“เลโก้” ใครว่าแค่ของเล่นเด็ก? ช่วยฝึกสมาธิ-รำลึกอดีตผู้ใหญ่
รู้หรือไม่? “เลโก้” (Lego) ชุดตัวต่อยอดนิยม ไม่ได้เป็นเพียงของเล่นสำหรับเด็กเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ในการฝึกสมาธิ ทำให้จิตใจสงบสุข ลดความเครียดในผู้ใหญ่ ขณะเดียวกัน ชุดตัวต่อจากภาพยนตร์ดังก็ช่วยให้คนแต่ละวัยรำลึกถึงอดีตเหมือนกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง
เลโก้ ของเล่นตัวต่อหลากสีสันสุดน่ารัก ที่ให้ผู้เล่นได้เติมเต็มจินตนาการสามารถประกอบเป็นรูปร่างอะไรก็ได้ตามที่ใจต้องการ ซึ่งเลโก้ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่เสริมสร้างพัฒนาการในเด็กเท่านั้น แต่เลโก้ยังสามารถช่วยบำบัดจิต ฝึกสมาธิให้กับผู้ใหญ่ได้ด้วยเช่นกัน
นับเป็นเวลา 90 ปีแล้วตั้งแต่ที่เลโก้ถูกคิดค้นขึ้นมาโดย โอเล เคิร์ก คริสเตียนเซน ช่างไม้ชาวเดนมาร์ก ที่ตั้งชื่อตัวต่อนี้จากวลีในภาษาดัตช์ที่ว่า leg godt ซึ่งแปลว่า "เล่นได้ดี" (play well) แต่เลโก้ยังคงเป็นของเล่นที่ได้รับความนิยมอยู่เสมอจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีวิดีโอเกมและเกมออนไลน์เพิ่มมากขึ้นก็ตาม
วลาดา โบโทริก ผู้ช่วยศาสตราจารย์แห่งมหาวิทยาลัยซาเยด ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำการวิจัยเกี่ยวกับ ชุมชนแฟนพันธุ์แท้เลโก้ หรือ (Acronym of adult fan of LEGO) โดยตีพิมพ์ลงในวารสาร Journal of Consumer Culture เมื่อปี 2564 พบว่า มีสมาชิกวัยผู้ใหญ่มากกว่า 360,000 คนในชุมชนเลโก้ทั่วโลก
ขณะที่มูลค่าตลาดของเล่นทั่วโลกในปีนี้อยู่ 36,700 ล้านดอลลาร์ โดยจากผู้ที่มีอายุมากกว่า 12 ปี มูลค่า 27,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งผู้ใหญ่เริ่มมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมของเล่นหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เห็นได้จากยอดขายของเกมกระดาน เกมปริศนา และชุดของเล่นที่พุ่งสูงขึ้น ทำให้บรรดาบริษัทผลิตของเล่นทั้งหลายหันมาจับตลาดกลุ่มผู้บริโภควัยผู้ใหญ่ของออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ในปี 2562 หลังจากที่ Lego Group บริษัทแม่ของเลโก้สำรวจพบว่า ผู้ใหญ่มีความเครียดและความกังวลในระดับสูง บริษัทจึงได้พัฒนาชุดอุปกรณ์เลโก้สำหรับกลุ่มผู้ใหญ่ที่ต้องการพักผ่อน คลายเครียด และฝึกสติ โดยมีจุดประสงค์เพื่อให้เหล่าผู้ใหญ่ได้มีช่วงเวลาอยู่กับเอง ปลีกวิเวกจากชีวิตที่แสนวุ่นวาย
“กลุ่มผู้ใหญ่ที่ทำงานภายใต้แรงกดดันสูงกำลังบอกเราว่า พวกเขามองหากิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลายและทำให้จิตใจสงบ ซึ่งเลโก้คือตัวเลือกที่ดีสำหรับตัดขาดกับโลกภายนอกที่แสนวุ่นวายนี้” เจเนวีฟ คาปา ครูซ เปิดเผยกับ The Washington Post
- กิจกรรมสร้างสมาธิ
เลโก้สำหรับผู้ใหญ่นั้นถูกออกแบบมาให้สลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น และมีมากมายหลากหลายแนวครอบคลุมทุกความสนใจ มีทั้งชุดพฤกษศาสตร์เต็มไปด้วยต้นไม้นานาชนิด ชุดสถาปัตยกรรมที่จำลองสถานที่สำคัญของโลก เช่น พระราชวังบักกิงแฮม หอไอเฟล ขณะที่ชุดวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็มีโมเดลกระสวยอวกาศของนาซา ทั้งหมดนี้ถูกออกแบบภายใต้แนวคิดการสร้างสมาธิของ “เซน” เมื่อผู้เล่นประกอบชิ้นส่วนเลโก้แต่ละชิ้นเข้าด้วยกัน
แนวคิดของการเจริญสติ (Mindfulness) ถูกนำมาใช้เป็นวิธีการลดความเครียด โดยจดจ่ออยู่กับช่วงปัจจุบันขณะ ด้วยการทำกิจกรรมที่ใช้เวลานานและต้องทำซ้ำ ๆ เช่น การระบายสี เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายและมีความสร้างสรรค์มากขึ้น กิจกรรมเหล่านี้ช่วยให้สมองของเราสร้างการเชื่อมโยงระหว่างการรับรู้ และสร้างเส้นทางประสาทที่ช่วยฝึกฝนทักษะการแก้ปัญหา รวมถึงกระตุ้นจินตนาการของเรา
