนั้นประดิษฐ์ด้วยห่วงทองคำขนาดเล็กร้อยต่อกันคล้ายผ้าม่าน ร้อยห่วงเป็นลายแก้วชิงดวง พื้นเรือส่วนที่รองรับฐานบุษบกตกแต่งด้วยแผ่นทองคำฉลุลายซับปีกแมลงทับ ปักฉัตรสลักฉลุทอง 7 ชั้นและ 5 ชั้นขนาบข้างบุษบกทั้งสองด้าน ส่วนของเกรินปักธงสามชายเป็นทองคำฉลุโปร่ง เรือพระที่นั่งจำลองนี้วางบนฐานสลักไม้รูปนาคเกี้ยว
- วาระจัดทำ
เนื่องในโอกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเจริญพระชนมพรรษา 7 รอบ 5 ธันวาคม 2554 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา 12 สิงหาคม 2555 และ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา 5 รอบ 28 กรกฎาคม 2555 (เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร)
- ขนาด กว้าง 23 ซม. ยาว 3.25 ม. สูง 86 ซม.
- จำนวนช่างฝีมือ 90 คน
- ระยะเวลาจัดทำ 2 ปี 8 เดือน
แผ่นคร่ำสามกษัตริย์
แผ่นคร่ำสามกษัตริย์
แผ่นคร่ำสามกษัตริย์ ลาย “โคมกุดั่นหงสุลีลา” ประกอบด้วยลายดอกกุดั่นดอกกลม ขอบนอกคร่ำนาก ตรงกลางเป็นรูปหงส์คร่ำทอง คร่ำเงิน และคร่ำนาก ฉลุประกอบซ้อนตัวลอยติดบนพื้นลายเทศคร่ำเงิน ปากหงส์คาบอัญมณีขาวรูปหยดน้ำ
ลายดอกกุดั่นนี้ทำสลับลายดอกสี่กลีบคร่ำทองเถาว์ลายรักร้อยรอบดอกกุดั่นและดอกสี่กลีบ ในกรอบลายเชิงคร่ำทองสลับนากฉลุซ้อนซับปีกแมลงทับรอบพื้น
- ขนาด กว้าง 1.35 ม. สูง 2.48 ม.
- จำนวนช่างฝีมือ 50 คน
- ระยะเวลาจัดทำ 83 วัน
ฉากจำหลักไม้ "ตำนานเพชรรัตน์"
ฉากจำหลักไม้ตำนานเพชรรัตน์
ฉากจำหลักไม้ ตั้งประกับด้วยเสาเม็ดทรงมัณฑ์บนม้าไม้ขาคู้ จำหลักลายใบเทศ พื้นฉากจำหลักไม้เรื่อง “ตำนานเพชรรัตน์” ความว่า เทพยุดาเจ้าทั้งหลาย อีกทั้งฤๅษีสิทธิ์ และคนธรรพ์ พากันขึ้นเฝ้าพระอิศวร ทูลถามบ่อเกิดแห่งเพชรรัตน์ทั้ง 9 ประการ
พระอิศวรแนะให้ไปถามพระฤๅษีอังคต ผู้มีอายุยาวมาตั้งแตครั้งกฤติยุค พระฤๅษีจึงเล่าว่า บรรดาเทพนิกร ฤๅษีสิทธิ์ พิทยาธร ทั้งปวง ประสงค์จะอำนวยเพชรรัตน์ทั้ง 9 จึงทูลให้มเหสักข์ นามมหาพลาสูร สร้างไว้เป็นสวัสดิมงคลแห่งโลกย์
ท้าวจึงบำเพ็ญตบะอยู่ 7 วันจนสิ้นชีพ อีก 7 วัน ร่างของท้าวเธอจึงแปรสภาพเป็นแก้ว 9 ชนิด คือหัวใจเป็นเพชรและทับทิม นัยน์ตาขวาเป็นแก้วไพฑูรย์ นัยน์ตาซ้ายเป็นแก้วโกเมน ลิ้นเป็นแก้วพระพาฬ น้ำเลี้ยงหัวใจเป็นแก้วจันทกานต์ เป็นต้น
อนึ่งเมื่อท้าวมหาพลาสูรสิ้นชีวิต มีพระยาพาสุกินนาคราช สูบโลหิตท้าวจนแห้ง นาคนั้นถูกกครุฑจับไป ระหว่างทางสำรอกเลือดเป็นแก้วนาคสวาสดิและมรกฎ น้ำลายเป็นครุฑธิการ
- วาระจัดทำ
เนื่องในมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 และในโอกาสมหามงคลสมัยเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พุทธศักราช 2550
- ขนาด ฉาก ยาว 3.50 ม. สูง 4.50 ม. กว้าง 18 ซม. ฐานยาว 4.62 ม. กว้าง 1.22 ม.
