คนรุ่นใหม่ Critical Thinking ลดลง เหตุเครียด-หมดไฟ-โซเชียลมีเดียรบกวนใจ
"คนรุ่นใหม่" ในสหรัฐ สหราชอาณาจักร เยอรมนี ญี่ปุ่น มีทักษะ Critical Thinking ลดลง เพราะเครียดและหมดไฟจากการเอาตัวรอดในสังคมปัจจุบัน ทำให้ความคิดเชิงลึกลดลง สอดคล้องกับวิจัยที่ชี้ว่าการ “เสพติดโซเชียลมีเดีย” ทำให้สมองส่วนหน้าทำงานลดลง
Key Points:
- คนรุ่นเจน Y-Z ในหลายประเทศทั่วโลกมีทักษะ Critical Thinking ลดลง รวมถึงขาดทักษะ “การคิดขั้นสูง” หรือ Higher Order Thinking (คิดชัดเจน ลึกซึ้ง และมีประสิทธิผล) ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์
- สาเหตุมาจากภาวะหมดไฟและเครียดในการหาเลี้ยงชีพ รวมถึงเหนื่อยล้าจากการเอาตัวรอดในสังคมปัจจุบันที่ต้องคิดเร็วทำเร็ว ทำงานหลายอย่างพร้อมกัน จนส่งผลให้คุณภาพทางความคิดลดลง
- อีกปัจจัยหนึ่งมาจากพฤติกรรม “เสพติดโซเชียลมีเดีย” ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของสมองส่วนหน้าลดลง ส่งผลต่อความสามารถในการตัดสินใจและการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
การทำงานและการใช้ชีวิตในยุคสมัยที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารไหลบ่าท่วมท้น ทำให้หลายคนอาจหลงเชื่อข้อมูลผิดๆ อย่างเฟคนิวส์ได้ง่าย รวมถึงเสี่ยงต่อการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพจนเกิดความเสียหายต่อชีวิตหรือทรัพย์สินตามมา หนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยให้คนเราแยกแยะเรื่องจริงออกจากเรื่องเท็จ รวมถึงสร้างกระบวนการความคิดได้อย่างมีเหตุผลก็คือ ทักษะ Critical Thinking
ทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ หรือ Critical Thinking หมายถึง ความสามารถในการคิดวิเคราะห์ ตีความ สรุป และแก้ปัญหา โดยทั่วไปทักษะเหล่านี้จะทำให้คนเราสามารถมองออกว่าอะไรคือปัญหา เกิดการรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้น คิดวิเคราะห์ข้อมูลที่ได้มา รวมถึงการตัดสินใจหรือหาแนวทางแก้ไขปัญหา แต่ไม่นานมานี้ มีผลการสำรวจพบว่าคนรุ่นใหม่ในหลายประเทศทั่วโลก มีทักษะ Critical Thinking และทักษะการคิดด้านอื่นๆ ลดลง
- ทำไมคนรุ่นใหม่ Gen Y Gen Z ถึงมี Critical Thinking ลดลง?
