เปลี่ยนบทบาท อย่าลืมปรับพฤติกรรม | บวร ปภัสราทร
คำเตือนว่า อย่าเป็นผู้บริหารสันดานเสมียน บอกให้รู้ว่า วันใดที่ได้ขยับเก้าอี้ใหญ่โตขึ้น วันนั้นคือวันเริ่มต้นที่ต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
อย่าเชื่อว่าเมื่อการงานที่ต้องรับผิดชอบดูแลเปลี่ยนแปลงไป เราจะปรับเปลี่ยนตัวเราเองตามการงานนั้นไปเอง เพราะคนเรามักยึดติดอยู่กับพฤติกรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จ
พฤติกรรมในวันวานนั้นจะถูกนำมาใช้อย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงวันที่ตำแหน่งหน้าที่การงานใหญ่โตขึ้น
เห็นตัวอย่างกันเป็นประจำที่ ผู้จัดการลงไปแย่งทำงานในบทบาทเดิมที่ตนเองเคยทำมา โดยอ้างความชำนาญการที่สะสมมาจากการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ดั่งเดิมนั้นมาแรมปี ในการไปแย่งงานของลูกน้องมาทำเองแทน
เคยทำตัวตอนเป็นลูกน้องอย่างไรก็ทำเช่นเดิมเมื่อตำแหน่งใหญ่ขึ้น ซึ่งดูเหมือนจะดี แต่ลองนึกถึงกรณีสุดโด่งที่หัวหน้า รปภ บังเอิญได้รับโปรโมทขึ้นไปทำหน้าที่ซีอีโอ ซึ่งคงคุ้นเคยกันอยู่ว่ากิจการขององค์กรนั้นมีอันเป็นไปอย่างไรบ้าง ภายใต้ซีอีโอพฤติกรรม รปภ
เตือนตนเองก่อนรับตำแหน่งใหม่ที่ใหญ่โตขึ้นว่า วันเวลาของการเปลี่ยนแปลงชีวิตและพฤติกรรมกำลังมาถึงแล้ว เตรียมตัวให้พร้อมที่จะออกจากโซนปลอดภัยที่อยู่อย่างสบายใจมานานเป็นปี ไปสู่โซนแห่งความท้าทายใหม่ๆ ที่มากับเก้าอี้ที่ใหญ่โตมากขึ้น
เรื่องที่ดูเป็นเรื่องเล็ก ๆ นี่แหละที่ช่วยกระตุ้นให้มีเรี่ยวแรงและความตั้งใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองขึ้นมาได้ ไม่ตระหนักว่าต้องเปลี่ยน ก็จะกลายเป็นตำแหน่งลูกพี่ แต่พฤติกรรมลูกน้อง
จะก้าวขึ้นไปลงเก้าอี้ระดับไหน นอกจากจะต้องรู้อย่างดีว่าหน้าที่ใหม่นั้นจะมีอะไรบ้าง ต้องปรับปรุงพฤติกรรมอะไรบ้าง ปรับอย่างไร ควรพยายามหาตัวอย่างพฤติกรรมของคนที่ทำการงานนั้นได้อย่างประสบความสำเร็จ เพื่อจะได้รู้ว่าพฤติกรรมที่พึงปรับเปลี่ยนนั้น ปรับสำเร็จแล้วจะเป็นอย่างไร
จะก้าวขึ้นตำแหน่งไหนให้รู้พฤติกรรมที่ตรงกับความคาดหวังของผู้คนสำหรับคนที่ได้ตำแหน่งนั้น พร้อมทั้งมีตัวอย่างที่ดีให้ดูด้วยเสมอ
วางแผนว่าพฤติกรรมใดควรปรับเปลี่ยนก่อนหลัง อย่าหักดิบพยายามปรับทุกพฤติกรรมไปพร้อม ๆกัน
การที่ต้องออกจากโซนปลอดภัยที่เคยทำสารพัดเรื่องอย่างสบายใจ ถ้ารีบร้อนเกินไปจะกลายไปเป็นแรงต้านทานการเปลี่ยนแปลง หรือเป็นแค่การแสร้งทำมากกว่าที่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ
ยิ่งกว่านั้นถ้าเปลี่ยนหลายเรื่องไปพร้อม ๆกัน คนที่เคยพบเจออาจตีความไปในทางลบว่า เป็นกิ้งก่าได้ทอง หรือเป็นคางคกขึ้นวอ ไปเสียอีก
ก่อนจะวางแผนจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ประเมินตนเองดูก่อนว่าพฤติกรรมที่กำลังจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับหน้าที่การงานใหม่นั้น วันนี้เราทำอย่างไรบ้าง แตกต่างไปจากเป้าหมายของพฤติกรรมที่ต้องการให้เกิดขึ้นมาใหม่นั้นมากน้อยแค่ไหน
ถ้าพฤติกรรมใดดูท่าว่าจะห่างไกลจากที่เคยทำมาแต่ก่อนมากๆ อาจต้องลองเติมเต็มทักษะใหม่ ๆบ้าง เลือกทักษะที่ช่วยสนับสนุนให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้เร็วขึ้น ถ้าทำได้ให้เลือกที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่เป็นบวก เปลี่ยนแล้วภาพลักษณ์ดีขึ้น เคยใจดีแล้วอยู่ ๆ มาใจร้ายกลายเป็นจอมโหดได้ศัตรูมากกว่าจะได้ความผูกพันจากบุคลากร
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นกระบวนการที่มีทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว อย่าเอาความล้มเหลวที่เกิดขึ้นไปลดทอนความพยายามในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ตั้งใจไว้
ยิ่งไปกว่านั้นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบางเรื่องไม่ใช่ว่าอยู่ๆ จะเปลี่ยนไปได้เลย ต้องมีปัจจัยสนับสนุนเกิดขึ้นมาก่อน ต้องมีบางอย่างเกิดขึ้นมาก่อน แล้วจึงจะมีจังหวะให้ปรับพฤติกรรมได้ การพยายามปรับพฤติกรรมในจังหวะเวลา และเหตุการณ์ที่ไม่เหมาะสม ย่อมไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จ
เมื่อเริ่มเปลี่ยนพฤติกรรมไปแล้ว ให้คอยรับฟังความคิดเห็นของลูกน้องด้วยว่าเขาคิดเห็นประการใดเกี่ยวกับพฤติกรรมของเราที่พบเห็น ฟังให้ชัดเจนว่ามีผลกระทบกับการงานของเขาอย่างไร ความคิดเห็นจากผู้ร่วมงานช่วยบ่งบอกว่าที่พยายามปรับเปลี่ยนนั้นประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด
พฤติกรรมที่ปรับเปลี่ยนไปนั้นต้องเกิดขึ้นพร้อมกับการยกระดับความเห็นอกเห็นใจที่มีต่อทีมงานให้มากขึ้นกว่าที่เคยมีมาก่อนจะได้นั่งเก้าอี้ใหม่นี้
ผู้นำที่ได้สามารถยกระดับความผูกพันบุคลากรให้สูงขึ้นได้ ล้วนแต่เป็นผู้นำที่มีระดับความเห็นอกเห็นใจบุคลากรในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ย
ถ้าต้องการที่จะเป็นผู้สร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นกับองค์กร ให้พิสูจน์ตนเองก่อนว่า เปลี่ยนบทบาทครั้งใด ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยทุกครั้ง.
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]