พนักงานจะไม่ 'ลาออก' ถ้าบริษัทสอน Up skills ให้ ก้าวสู่ตำแหน่งใหม่ก็ยิ่งดี
บริษัทแบบไหน? ที่คุณอยากร่วมงานและไม่คิด "ลาออก" ยิ่งถ้า Upskills ให้พร้อมปรับตำแหน่งสูงขึ้น สนใจไหม? ทั้งนี้ผลสำรวจจาก Linkedin ชี้ว่า บริษัทที่สอนทักษะใหม่ๆ ให้พนักงาน อัตราการลาออกจะน้อยลงถึง 7%
Key Points:
- ผลสำรวจจาก Global Talent Trends Report ชี้ชัดว่า บริษัทที่ช่วยให้พนักงานเรียนรู้ทักษะใหม่ในการทำงาน บวกกับมีกการปรับตำแหน่งให้ จะสามารถลดอัตราการลาออกได้เกือบ 7%
- การรักษาพนักงานเดิมเอาไว้ ด้วยการสอนทักษะใหม่ๆ ให้พวกเขา ยังสามารถช่วยบริษัทประหยัดเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย
- เนื่องจากการ “ลาออก” ของพนักงาน 1 คน ทำให้บริษัทเสียค่าใช้จ่ายไปประมาณ 50% ของเงินเดือนพนักงาน หรืออาจมากถึง 2 เท่าของเงินเดือนพนักงาน
เมื่อพนักงานออฟฟิศทำงานมาสักระยะหนึ่ง พวกเขาอาจอิ่มตัวกับงานที่ทำ และรู้สึกอยากขยับตำแหน่งหรืออยากหางานใหม่ โดยเฉพาะพนักงานที่มีอายุงาน 3-4 ปี ในบริษัทเดิม มักจะตัดสินใจ “ลาออก” ได้ง่าย
ขณะที่บริษัทเองก็ลำบาก เพราะตั้งแต่หลังวิกฤติโควิดผ่านไป หลายบริษัทพบว่า การหาพนักงานใหม่ที่มีทักษะและศักยภาพที่ต้องการนั้น หาได้ค่อนข้างยาก เมื่อจำนวนพนักงานลดลงจากการหยุดจ้างชั่วคราวในช่วงโควิด ทำให้การรักษาพนักงานที่มีอยู่มีความสำคัญมากกว่าที่เคย
หนึ่งในวิธีที่จะดึงดูดให้พนักงานเดิมยังคงอยากอยู่ที่นี่ต่อไปโดยไม่ลาออกก็คือ การเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้พนักงานเดิมที่มีอยู่ พร้อมกับเลื่อนตำแหน่งงานให้พวกเขา เพื่อที่พวกเขาจะได้ก้าวหน้าในสายอาชีพโดยไม่ต้องลาออกไปหางานบริษัทใหม่ (ดีไม่ดีอาจเป็นบริษัทคู่แข่ง)
- พนักงานออฟฟิศต้องการเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ จากที่ทำงาน
จากข้อมูลเชิงวิเคราะห์ของ Linkedin รายงานว่า การที่พนักงานจะเลือกทำงานในองค์กรใดๆ ก็ตาม นอกจากจะเลือกจากคุณสมบัติทั่วไปของงานในอุดมคติแล้ว อีก 2 ปัจจัยที่สำคัญมากพอๆ กันก็คือ
1. ต้องการยกระดับทักษะให้ตัวเองในขณะที่ทำงานในองค์กรนั้นๆ
2. ความต้องการที่จะก้าวหน้าในสายอาชีพของตนเอง
รวมถึงมีรายงานผลสำรวจจาก Global Talent Trends Report (องค์กรที่สำรวจ Skills ที่โดดเด่นของพนักงานทั่วโลก) แสดงให้เห็นว่า บริษัทที่ช่วยให้พนักงานเรียนรู้ทักษะในการทำงาน สามารถลดอัตราการลาออกได้เกือบ 7%
ขณะที่รายงานจาก Future of Recruiting ปี 2023 ก็ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า หากบริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างมากที่จะจัดให้มี “การจ้างงานภายใน” หมายถึงมีการเสริมทักษะให้ พร้อมกับเสนอตำแหน่งงานใหม่ให้พนักงานเดิม อัตราของพนักงานที่จะยังอยู่กับบริษัทนั้นๆ จะเพิ่มขึ้นถึง 60%
ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พนักงานออฟฟิศจากหลายๆ ประเทศทั่วโลก เริ่มเห็นคุณค่าของการเคลื่อนไหวภายในเหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพวกเขารู้ว่า บริษัทมีความพยายามในการเสริมสร้างทักษะให้พวกเขาเพิ่มเติม หลังจากผ่านการพัฒนาทักษะแล้วก็จะได้รับรางวัลเป็นความก้าวหน้าในอาชีพ
