เปิดค่า “ลิขสิทธิ์เพลงแกรมมี่” อยากร้องเกิน 7 คำต้องจ่ายเท่าไร?

เปิดค่า “ลิขสิทธิ์เพลงแกรมมี่” อยากร้องเกิน 7 คำต้องจ่ายเท่าไร?

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สำรวจค่าลิขสิทธิ์เพลงแกรมมี่ พร้อมคำตอบว่าศิลปินที่ไม่ได้อยู่ในสังกัดแกรมมี่ หากต้องการจะร้องเพลงภายใต้ลิขสิทธิ์แกรมมี่จะต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร?

จากกรณีที่มีข่าว เอ-ศุภชัย ศรีวิจิตร ผู้จัดการดาราและนักปั้นศิลปินชื่อดัง ซื้อลิขสิทธิ์เพลงเก่าทุกเพลงให้ ตั๊กแตน ชลดา นักร้องลูกทุ่งชื่อดัง สามารถนำไปร้องโชว์ได้ โดยลิขสิทธิ์เพลงแกรมมี่นั้นเป็นแค่การซื้อรายปีไม่ได้ซื้อขาดอย่างที่เข้าใจผิด

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ สำรวจค่าลิขสิทธิ์เพลงแกรมมี่ พบว่า บริษัท GMM MPI เป็นหน่วยงานที่จัดเก็บค่าลิขสิทธิ์เพลงของ GMM Grammy และ บริษัท-ค่ายพันธมิตร เริ่มมีการจัดเก็บค่าลิขสิทธิ์ตั้งแต่ปี 2546

ปัจจุบันลิขสิทธิ์ของแกรมมี่มีมากกว่า 32,000 ลิขสิทธิ์ และได้รับอนุญาตในการจัดเก็บมากกว่า 4,000 ลิขสิทธิ์  ลิขสิทธิ์ครอบคลุมเพลงทั้งเนื้อร้องและ/หรือทำนองเพลงในสิ่งบันทึกเสียง ,โสตทัศนวัสดุ ,คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์คาราโอเกะ, MIDI FILE, การแสดงสด,วิทยุกระจายเสียง ฯลฯ

 

เปิดค่า “ลิขสิทธิ์เพลงแกรมมี่” อยากร้องเกิน 7 คำต้องจ่ายเท่าไร?

  • ค่าใช้จ่ายสำหรับลิขสิทธิ์เพลง

โดยแบ่งการจัดเก็บค่าเผยแพร่ลิขสิทธิ์เพลงฯ ตามธุรกิจได้ดังนี้ (ราคาเริ่มต้น)

