21 กันยายน “วันสันติภาพโลก” ย้อนดูสถิติ “เหยียดเชื้อชาติ” ในสหรัฐ
“วันสันติภาพโลก” 21 กันยายน 2565 ปีนี้ชูแคมเปญ “End racism. Build peace.” ชวนย้อนรอยปัญหา “เหยียดเชื้อชาติ” ที่รุนแรงต่อชาวเอเชียอันเชื่อมโยงกับโรคระบาดโควิด-19 ซึ่งอาชญากรรมดังกล่าวสวนทางกับคำว่า “สันติภาพ” โดยสิ้นเชิง
“วันสันติภาพโลก” ตรงกับวันที่ 21 กันยายน ของทุกปี ในปีนี้แทนที่ผู้คนทั่วโลกจะได้ร่วมกันเฉลิมฉลองสันติภาพร่วมกัน แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา กลับพบเหตุอาชญากรรมความเกลียดชังและการเหยียดเชื้อชาติเพิ่มขึ้น
โดยก่อนหน้านี้องค์กร Stop AAPI Hate รายงานผลสำรวจว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 - เดือนธันวาคม 2564 เกิดเหตุความรุนแรงจากการเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐบ่อยถึง 10,905 ครั้ง ในจำนวนนั้นมี 824 ครั้งที่เป็นเหตุการณ์ความเกลียดชังต่อผู้สูงอายุชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยแบ่งเป็น
- 57.6% ผู้สูงอายุเอเชียนอเมริกันถูกล่วงละเมิดทางวาจาหรือถูกรังเกียจที่จะเข้าใกล้
- 26.2% ผู้สูงอายุเอเชียนอเมริกันถูกทำร้ายร่างกาย
- 7.8% ผู้สูงอายุเอเชียนอเมริกันถูกไอและถุยน้ำลายใส่
- 7.2% ผู้สูงอายุเอเชียนอเมริกันถูกบุกรุกทรัพย์สินในบ้าน
- 5.7% ผู้สูงอายุเอเชียนอเมริกันถูกห้ามเข้าสถานประกอบการ (ร้านค้า/ร้านอาหาร/โรงแรม)
โดยหนึ่งในเหตุการณ์ความรุนแรงสุดสะเทือนใจ ที่เกิดจากการเหยียดเชื้อชาติในสหรัฐคือ กรณีกราดยิงหญิงเอเชียในเมืองแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เมื่อ 16 มี.ค. 2564 จนทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 ราย และมีผู้บาดเจ็บ 1 ราย โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐ ได้ออกมากล่าวประณาม "อาชญากรรมความเกลียดชัง" ในครั้งนั้นด้วย
ขณะเดียวกัน มีรายงานจากศูนย์ศึกษาอาชญากรรมที่มีสาเหตุจากความเกลียดชัง ของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย (CSUSB) ในปี 2564 ระบุไว้ว่า พบเหตุอาชญากรรมจากความเกลียดชังชาวเอเชียใน 16 เมืองใหญ่และเทศมณฑลของสหรัฐ เพิ่มขึ้น 164% ในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563
ส่วนใน “นิวยอร์ก” ซึ่งมีชาวอเมริกันเชื้อสายเอเชียอาศัยอยู่มากที่สุด มีรายงานพบอาชญากรรมจากความเกลียดชังชาวเอเชียเพิ่มขึ้น 223% ในไตรมาส 1/2564 , “ซานฟรานซิสโก” พบคดีที่เชื่อมโยงกับการทำร้ายชาวเอเชียเพิ่มขึ้น 140% , “ลอสแองเจลิส” เกิดอาชญากรรมต่อต้านชาวเอเชียเพิ่มขึ้น 80% , ส่วนใน “บอสตัน” พบอาชญากรรมจากความเกลียดชังชาวเอเชียเพิ่มขึ้น 60% ในไตรมาส 1/2564
นี่ยังไม่นับเหตุการณ์ความเกลียดชังและต่อชาวเอเชียอื่นๆ ที่เกิดขึ้นอีกมากมายหลายครั้งทั่วโลก จากข้อมูลทั้งหมดข้างต้นสะท้อนว่าปัญหาการเหยียดเชื้อชาติลุกลามมาหลายปี นับตั้งแต่เกิดเหตุระบาด COVID-19 แม้ในปี 2565 จะไม่พบเหตุความรุนแรงมากเท่าปีที่แล้ว แต่ปัญหานี้ก็ยังคงฝังรากลึกในสังคมโลก
