‘ไฮบอล’ โซดาวิสกี้สุดซาบซ่า ไม่ใช่ของญี่ปุ่น แต่ข้ามทวีปมาจากอังกฤษ
ใครที่ชื่นชอบเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สไตล์ญี่ปุ่น คงคุ้นเคยกับเมนู “ไฮบอล” หรือโซดาผสมวิสกี้เป็นอย่างดี โดยหลายคนเข้าใจว่าเมนูนี้มีต้นกำเนิดที่ญี่ปุ่น แต่ความจริงแล้ว เครื่องดื่มสุดฮิตนี้ข้ามทวีปมาจากอังกฤษและอเมริกา
Key Points:
- ไฮบอล คือ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์สไตล์ญี่ปุ่นที่ทำมาจากโซดาผสมวิสกี้ ได้รับความนิยมมาอย่างช้านาน
- จุดกำเนิดของไฮบอลอาจไม่ได้เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นแต่เป็นการเดินทางข้ามทวีปมาจากอังกฤษและอเมริกา
- ในปัจจุบันไฮบอลไม่ได้มีเสิร์ฟแค่ในบาร์เท่านั้น แต่ยังมีแบบบรรจุกระป๋องขายเพื่อง่ายต่อการซื้อหามาบริโภค
หากลองสังเกตดูจะพบว่าตามร้านอาหารญี่ปุ่นทั่วไปมีเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง (ไม่นับสาเกและเบียร์) ที่ได้รับความนิยมมาช้านาน จนเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องดื่มสุดคลาสสิกสไตล์ญี่ปุ่นที่เหมาะสำหรับ ดื่มคู่กับอาหารญี่ปุ่นหลากหลายเมนูนั่นก็คือ “ไฮบอล”
ลักษณะเด่นของไฮบอล คือ เครื่องดื่มที่มีความเรียบง่าย เนื่องจากใช้เพียงโซดาผสมวิสกี้ (หรือบางสูตรอาจผสมมะนาวลงไปด้วย) เมื่อดื่มแล้วให้ความรู้สึกสดชื่นและดับกระหายได้ดี จึงกลายเป็นเครื่องดื่มเมนูโปรดของหลายคนที่ชื่นชอบการรับประทานอาหารคู่กับเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นไปด้วย แต่รู้หรือไม่? แท้จริงแล้วไฮบอลไม่ได้มีต้นกำเนิดในประเทศญี่ปุ่น แต่เดินทางข้ามทวีปมาจากประเทศอังกฤษและสหรัฐอเมริกา เข้ามาในญี่ปุ่นเมื่อประมาณเกือบ 150 ปีก่อน
- เปิดประวัติ “ไฮบอล” มาจากไหน ทำไมจึงฮิตในญี่ปุ่น?
มีบางทฤษฎีระบุว่า “ไฮบอล” มีต้นกำเนิดมาจากแผ่นดินอังกฤษ โดยนักเคมีที่ชื่อว่า โจเซฟ พรีสต์ลีย์ (Joseph Priestley) ผู้คิดค้นน้ำโซดาขึ้นเป็นคนแรกของโลก จากนั้นเครื่องดื่มไฮบอลก็ถือกำเนิดขึ้นที่เมืองลีดส์ตั้งแต่ ค.ศ. 1767 เป็นต้นมา โดยในช่วงแรกเป็นการผสมกันระหว่างบรั่นดีกับโซดา ต่อมาจึงนำมาผสมกับสกอตช์วิสกี้ หลังจากนั้นไฮบอลก็เริ่มได้รับความนิยม และถูกเผยแพร่ข้ามฝั่งไปยังสหรัฐอเมริกาโดย แพทริก เกวิน ดัฟฟี (Patrick Gavin Duffy) บาร์เทนเดอร์ชื่อดังซึ่งเป็นผู้ตั้งชื่อเครื่องดื่มแก้วนี้ตามการเสิร์ฟในแก้วทรงกระบอกสูงที่เรียกว่าไฮบอล จนเมื่อถึงช่วงทศวรรษที่ 1920 ไฮบอลก็ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเป็นที่นิยมในฝั่งเอเชียโดยเฉพาะในญี่ปุ่น
อีกข้อมูลหนึ่งระบุว่า ชื่อของไฮบอลนั้นมาจากเรื่องราวการเสิร์ฟอาหารเครื่องดื่มบนรถไฟ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการเสิร์ฟเครื่องดื่มในแก้วทรงสูง หรือรถเข็นบริการอาหารบนรถไฟหัวจักรไอน้ำ เนื่องจากเมื่อหัวจักรของรถไฟทำความเร็วมากขึ้น ลูกบอลที่ใช้แสดงระดับความดันจะลอยสูงขึ้น หรือเรียกกันว่า High-balling หรืออีกกรณีหนึ่งว่ากันว่า มาจากคนส่งสัญญาณบนรางรถไฟ ที่จะชูเครื่องหมายรูปกลมๆ เหมือนลูกบอลขึ้นสูงๆ เพื่อเป็นการสื่อสารให้คนขับรถไฟรู้ว่ารางข้างหน้าโล่งแล้ว
