‘กตัญญู’ แต่เงินไม่พอใช้! ชาวเน็ตสิงคโปร์ถกปม ‘ให้เงินพ่อแม่’
ชาวเน็ตสิงคโปร์ระบาย ทำไมต้องให้เงินพ่อแม่ ทั้งที่เงินไม่พอใช้ สะท้อนแนวคิด “ความกตัญญู” ต้องเลี้ยงดูพ่อแม่ ค่านิยมที่ถูกปลูกฝังกันมาในสังคม “ชาวเอเชีย”
Key Points:
- ชาวเน็ตสิงคโปร์เสียงแตก หลังมีชาวหนุ่มโพสต์ระบายเรื่องการให้เงินพ่อแม่ ทั้งที่เขามีเงินไม่มาก
- "การส่งเงินให้พ่อแม่" เป็นหนึ่งในการแสดง "ความกตัญญู" ค่านิยมที่ถูกปลูกฝังในสังคม "ชาวเอเชีย"
- ด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มย่ำแย่ทำให้ คนเป็นลูกถูกกดดันให้ทำงานหนัก เพื่อที่จะได้มีเงินเพียงพอสำหรับเลี้ยงดูพ่อแม่
กลายเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในวงกว้างบนโซเชียลมีเดียของสิงคโปร์ เมื่อชายนิรนามอายุ 20 กว่า ๆ ตั้งคำถามผ่าน SGWhispers บอร์ดสนทนาชื่อดังของสิงคโปร์ว่า จำเป็นหรือไม่ที่ลูกจะต้องให้เงินพ่อแม่? โดยเขาเล่าว่า ตนเองมีรายได้ไม่สูงมากนัก อยู่ที่ 3,500 ดอลลาร์ สิงคโปร์ แต่เมื่อหักค่าประกันสังคมไปแล้วจะเหลือ 2,800 ดอลลาร์สิงคโปร์เท่านั้น ซึ่งเมื่อเขาต้องแบ่งเงินให้พ่อและแม่คนละ 200 ดอลลาร์สิงคโปร์ต่อเดือน คิดเป็นประมาณ 15% ของรายได้สุทธิ ผลลัพธ์ก็คือ เงินเหลือไม่พอต่อค่าใช้จ่ายของตัวเอง
เจ้าของโพสต์ดังกล่าว ยังบ่นน้อยใจด้วยว่า รู้สึกอิจฉาครอบครัวที่พ่อแม่ไม่คาดหวังและไม่รับเงินจากลูก เพราะรู้ว่าลูกยังมีรายได้ไม่มากนัก จำเป็นต้องเก็บเงินไว้สำหรับตั้งตัวและสร้างอนาคต และเสริมว่าเขาจะไม่มีลูกในอนาคต เพราะเพราะอัตราเงินเฟ้อ ความคาดหวังของครอบครัว และความเครียดทำให้เขาเหนื่อย และหากเขามีลูก เขาจะไม่คาดหวังให้ลูกจ่ายเงินให้เขา
ในโพสต์ยังระบุอีกว่า เด็กไม่ได้ขอให้เกิดมา เมื่อพ่อแม่ตั้งใจจะมีลูกแล้ว จะต้องดูแลลูกให้เป็นอย่างดี เพราะถ้าพ่อแม่เลี้ยงดูอย่างดี ลูก ๆ จะเต็มใจดูแลโดยไม่ต้องร้องขอ แต่ถ้าหากคุณมีลูกเพื่อหวังให้พวกเขาเลี้ยงดูยามเกษียณ โดยใช้ความกตัญญูและบุญคุณมาเป็นข้อผูกมัดพวกเขา สุดท้ายแล้วพ่อแม่จะไม่เหลืออะไรเลยในช่วงสุดท้ายของชีวิต
หลังจากโพสต์นี้ถูกเผยแพร่ออกไป มีชาวสิงคโปร์เข้ามาคอมเมนต์เป็นจำนวนมาก ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยคนที่เห็นด้วยจะให้ความเห็นว่า ทุกวันนี้ค่าครองชีพสูงขึ้นมาก ลำพังแค่จะเลี้ยงตัวเองก็ลำบากมากแล้ว ยังต้องแบ่งเงินให้พ่อแม่อีก พร้อมชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรมตะวันตกทุกคนต่างใช้ชีวิตเป็นของตนเอง พ่อแม่ไม่ได้ “คาดหวัง” ให้ลูกมาเลี้ยงดูพวกเขาในตอนบั้นปลายชีวิต
ขณะที่ ฝ่ายไม่เห็นด้วยระบุว่าวัฒนธรรมทางเอเชียและตะวันตกไม่เหมือนกัน วัยรุ่นตะวันตกออกไปใช้ชีวิตของตนเองตั้งแต่จบไฮสคูล ต่างจากชาวเอเชียที่ยังอยู่กับครอบครัว ซึ่งถ้าอยากให้พ่อแม่ไม่คาดหวังก็ควรย้ายออกไปจากบ้านเหมือนกับชาวตะวันตก ไม่ใช่ยังอยู่กับครอบครัวต่อไปเรื่อย ๆ
