“วันแม่ 12 สิงหาคม” ชมความงาม 8 ฉลองพระองค์ในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง
งดงามเหนือกาลเวลา! เนื่องใน "วันแม่แห่งชาติ" 12 สิงหาคม ชวนคนไทยรู้จัก 8 ฉลองพระองค์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งเป็นชุดประจำชาติที่สง่างามภายใต้ชื่อว่า "ชุดไทยพระราชนิยม"
เนื่องในโอกาสมหามงคล "วันแม่แห่งชาติ" 12 สิงหาคม 2565 ชวนคนไทยร่วมเฉลิมพระเกียรติและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้วยการเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมไทยผ่าน "ชุดไทยพระราชนิยม" ที่ยังคงความงดงามทุกยุคทุกสมัย
หลายคนคงทราบดีว่า หนึ่งในพระราชกรณียกิจสำคัญของพระสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็คือ การส่งเสริมด้านผ้าไทยและชุดไทยที่พระองค์ทรงงานมาตลอดหลายสิบปี ด้วยทรงตระหนักดีว่าเมืองไทยนี้มีศิลปวัฒนธรรมอันดีงามมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ หากลูกหลานไทยสนใจแต่อารยธรรมสมัยใหม่ หรือวัฒนธรรมของชาติอื่น มิช้านานศิลปวัฒนธรรมไทยก็คงจะลบเลือนหายไป
ดังนั้นจึงทรงหยิบยกตัวอย่าง ของความเป็นไทยอันงดงามมาเชิดชูให้ปรากฏเพื่อเตือนตาเตือนใจไทยให้รำลึกไว้เสมอว่าคนไทยเรา มีฝีมือทุกด้านควรแก่การภาคภูมิใจ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- "วันแม่แห่งชาติ" 12 ส.ค. 65 รวมสถานที่จัดงานเฉลิมพระเกียรติฯ "พระพันปีหลวง" เฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา
- 90 พรรษา "พระพันปีหลวง" แบบอย่างชีวิตคู่ ทรงเคียงข้างในหลวง รัชกาลที่ 9
- "วันแม่แห่งชาติ" 12 สิงหาคม อุทยานแห่งชาติเข้าฟรีทั่วประเทศ
- "วันแม่แห่งชาติ" 12 สิงหาคม เปิดประวัติวันแม่ พร้อมส่องวันแม่ทั่วโลกตรงกับวันไหน?
- "วันแม่แห่งชาติ" นั่งฟรี 3 ท่าเรือข้ามฟาก 12-13 สิงหาคม 65 เช็กเลยที่ไหนบ้าง?
ย้อนกลับไปเมื่อปีพุทธศักราช 2503 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงมีกำหนดการที่จะตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ไปทรงเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรป และประเทศสหรัฐอเมริกา
ชุดไทยจิตรลดา(ซ้าย) และ ชุดไทยอมรินทร์(ขวา)
ในครั้งนั้นพระองค์ทรงพระราชดำริว่า แม้เราจะมีเอกลักษณ์และวัฒนธรรมในการแต่งกายของเราเองอยู่แล้ว แต่สตรีไทยก็ยังไม่มีเครื่องแต่งกายชุดประจำชาติ จึงมีพระราชเสาวนีย์ให้ผู้ที่เชี่ยวชาญในการออกแบบเครื่องแต่งกาย คิดปรับปรุงแบบเสื้อที่สตรีไทยแต่งกันมาแต่โบราณกาลให้ทันสมัย เพื่อทรงใช้เป็นชุดไทยประจำชาติในระหว่างที่เสด็จฯ ไปทรงเยือนต่างประเทศครั้งนั้น ผลก็คือไทยเราได้มีชุดไทยประจำชาติที่สง่างามและเหมาะสมไว้ใช้ในโอกาสต่าง ๆ มาจนทุกวันนี้ ซึ่งเรียกกันว่า ‘ชุดไทยพระราชนิยม’