นอกจากนี้ ยังมีบางแหล่งข้อมูลระบุว่า ไฮบอลหมายถึงลูกบอลภายในถังเก็บน้ำของเครื่องจักรไอน้ำที่บ่งชี้ว่ามีปริมาณน้ำเพียงพอที่จะสร้างพลังไอน้ำหรือไม่ เพราะหากมันลอยขึ้นในระดับที่ถูกต้อง พวกเขาจะให้สัญญาณกับลูกเรือด้วยเสียงสั้น 2 ครั้ง และเสียงยาว 1 ครั้ง ทำให้บางคนเชื่อว่านี่เป็นสูตรในอุดมคติสำหรับค็อกเทลไฮบอลที่ดี ซึ่งก็คือ เหล้า (หรือวิสกี้) 2 ช็อต และเทโซดาตามลงไปในแก้วยาวๆ 1 ครั้ง
- ไฮบอลและวัฒนธรรมการดื่มของญี่ปุ่น
ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่าไฮบอลเป็นหนึ่งในเมนูเครื่องดื่มสุดฮิตของร้านอาหารญี่ปุ่น โดยเฉพาะร้านอาหารแบบอิซากายะ หรือร้านที่เน้นขายอาหารคู่กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งไฮบอลเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมาอย่างช้านาน
ตั้งแต่ประมาณ ปี ค.ศ. 1918 ไฮบอลได้เข้ามาเปิดตัวให้เป็นที่รู้จักแก่ชาวญี่ปุ่นในชื่อ “Wistan” ในลักษณะของวิสกี้ผสมกับโซดา โดยเปิดตัวครั้งแรกที่เมืองโกเบ โดยขายเป็นแก้วใส่วิสกี้ผสมโซดาและตกแต่งด้วยผิวมะนาว ซึ่งในตอนนั้นก็ยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก จนมาถึงปี 1937 มีการเปิดตัววิสกี้ญี่ปุ่นยี่ห้อ “Kotobukiya 12 years” มาพร้อมกับการดื่มสไตล์ไฮบอล โดยสินค้าดังกล่าวมีการโปรโมตอย่างยิ่งใหญ่ จนทำให้การดื่มวิสกี้กับโซดาเป็นที่นิยมมากในญี่ปุ่น
หลังจากนั้นไม่นานไฮบอลก็เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มง่ายและให้ความสดชื่น โดยเฉพาะวัฒนธรรมการดื่มหลังเลิกงานของมนุษย์เงินเดือนชาวญี่ปุ่น ยิ่งมีส่วนทำให้ “ไฮบอล” ได้รับกระแสตอบรับที่ดีได้ไม่ยาก และกลายเป็นอีกหนึ่งเครื่องดื่มตัวท็อปของญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และได้เผยแพร่ต่อมายังประเทศไทยด้วย
ในปัจจุบันผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่นหลายเจ้าเริ่มหันมาผลิตไฮบอลแบบกระป๋อง เพื่อง่ายต่อการซื้อและการบริโภค แต่ในร้านอาหารญี่ปุ่นหรือบาร์หลายแห่งก็ยังคงมีไฮบอลเป็นเครื่องดื่มชูโรงและเรียกคะแนนนิยมจากผู้ที่ชื่นชอบเครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่นได้ดีอยู่เสมอ แม้ว่าความนิยมของไฮบอลในสังคมญี่ปุ่นจะลดลงไปบ้าง หลังการเข้ามาของ “เบียร์สด” ในยุค 1980 ที่ดื่มง่ายกว่า แต่ถึงอย่างนั้น หากพูดถึงเครื่องเครื่องดื่มแก้กระหายที่เอาไว้จิบคู่กับอาหารญี่ปุ่นแล้ว “ไฮบอล” ก็ยังคงเป็นตัวเลือกลำดับต้นๆ ของเหล่านักชิมสายอิซากายะอยู่ดี
อ้างอิงข้อมูล : South China Moring Post, Michelin Guide และ Barschool