มี Resilience ไว้สร้างอนาคต | บวร ปภัสราทร
มีผู้รู้ด้านการบริหารท่านหนึ่งเล่าให้ฟังว่า นานมาแล้วที่เกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา มุ่งเน้นไปที่การค้นหาองค์กรที่มี Best Practice ในการปรับปรุงผลการดำเนินการ แต่เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการเสนอให้มีการเปลี่ยนแปลงเป้าหมายครั้งใหญ่
คือมุ่งไปที่การยกระดับ Resilience ในองค์กรเพื่อให้มั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จต่อเนื่องจากปัจจุบันไปถึงอนาคต บนพื้นฐานความเชื่อใหม่ที่ว่า Resilience ที่เป็นความสามารถในการฟื้นคืนสภาพได้ดังเดิม หลังจากเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผัน เป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากบูรณาการของความพร้อม ที่จะปรับเปลี่ยนตนเองก่อนหน้าที่จะต้องถูกบังคับให้ต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
การตระเตรียมนวัตกรรมที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ที่มีความหมายสำคัญต่ออนาคตขององค์กร การมีสภาพแวดล้อมการทำงานที่พร้อมจะนำไปสู่การงานที่เติบโตได้ในบริบทที่มีพลวัตสูง และมีการเปลี่ยนแปลงอย่างพลิกผันเกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ
ถ้าเชื่อตามแนวคิดในการปรับเปลี่ยนทิศทางครั้งนี้ว่า ถ้า Resilience มากเพียงพอ องค์กรจะมีอนาคต ถ้าไม่มี Resilience องค์กรหมดอนาคต ซึ่งน่าจะทำใจให้เชื่อได้ไม่ยาก เพราะการมี Resilience คือ ไม่มองวิกฤติเป็นเรื่องที่ทำให้จนตรอก ใครมี Resilience ต้องไม่จำนนต่อวิกฤติ
ถ้าอยากให้องค์กรมี Resilience ก็ต้องเริ่มจากตนเองก่อน หัวหน้าที่ไม่ยืดหยุ่น ไม่พร้อมจะขยับตัวออกจากพื้นที่ที่งานสบายๆ ไปสู่พื้นที่ใหม่ที่ท้าทายต่อความสำเร็จใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิม คงเป็นไปได้ยากที่จะมีใครที่เป็นลูกน้องจะขยับองค์กรนั้นไปสู่ความพร้อมใหม่ๆ สำหรับสร้างความสำเร็จใหม่ ภายใต้บริบทใหม่ที่ท้าทายและยากเย็นกว่าเดิม
สมาคมจิตวิทยาแห่งสหรัฐที่รู้กันดีว่ามีความเข้มแข็งทางวิชาการยิ่งนัก ให้คำแนะนำไว้ว่าถ้าใครต้องการเป็นคนที่มี Resilience เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้ตนเอง ให้เริ่มจากหาเส้นสายไว้เยอะๆ เผื่อว่าเจอวิกฤติอะไรที่เกินกำลังจะได้มีกองหนุน จะปรับเปลี่ยนอะไรที่ยังไม่ถนัดจะได้มีคนแนะนำ
อยากปรับตัวได้อย่างว่องไว ฝึกได้ด้วยการคบหาผู้คนให้หลากหลายไว้ก่อน อย่ายึดติดอยู่กับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเกินไป เมื่อรู้จักผู้คนมากหน้าหลายตา ก็จะพบว่าแต่ละคนที่พบเจอนั้นล้วนแต่ได้เคยผ่านวิกฤติมานานาประการ ดังนั้น จึงสามารถปรับเปลี่ยนความคิดว่าวิกฤติเป็นภาวะที่เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะเตรียมตัวไว้ดีแค่ไหน วิกฤติไม่ใช่เรื่องที่ต้องยอมจำนน วิกฤติไม่ใช่เวรกรรมที่มาจากปางก่อนดั่งที่ใครบอกไว้
ถ้าเห็นว่าการเผชิญหน้ากับวิกฤติเป็นวิถีชีวิต โดยเฉพาะในด้านการงาน เราจะเปิดใจยอมรับการเปลี่ยนแปลง เราจะพร้อมที่จะเดินหน้าออกจากพื้นที่ที่สบายๆ ไปสู่พื้นที่ที่มีความท้าทายมากขึ้น เพื่อแลกกับความสำเร็จใหม่ๆ ที่ยิ่งใหญ่ขึ้น ถ้ากลัววิกฤติเล็กๆ น้อยๆ จะกลัวการเปลี่ยนแปลง เป็นผลให้กอดเก้าอี้เดิมไว้แน่นๆ จะทำอะไรก็ทำเหมือนนั่งเก้าอี้ตัวเดิมอยู่ตลอด อยากได้ตำแหน่งใหญ่โตขึ้น พร้อมกับที่อยากให้เก้าอี้ตัวใหม่มานั่งได้ด้วยท่วงทำนองแบบเดิมๆ ที่คุ้นเคยมา เลยกลายเป็นผู้บริหารแต่งานเสมียนไปเลย
วิกฤติและอุปสรรคมักทำให้คนเปลี่ยนใจที่จะเดินหน้าต่อไป ฝนตกรถติดก็งดไปร่วมสัมมนาความรู้ใหม่ๆ แต่ถ้าอยากเป็นคนที่มี Resilience อย่ายอมให้อุปสรรค และวิกฤติมาเปลี่ยนใจในเรื่องเป้าหมายที่มุ่งหวัง เดินอ้อมไปบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่ไม่ใช่เปลี่ยนเป้าหมายใหม่ในทุกครั้งที่พบเจออุปสรรค
หากยอมปรับเปลี่ยนเส้นชัยเพราะเส้นทางสู่เส้นชัยเดิมนั้นเต็มไปด้วยอุปสรรค แปลว่าเราไม่มีเส้นชัยที่แท้จริง เรามีเพียงแค่เดินหน้าไปเรื่อยๆ จะไปถึงไหนก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ใช่ที่เดิม ในเวลาเดิมเท่านั้น ยถากรรมนำทางให้เราเดิน ไม่ใช่เดินทางตามเป้าหมายที่เรามุ่งหวัง
คนที่ไม่มี Resilience จะเกลียดการตัดสินใจ ดังนั้น จงฝึกตนเองให้พร้อมที่จะตัดสินใจได้ในทุกสถานการณ์ ฝึกให้ตนเองมีทักษะการตัดสินใจอย่างมีตรรกะ มีหลักการ และมีการใช้ข้อมูลสารสนเทศไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้นั่งเก้าอี้ผู้บริหาร เมื่อเวลาและโอกาสมาถึงจะได้กล้าตัดสินใจ และเมื่อตัดสินใจไปแล้วก็จะไม่เสียใจกับการตัดสินใจนั้น
จะฟื้นคืนสภาพได้ดีก็ต่อเมื่อรู้จักตนเองดีพอ มองตนเองในแง่บวกไว้เสมอ และต้องมีความหวัง ถ้าขาดสามอย่างนี้แล้วที่บอกมาทั้งหมดก่อนหน้านี้ ท่านว่าไร้ประโยชน์ใดๆ.
คอลัมน์ ก้าวไกลวิสัยทัศน์
รศ.บวร ปภัสราทร
นักวิจัย Digital Transformation
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
email. [email protected]