สำหรับชุดไทยพระราชนิยมแต่ละประเภทนั้น จะมีการตั้งชื่อชุดไทยเป็นชื่อเกี่ยวกับพระที่นั่งหรือพระตำหนัก ซึ่งมีความสอดคล้องกันกับโอกาสและความเหมาะสมในการใช้เครื่องแต่งกายชุดไทยด้วย มีดังนี้
1. ชุดไทยเรือนต้น : สำหรับการใช้ลำลอง ไม่เป็นพิธีและต้องการความสบาย เช่น ไปงานกฐินต้น ไปเที่ยวเรือ ฯลฯ ลักษณะเป็นซิ่นป้าย เสื้อคอกลม แขนสามส่วนปลายแขนหลวมเล็กน้อย
ชุดไทยเรือนต้น
2. ชุดไทยจิตรลดา : เป็นชุดไทยพิธีตอนกลางวัน ผ้าซิ่นป้ายเป็นผ้าไหมยกดอกมีเชิงหรือยกดอกทั้งตัว เสื้อแขนยาว ผ่าอก คอกลม มีขอบตั้ง
3.ชุดไทยอมรินทร์ : ใช้เป็นชุดพิธีตอนค่ำ ผ้าซิ่นยกทองทั้งตัว เสื้อแขนยาว คอตั้ง เช่นเดียวกับไทยจิตรลดา
4. ชุดไทยบรมพิมาน : เป็นชุดไทยในงานพิธีตอนค่ำที่ใช้เข็มขัดและเครื่องประดับ ผ้าซิ่นยกทองทั้งตัว จีบหน้านาง เสื้อคอกลมขอบตั้งเล็กน้อย แขนยาว และผ่าหลัง สำหรับใช้ในงานพระราชพิธีเต็มยศและประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์
ชุดไทยบรมพิมาน
5. ชุดไทยจักรี : เป็นชุดที่ใช้ผ้าซิ่นแบบเดียวกับไทยบรมพิมาน แต่เสื้อเป็นสไบเฉียง ใช้ในโอกาสงานพิธีกลางคืน
ชุดไทยจักรี
6. ชุดไทยดุสิต : ใช้ในงานพิธีเต็มยศกลางคืน ผ้าซิ่นเช่นเดียวกับไทยจักรีและไทยบรมพิมาน เสื้อคอกลมกว้างคล้ายคอกระเช้า แต่ไม่จีบรูด ไม่มีแขน ปักดิ้นเงินทอง ประดับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสายสะพายได้อย่างงดงาม
ชุดไทยดุสิต
7. ชุดไทยศิวาลัย : ชุดไทยแบบนี้ใช้ในงานพิธีเต็มยศ ทั้งกลางวันและกลางคืน เป็นแบบเดียวกับชุดไทยบรมพิมาน แต่มีผ้าสไบห่มทับ
ชุดไทยศิวาลัย
8. ชุดไทยจักรพรรดิ : ใช้ในงานพิธีเต็มยศตอนกลางคืน ผ้าซิ่นเช่นเดียวกับชุดไทยจักรี ใช้สไบเฉียงเช่นเดียวกันแต่เป็นสไบจีบชั้นใน และห่มสไบปักทับเห็นรอยจีบเล็กน้อย
ชุดไทยจักรพรรดิ
หลังจากนั้นมาชุดไทยประจำชาติก็กลายเป็นที่นิยมในหมู่สตรีไทยและสังคมไทยทั่วไป ทั้งยังได้เผยแพร่ชื่อเสียงความงดงามด้วยศิลปะทั้งปวงไปยังนานาประเทศ นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณแก่บรรดาสตรีไทย ที่ได้พระราชทานแนวพระราชนิยมเป็นแบบแผนการแต่งกายประจำชาติสำหรับสตรีขึ้นมาและยังคงถูกส่งต่อมาจนถึงยุคปัจจุบัน
--------------------------------------
อ้างอิง : royaloffice