ชายคนนี้ไม่ใช่คนเดียวที่มีปัญหาเกี่ยวกับภาระทางการเงินที่ต้องแบกรับ มีชาวสิงคโปร์อีกหลายคนที่โพสต์ระบายประเด็นนี้ในเว็บบอร์ดเดียวกัน ตัวอย่างเช่น ชายอีกคนที่ต้องแบกรับหนี้สินของพ่อแม่ของเขา แถมยังต้องให้ส่งเงินให้พ่อเดือนละ 600 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งเป็นค่าเหล้า บุหรี่ และการเดินทาง เขายื่นข้อเสนอให้พ่อแม่ขายแฟลตแล้วย้ายไปอยู่ที่อื่นที่มีขนาดเล็กลง หรือจะย้ายไปอยู่กับเขาก็ได้ แต่พ่อแม่ปฏิเสธทั้ง 2 ทาง ทำให้คนเป็น “ลูก” ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายทั้งหมด จนตัวเขาเองต้องใช้เงินอย่างกระเบียดกระเสียด และเครียดกับการหาเงินอยู่ทุกวัน
จากการสำรวจของ Answers.sg เว็บไซต์ทำแบบสำรวจของสิงคโปร์พบว่า ส่วนใหญ่ชาวสิงคโปร์ให้เงินแก่พ่อแม่เฉลี่ยเดือนละ 500 ดอลลาร์สิงคโปร์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 10% ของรายได้ทั้งหมด โดยถือว่าเป็นค่าตอบแทนพ่อแม่ที่เลี้ยงดูพวกเขามาจนโต
ลูกที่พยายามทำตามความฝันของพ่อแม่ที่อยากจะมีบ้านพร้อมที่ดินเป็นของตัวเอง ทั้งที่ไม่มีเงินเพียงพอ (ภาพจากซีรีส์ BEEF)
- วัฒนธรรมของชาวเอเชีย
วัฒนธรรม “การส่งให้เงินพ่อแม่” พบได้มากในสังคมชาวเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในที่รับแนวคิดของขงจื๊อและศาสนาพุทธที่มีคำสอนเรื่อง “ความกตัญญู” เป็นสำคัญ เช่น จีน สิงคโปร์ เวียดนาม รวมถึงประเทศไทย และแม้ว่าคนจีนจะอพยพไปอยู่ประเทศตะวันตกที่มีประกันสังคมดีที่สุดในโลกอย่างแคนาดา หรือ ออสเตรเลีย แต่แนวคิดนี้ก็ยังฝั่งรากลึกและถูกส่งต่อให้กับคนรุ่นต่อไป
คนรุ่นมิลเลนเนียลชาวเอเชียน-อเมริกัน กำลังประสบกับปัญหานี้ด้วยเช่นกัน หลายคนถูกพ่อแม่คาดหวังว่าพวกเขาจะต้องสนับสนุนทางการเงินในยามเกษียณ เหมือนกับที่พ่อแม่เคยทำให้ปู่ย่าตายาย และถ้าหากคุณอยู่ในช่วงเจนแซนด์วิช (Sandwich Generation) ที่ต้องดูแลทั้งรุ่นลูก แถมพ่อแม่ก็ต้องเลี้ยง ภาระเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ต้องแบ่งค่าใช้จ่ายออกอย่างน้อยเป็น 3 ส่วน เพื่อตนเอง เพื่อพ่อแม่ เพื่อลูก
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้ เศรษฐกิจโลกกำลังผันผวน บริษัทยักษ์ใหญ่ต่างพากันปลดพนักงานอยู่เรื่อย ๆ ทำให้ชาวมิลเลนเนียลจำนวนมากกำลังเผชิญกับความไม่มั่นคงในหน้าที่การงานอย่างมาก ที่สำคัญค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น แต่รายได้กลับเท่าเดิม ยิ่งทำให้เงินในบัญชีร่อยหรอลงไปทุกที