1. Pub Bar เลานจ์ ผับ บาร์ โรงเบียร์และร้านอาหาร ประเภทที่มีเวทีแสดงสดและการจัดกิจกรรมคอนเสิร์ต = 120,000 บาท

2. Karaoke การใช้เพลงในสถานประกอบการคาราโอเกะ = 4,500 บาท

3. Audio การใช้เพลงในสถานประกอบการร้านอาหาร, ผับ,บาร์, โรงแรม และอื่นๆ = 750 บาท

4. Ringtone การใช้เพลงในตู้ (Kiosk) หรือร้านที่ให้บริการโหลดเพลงลงบนมือถือ = 12,000 บาท

5. TV broadcast & Cable TV การใช้เพลงเพื่อ On Air บน TV และการใช้เพลงใน กิจการโทรทัศน์ฯแบบตอบรับเป็นสมาชิก = 3,000 บาท

6. Publication การใช้เพลงในสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงหนังสือเพลง และ E-BOOK = 150 บาท

7. Radio & Instore การใช้เพลงเพื่อเผยแพร่ทางสื่อวิทยุ วิทยุในร้าน และสายการบิน = 7,200 บาท

8. Concert & Event การใช้เพลงในงาน event และ concert รูปแบบขายบัตร และไม่ขายบัตร = 30,000 บาท

9. Live Performance Show การใช้งานเพลงสำหรับทำการแสดงโชว์สดรูปแบบต่างๆ = 6,000 บาท

10. Online การใช้งานเพลง บนสื่อ Online ทุกชนิด เช่น การทำ online content ต่างๆ = 100,000 บาท

11. Advertise การใช้งานเพลงเพื่อประกอบโฆษณาทาง TV (Offline & Online Film) = 500,000 บาท

12. Movie, Series, OTT Platforms การใช้งานเพลงเพื่อประกอบ หนัง / ละคร / ซีรี่ย์ และบน OTT Platforms = 50,000 บาท

ทั้งนี้การคำนวณอัตราค่าลิขสิทธิ์เผยแพร่เพลงมีเกณฑ์ที่แตกต่างกันทั้งจำนวนเพลง รายปี หรือเดือน และรูปแบบการใช้งาน สามารถตรวจสอบได้ที่ gmm-mpi.com

 

เปิดค่า “ลิขสิทธิ์เพลงแกรมมี่” อยากร้องเกิน 7 คำต้องจ่ายเท่าไร?

  • ศิลปิน/นักร้องต้องจ่ายค่าลิขสิทธิ์ต่อปีเท่าไร?

สำหรับกรณี ตั๊กแตน ชลดา นักร้องลูกทุ่งชื่อดังนั้นหากต้องการร้องเพลงภายใต้ลิขสิทธิ์ของแกรมมี่ โดยไม่ได้เป็นศิลปินในสังกัด สำหรับงานรับจ้าง / งานแสดง / งานเลี้ยงทั่วไป ยกเว้นรูปแบบงาน EVENT นั้นมีการคิดราคาแบ่งเป็นขนาด

  • ขนาด XL  มีค่าตัวต่องานมากกว่า 100,000 บาท หรือค่าลิขสิทธิ์ต่อปีประมาณ 300,000 บาท
  • ขนาด L มีค่าตัวต่องาน 80,000-100,000 บาท หรือค่าลิขสิทธิ์ต่อปีประมาณ 200,000 บาท
  • ขนาด M มีค่าตัวต่องาน 50,000-80,000 บาท  หรือค่าลิขสิทธิ์ต่อปีประมาณ 100,000 บาท
  • ขนาด S มีค่าตัวต่องานน้อยกว่า 50,000 บาท หรือค่าลิขสิทธิ์ต่อปีประมาณ 50,000 บาท

สำหรับนักร้องผ่านเวทีประกวด คิดค่าลิขสิทธิ์วันละ 20 บาท เหมาปีละ 7,000 บาท ต่อเพลง และนักร้องทั่วไป คิดค่าลิขสิทธิ์วันละ 10 บาท เหมาปีละ 3,500 บาท ต่อเพลง

 

  • แบบไหนที่เรียกว่าละเมิดลิขสิทธิ์

สำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ มี 2 ลักษณะคือ

1. การละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง ได้แก่ การทำซ้ำโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของลิขสิทธิ์ รวมการห้ามมิให้ดัดแปลง หรือ เผยแพร่สิ่งบันทึกเสียง หรือโสตทัศนวัสดุต่อสาธารณชนโดยไม่ได้รับอนุญาตอีกด้วย

2. การละเมิดลิขสิทธิ์โดยอ้อม คือ การกระทำทางการค้าหรือการกระทำการที่มีส่วนสนับสนุนให้เกิดการละเมิดลิขสิทธิ์

แล้วต้องเปิดเพลงอย่างไร จึงจะต้องขออนุญาต? นอกเหนือจากการเปิดเพลงฟังเองในบ้าน ในที่ทำงาน หรือในรถ ทุกคนที่นำเพลงไปเปิดให้ผู้อื่นรับชมฟังต้องขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น อาทิเช่น การจัดการแสดงเพลง (ทั้งแสดงสด คอนเสิร์ต และการบรรเลง) การเปิดเพลงในร้านค้า/ร้านอาหาร การเปิดเคเบิ้ลทีวีให้ลูกค้ารับชม การมีตู้เพลงหรือตู้คาราโอเกะที่เปิดเพลงสตริง ลูกทุ่ง สากล รวมถึงการที่ห้างร้านต่างๆ เปิดรายการวิทยุซึ่งเปิดเพลงที่มีลิขสิทธิ์ให้ผู้อื่นรับชมรับฟังด้วย

 

---------------------------------------------------------------

ที่มา: gmm-mpi.com