ประกาศรางวัล 'HERO Awards' 2022 เพื่อคนหลากหลายทางเพศในเอเชียแปซิฟิก
‘ฮีโร่อวอร์ด’ (HERO Awards 2022) จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 6 แล้ว โดยมูลนิธิแอ็พคอม เพื่อเฉลิมฉลองให้กับคนทำงานเพื่อชุมชน, ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ
มูลนิธิแอ็พคอม (APCOM Foundation) จัดงานมอบรางวัล 'ฮีโร่อวอร์ด' (HERO Awards 2022) ครั้งที่ 6 แนวคิด 'เอกภาพในความหลากหลาย' Unity and Diversity ณ สถานทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565
เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คน, องค์กรไม่แสวงหาประโยชน์ (NGO), สถานทูต, ภาครัฐและเอกชน ได้มารวมตัวกันเฉลิมฉลองฮีโร่แห่งปีที่อุทิศตนเพื่อชุมชนที่มีความหลากหลายทางเพศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
แอนเจลา แมคโดนัลด์ เอกอัครราชทูตออสเตรเลีย ประจำประเทศไทย กล่าวว่า สถานทูตออสเตรเลียภูมิใจที่ได้จัดงานยกย่องเชิดชูเกียรติผลงานโดดเด่นของคนทำงาน
"ในประเด็นต่อต้านเชื้อเอชไอวีทั่วเอเชียแปซิฟิก เราสนับสนุนงานของมูลนิธิแอ็พคอมมาเป็นเวลาหลายปี เชื่อว่าสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศเป็นสิทธิมนุษยชน
เราจะยืนหยัดต่อสู้ในเรื่องนี้ต่อไป นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและกลุ่มประชาสังคมอย่างมูลนิธิแอ็พคอม มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการสนับสนุนสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศทั่วภูมิภาคแห่งนี้"
Cr. Nada Chaiyajit
ภายในงานมีการระดมทุนให้กับมูลนิธิแอ็พคอม องค์กรที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ เป็นผู้นำต่อสู้ปัญหาเอชไอวี เสริมสร้างสุขภาวะและสิทธิของกลุ่มหลากหลายทางเพศต่อไป
มูลนิธิแอ็พคอม ร่วมกับ 3 องค์กร APN+ APTN, ILGA Asia ได้คัดเลือกตัดสินผู้ได้รับรางวัลปีนี้ ดังนี้
1.สาขาพันธมิตรธุรกิจดีเด่น (Business Ally) ได้แก่ Foodpanda จากประเทศไทย บริษัทที่เป็นเหมือนบ้านของพนักงานทุกคน ไม่สนใจเรื่องความแตกต่างทางเพศ ทุกคนเป็นตัวเองได้อย่างเต็มที่
2.สาขาพันธมิตรชุมชนดีเด่น (Community Ally) ได้แก่ Tebeio Tamton จากประเทศคิริบาส ที่ปรึกษาและร่วมก่อตั้งองค์กร Boutokaan Inaomataia ao Mauriia Binabinaine Association (BIMBA)
3.สาขาฮีโร่ชุมชนดีเด่น (Community Hero supported by ILGA Asia) ได้แก่ Rosanna Flamer-Caldera จากประเทศศรีลังกา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการองค์กร EQUAL GROUND ที่สนับสนุนต่อสู้ให้กลุ่มหลากหลายทางเพศมีสิทธิมนุษยชนเกิดขึ้นจริงในประเทศศรีลังกา
4.สาขาองค์กรชุมชนดีเด่น (Community Organisation) ได้แก่ Blue Sky Society Company Limited จากประเทศเวียดนาม องค์กรที่เปรียบเสมือนบ้านของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ให้บริการผู้ที่ต้องการรักษาที่ไม่กล้าลงทะเบียนในโครงการสาธารณสุข
