อั่งเปาตั่วตั่วไก๊ "ตรุษจีน 2566" ควรให้ "แต๊ะเอีย" เท่าไรถึงเป็นสิริมงคล?
ยิ่งให้ยิ่งรวย! อีกหนึ่งธรรมเนียมในวัน "ตรุษจีน 2566" คือการแจก "อั่งเปา" และ "แต๊ะเอีย" ให้ลูกหลานหรือคนที่อายุน้อยกว่า ชวนรู้ความหมายของสองคำนี้ต่างกันอย่างไร? แล้วควรให้แต๊ะเอียเท่าไร ถึงจะเป็นสิริมงคลทั้งคนให้คนรับ
"วันเที่ยว" หรือ "วันตรุษจีน 2566" ปีนี้ตรงกับวันที่ 22 มกราคม เป็นวันที่ลูกหลานชาวจีนจะนำส้มมงคลไปไหว้แสดงความเคารพผู้ใหญ่ที่นับถือ พร้อมกล่าวคำอวยพร "ซินเจียยู่อี่ ซินนี่ฮวดไช้" ซึ่งตามธรรมเนียมผู้ใหญ่ก็จะมอบ "อั่งเปา" และ "แต๊ะเอีย" ให้กลับมาเป็นของขวัญปีใหม่
จึงไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมช่วงเทศกาล "ตรุษจีน" มักจะเห็นภาพอาหมวย อาตี๋ หรือหลานๆ ตัวเล็กถือซองสีแดงกันละลานตา อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายคนที่อาจจะยังสับสนระหว่าง "อั่งเปา" และ "แต๊ะเอีย" ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร? กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ จะพาไปไขข้อสงสัยพร้อมกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
- "คำอวยพรตรุษจีน" 2566 พูดแล้วเฮง เสริมทรัพย์ร่ำรวยทั้งผู้ให้และผู้รับ
- วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว "ตรุษจีน 2566" เช็กปฏิทิน ตรงกับวันไหนบ้าง?
- วิธีไหว้ "ไฉ่ซิงเอี้ย" ตรุษจีน 2566 ปีนี้หันหน้าทิศไหน? ขอพรรับทรัพย์ทั้งปี
- ไหว้ตรุษจีน 2566 ขอพร "ไฉ่ซิงเอี้ย" "ไท้ส่วยเอี้ย" เสริมทรัพย์ร่ำรวย-ปัดเป่าโชคร้าย
- 4 เวลาไหว้เจ้า "ตรุษจีน 2566" รับทรัพย์เช้ายันดึก เวลาไหนต้องไหว้ใคร?
- "อั่งเปา" หรือ "แต๊ะเอีย" ?
พูดถึงซองแดง บางทีก็เรียกว่า "อั่งเปา" บางคราวก็เรียกแต๊ะเอีย ก็เกิดข้อสงสัยว่าทั้ง 2 อย่างนี้มันต่างกันอย่างไร เว็บไซต์ "ไชน่าทาวร์เยาวราช" ให้ข้อมูลว่า คำว่า อั่ง ในภาษาจีนแปลว่า สีแดง ซึ่งเป็นสีแทนสัญลักษณ์ความเป็นมงคล ความมีชีวิตชีวา ความโชคดีของชาวจีน เราจะเห็นว่าในเทศกาลต่างๆ ชาวจีนจะนิยมใช้สีแดงกัน ส่วนคำว่า เปา ในภาษาจีนแปลว่า ของ หรือ กระเป๋า
ดังนั้น คำว่า อั่งเปา จึงหมายถึงซองสีแดง ซึ่งในที่นี้เป็นชื่อเรียกของสิ่งของมงคลที่นิยมให้ตามเทศกาลต่างๆ ของชาวจีน
ส่วนแต๊ะเอียนั้น คำว่า แต๊ะ ในภาษาจีนแปลว่า ทับหรือกด และ เอีย ในภาษาจีนแปลว่า เอว เมื่อรวมกันจะแปลว่าของที่มากดหรือทับเอว ในสมัยก่อนเหรียญของชาวจีนนั้นเป็นวงกลม ที่รูตรงกลาง เวลาเก็บก็มักจะร้อยด้วยเชือกแล้วเอาคาดเอวเอาไว้ ดังนั้นแล้ว แต๊ะเอีย จึงหมายถึงเงินหรือของที่อยู่ด้านในซอง นั่นเอง
- ที่มาของซองสีแดงในอดีต สู่คำว่า "อั่งเปา"
ซองสีแดง ถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ของเงินนำโชคที่ถูกมอบให้กันในวันปีใหม่จีน แต่ที่มานั้นยังมีความคลุมเครือ เพราะไม่มีหลักฐานระบุแน่ชัดว่าเกิดเพราะเหตุใด นอกจากตำนานที่เล่าต่อกันมา อย่างตำนานสัตว์ประหลาด เหนียน (Nian : 年) โดยตำนานเล่าว่าในทุกๆ ปีมักจะมีสัตว์ประหลาดชื่อ เหนียน (年) ออกมาทำลายหมู่บ้าน ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันเด็กๆ จากปีศาจ เหล่าพ่อแม่จึงให้เงินแก่ลูกของพวกเขา เพื่อเมื่อเจอปีศาจจะได้ติดสินบนสัตว์ประหลาดด้วยเงินที่ติดตัว
