ร้านอาหารของ ‘ผู้ป่วยสมองเสื่อม’ สร้างคุณค่า-ความเข้าใจ ‘ภาวะสมองเสื่อม’

ร้านอาหารของ ‘ผู้ป่วยสมองเสื่อม’ สร้างคุณค่า-ความเข้าใจ ‘ภาวะสมองเสื่อม’

ทำความรู้จัก “Restaurant of Mistaken Orders” ร้านอาหารในญี่ปุ่นที่มีพนักงานเสิร์ฟทั้งหมดเป็นผู้ป่วยสมองเสื่อม เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคทางสมองนี้ และสร้างภาพจำใหม่ว่าผู้ป่วยไม่ได้เศร้า หดหู่แบบที่หลายคนเข้าใจ

คงจะหงุดหงิดไม่น้อยหากสั่งอาหารแล้ว พนักงานดันเสิร์ฟอาหารผิดเมนู และถ้าหากเสิร์ฟผิดบ่อย ๆ พนักงานคนนั้นอาจจะโดนไล่ออก ก่อนที่ทางร้านอาจจะได้รับรีวิวไเชิงลบและโดนลดดาวลง แต่มีร้านอาหารหนึ่งในญี่ปุ่นที่มีพนักงานเสิร์ฟอาหารผิดเป็นประจำแต่ไม่มีใครว่าอะไร

Restaurant of Mistaken Ordersร้านอาหารในกรุงโตเกียวมีพนักงานเสิร์ฟทั้งหมดเป็นผู้สูงอายุที่มี “ภาวะสมองเสื่อม” โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับภาวะสมองเสื่อม ดังนั้นลูกค้าที่เข้าใช้บริการในร้านนี้ต้องยอมรับว่ามีโอกาสที่จะได้รับอาหารหรือเครื่องดื่มที่ตนเองสั่ง 

อันที่จริงลูกค้าส่วนใหญ่ที่มาใช้บริการในร้านนี้อยากจะมา “ลองของ” เพื่อได้รับประสบการณ์ประหลาดใจ และอยากรู้ว่าตนเองจะได้รับเมนูอะไรจากพนักงานเสิร์ฟ (คล้าย ๆ ซื้อกล่องสุ่มมาลุ้น) จนกลายเป็นจุดขายของร้าน มากกว่าลิ้มลองรสชาติอาหารในร้านเสียอีก

 

  • บริการโดยผู้มีภาวะสมองเสื่อม 

ชิโระ โอกุนิ ผู้กำกับรายการโทรทัศน์ชาวญี่ปุ่น ก่อตั้งธุรกิจนี้ขึ้นมาเพื่อเปลี่ยนมุมมองการรับรู้ของสาธารณชนที่มีต่อผู้สูงอายุและความบกพร่องทางสติปัญญา ซึ่งเป็นสภาวะเสื่อมถอยของความจำ การเรียนรู้ และทักษะในการสื่อสาร

โอกุนิได้ไอเดียนี้มาจากตอนที่เขาไปเยี่ยมบ้านพักคนชรา แล้วได้รับ “เกี๊ยว” ทั้งที่เขาสั่ง “เบอร์เกอร์” จากพนักงานที่เป็นผู้สูงอายุ ซึ่งในตอนแรกเขาตั้งใจจะเปลี่ยน แต่เกิดเปลี่ยนใจเมื่อตระหนักได้ว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย และนับถือพนักงานเสิร์ฟที่ยังสามารถทำงานได้อยู่ แม้จะมีข้อบกพร่องทางร่างกาย โอกุนิจึงรับอาหารจานนั้นไว้เพื่อแสดงความเคารพและขอบคุณ

ในครั้งแรกที่เปิดร้านเมื่อปี 2560 ด้วยเงินระดมทุนประมาณ 115,000 ดอลลาร์ ซึ่งไอเดียที่แปลกใหม่ทำให้ใคร ๆ ก็พร้อมจะร่วมลงทุนด้วย และเปิดมาจนถึงปัจจุบัน แต่กว่าจะได้เปิดร้านไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องมีการวางแผนและขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญหลายภาคส่วน เช่น ผู้เชี่ยวชาญด้านร้านอาหาร การออกแบบภายใน การดูแลด้านสวัสดิการสังคม และความร่วมมือขององค์กรต่าง ๆ สำหรับการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อม

ทั้งนี้ โอกุนิพร้อมสนับสนุนและให้ข้อมูลการเตรียมงานสำหรับคนทั่วโลกที่ต้องการเปิดร้านที่ให้ผู้ป่วยสมองเสื่อมเป็นพนักงาน โดยเกาหลีใต้และออสเตรเลียให้ความสนใจในแนวคิดนี้และติดต่อหาเขาเป็นที่เรียบร้อย

ร้านอาหารของ ‘ผู้ป่วยสมองเสื่อม’ สร้างคุณค่า-ความเข้าใจ ‘ภาวะสมองเสื่อม’

  • เปลี่ยนความคิดที่มีต่อผู้ป่วยสมองเสื่อม

พนักงานสูงอายุในชุดเครื่องแบบของร้านต่างกระตือรือร้น พร้อมให้บริการแต่ลูกค้า ทำให้ผู้บริหารสัมผัสได้ถึงความอบอุ่น มีความสุข น่ารัก และรู้สึกสบายใจเหมือนอยู่กับญาติผู้ใหญ่ แถมยังดูกระฉับกระเฉงกว่าวัย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความคิดของคนส่วนใหญ่ที่มองว่าผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมว่าน่ากลัว หดหู่ โดดเดี่ยว และไม่น่าเข้าใกล้