- จำนวนช่างฝีมือ 69 คน
- ระยะเวลาจัดทำ 10 เดือน 3 วัน
สุพรรณเภตรา
สุพรรณเภตรา
สุพรรณเภตรา สร้างสรรค์ขึ้นเป็นรูปสำเภาถมทอง มีเสาคร่ำเงิน คร่ำทอง ใบสำเภาเป็นทองคำสลักฉลุโปร่ง ยอดเสาเป็นธงทองคำลงยา หน้าสำเภาสลักทองคำลงยารูปหน้า 'อสุรกุมภัณฑ์' หน้าสำเภาตั้งบัลลังก์บัวปากฐานติดลายกระจังปฏิญาณ มีพญานาคทองคำสลักดุนประดับเพชรคาบโคมประทีป
ทิ้งสมอทองคำลงยารูปหนุมานและนางสุพรรณมัจฉา ช่องกาบด้านข้างและด้านหน้าลำเรือสลักทองคำลงยาลายหน้าขบ ช่องกาบฉลุทองคำซับปีกแมลงทับ กลางช่องติดดอกไม้ทองคำ ช่องกาบด้านท้ายสลักทองคำลงยารูปนกวายุภักษ์ บัลลังก์กัญญาเรือเป็นแบบบุษบกจีนคร่ำเงิน คร่ำทอง
- วาระจัดทำ
เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 12 สิงหาคม 2547
- ขนาด กว้าง 40 ซม. ยาว 1.3 ม. สูง 1.575 ม.
- จำนวนช่างฝีมือ 73 คน
- ระยะเวลาจัดทำ 1 ปี 5 เดือน
ตลับถมตะทองทรงผลฟักทอง ประดับเพชร
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ยังมี "ผลงานประณีตศิลป์ชิ้นเอก" และ "ผลงานศิลปาชีพคัดสรร" จัดแสดงให้ชมอีกหลายชิ้น ผลงานทุกชิ้นไม่ได้มาจากมือศิลปินเอก แต่ล้วนสร้างสรรค์จากสองมือของชาวไร่ชาวนาผู้ยากจนในถิ่นทุรกันดาร สะท้อนถึงพระวิสัยทัศน์ในการสร้างคนของ "สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง"
ทั้งนี้ สำหรับผู้สนใจเข้าชม การแสดงโขน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 28 กรกฎาคม 2565 อาคารเรียน-รู้-เรื่องโขน เปิดเข้าชมฟรี ระหว่างเวลา 09.30 - 16.00 น. โดยมีการแสดงโขน 2 รอบ ดังนี้
- รอบ 11.00 น.
- รอบ 14.00 น.
พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน ตั้งอยู่ที่ตำบลเกาะเกิด อำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดทำการ 09.45 น. - 15.30 น. (ปิดวันจันทร์และวันอังคาร) โทร.0 3535 2995 / 0 3535 5995 / 0 2283 9557
* * * * *
credit photo : พิพิธภัณฑ์ศิลป์แผ่นดิน