แม้ก่อนหน้านี้จะมีแนวคิดเรื่อง “Global Citizenship” เพื่อรวมตัวเป็นหนึ่งเดียวกันของประชากรทุกชาติในโลก โดยมีหลักการคร่าวๆ คือ การตระหนักถึงความเชื่อมโยงและการพึ่งพาอาศัยกันในระดับโลก และมีจิตสำนึกร่วมถึงปัญหาในระดับโลก เช่น ปัญหาโลกร้อน อีกทั้งต้องมีทักษะการทำงานร่วมกับผู้คนที่มีความแตกต่างทั้งในเชิงภาษา วัฒนธรรม และเชื้อชาติ ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับความสนใจจากประชากรหหลากหลายประเทศ แต่ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติอาจขัดขวางไม่ให้ชาวโลกก้าวไปถึงจุดนั้น
เนื่องใน “วันสันติภาพโลก” ที่ตรงกับวันที่ 21 กันยายน 2565 องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงถือโอกาสนี้เปิดแคมเปญประจำปีนี้ ในธีม “End racism. Build peace.” หรือ “ยุติการเหยียดเชื้อชาติ เพื่อสร้างสันติสุข” โดยสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติได้รณรงค์ให้ทั่วโลกยุติความรุนแรง พักรบ และหยุดสงคราม
ทั้งนี้ การบรรลุสันติภาพที่แท้จริงนั้น มีมากกว่าแค่การวางอาวุธและยุติสงคราม แต่ต้องมีการสร้างสังคมที่สมาชิกโลกทุกคนรู้สึกว่าสามารถเจริญรุ่งเรืองได้ โดยการสร้างโลกที่ผู้คนได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันโดยไม่คำนึงถึงเชื้อชาติ
António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่า “การเหยียดเชื้อชาติยังคงเป็นพิษต่อทั้ง สถาบันทางสังคม โครงสร้างทางสังคม และชีวิตประจำวันของทุกคนในทุกสังคม อีกทั้งเป็นตัวกระตุ้นความไม่เท่าเทียมกันและลดทอนสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ยังคงมีให้เห็นอยู่ สิ่งเหล่านี้ทำให้สังคมสั่นคลอน เป็นบ่อนทำลายประชาธิปไตยในหลายๆ รัฐบาลทั่วโลก”
สำหรับทางออกของปัญหาการเหยียดเชื้อชาตินั้น เชื่อว่าทุกคนต้องเข้ามามีบทบาทแก้ปัญหาการเหยียดเชื้อชาติร่วมกัน เพื่อมุ่งสู่สันติภาพของโลกอย่างแท้จริง โดยมีวิธีทำงานหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น
- รื้อโครงสร้างสังคมยุคเก่าที่ยึดมั่นการเหยียดเชื้อชาติให้หมดไป
- สนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนได้ทุกที่บนโลก
- ต่อต้านคำพูดที่แสดงความเกลียดชังหรือการเหยียดเชื้อชาติทั้งออฟไลน์และออนไลน์
- ส่งเสริมการต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติผ่านการศึกษาและระบบยุติธรรม
แม้ว่าปัญหานี้ยังไม่สามารถขจัดออกไปจากสังคมได้ทันที แต่การร่วมมือกันแก้ปัญหา "เหยียดเชื้อชาติ" ในระดับสากล เป็นความหวังหนึ่งเดียวที่จะทำให้ประชาคมโลกสามารถก้าวข้ามความรุนแรง สงคราม และความไม่เท่าเทียม แล้วจับมือกันพัฒนาสังคมโลกให้ก้าวหน้าด้วยความสันติสุข
--------------------------------------------
อ้างอิง : stopaapihate.org, un.org, Global Citizenship, Infoquest