- การลงทุนกับพนักงาน Gen Z บริษัทอาจได้ผู้นำที่ดีในรุ่นต่อไป
ตามผลสำรวจของ Global Talent Trends Report ยังรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า พนักงานออฟฟิศในสหรัฐอเมริกา แคนาดา อินเดีย สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย หากพวกเขาต้องการความก้าวหน้าในสายอาชีพ พวกเขามีแนวโน้มที่จะแสวงหางานในตำแหน่งอื่นๆ ภายในบริษัทเดิม มากพอๆ กับ การลาออกเพื่อหางานในบริษัทใหม่ ดังนั้นถ้าบริษัทเดิมสามารถตอบโจทย์เรื่องความก้าวหน้าให้พวกเขาได้ ก็ย่อมทำให้รักษาคนเก่งๆ เอาไว้ได้แน่นอน
โดยเฉพาะวัยทำงานรุ่น Gen Z หลายคนอาจมองว่าพวกเขายังเด็ก แต่หากบริษัทเล็งเห็นความสำคัญของคนรุ่นใหม่ และเสริมทักษะขั้นสูงให้แก่พวกเขา บริษัทก็จะได้รับประโยชน์มากขึ้น เช่น
- Gen Z อาจมีมุมมองที่แตกต่างออกไปเกี่ยวกับความหมายของการเป็นผู้นำ
- เกิดการสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ที่คนทุก Gen ทำงานร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม
- เปิดโอกาสให้ Gen Z ได้ทดลองทำงานในวิธีใหม่ๆ ซึ่งอาจทำให้บริษัทค้นพบวิธีทำงานที่ดีกว่าเดิม
- ถือเป็นการลงทุนสร้างผู้นำฝีมือดีรุ่นต่อไปให้มาบริหารองค์กร เป็นต้น
- การ “ลาออก” ของพนักงาน 1 คน ทำให้บริษัทเสียค่าใช้จ่ายมากกว่าที่คิด
กล่าวโดยสรุปคือ หากบริษัทต้องการให้พนักงานเดิมยังทำงานอยู่กับที่นี่ต่อเนื่องไปยาวๆ โดยไม่รีบลาออกไปเสียก่อน บริษัทก็จำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ “การเสริมทักษะ Up-Skill” และเลื่อนตำแหน่งให้พนักงานเหล่านั้น (เฉพาะคนที่ผ่านการฝึกทักษะแล้วไปต่อได้จริง) การลงทุนในรูปแบบนี้จะให้ผลตอบแทนที่ดีในหลายมิติ ได้แก่
1. ช่วยให้ HR สามารถจัดหาคนที่มีความสามารถตรงตามเป้าหมาย และมีความหลากหลายมากขึ้น
2. ช่วยให้ HR พบผู้สมัครที่มีศักยภาพสูง ซึ่งสามารถนำมุมมองใหม่ๆ มาสู่ธุรกิจได้
3. ช่วยให้บริษัทได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ เพราะได้คนที่มีความสามารถมาร่วมงานด้วย
ข้อมูลวิเคราะห์จาก LinkedIn ยังแสดงให้เห็นอีกว่า วิธีการจ้างงานที่เน้นทักษะเป็นอันดับแรก สามารถเพิ่มพนักงานที่มีประสิทธิภาพได้มากขึ้นกว่า 10 เท่า อีกทั้งการได้ทีมงานที่มีความหลากหลายจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและผลกำไรให้บริษัทได้
นอกจากนี้ การรักษาพนักงานเดิมเอาไว้ ด้วยการสอนหรือสร้างเสริมทักษะใหม่ๆ ให้พวกเขา ยังสามารถช่วยบริษัทประหยัดเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย เนื่องจากการ “ลาออก” ของพนักงานออฟฟิศ 1 คน อาจทำให้บริษัทเสียค่าใช้จ่ายไปประมาณ 50% ของเงินเดือนพนักงานคนนั้นๆ หรืออาจมากถึง 2 เท่าของเงินเดือนพนักงานคนนั้นๆ ก็เป็นได้
------------------------------------
อ้างอิง : Linkedin, Global Talent Trends, Future of Recruiting 2023