รู้จัก “ป๋องแป๋ง” ตัวละครสอน "ทักษะชีวิต" เอาตัวรอดใน “นิทานเด็ก” ของไทย
รู้จัก "ป๋องแป๋ง" ตัวละครใน "หนังสือนิทาน" ที่พา "เด็กไทย" ไปรู้จักทักษะชีวิตการเอาตัวรอดจากอันตรายในเมือง ที่ดูเหมือนไม่ค่อยถูกพูดถึงในหนังสือนิทานเด็กทั่วไป
ติดรถ ติดลิฟท์ หัดนั่งคาร์ซีท เป็นมือเท้าปาก เจอคนแปลกหน้าล่อลวง และอีก ฯลฯ คือสิ่งที่ “ป๋องแป๋ง” ตัวละครเด็กชายในชุด นิทานป๋องแป๋งต้องเผชิญ
ถ้าการ์ตูนญี่ปุ่นมีโดราเอมอนเป็นตัวแทนของเพื่อนแสนดีผู้มีของวิเศษ วงการการ์ตูนฝั่งตะวันตกมีบรรดาซุปเปอร์ฮีโร่ที่สื่อสารถึงการทำดีเพื่อสังคม ฝั่งการ์ตูนไทย-นิทานไทย ก็น่าจะมี “ป๋องแป๋ง” เด็กชายธรรมดาที่เผชิญกับเรื่องราวธรรมดาๆในชีวิตประจำวัน แต่ก็ทำให้เด็กที่ได้ฟังเติบโตไปพร้อมๆกัน
“ป๋องแป๋งติดอยู่ในรถโรงเรียน เพราะนอนหลับไป ตื่นขึ้นมาอีกทีก็รู้ว่าเหลือตนเองอยู่คนเดียว แม้จะตกใจแต่ก็ตั้งสติหาวิธีออกจากรถตามที่พ่อเคยสอนไว้ได้” คือพล็อตจากเรื่อง ‘ป๋องแป๋งถูกลืมในรถ’ และเนื้อเรื่องที่ยกมาข้างต้นก็ช่างเข้ากับข่าวสะเทือนขวัญไม่กี่วันมานี้ที่มีเด็กหญิง ป.2 ถูกลืมไว้ในรถโรงเรียนเสียชีวิต
หมอน-ศรีสมร โซเฟร เจ้าของนามปากกา "สองขา" ผู้เขียนหนังสือเด็กมานับสิบปี ได้รับรางวัลมาหลายสิบเรื่อง และเป็นคนเดียวกับผู้เขียน “หนังสือชุดป๋องแป๋ง” บอกว่า เมื่อราว 10 ปีก่อน วงการหนังสือเด็กมักนำเสนอประเด็น เรื่องมารยาท การพูดจาไพเราะ ความมีน้ำใจ แต่มักไม่ค่อยมีเรื่องใดพูดถึงทักษะการเอาตัวรอดของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเมืองในบริบทปัจจุบัน ที่เรียกร้องทักษะการพาตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัย จากสารพัดสิ่งที่เข้ามาทำร้าย ไม่ว่าจะจากความตั้งใจหรือบังเอิญ
“เราคลุกคลีในแวดวงการศึกษา เคยเป็นข้าราชการครูในหมู่บ้านกะเหรี่ยง ได้มาศึกษาต่อด้านเด็กพิเศษที่สหรัฐอเมริกา ทำงานด้านเด็กในต่างประเทศ เราพบว่าประเด็นหนึ่งที่สำคัญมากแต่ประเทศไทยไม่ค่อยพูดถึงคือเรื่องความปลอดภัยของเด็ก เช่น เด็กที่อเมริกาต้องรู้หน้าที่ในการนั่งคาร์ซีท ทำจนเป็นนิสัย พ่อแม่ก็ต้องเคี่ยวเข็ญ แต่ครอบครัวไทยยังมองว่าไม่สำคัญ ให้พ่อแม่อุ้มกอดไว้ดีที่สุด หรืออย่างกรณีรถโรงเรียน เขาก็จะมีขั้นตอนการตรวจเช็ค เมื่อจอดรถแล้ว ก็จะต้องเดินไปเปิดกุญแจหลังรถ ก้มดูทุกแถว ตลอดทั้งคัน และทำเช่นนี้เป็นประจำ หรือตัวเด็กเองก็จะถูกสร้างทักษะให้เอาตัวรอด ไม่ปล่อยให้ตัวเองอยู่ในอันตรายได้ง่ายๆ”