“ผู้สูงอายุจำนวนมากอยู่ในบ้านพักคนชรา หรือพักอาศัยอยู่ตามลำพัง ฉันหวังว่าโครงการริเริ่มของเราจะช่วยให้ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมมีความหวังในชีวิต ซึ่งหากคนทั่วไปเข้าใจพวกเขามากขึ้น ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมก็จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้เช่นกัน” ยูอิ อิวาตะ ผู้ช่วยบริหารร้านกาแฟกล่าว 

จากข้อมูลของร้านพบว่า มีรายการอาหารที่เกิดข้อผิดพลาด ไม่ว่าจะจดเมนูผิด หรือ เสิร์ฟผิดประมาณ 37% แต่ผู้ได้รับบริการถึง 99% กลับรู้สึกพอใจกับมื้ออาหารของพวกเขา แม้ว่าบางครั้งพนักงานจะนั่งพูดคุยกับลูกค้าจนลืมให้บริการ หรือไหว้วานให้ลูกค้าจดเมนูให้ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ได้ทำให้พวกเขารู้สึกไม่พอใจ เพราะพวกเขารู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอเหตุการณ์อะไรบ้าง จึง “เข้าใจ” ข้อจำกัดของพนักงาน จนกลายเป็นความเห็นอกเห็นใจและเอ็นดู

โอกุนิ กล่าวว่าโครงการของเขาไม่เพียงแต่สร้างความเข้าใจและโอบรับผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังแสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจของเพื่อนมนุษย์ โดยไม่คำนึงถึงข้อบกพร่อง

“ญี่ปุ่นอาจจะมีภาพลักษณ์เป็นคนอดทน ซื่อตรง แบบ Cool Japan แต่ความจริงแล้วการสร้างภาพลักษณ์แบบ Warm Japan เป็นคนอบอุ่นเกื้อกูลกัน ก็สำคัญไม่แพ้กัน ผมอยากปลูกฝังสภาพแวดล้อมที่อยู่แล้วสบายใจ เพื่อให้ผู้คนได้กลับบ้านด้วยรอยยิ้มและมีแสงสว่างในใจ”

ร้านอาหารของ ‘ผู้ป่วยสมองเสื่อม’ สร้างคุณค่า-ความเข้าใจ ‘ภาวะสมองเสื่อม’

  • ลูกค้าสลับบทบาทกับพนักงาน

นอกจากอาหารที่เป็นบริการสำคัญของร้านแล้ว ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับลูกค้าถือเป็น “จุดขาย” ของ Restaurant of Mistaken Orders แม้ในร้านอื่นพนักงานจะต้องเป็นคนดูแลผู้ใช้บริการ แต่สำหรับร้านนี้กลายเป็นลูกค้าต้องคอยดูแลพนักงานแทน เพราะจุดประสงค์ของลูกค้าที่มาร้านอาหารแห่งนี้ก็เพื่อสนับสนุนและให้โอกาสเหล่าผู้มีความบกพร่องทางสมอง 

ดังนั้น ผู้ที่มารับประทานอาหารจึงไม่สนใจว่าพวกเขาจะได้รับอาหารตามที่สั่งหรือไม่ ตราบใดที่พวกเขามีโอกาสที่จะสานสัมพันธ์และเห็นปฏิกิริยาของผู้สูงอายุที่มีอาการความบกพร่องทางสมอง เมื่อลูกค้าเห็นรอยยิ้มของพนักงานที่เป็นโรคสมองเสื่อม ทำให้พวกเขารู้สึกมีแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตและการทำงาน บางคนสัมผัสได้ถึงจิตวิญญาณแห่งความกล้าหาญ ส่วนบางคนก็ตื้นตันใจจนน้ำตาไหล

นอกจากนั้น ร้านอาหารแห่งนี้ยังเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” ให้ผู้ป่วยโรคความจำเสื่อมสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการชะลอการลุกลามของภาวะสมองเสื่อม 

กระแสตอบรับที่มีต่อร้าน แสดงให้เห็นว่า “ความจงรักภักดีของลูกค้า” ใช้เป็นกุญแจสู่ความสำเร็จได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการพิสูจน์ว่า ความสัมพันธ์ของมนุษย์ ความเมตตา และมิตรภาพ สามารถเป็นทั้งผลิตภัณฑ์และบริการ โดยที่ทั้งผู้ให้บริการและลูกค้า ได้รับอย่างเท่าเทียมกัน

ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นระบุว่า มีประชากรอายุเกิน 65 ปีถึง 27.5 ล้านคน คิดเป็นประมาณ 30% ของประชากรทั้งหมด และคาดว่าชาวญี่ปุ่นมากกว่า 6 ล้านคน “เป็นโรคสมองเสื่อม” และในปี 2568 จะมีผู้ป่วยสมองเสื่อมสูงถึง 7.3 ล้านคน หรือคิดเป็น 1 ใน 5 ของผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไป อีกทั้งภาวะทางเศรษฐกิจและการขาดแคลนแรงงาน เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้สูงอายุในญี่ปุ่นยังคงต้องทำงานแทนที่จะใช้ชีวิตวัยเกษียณ

ปัจจุบัน “คลื่นแห่งความชรา” กำลังแผ่ขยายในหลายประเทศ คาดการณ์ว่า ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั่วโลกจำนวน 35 ล้านคน จะเพิ่มขึ้นเป็น 115 ล้านคน ภายในปี 2593 และในอนาคตอาจจะได้เห็นผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมทำงานในสายอาชีพต่าง ๆ อยู่ทั่วโลก

“เราต้องการเปลี่ยนสังคมให้เป็นกันเองและเอาใจใส่กันมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร จะมีภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน” โอกุนิกล่าว


ที่มา: ForbesThe Government of JapanWashington Post