โทริ ดันแลป โค้ชการเงินมีคำแนะนำสำหรับทุกคนในช่วงเวลานี้ โดยเรียกว่า “การเงินบนเครื่องบิน” (Airplane Finances) “ในตอนนี้ที่อยู่ในช่วงยากลำบากทางการเงิน คุณควรช่วยเหลือตัวเองก่อน เหมือนกับเวลาเครื่องบินตกหลุมอากาศ คุณต้องสวมหน้ากากออกซิเจนให้ตัวเองก่อนที่จะสวมให้คนอื่น เพราะถ้าสถานะทางการเงินของตัวเองไม่ดีแล้ว จะไปดูแลคนอื่นได้อย่างไร และนี่ไม่ใช่เรื่องเห็นแก่ตัว”
แน่นอนว่าสำหรับชาวเอเชีย หรือแม้แต่ เอเชียน-อเมริกัน คำแนะนำนี้ดูเหมือนจะพูดง่ายกว่าทำได้จริง เพราะวัฒนธรรมของชาวเอเชียท้ายที่สุดแล้ว ลูกคนใดคนหนึ่งก็จะต้องรับพ่อแม่ที่แก่ชรามาดูแล ที่สำคัญการปฏิเสธที่จะให้การสนับสนุนทางการเงิน หรือไม่ซื้อของที่มีราคาแพงตามที่พ่อแม่เรียกร้องนั้น สามารถทำให้คนเป็นลูกถูกสังคมตราหน้าว่า เป็นลูกอกตัญญู หรือ “เนรคุณ” ได้ด้วย
ลูกชาวเอเชียที่อพยพมาอยู่ต่างแดนต้องรับพ่อแม่มาอยู่อาศัยด้วย
(ภาพจากภาพยนตร์เรื่อง Everything Everywhere All At Once)
- ความคาดหวังที่กลายเป็นแรงกดดัน
ด้วนความคาดหวังเหล่านี้ ยิ่งทำให้ผู้เป็นลูกต้องพยายามหาเงินให้ได้มากที่สุด หมดสิทธิ์ที่จะเดินทางออกไปตามหาความฝัน และลืมเรื่องวางแผนเกษียณของตัวเองไปได้เลย ตราบใดที่ยัง “ไม่รวย” พอที่จะทำให้ความเป็นอยู่ของทุกคน “สบาย” ขึ้นได้ (ยกเว้นคุณจะ “ฐานะดีมาก”)
มอร์แกน นิวแมน ที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า ครอบครัวชาวเอเชียมักไม่พูดคุยเกี่ยวกับสถานะทางเงิน เพราะชาวเอเชียมองว่าการพูดคุยกันในประเด็นเรื่องยาก ๆ เหล่านี้ เป็นการท้าทายอำนาจและความเชื่อของสมาชิกในครอบครัวที่มีอายุมากกว่า และทำให้เกิดบรรยากาศที่น่าอึดอัด
ทั้งที่การพูดคุยเรื่องสถานภาพทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นของพ่อแม่ หรือของลูกเอง ล้วนเป็นส่วนสำคัญสำหรับการวางแผนทางเงินของครอบครัว และประเมินได้ว่าในปัจจุบันจะต้องวางแผนอย่างไรบ้าง ภาระจะไม่หนักไปที่ใครคนใดคนหนึ่งมากจนเกินไป เพราะมีหลายครั้งที่การสนับสนุนทางการเงินแก่ครอบครัวที่สร้างเรา กลายเป็นการทำลายครอบครัวที่เราสร้าง
คงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องนัก หากเราจะทุ่มเทเงินทั้งหมดที่มีอยู่ให้กับพ่อแม่เพียงเพราะคำว่ากตัญญูที่เราถูกปลูกฝังมานาน จนลืมนึกถึงภาระที่ตนเองมี และปล่อยให้คู่ชีวิตของเราดูแลค่าใช้จ่ายในครอบครัวอยู่เพียงลำพัง คู่สมรสของเราควรจะต้องมีส่วนในการตัดสินใจเรื่องการส่งเงินให้พ่อแม่ด้วยเช่นกัน
การหาเงินดูแลและสนับสนุนครอบครัว โดยเฉพาะเพื่อตอบแทนพระคุณของพ่อแม่นั้น ต้องยอมรับว่าขัดแย้งความคิดของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบัน แต่คงจะพูดไม่ได้ว่าอะไรผิดหรืออะไรถูก ขึ้นอยู่กับคุณค่าที่แต่ละคนยึดถือ และไม่ทำให้ตนเองเดือดร้อน
ที่มา: Medium, Next Shark, Seedly, Refinery 29, The Independent