ผู้นำที่เป็นพิษ บ่อนทำลายชีวิตลูกน้อง
เคยสังเกตคนรู้จักบ้างไหมคะว่าอะไรเป็นสาเหตุให้เขาต้องออกจากงาน ทั้งที่งานนั้นก็ดี ได้รับค่าจ้างใช้ได้ บริษัทก็ใหญ่ มีโอกาสก้าวหน้า ในสภาวะเศรษฐกิจไม่ดีก็ไม่ควรลาออกมานอนเล่นหรือเตะฝุ่นหางานใหม่อย่างไม่มีเหตุผล
ที่เขาต้องทำเช่นนั้นอาจเพราะเขาเจอเข้ากับผู้นำที่เป็นพิษ (Toxic Leader) ทนจนทนไม่ไหว สุดท้ายก็ยอมเสียผลประโยชน์ของตนเอง ออกจากองค์กรดีกว่าจะกลายเป็นโรคซึมเศร้าหรือบ้าคลั่งไป ขณะที่หลายคนทนอยู่อย่างเจ็บปวด
เรื่องแบบนี้สังคมไทยที่ในทางพฤตินัยให้สิทธิผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก ครูมากกว่าศิษย์ หรือผู้บังคับบัญชามากกว่าผู้ใต้บังคับบัญชา นั้นมีความใส่ใจ ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงในเรื่องนี้น้อยมาก โครงสร้างที่เทอะทะกดทับคนตัวน้อยข้างล่างให้อดทนกันเอาเอง
แต่ละปีไม่รู้สังคมไทยสูญเสียโอกาสให้กับผู้นำที่เป็นพิษนี่มากมายขนาดไหน แรงงานดีๆ มีฝีมือต้องลาออก เพราะทนผู้นำประเภทนี้ไม่ได้ ลูกน้องดี ๆ ไม่กล้ามีความคิดเชิงนวัตกรรมเพราะมักโดนผู้นำที่เป็นพิษ “ด่าไว้ก่อน” จนเลิกคิดไปข้างหน้าเพื่อองค์กรกันแล้ว เหลือแต่พวก “ได้ครับนาย ดีครับผม”
คนทำงานต้องป่วยเจ็บเพราะการกระทบกระเทือนจิตใจส่งผลทางกายภาพ กำลังคนที่มีบาดแผลย่อมส่งผลต่อประสิทธิภาพของงานและอรรถประโยชน์สูงสุดของบริษัท น่าเสียดายที่เรื่องเช่นนี้ผู้นำสูงสุดขององค์กรอาจไม่รู้ หรือตนเองนั่นแหล่ะคือผู้นำที่เป็นพิษเสียเอง
ผู้นำที่เป็นพิษคือคนที่แย่น่ะแน่นอน แต่ต้องแยกให้ออกระหว่างผู้นำห่วย ๆ ที่บางทีไม่มีผลกระทบต่อจิตใจของผู้ตาม มีผลเฉพาะต่อตัวเขาเองหรือศัตรูคู่แข่ง เช่น การขาดความรู้ความสามารถ การเป็นคน “ตู้”เสียเหลือเกิน การเป็นคนควบคุมตนเองไม่ได้ การไม่ใส่ใจความหวังดีของคนรอบข้าง พวกขี้โกง พวกไม่ไยดีความเจ็บไข้ของใคร หรือชอบใช้จิตวิทยาเล่นงานคนอื่น
สิ่งเหล่านี้จะทำให้เขากลายเป็นผู้นำที่เป็นพิษทันที ที่เขาเอาพฤติกรรมการทำลายล้างเหล่านี้ไปลงยังบุคคล กลุ่ม องค์กร ชุมชน หรือแม้แต่ประเทศชาติ ที่เขาเป็นผู้นำ และทำให้ผู้ที่อยู่ภายใต้การนำของเขาอยู่ในภาวะย่ำแย่
ผู้นำเป็นพิษอาจจะเป็นคนเก่ง การศึกษาสูง ขยันขันแข็ง ทำงานหนัก และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสาธารณชนก็ได้ แต่การบริหารภายในองค์กรนั้นเลวร้ายต่อลูกน้องอย่างสุดสุด เพื่อเรียกเอาประสิทธิภาพจากคนทำงานด้วยให้ได้มากที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลัก
ผู้นำประเภทนี้มักจะอ้างว่าที่ต้องเขี้ยวกับลูกน้อง ก็เพื่อบริษัทเป็นหลัก ไม่ใช่เพื่อตนเองเลยจริงจริ๊ง บังคับลูกน้องให้ทำงานเพื่อองค์กรตลอดเวลา โดยไม่สนใจเรื่องสมดุลชีวิตส่วนตัวกับงาน เขามักอ้างว่าคนรับเงินขององค์กรต้องทำงานให้องค์กรโดยไม่มองเลยว่าเงินที่ลูกน้องได้รับนั้นต่ำกว่าการขายชีวิตให้มากนัก
อย่างต่อไปคือพวกนี้มักใช้วาจาหยาบคาย มารยาทถ่อยสถุล และการลงโทษเป็นเครื่องมือกดดันลูกน้อง โดยเชื่อมั่นว่านี่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง ทั้งที่ไม่มีตำราผู้บริหารในปัจจุบันเล่มไหนยอมรับ
เขามักเชื่อว่าธรรมชาติของลูกน้องเป็นคนที่พร้อมจะเลี่ยงงานอยู่เสมอ จึงต้องด่า ประจานหรือลงทัณฑ์เป็นระยะๆ และจะไม่น่าแปลกใจว่าเวลาผู้นำที่เป็นพิษไปเสนอหน้ากับผู้ที่เหนือกว่า เขาจะหวานประจบเหมือนเป็นไบโพลาร์ เอาดีเข้าตัว ถ้าผิดมาก็เป็นของลูกน้อง
ผู้นำที่เป็นพิษมักเอาใจและฟังเสียเฉพาะนายเหนือหัวที่ให้คุณให้โทษแก่เขาได้เท่านั้น ไม่จำเป็นต้องฟังเสียงคนอื่น ผู้นำที่เป็นพิษมักขี้ระแวงและจะแทรกแซงชีวิตส่วนตัวลูกน้อง เช่น ไม่เชื่อว่าหากลูกน้องลาป่วยก็ไม่เชื่อว่าป่วยจริง หากลาพักร้อนตามสิทธิก็มองว่าไม่ทุ่มเทต่องาน เป็นต้น
อำนาจบาตรใหญ่ต่าง ๆที่เกิดขึ้นมักบ่มเพาะมาจากการที่มี “ลูกขุนพลอยพยัก” จำนวนหนึ่งสนับสนุนผู้นำที่เป็นพิษ ลูกขุนที่ว่านี้ไม่ใช่จะจงรักภักดีต่อผู้นำหรอก แค่อาศัยโอกาสไต่เต้าไปเป็นผู้นำแย่ ๆ อีกคนในอนาคต
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นต่อองค์กรก็มีส่วนที่ทำให้ผู้นำที่เป็นพิษมีอำนาจ เช่น ประธานบริษัทต้องให้ลูกหลานหรือคนใกล้ชิดที่ไม่ได้เรื่องของตนเข้ามาบริหารงานด้วยเหตุจำเป็น หรือส่วนบนขององค์กรนั่นแหล่ะที่มีแต่ความชั่ว ขณะที่คนส่วนอื่นนิ่งเฉย
การจะดูว่าหน่วยงานนั้นได้รับผลกระทบจากผู้นำที่เป็นพิษหรือไม่นั้นแม้จะดูยาก แต่ก็พอสังเกตได้
เช่น หน่วยงานที่มีคนไม่อยากมาทำงานมากผิดปกติ ป่วยเจ็บมากจนผิดสังเกต คุณภาพงานและประสิทธิภาพคนลดลง ชอบการบังคับมากกว่าอาสา บัตรสนเท่ห์หรือการติฉินนินทานอกหน่วยหนาหู
ผู้นำที่อยู่เหนือ “นายทาส” พวกนี้ก็ต้องตระหนักให้ดี อย่าคิดว่าคนเป็นพิษทำงานให้ตนแล้วตนได้ประโยชน์ เพราะสิ่งที่ได้รับจะไม่ยั่งยืน เพราะเมื่อฟันเฟืองอื่นในองค์กรจิตใจย่ำแย่ ในระยะยาวองค์กรนั้นจะพินาศ จึงต้องรีบเอาผู้นำที่เป็นพิษออกจากองค์กรโดยทันที
แล้วผู้นำสูงสุดขององค์กรจะต้องสร้างสภาวะแวดล้อมในองค์กรให้ดีขึ้นมาใหม่ มีการเรียนรู้และเคารพกัน สร้างทีมงานผู้ใต้บังคับบัญชาที่มีใจรักองค์กรอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์จากผู้นำ ขณะเดียวกันก็สร้างผู้นำที่ยึดมั่นในระบบคุณธรรมขึ้นมาด้วย.