5 เมษายน "เช็งเม้ง 2566" ทำไมต้องไหว้บรรพบุรุษ ต้องเตรียมของไหว้อะไรบ้าง?
"เช็งเม้ง 2566" ตรงกับวันที่ 5 เมษายน แต่ทั้งนี้ลูกหลานชาวจีนสามารถ "ไหว้บรรพบุรุษ" ได้ทั้งก่อนและหลังวันเช็งเม้ง ตามแต่ความสะดวก (มักอยู่ในช่วง 15 มี.ค. - 8 เม.ย.) พร้อมรู้วิธีไหว้ที่ถูกต้อง และต้องใช้ "ของไหว้เช็งเม้ง" อะไรบ้าง?
อีกหนึ่งประเพณีการไหว้บรรพบุรุษที่สำคัญของลูกหลานชาวจีน คงหนีไม่พ้น "วันเช็งเม้ง" ซึ่งหลายคนอาจยังสับสนว่าตรงกับวันไหนกันแน่? คำตอบคือ "เช็งเม้ง 2566" ตรงกับวันที่ 5 เมษายน 2565 แต่ทั้งนี้ การไหว้เช็งเม้งที่ฮวงซุ้ยนั้น ไม่จำเป็นต้องไหว้ในวันเช็งเม้งเพียงวันเดียว แต่สามารถไหว้ได้ตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม ไปจนถึงวันที่ 8 เมษายนของทุกปี
กรุงเทพธุรกิจ ชวนเปิดประวัติและต้นกำเนิดของวันเช็งเม้ง, วิธีไหว้เช็งเม้งที่ถูกต้อง, ช่วงเวลาในการไหว้ที่เหมาะสม รวมถึงต้องรู้ว่า "ของไหว้เช็งเม้ง 2566" ต้องใช้อะไรบ้าง? โดยตามประเพณีดั้งเดิมจะต้องไหว้เจ้าที่ก่อน จากนั้นจึงตามด้วยการไหว้บรรพบุรุษเป็นลำดับต่อมา และมีรายละเอียดอื่นๆ ที่ต้องรู้ ดังนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
1. เช็งเม้ง 2565 ไหว้วันไหน เวลาใด?
การเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับของลูกหลานชาวจีนในเทศกาลเช็งเม้ง ตามประเพณีที่สืบต่อกันมาคือ จะเริ่มไหว้กันตั้งแต่ "วันชุงฮุง" (20-21 มีนาคม) เข้าสู่ช่วง "วันเช็งเม้ง" (4-5 เมษายน) และลากยาวไปจนถึงวันที่ 19-20 เมษายน โดยช่วงเวลาดังกล่าวในประเทศจีน อยู่ในช่วงปลายฤดูหนาวและเข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ ท้องฟ้าปลอดโปร่ง แจ่มใส ส่วนใหญ่จะนิยมไหว้กันช่วงเช้า เวลาไม่เกิน 10.00 น.
