“แบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด” ช่วยแก้ปัญหา “เงินหมด” ก่อนสิ้นเดือนได้จริงไหม?
เปิดข้อดี-ข้อเสีย “แบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด” ไอเดียใหม่ “ครม.เศรษฐา” ที่คาดว่าจะนำวิธีนี้มาใช้กับ “เงินเดือนข้าราชการ” ในต้นปีหน้า 2567
เป็นที่ฮือฮาไม่น้อย เมื่อการประชุม ครม. นัดแรกของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ระบุถึงไอเดียใหม่อย่าง “การแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด” ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการ จากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ คาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2567 เป็นต้นไป
ด้าน นายกฯ เศรษฐา เชื่อว่าไอเดียนี้จะช่วยบรรเทาทุกข์ให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยได้พอสมควร เนื่องจากหากจ่ายเงินเดือน 2 รอบ ข้าราชการจะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่ต้องคอยให้ถึงสิ้นเดือนก่อนถึงจะมีเงินใช้จ่าย
หลังจากข่าวนี้เผยแพร่ออกไป หลายคนอาจเกิดคำถามตามมาว่า “แบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด” ในระบบเงินเดือนข้าราชการ จะช่วยลดปัญหาเงินไม่พอใช้ ก่อนถึงสิ้นเดือนได้จริงหรือไม่?
- เปิดข้อดี "แบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด" ช่วยบริหารการเงินได้ง่ายขึ้น
ในแง่หนึ่ง การแบ่งจ่ายเงินเดือนสองครั้งก็มีข้อดีอยู่ ข้อมูลจาก Finnomena เว็บไซต์ด้านการลงทุนและการบริหารจัดการการเงิน ระบุไว้ว่า วิธีนี้เหมาะกับผู้ที่อาจจะยังบริหารการเงินได้ไม่ดีนัก และมักมีปัญหาเงินหมดก่อนสิ้นเดือน เหมือนดั่งวลีคุ้นหูคนไทยที่ว่า “ใกล้สิ้นเดือนก็เหมือนจะสิ้นใจ”
ปัญหาเงินไม่พอใช้นำมาซึ่งการ “หยิบยืมเงิน” จากครอบครัวหรือเพื่อนฝูง หรือถ้าหนักกว่านั้นก็อาจลามไปถึงการ “กู้เงิน” ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาหนี้สินให้ตามมาอีก แต่หากใช้เทคนิคบริหารการเงินด้วยการแบ่งเงินเดือนออกเป็น 2 งวด หรือการจ่ายเงินเดือนทุกครึ่งเดือน ก็จะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ และมีข้อดีดังนี้
1. ช่วยให้วางแผนการใช้เงินได้ง่ายขึ้น : โดยแบ่งรอบการใช้เงินเดือนเป็น 2 รอบ คือ รอบครึ่งเดือนแรก และรอบครึ่งเดือนหลัง ทำให้แต่ละรอบสามารถวางแผนบริหารการใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น แทนที่จะต้องวางแผนการเงินล่วงหน้าไปถึง 30 วัน (รอบเดียว) แต่กลายเป็นวางแผนได้สั้นลงแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้นเอง
2. รู้เท่าทันการใช้จ่ายของตนเอง : วิธีนี้จะช่วยให้รู้เท่าทันการใช้เงินของตนเองในระหว่างรอบการใช้จ่ายมากขึ้น มองภาพรวมได้ชัดเจนขึ้นว่าตนเองใช้เงินไปมากน้อยแค่ไหน และวันที่เหลืออยู่ต้องบริหารเงินอย่างไร