หมอน-ศรีสมร โซเฟร นักเขียนนิทานเด็ก เจ้าของนามปากกา "สองขา"
ประเด็นเรื่องความปลอดภัยนี่แหละ ที่เธอนำมาสร้างเรื่องราวในหนังสือ โดยมีตัวละคร “ป๋องแป๋ง” เด็กผู้ชายธรรมดาๆ ที่สะท้อนถึงการเรียนรู้ของเด็กซึ่งต้องรับผิดชอบตัวเอง โดยในหนังสือชุดนี้สื่อสารตั้งแต่เรื่องสำคัญๆ อย่างความปลอดภัย เช่น ป๋องแป๋งถูกลืมในรถ สอนเอาตัวรอดเมื่อลูกติดอยู่ในรถคนเดียว, ป๋องแป๋งข้ามถนน สอนวิธีข้ามถนนบนทางม้าลายและข้อควรระวัง, ป๋องแป๋งติดลิฟต์ สอนการปฏิบัติตัวให้ปลอดภัยเมื่อลิฟต์ค้าง, เก้าอี้ของป๋องแป๋ง สอนวิธีฝึกลูกให้นั่งคาร์ซีทได้ไม่งอแง ซึ่งทั้งหมดเป็นทักษะเด็กในเมืองที่พ่อแม่ต้องร่วมติดตั้งให้กับเด็กตั้งแต่ที่เขาลืมตาขึ้นมา
การอ่านนิทานให้ลูกฟัง เป็นแนวทางหนึ่งในการสร้างพัฒนาทักษะ EF (Executive Functions ทักษะการบริหารจัดการตนเองขั้นสูง) ซึ่งเด็กจะสามารถจำเพื่อใช้งาน ควบคุมอารมณ์ได้แม้ตกใจกลัว และนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ พาตัวเองออกจากสถานการณ์ไม่ดีได้
ผลงานนิทานชุดป๋องแป๋ง
นิทานชุดป๋องแป๋ง มีนับสิบชุด รวมจำนวนกว่า 72 เล่ม ผ่านการเล่าเรื่องเป็นกลอน ซึ่งพยายามใช้ 708 คำ ตามบัญชีคำพื้นฐานป.1 มาเป็นชุดคำในการอธิบาย และทั้งนี้ สิ่งที่ป๋องแป๋งสื่อสารผ่านกิจวัตรของเขาไม่ใช่แค่เรื่องความปลอดภัยเท่านั้น แต่ป๋องแป๋งยังพาคนอ่านให้ความสำคัญกับการรับผิดชอบตัวเอง รู้สึกภูมิใจในตัวเอง เช่น การแต่งตัวเอง การแปรงฟันเอง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการสร้างความรับผิดชอบ และความมั่นใจให้กับเด็ก
“เราอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่การแต่งตัว การแปรงฟัน นี่แหละที่เป็นปัญหา และสร้างความปวดหัวให้กับพ่อแม่ทุกบ้านหากเด็กจดจำและทำสิ่งเหล่านี้ได้ นี่คือการสร้างความภาคภูมิใจให้กับเขา หรือในเล่มหนึ่งชื่อเรื่อง “ป๋องแป๋งอยากรู้มีจู๋ทำไม” ก็เป็นประเด็นที่สอนเรื่องอวัยวะ สอนเรื่องเพศศึกษาให้กับเด็ก แรกๆ ก็มีดราม่าเพราะมองว่าไม่เหมาะสม แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ปกครองก็ต่างรู้ว่า นี่คือสิ่งจำเป็นที่เด็กต้องรู้ และนิทานป๋องแป๋งช่วยอธิบายในสิ่งที่พ่อแม่ไม่รู้ว่าจะอธิบายอย่างไร”
ทุกวันนี้นิทานชุดป๋องแป๋ง ยังถูกเล่าเรื่องอย่างต่อเนื่อง มีสำนักพิมพ์จากต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน เวียดนาม มาเลเซีย ซื้อลิขสิทธิ์ไปแปลให้เด็กๆ ได้รู้จักป๋องแป๋ง เด็กชายธรรมดาๆ ซึ่งเล่าเรื่องธรรมดาๆ ที่จำเป็นต้องรู้