ส่วนในประเทศไทย ชาวไทยเชื้อสายจีนปรับเปลี่ยนระยะเวลาการไหว้เช็งเม้งเล็กน้อย เนื่องจากสภาพอากาศในไทยแตกต่างจากจีน ปรับระยะเวลาให้สั้นกระชับขึ้น คือ ระหว่างวันที่ 15 มีนาคม - 8 เมษายน ของทุกปี
คำว่า “เช็งเม้ง” คือ ช่วงเวลาแห่งความแจ่มใส ท้องฟ้าใสสว่าง เนื่องจากเป็นช่วงเวลาในฤดูใบไม้ผลิของจีน ต้นไม้ใบหญ้าเขียวชอุ่มสวยงาม จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะกับการไปไหว้บรรพบุรุษ ณ ที่ฝังศพ แทนการไหว้ป้ายวิญญาณในบ้าน ทั้งนี้ “วันเช็งเม้ง” ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมากที่สุดของของชาวจีน เนื่องจากเป็นประเพณีไหว้บรรพบุรุษที่สุสาน เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ
ที่มาของวันเช็งเม้งนั้น มาจากพระเจ้าฮั่นเกาจู ผู้สถาปนาราชวงศ์ฮั่น ที่ระลึกถึงบิดามารดาที่เสียชีวิตไปแล้ว จึงเดินทางไปยังบ้านเกิด แต่จำสุสานของบิดามารดาของตนไม่ได้ จึงอธิษฐานต่อเทพบนสวรรค์ด้วยการโปรยกระดาษสีขึ้นฟ้า หากกระดาษปลิวไปตกยังป้ายสุสานใดจะถือว่าสุสานนั้นเป็นสุสานของบิดามารดา เมื่อกระดาษลอยไปและเมื่อดูป้ายชื่อชัดๆ แล้วก็พบว่า เป็นฮวงซุ้ยของบิดามารดาพระองค์จริง จากนั้นมา ประเพณีการทำความสะอาดฮวงซุ้ยและโปรยกระดาษสีบนหลุมศพก็ถูกสืบต่อกันมาเรื่อยๆ จนถึงปัจจุบัน
2. เคล็ดลับการไหว้เช็งเม้ง ป้องกันพลังไม่ดี
สำหรับการไปไหว้บรรพบุรุษที่ "ฮวงซุ้ย" หรือเขตสุสานนั้น ว่ากันว่าเป็นสถานที่ที่มีพลังไม่ดีอยู่ ดังนั้นการไปไหว้จึงต้องกระทำอย่างระมัดระวังและเหมาะสม โดย "ซินแสนัตโตะ" ผู้เชี่ยวชาญด้านโหราศาสตร์จีนมีคำแนะนำสำหรับผู้ที่จะไปไหว้เช็งเม้ง ดังนี้
- ให้พกท้าวเวสสุวรรณติดตัวไปด้วย
- อย่าไปนั่งที่สุสานคนอื่น และอย่าเดินไปทั่วตามสุสานคนอื่นที่คุณไม่รู้จัก
- เวลาไปไหว้บรรพบุรุษให้พูดแต่สิ่งดีๆ ห้ามทะเลาะเบาะแว้ง
- คนที่ไปไหว้ เวลาไปและกลับ คุยกันให้เรียกชื่อ มีการขานรับ ห้ามพูดลอยๆ เช่น กลับบ้านกัน กินข้าวกัน มานั่งด้วยกันซิ
- เวลาจุดประทัด ปี 2565 ห้ามจุดตำแหน่งทิศเหนือของสุสาน จะเป็นการระเบิดพลังร้าย
3. "ของไหว้เช็งเม้ง 2566" ต้องเตรียมอะไรบ้าง?
การไปไหว้เช็งเม้งที่ฮวงซุ้ย ต้องเตรียมของไหว้สำหรับไหว้เจ้าที่ และของไหว้บรรพบุรุษ ดังนี้
- ของไหว้เจ้าที่ ได้แก่ เทียน 1 คู่, ธูป 5 ดอก, ชา 5 ถ้วย, เหล้า 5 ถ้วย, ไก่ต้ม, ขนมอี๋, ผลไม้, กระดาษเงินกระดาษทอง
- ของไหว้บรรพบุรุษ ได้แก่ เทียน 1 คู่, ธูป ใช้ตามจำนวนบรรพบุรุษ ท่านละ 1 ดอก, ชา 3 ถ้วย, เหล้า 3 ถ้วย, ขนมเข่ง, ขนมถ้วยฟู, ขนมกู้, ผลไม้, ไก่ต้ม, หมูสามชั้นต้ม, อาหารจานเส้น, ซุป/แกงจืด, อาหารอื่นๆ ที่บรรพบุรุษชอบ, กระดาษเงินกระดาษทอง
4. ขั้นตอนและ "วิธีไหว้เช็งเม้ง" ทำอย่างไร?