นอกจากตำนานสัตว์ประหลาดเหนียนแล้ว ยังมีตำนานปีศาจที่เรียกว่าซุ่ย (祟) โดยปีศาจตนนี้จะออกมาในวันส่งท้ายปีเก่าและตบหัวเด็กในขณะนอนหลับ พ่อแม่จึงวางเหรียญไว้ข้างหมอน เมื่อปีศาจมาถึงจะเห็นแสงสะท้อนของเหรียญจึงจากไป ยังมีตำนานอีกมากมายที่เกี่ยวกับการให้เงินแก่หลูกหลาน
แต่ถึงอย่างนั้น การให้เงิน หรือเหรียญ เริ่มต้นแพร่หลายในยุคราชวงศ์ฮั่น แต่แทนที่จะเป็นการให้เงินจริงๆ กลับกลายของสะสมขนาดเล็กในรูปของเหรียญเพื่อขับไล่วิญญาณชั่วร้าย ที่จารึกตัวอักษร “สันติภาพ” (peace - tiān xiàtàipíng) ,“อายุยืนและโชคลาภ” (千秋 ti - qiān qiūwànsuì) ให้กันแทน เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป เงินที่ใช้จากเหรียญจึงเปลี่ยนเป็นแบงค์อย่างในปัจจุบัน แต่ความหมายของการให้เงินนั้นก็ยังเพื่อความเป็นสิริมงคลเช่นเดิม
- ควรใส่ "แต๊ะเอีย" ใน "อั่งเปา" เท่าไร? สื่อถึงความสิริมงคล
คนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ยึดหลักการให้ "เลขคู่" เพราะถือเป็นเลขแห่งความมงคลในความหมายจีน แต่ในช่วงยุคแรกแห่งการสถาปนาสาธารณะรัฐจีน หรือศตวรรษที่ 20 มีความเชื่อว่าจะต้องให้เงินที่มีมูลค่า 100 เซ็นต์ เป็นการอวยพรให้อายุยืนถึง 100 ปี
ต่อมาจึงนิยมให้เลขต่อเนื่องกันตามตำนาน 连 连 高 升 อ่านว่า Lián Lián Gāo shēng (เหลียน-เหลียน-เกา-เชิง) แปลว่า ขอให้ได้เลื่อนขั้นหรือการงานการเงินเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไป นิยมให้เงินเป็นเลขเรียง เช่น 789 เจ็ดร้อยแปดสิบเก้าบาท เพื่อความก้าวหน้าไปเรื่อยๆ
แต่จริงๆ แล้ว การให้เงินคนในครอบครัวของชาวจีนส่วนใหญ่นั้น ไม่มีหลักเกณ์ตายตัว แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติคือ ญาติผู้ใหญ่มักจะให้เงินแก่ลูกหลานในจำนวนตั้งแต่ 200 - 1,000 หยวน (สกุลเงินจีน) ตามความใกล้ชิด (แต่ส่วนใหญ่ผู้ปกครองชาวจีนมักไม่ชอบรับเงินจากลูกๆ) และจะให้เงิน 10-50 หยวน สำหรับคนรู้จักหรือเพื่อนร่วมงาน
ส่วนธรรมเนียมในทางภาคใต้ของจีน จะมีการให้เงินที่เป็น "เลข 6" หรือในภาษาจีนคือ 六 六 大 顺 (liù liù dà shùn : ลิ่ว ลิ่ว ต้า ชุ่น) เสียงคล้องกับวลีที่แปลว่า "ความสำเร็จที่ราบรื่น" และให้เงินที่เป็น "เลข 8" หรือในภาษาจีน คือ 发 (fā) ที่เป็นคำพ้องเสียงตรงกับความหมายว่า “ได้รับความมั่งคั่ง"
แต่ถ้าครอบครัวไหนไม่ไห้ให้ตามหลักการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเช่นกัน เพราะแม้จะได้รับแค่บาทเดียว หรือ 1 หยวน ก็ถือว่าเงินเหล่านั้นเป็นสิริมงคลเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เรื่องเงินเรื่องทองมักไม่เข้าใครออกใคร แต่ทางที่ดี..ถ้าเงินได้เข้ากระเป๋าเราดูว่าจะเป็นเรื่องดีที่สุด