กิจกรรมใด ๆ ซ้ำ ๆ เช่น การปัก การกวาด การต่อเลโก้เข้าด้วยกัน สามารถช่วยรักษาสมดุลที่เหมาะสมระหว่างการมีส่วนร่วมทางจิตใจและการผ่อนคลายได้ โดยแคร์รี บาร์รอน ผู้อำนวยการโครงการ Creativity for Resilience ของมหาวิทยาลัยเทกซัส กล่าวว่า “การจดจ่อกับการทำงานเพียงอย่างเดียว คือ รูปแบบหนึ่งของสติ”
ขณะที่ “จังหวะการต่อเลโก้ และการทำซ้ำไปซ้ำมา ช่วยย้ำเตือนว่าคุณกำลังอยู่ในช่วงเวลาสงบ ไม่ได้มีแรงกดดัน หรือสถานการณ์ใดคอยฉุดรั้งไปในทิศทางต่าง ๆ ซึ่งช่วยให้ผู้คนสามารถจัดการความคิดและปรับปรุงสถานะความผาสุก (well-being) โดยรวมของพวกเขาได้” กมนา ชิบเบอร์ นักจิตวิทยาคลินิกในอินเดียกล่าว
“จิตใจของมนุษย์เปรียบเป็นโรงงานที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ผลิตความคิดและอารมณ์ออกมาจำนวนมาก ซึ่งมีทั้งส่วนที่ดีมีประโยชน์ แต่ก็มีบางส่วนที่ไม่สร้างประโยชน์และบั่นทอนคุณภาพชีวิตที่ดีได้” ดีแนซ ดามาเนีย นักบำบัดและที่ปรึกษาในอินเดีย กล่าว
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การเจริญสติ กลายเป็นคำยอดนิยม โดยบริษัทต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Apple, Nike และ HBO ได้เพิ่มห้องทำสมาธิสำหรับพนักงาน ขณะเดียวกันได้เกิดแอปพลิเคชันที่ช่วยให้ผู้ใช้งานได้พบกับความสงบ เช่น Headspace และ Calm นอกจากเลโก้แล้ว ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็นำเอาการทำให้จิตใจสงบสุขมาเป็นจุดขายด้วย ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันระบายสี การถักนิตติ้ง ปริศนาอักษรไขว้ และงานประดิษฐ์ต่าง ๆ
- รำลึกความหลังผ่านเลโก้
ปี 2544 เป็นปีแรกที่เลโก้ขาดทุน เนื่องจากเด็ก ๆ หันไปให้ความสนใจกับเกมกดและวิดีโอเกมมากขึ้น ทำให้เลโก้แก้เกมด้วยการซื้อลิขสิทธิ์ Star Wars แฟรนไชส์สื่อที่ทุกคนหลงรักมาทำเป็นชุดเลโก้ ซึ่งมันได้ผล ในปี 2545 เลโก้ทำยอดขายเพิ่มขึ้นถึง 30%
หลังจากน้ันเลโก้ได้ขยายไลน์ผลิตภัณฑ์ออกไปให้มากขึ้น และซื้อลิขสิทธิ์แฟรนไชส์อื่น ๆ ทั้ง ดิสนีย์ มาร์เวล และแฮร์รี่ พอตเตอร์ ตามมา โดยในปี 2562 เลโก้มีกำไร 1,200 ล้านดอลลาร์ จากยอดขาย 5,400 ล้านดอลลาร์
แน่นอนว่าคนที่ซื้อชุดเลโก้เหล่านี้ไม่ใช่เด็ก แต่กลับเป็นผู้ใหญ่หัวใจเด็ก (Kidult) หรือ กลุ่มเด็กหนวดที่มีกำลังซื้อ
“การเพิ่มขึ้นของแฟน ๆ ที่เป็นผู้ใหญ่กำลังขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของเล่น คุณคิดว่าใครเป็นคนซื้อเดธสตาร์ 499 ดอลลาร์ หรือปราสาทฮอกวอตส์ 399 ดอลลาร์? ของทั้งหมดนี้ทำขึ้นเพื่อผู้ใหญ่ที่มีเงินซื้อทั้งนั้น” คริส เบิร์น ระบุ
นอกจากนี้ เบิร์นเสริมว่า เลโก้ยังมีไลน์สินค้า Lego Ideals ที่ทำเซ็ตฉากจากภาพยนตร์ดังในตำนานอย่าง “E.T.” “Back to the Future” “Mary Poppins” หรือ “Ghostbusters” เอาใจคนเจน X โดยเฉพาะ เพราะคนวัย 40-50 ปีเป็นกลุ่มแรกที่เติบโตมากับเลโก้ ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เลโก้จะใช้ความผูกพันที่คนเจน X มีต่อทั้งเลโก้และภาพยนตร์ในวัยเด็กมาเปลี่ยนเป็นสินค้า เพื่อให้คนเหล่านี้ได้หวนรำลึกทบทวนอดีตวัยหวาน เพราะเมื่อเราเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีหลายครั้งที่เราหลงลืมความสนุกสนานที่ได้จากการเล่นและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ด้วยตัวเอง
ที่มา: LEGO, South China Morning Post, Washington Post