ทำความสะอาดสุสาน : ปัดกวาดพื้นบริเวณสุสาน เช็ดทำความสะอาดป้ายชื่อบรรพบุรุษ รวมถึงลงสีที่ป้ายชื่อให้ดูใหม่ เน้นสีเขียวหรือสีทองขลิบเขียว ทั้งนี้ ห้ามถอนหญ้า เพราะอาจกระทบตำแหน่งทิศไม่ดี เช่น ทิศอสูร ทิศแตกสลาย ทิศดาวเบญจภูติ เป็นต้น
ไหว้เจ้าที่ : จัดวางของไหว้สำหรับเจ้าที่ตามของไหว้ข้างต้น แล้วเริ่มไหว้ตามพิธี (ให้ผู้อาวุโสในบ้านเป็นผู้ไหว้) จุดธูป 5 ดอก กล่าวขอบคุณเจ้าที่ รอธูปหมด จากนั้นลาของไหว้
ไหว้บรรพบุรุษ : จัดวางอาหารเครื่องเซ่นไหว้ตามของไหว้ข้างต้น แต่อย่าวางอาหารบนดต๊ะหน้าป้ายชื่อบรรพบุรุษ เพราะเป็นจุดเข้าออกของวิญญาณบรรพบุรุษ อนุโลมให้วางกระถางธูปได้เท่านั้น จากนั้นให้ผู้อาวุโสในบ้านเป็นผู้นำไหว้ จุดธูปและเทียน กล่าวขอบคุณบรรพบุรุษและเชิญมารับอาหารที่เราเตรียมมาให้
จุดประทัด/โปรยกระดาษ : เมื่อธูปหมดแล้วก็ให้ลาของไหว้ บางครอบครัวจะมีการจุดประทัดเพื่อความเป็นสิริมงคล ส่วนบางครอบครัวจะมีการโปรยกระดาษที่บริเวณสุสานเพื่อบอกให้บรรพบุรุษรับรู้ว่าลูกหลานมาเยี่ยมแล้ว
หลังจากเสร็จสิ้นพิธีแล้ว บางครอบครัวอาจจะมานั่งล้อมวงทานอาหารกันต่อที่บ้าน เพื่อเชื่อมความสัมพันธ์และความสามัคคีในหมู่เครือญาติ
5. ข้อห้ามเมื่อไป "ไหว้บรรพบุรุษ" ในเขตสุสาน
- ห้ามวางของตรงแท่นหน้าเจี๊ยะปี (ป้ายชื่อบรรพบุรุษ) เพราะเป็นที่เข้าออกของวิญญาณบรรพบุรุษ ไม่ใช่แท่นวางของไหว้
- ห้ามถ่ายรูปในสุสาน ควรให้ความเคารพบรรพบุรุษ ตั้งใจเซ่นไหว้ ไม่ควรถ่ายรูปหมู่เพราะอาจกระทบกับหยินหยางของผู้ไหว้ได้
- หญิงมีครรภ์/มีประจำเดือน ไม่ควรไปสุสาน เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ เป็นกุศโลบายป้องกันการเกิดอันตรายกับหญิงมีครรภ์
- ห้ามแต่งชุดสีสดใส เพราะเป็นการไม่ให้ความเคารพต่อผู้ล่วงลับ
- ห้ามร่วมเซ่นไหว้กับครอบครัวอื่น หากไม่ใช่สมาชิกครอบครัวเดียวกัน ห้ามไปร่วมไหว้ เพราะเชื่อว่าอาจทำให้โชคร้าย
- ห้ามเซ่นไหว้ขณะป่วย/ดวงตก หากไม่สบายหรืออยู่ในช่วงที่โชคไม่ดี ไม่ควรร่วมการเซ่นไหว้ เพราะจะทำให้เกิดความเศร้า ท้อแท้ใจมากขึ้นไปอีก
- อย่าปลูกต้นไม้บนสุสาน เป็นความเชื่อตามหลักฮวงจุ้ย เนื่องจากรากไม้จะรบกวนหลุมศพ อาจทำให้ฐานสุสานแตกร้าว
-----------------------------------------
อ้างอิง : fengshuimee