3. ลดระยะเวลาการรอเงินเดือนรอบใหม่ : แม้ว่าจะเผลอใช้เงินเยอะในระหว่างรอบการใช้จ่ายรอบแรก แค่รออีกไม่กี่วันก็จะได้เงินรอบหลังมาใหม่แล้ว ช่วยลดระยะเวลาการรอเงินรอบใหม่ อาจช่วยลดการหยิบยืมเงินลงได้
4. เพิ่มโอกาสเก็บเงินได้มากขึ้น : เพิ่มโอกาสที่จะได้ “เก็บเงิน” มากขึ้นตอนสิ้นรอบการใช้จ่ายของทั้ง 2 รอบ แทนที่จะเก็บเงินรอบเดียวจากเงินเหลือตอนสิ้นเดือน
ทั้งนี้ ในบางประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา การจ่ายเงินค่าจ้างทุกครึ่งเดือนถือเป็นมาตรฐานที่ใช้กันทั่วไป ส่วนในไทยพบว่าองค์กรต่างๆ ส่วนใหญ่ จ่ายเงินเดือนให้ลูกจ้างแบบเดือนละครั้ง มีเพียงบางบริษัทที่แบ่งจ่ายเงินเดือน 2 ครั้ง
- เช็กข้อเสีย “แบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด” ไม่ได้เวิร์กกับทุกคน
ขณะที่ในอีกแง่หนึ่ง วิธีแบ่งจ่ายเงินเดือนเป็น 2 งวด อาจไม่เวิร์กกับทุกคน เพราะเทคนิคการเก็บเงินและวางแผนการเงินถือเป็นเรื่องจิตวิทยาส่วนบุคคล เทคนิคที่คนๆ หนึ่งใช้ได้ผล ไม่ได้แปลว่ามันจะได้ผลกับคนอื่น อีกทั้งกลายเป็นข้อเสียสำหรับบางคนด้วย
จากการสำรวจความคิดเห็นของชาวเน็ตบางส่วน (ไม่ใช่ข้าราชการ) ที่เคยมีประสบการณ์ได้รับ “เงินเดือนแบ่งจ่าย 2 ครั้ง” จากการแชร์ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ กรุงเทพธุรกิจพบว่า หลายคนได้รับผลกระทบจากการที่บริษัทแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด ไม่ว่าจะเป็น
“แบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด เวลาจะซื้ออะไรก็ซื้อได้ไม่เต็มที่เพราะเงินเดือนออกครึ่งเดียว ต้องคอยวางแผนว่าเงินออกรอบนี้ใช้อะไรบ้าง เหลือไว้ทบอีกรอบใช้อะไรบ้าง”
“จากประสบการณ์ที่เคยได้รับเงินเดือนมาทั้ง 2 แบบ มองว่าได้เงินเดือนงวดเดียวดีกว่า เพราะจัดการง่ายกว่า ถ้าแบ่ง 2 งวดจะจัดการยากในเรื่องผ่อนบ้าน-ผ่อนรถ เพราะงวดผ่อนมาเดือนละครั้งเหมือนเงินเดือน”
“แบ่งจ่าย 2 งวดมีข้อเสีย ถ้าจัดการไม่ดี อาจเงินหมดก่อนวันจ่ายจริง ส่วนตัวรู้สึกว่ารับเงินเป็นก้อนใหญ่ จะมีความรู้สึกอยากใช้เงินน้อยกว่าได้รับแบบยอดน้อยๆ”
“เงินเดือนออกครึ่งเดียวจ่ายค่างวดรถ ค่าหอ น้ำ ไฟ บัตรเครดิต ก็แทบไม่เหลือใช้แล้ว เงินออก 2 งวด เหมือนมีสิ้นเดือน 2 ครั้ง และมีต้นเดือน 2 ครั้ง เวลาไปช้อปปิ้ง ดื่ม เที่ยว ก็เปลืองเป็น 2 เท่า”
อย่างไรก็ตาม จากข้อดี-ข้อเสียดังข้างต้น ประเด็นการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็น 2 งวดนั้น ครม. อาจจะต้องหารือร่วมกับหลายฝ่ายในรอบด้าน เพื่อหาข้อสรุปว่าไอเดียนี้จะเป็นไปได้จริงมากน้อยแค่ไหน ส่วนข้าราชการคงต้องติดตามประเด็นนี้กันต่ออีกยาวๆ
------------------------------------------
อ้างอิง : Finnomena, จ่ายเงินเดือน 2 รอบ, จ่ายเงินเดือน 2 รอบ