รู้จัก "Phone Anxiety" อาการกลัวการ "คุยโทรศัพท์" ที่คนรุ่นใหม่เป็นมากขึ้น

รู้จัก "Phone Anxiety" อาการกลัวการ "คุยโทรศัพท์" ที่คนรุ่นใหม่เป็นมากขึ้น

กลัวการคุยโทรศัพท์ ไม่อยากโทรออก ไม่อยากรับสาย ไม่ได้ขี้เกียจ! แต่อาจกำลังเป็น "Phone Anxiety" หรือ "Phone Phobia" อาการเครียดเมื่อต้องใช้โทรศัพท์ ที่คน "มิลเลเนียล" มีแนวโน้มเป็นมากขึ้น

รู้สึกอึดอัดทุกครั้งที่ต้องโทรออกหรือรับสายโทรศัพท์ พยายามหลีกเลี่ยงการโทร เน้นการสื่อสารผ่านการแชท เพราะกลัวพูดผิด หรือการตอบโต้แบบทันทีทันใดในผ่านโทรศัพท์

ถ้าคุณเป็นอีกคนที่รู้สึกแบบนี้ทุกครั้งที่ต้องใช้โทรศัพท์ในการสื่อสาร คุณอาจกำลังอยู่ในภาวะ “Phone Anxiety” หรือบางครั้งก็เรียกว่า “Phone Phobia” หรือพูดง่ายๆ คืออาการ “กลัวการใช้โทรศัพท์

ใครที่ไม่เคยรู้สึกแบบนี้คงมองว่าการคุยโทรศัพท์ไม่เห็นจะน่ากลัวตรงไหน แต่สำหรับคนที่มีอาการเหล่านี้ แทบไม่ได้ต่างอะไรกับ การกลัวความสูง หรือกลัวสัตว์ต่างๆ แบบ  "Phobia" ที่เป็นอาการวิตกจริตแบบจริงจัง ไม่ได้คิดไปเอง

  •  อาการกลัวการคุยโทรศัพท์มีอยู่จริง! 

Phone Anxiety หรือ Phone Phobia นิยามถึง กลุ่มคนที่มีอาการทางอารมณ์บางอย่างของความวิตกกังวลทางโทรศัพท์ มักจะหลีกเลี่ยงการโทร เนื่องจากมีความวิตกกังวลที่เพิ่มขึ้นกว่าการคุยแบบเจอหน้าหรือแชทผ่านข้อความ หรือรู้สึกประหม่าอย่างมากทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการโทร ยิ่งไปกว่านั้นคือหมกมุ่นหรือกังวลเกี่ยวกับสิ่งที่จะพูด หรือพูดไปแล้ว ซึ่งไม่ใช่แค่รู้สึกไม่สบายใจเท่านั้น

ในบางครั้งจะแสดงอาการทางร่างกาย เช่น 

  • รู้สึกคลื่นไส้
  • อัตราการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น
  • หายใจลำบาก
  • เวียนศีรษะ
  • กล้ามเนื้อตึง

จากการสำรวจของพนักงานออฟฟิศในสหราชอาณาจักรในปี 2019 พบว่า 76% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล และ 40% ของเบบี้บูมเมอร์ มีความกังวลใจเมื่อเสียงโทรศัพท์ดังขึ้น ด้วยเหตุนี้ 61% ของกลุ่มมิลเลนเนียลส์จึงหลีกเลี่ยงการโทรโดยสิ้นเชิง ขณะที่กลุ่มเบบี้บูมเมอร์อยู่ที่ 42% 

แม้การหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ จะเป็นอีกหนึ่งทางที่ทำให้ไม่ต้องเผชิญกับความอึดอัดใจหรือความเครียด แต่การเลือกที่จะเผชิญหน้าแบบมีการจัดการที่ดี ก็จะเป็นอีกหนึ่งวิธีจัดการกับอาการเหล่านี้ได้ โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานที่ต้องมีการติดต่อสื่อสารที่ยากจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์เหล่านี้

  •  Phone Anxiety รับมืออย่างไร เมื่อต้องคุยโทรศัพท์ 

วิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการต่อสู้กับความวิตกกังวลทางโทรศัพท์ที่ต้องทนทุกข์กับโทรศัพท์ คือการค่อยๆ บำบัดตัวเองด้วยการเข้าไปสัมผัสกับการโทรแทนที่จะหนี ยิ่งฝึกมากเท่าไรความน่ากลัวก็จะน้อยลงเท่านั้น โดยอาจเริ่มต้นจากการ "ปรับแนวคิด" เกี่ยวกับการใช้โทรศัพท์อย่างมีกลยุทธ์

หากความกังวลของคุณเป็นปัญหามากเกินไป เช่น กังวลว่าจะพูดสะดุด วกวน ให้ลองคาดการณ์ความผิดพลาดจะที่เกิดขึ้นไว้คร่าวๆ เพื่อรับมือ และลองปรับแนวคิดใหม่ว่า การคุยโทรศัพท์ที่ไม่ราบรื่นแบบน้ำไหลไฟดับไม่ใช่เรื่องผิด 

เช่น “เราไม่ใช่คนเดียวที่พวกเขาจะคุยด้วยในวันนั้น” หรือ “เราไม่ใช่คนเดียวที่จะพูดผิดพลาด” อีกนัยหนึ่งคือสิ่งที่ดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่สำหรับเรานั้นแทบจะไม่มีจุดผิดพลาดในสายตาของคนอื่นเลยด้วยซ้ำ

โดยกุญแจสำคัญที่จะปลดล็อกอาการเหล่านี้ได้ คือการเริ่มต้นจากการกระทำเล็กๆ น้อยๆ เช่น เริ่มด้วยการโทรที่เป็นทางการและมีโครงสร้างมากขึ้น และเขียนสคริปต์ให้ตัวเองก่อน อาจลองพูดบางสิ่งออกมาดังๆ กับตัวเองเสมือนคุยกับปลายสาย จากนั้นค่อยกดโทรออก และคุยไปตามที่เตรียมไว้

เมื่อลองทำแบบนี้ได้บ่อยๆ ไม่หนีการรับสายอย่างที่เคย ก็จะมีส่วนช่วยให้การโทรศัพท์ของคุณเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายขึ้น สบายใจขึ้น หรือกลายเป็นเรื่องธรรมดาในที่สุด

  • ทำไมคนรุ่นมิลเลนเนียลควรเอาชนะความกังวลในการใช้โทรศัพท์ให้ได้ 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้โทรศัพท์ยังเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน ซึ่งในบางครั้งการตอบอีเมล หรือแชท อาจไม่เหมาะสมหรือให้ผลลัพธ์ในการสื่อสารที่ช้ากว่ากับบางสถานการณ์ ดังนั้นหากหลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์บ่อยๆ อาจทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลงหรือชะงักได้เมื่อต้องร่วมงานกับคนเจนเนอเรชันอื่นๆ ที่ยังเน้นการใช้โทรศัพท์ในการสื่อสารอยู่ก็ได้ 

---------------------------------------------

อ้างอิง: