รู้หรือไม่ ? ‘เครื่องบิน’ ก็ต้อง ‘ทาครีมกันแดด’ แม้ตัวเครื่องเป็นโลหะ
เคยสงสัยกันหรือไม่ว่าเครื่องบินที่อยู่บนท้องฟ้า ได้รับการปกป้องจากแสงแดดอย่างไร เพื่อไม่ให้ตัวเครื่องได้รับความเสียหาย และการทาสีขาวด้านนอกตัวเครื่องบินเป็นการป้องกันแดดได้จริงหรือไม่?
Key Points:
- เหตุผลหลักที่เครื่องบินส่วนใหญ่ “ทาสีขาว” ก็เพราะเป็นวิธีป้องกันอันตรายจากรังสี UV ไม่ให้ทำร้ายตัวเครื่อง ทั้งในขณะที่บินอยู่ฟ้าและตอนจอดอยู่บนภาคพื้น
- ไม่ใช่แค่กันแดดเท่านั้น แต่การทาสีขาวให้เครื่องบิน ยังมีประโยชน์ด้านอื่นอีกด้วย ได้แก่ ป้องกันนกบินชน, ทำให้สังเกตเห็นความเสียหายที่ลำตัวเครื่องได้ง่าย, สีซีดจางได้ยาก เป็นต้น
- นอกจากสีขาวแล้ว บางสายการบินในนิวซีแลนด์ยังมีเครื่องบินพาณิชย์ที่ “ทาสีดำ” อีกด้วย เนื่องจากเป็นสีที่มีความสำคัญต่อประเทศ
เนื่องจาก “เครื่องบิน” ต้องบินอยู่บนท้องฟ้าเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อวัน ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยเฉพาะการขึ้นบินในช่วงกลางวัน มักมีความเสี่ยงที่ตัวเครื่องจะได้รับความเสียหายจากแสงแดดและความร้อน ดังนั้นในอุตสาหกรรมการบินจึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีหลายอย่างเพื่อนำมาใช้ป้องกันไม่ให้เครื่องบินถูกทำร้ายจากแสงแดดมากเกินไป หนึ่งในนั้นก็คือการ “ทาสีขาว” ให้กับเครื่องบิน ที่เปรียบเสมือนการทา “ครีมกันแดด”
เหตุผลสำคัญที่เรามักเห็นเครื่องบินส่วนใหญ่เป็น “สีขาว” ก็เพราะเป็นหนึ่งในวิธีรักษาตัวเครื่องไม่ให้ถูกทำร้ายจากสภาพอากาศและรังสียูวี (UV) จากแสงแดด โดยเฉพาะเวลาที่บินอยู่บนท้องฟ้าจะได้รับความร้อนมากกว่าตอนจอดอยู่ในหลุมจอดบนพื้นดิน เพราะสีที่สะท้องแสงได้ดีที่สุดก็คือสีขาวนั่นเอง นอกจากนี้ยังดูดซับความร้อนได้น้อยกว่าสีอื่น ๆ อีกด้วย
- เหตุผลที่ “เครื่องบิน” ส่วนใหญ่เป็นสีขาว ไม่ใช่แค่กันแดด
นอกจากเรื่องของการสะท้อนแสงแล้ว การทาสีขาวให้เครื่องบินยังทำให้ระบบรักษาความเย็นภายในเครื่องได้รับความเสียหายน้อยลง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาลงไปได้ด้วย เนื่องจากส่วนประกอบของเครื่องบินไม่ได้มีแค่โลหะอย่างเดียว แต่ยังมีพลาสติก คาร์บอนไฟเบอร์ ไฟเบอร์กลาส และอีกหลายอย่างที่สามารถสึกหรอได้จากความร้อนที่มาจากดวงอาทิตย์ ดังนั้นการทาสีขาวไม่ใช่แค่เพื่อกันแดดขณะเครื่องบินอยู่บนท้องฟ้าเท่านั้น แต่ยังช่วยกันความร้อนขณะเครื่องจอดรอผู้โดยสารที่สนามบินอีกด้วย เพราะเครื่องบินบางลำต้องจอดรออยู่นานหลายชั่วโมงเพื่อทำการโหลดสัมภาระ รอลูกเรือ และผู้โดยสาร
ไม่ใช่แค่เหตุผลด้านความร้อนเท่านั้น แต่ “สีขาว” ยังช่วยให้ช่างซ่อมบำรุงสังเกตเห็นความเสียหายที่บริเวณพื้นผิวของตัวเครื่องบินได้ง่ายอีกด้วย เช่น รอยยุบ รอยถลอก รอยแตก รอยขีดข่วน หรือร่องรอยอื่นๆ ที่มีขนาดเล็ก เนื่องจากการสึกหรอเพียงเล็กน้อยเหล่านี้ อาจสร้างความเสียหายต่อเครื่องบินไปจนถึงอาจกระทบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารได้ โดยเฉพาะปัญหาการรั่วของน้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันเครื่องยนต์ หรือน้ำมันไฮดรอลิก (Hydraulic Oil)
อีกหนึ่งประโยชน์ของการทาสีขาวให้เครื่องบินก็คือ ป้องกันอันตรายจากปัญหา “นกชนเครื่องบิน” ซึ่งจะทำให้เครื่องบินสูญเสียความควบคุม ข้อมูลจาก Executive Flyers ระบุว่า เฉพาะในสหรัฐอเมริกาเกิดเหตุนกชนเครื่องบินเฉลี่ย 13,000 ครั้งต่อปี ซึ่งจะพบได้บ่อยในช่วงนำเครื่องขึ้นหรือลง เนื่องจากเครื่องบินอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตามการทาสีขาวจะช่วยทำให้นกมองเห็นเครื่องบินเป็นสีตัดกับท้องฟ้าได้ง่ายกว่าสีอื่นๆ ทำให้พวกมันหลีกเลี่ยงที่จะบินเข้าหาเครื่องบินนั่นเอง
นอกจากนี้ข้อดีของการทาสีขาวยังช่วยให้ประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย เนื่องจากสีขาวเป็นสีที่ซีดได้ยาก (เพราะสีมันขาวอยู่แล้ว) ทำให้ตัวเครื่องบินมีสีที่ค่อนข้างสม่ำเสมอมากกว่าการใช้สีอื่น ๆ ที่เมื่อเจอกับสภาพอากาศแล้วสีจะค่อยๆ ซีดจางลง นอกจากนี้สีขาวยังเป็นสีที่มีราคาถูกกว่าสีอื่นอีกด้วย
- ไม่ใช่แค่สีขาว แต่เครื่องบินที่ทาสีดำเป็นหลักก็มี
ถ้าสีขาวเป็นสีที่เห็นได้บ่อยที่สุดสำหรับเครื่องบินพาณิชย์ เครื่องบินสีดำก็คงเป็นสีที่พบเจอได้น้อยที่สุด หากไม่นับรวมเครื่องบินรบ แต่เครื่องบิน A321neo ZK-OYB ของสายการบิน Air New Zealand (Air NZ) กลับมีสีดำสนิท ซึ่งถือว่าเป็นสายการบินเดียวในโลกที่ใช้สีนี้ โดยสายการบินให้เหตุผลว่าแท้จริงแล้วการทาสีดำหรือขาวไม่ได้มีความแตกต่างในเรื่องประสิทธิภาพที่ชัดเจนเท่าไรนัก เพราะหน้าที่หลักของสีก็คือการเคลือบเครื่องบินเพื่อปกป้องการถูกทำร้ายจากสภาพอากาศเช่นกัน
ทางด้าน Michael Williams หัวหน้าแผนก Transformation and alliances จากสายการบิน Air NZ ระบุว่า สีดำนั้นเป็นสีของนกกีวี (สัตว์ประจำชาติของนิวซีแลนด์) ที่มีความโดดเด่น รวมไปถึงรองเท้าบูต (Boot) และเสื้อกีฬาต่าง ๆ ของนิวซีแลนด์ล้วนมีสีดำซึ่งเป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ และเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ประเทศนิวซีแลนด์
สุดท้ายแล้วไม่ว่าเครื่องบินจะเป็นสีอะไรก็ตาม แต่ประโยชน์หลักๆ ของการทาสีให้เครื่องบินไม่ใช่เพื่อความสวยงาม แต่เน้นประโยชน์ในแง่ของการป้องกันความร้อนจากแสงแดดภายนอกไม่ให้กระทบกับระบบต่างๆ ของตัวเครื่องนั่นเอง
อ้างอิงข้อมูล : Executive Flyers, nzherald (1) และ nzherald (2)