5.สาขาฮีโร่โควิด-19 ดีเด่น (Covid-19 Hero) ได้แก่ Association of People Living with HIV/AIDS (APL+) จากประเทศลาว ระหว่างล็อกดาวน์ช่วงโควิด-19 ได้รวบรวมข้อมูลสถิติกลุ่มประชากรที่มีสัมผัสกับเชื้อเอชไอวีเพื่อระบุปัญหาที่พวกเขาได้รับและวางแผนช่วยเหลือ
6.สาขาสุขภาพและสุขภาวะดีเด่น (Health and Wellbeing) ได้แก่ Dr. Wong Chen Seong จากประเทศสิงคโปร์ แพทย์ที่ร่วมมือกับสมาชิกองค์กรชุมชนความหลากหลายทางเพศ ก่อตั้งองค์กรขึ้นเพื่อฝึกบุคลากรทางการแพทย์ให้บริการผู้ป่วยที่มีความหลากหลายทางเพศได้อย่างมั่นใจ
7.สาขาฮีโร่ด้านเอชไอวีดีเด่น (HIV Hero supported by APN+) ได้แก่ Yasir Ali Khan จากประเทศปากีสถาน นักเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี สนับสนุนกลุ่มประชากรที่สัมผัสกับเชื้อเอชไอวี
8.สาขาความยุติธรรมทางสังคมดีเด่น (Social Justice) ได้แก่ Nada Chaiyajit จากประเทศไทย นาดา ไชยจิตต์ เป็นที่ปรึกษารณรงค์ด้านสิทธิมนุษยชนที่ชนะคดีความเรื่องเครื่องแบบการแต่งกายตามเพศสภาพ ช่วยสร้างแบบอย่างหลักกฎหมายอัตลักษณ์ทางเพศและการแสดงออกในประเทศไทย
9.สาขาฮีโร่คนข้ามเพศดีเด่น (Transgender Hero supported by APTN) ได้แก่ Rully Mallay จากประเทศอินโดนีเซีย อาสาสมัครที่ช่วยจัดระเบียบชุมชน เสริมสร้างศักยภาพผู้บริหารองค์กร เพิ่มความยืดหยุ่นของชุมชนจากความเปราะบางต่าง ๆ
10.สาขาคนรุ่นใหม่กับความสำเร็จดีเด่น (Young Achiever) ได้แก่ Jeremy Tan จากประเทศมาเลเซีย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขเยาวชนผู้สนับสนุนองค์กรสุขภาพในมาเลเซียให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น บูรณาการรูปแบบการดูแลสุขภาพทั่วไปเข้ากับการให้บริการสุขภาพด้านเอชไอวี
11. สาขาชีพอนันดาคาน (Shivananda Khan Award for Extraordinary Achievement) ได้แก่ Senator Risa Hontiveros จากประเทศฟิลิปปินส์ วุฒิสมาชิกผู้สนับสนุนด้านสุขภาพและสิทธิสตรีผู้สนับสนุนกลุ่มคนชั้นล่าง, กลุ่มคนชายขอบ และชุมชนหลากหลายทางเพศ
Cr. APCOM
มิดไนท์ พูนเกษตรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิแอ็พคอม กล่าวว่า ผู้ได้รับรางวัลในปีนี้ แม้จะมีผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 งานที่พวกเขาทำก็ประสบผลสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยม รางวัลนี้จะช่วยเน้นย้ำความพยายามของพวกเขา
Cr. Nada Chaiyajit
ไมเคิล แบ็ค ทูตจากองค์กรภาคธุรกิจของมูลนิธิแอ็พคอม กล่าวว่า เรามาเฉลิมฉลองให้กับผู้คนที่อุทิศตนที่มีความปรารถนาช่วยพัฒนาชีวิต ให้ความหวังและสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับผู้ติดเชื้อเอชไอวี, ชุมชนกลุ่มคนหลากหลายเพศทั่วเอเชียแปซิฟิก
ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น สุขภาพดีขึ้น มีความสุขมากขึ้น เพราะฮีโร่ของเราได้ปรากฏตัวขึ้น พวกเขาควรได้รับการยกย่อง เราควรส่งเสริมความทุ่มเทและผลสะเทือนที่พวกเขาสร้างขึ้น ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้กับนโยบายและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เราทุกคนสมควรได้รับ"
ข้อมูลเพิ่มเติมดูที่ https://www.apcom.org/apcom-staffs-donate-salaries-creates-coronaapcompassion/