ข้อมูลจาก Lenovo ThinkPad ที่ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับ “สภาวะการคิด” ของคนรุ่นใหม่เจน Y และ Z ในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และญี่ปุ่น รวมกว่า 5,700 คน รายงานว่า กระบวนการความคิดของคนรุ่นใหม่วนเวียนอยู่กับการคิดเร็วทำเร็วแบบทันที แทนที่จะเป็นรูปแบบการคิดที่ลึกซึ้งและมีความหมาย
รวมถึงขาดทักษะ “การคิดขั้นสูง” หรือ Higher Order Thinking (คิดชัดเจน ลึกซึ้ง และมีประสิทธิผล) ซึ่งเป็นทักษะชีวิตที่มีค่าที่สุดอย่างหนึ่งของมนุษย์ แต่ทักษะนี้กำลังใกล้จะหายไปมากที่สุด
เนื่องจากพวกเขามีภาวะเครียดและหมดไฟจากการพยายามดิ้นรนหาเลี้ยงชีพ รวมถึงเหนื่อยล้าทางจิตใจจากสภาวะปัญหาสังคมต่างๆ เช่น ทั้งโรคระบาด สงคราม เศรษฐกิจถดถอย ฯลฯ ซึ่งมีส่วนรบกวนสมาธิอย่างรุนแรง รวมถึงการต้องทำงานหลายๆ อย่างพร้อมกันมากขึ้น ทำให้ “คุณภาพกระบวนการคิด” ของพวกเขาแย่ลง
อีกทั้งพวกเขาต้องพึ่งพา “การคิดเชิงปฏิบัติ” หรือ “การคิดแบบเอาตัวรอด” มากขึ้น เช่น ต้องคิดอย่างรวดเร็ว ต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกันให้ได้ จึงส่งผลให้ทักษะการคิดเชิงนวัตกรรม การคิดลึกซึ้งและมีประสิทธิผล รวมถึงการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Thinking) ลดลงไป
- การเสพติดอินเทอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย ส่งผลให้สมองส่วนหน้าเสื่อมลง
นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ Neural Regeneration Research ก็มีข้อค้นพบที่อธิบายถึงความเกี่ยวเนื่องกันระหว่าง “ภาวะเสพติดการใช้อินเทอร์เน็ต” กับ “การทำงานของสมองส่วนหน้า” (ทำหน้าที่เกี่ยวกับสติปัญญาการตัดสินใจ การมีเหตุผล การแก้ปัญหา)
กล่าวคืองานวิจัยค้นพบว่า ผู้ที่เสพติดการใช้อินเทอร์เน็ตนั้น จะมีฟังก์ชันการทำงานของเซลล์สมองส่วนหน้าลดลง โดยทีมวิจัยนำผู้เข้าร่วมการทดลองซึ่งเป็นผู้เสพติดอินเทอร์เน็ตเข้ารับการตรวจสมองอย่างละเอียดผ่านเครื่อง MRI ซึ่งผลการตรวจสมองพบว่า สารเคมีในสมองบ่งชี้ถึงคุณภาพของเซลล์สมองที่ลดลงจริง!
ขณะที่งานวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่ค้นพบข้อมูลที่ชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า “โซเชียลมีเดีย” อาจลดความสามารถทางความคิดและจิตใจในการทำงานและการแก้ปัญหา เนื่องจากการใช้โซเชียลมีเดียบ่อยๆ นานๆ มักจะรบกวนการโต้ตอบในแต่ละวัน บังคับให้ผู้ใช้แยกความสนใจระหว่าง 2 สิ่งขึ้นไปในแต่ละครั้ง นำไปสู่การขาดสมาธิ มีประสิทธิผลน้อยลง จึงส่งผลเสียต่อทักษะ Critical Thinking ของผู้คนให้ลดลงด้วย
- เปิดวิธีสร้างทักษะ Critical Thinking ให้มีความคิดเฉียบคม
หากต้องการสร้างหรือฟื้นฟูทักษะ Critical Thinking เพื่อให้มีความคิดที่เฉียบคมและลึกซึ้งมากขึ้น อาจจะต้องเริ่มจากฝึกฝนกระบวนการความคิดใหม่ โดย ดร.ทารา เวล ศาสตราจารย์ภาควิชาจิตวิทยา จากวิทยาลัยบาร์นาร์ดแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย มีคำแนะนำดังนี้
1. หลีกเลี่ยงการตัดสินใจแบบเร่งด่วน หากคุณมีแนวโน้มที่จะตัดสินใจเร็วเมื่ออยู่ภายใต้แรงกดดัน ให้คุณลองฝึกพัฒนาความตระหนักรู้ในตนเองให้มากขึ้น แยกนิสัยที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ออกไป และเรียนรู้ที่จะหยุดชั่วคราวก่อนจะรีบคิดรีบตัดสินใจ
2. ฝึกการฟังอย่างกระตือรือร้นและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ เพื่อทำความเข้าใจมุมมองและมุมมองของผู้อื่น ฝึกแสดงความคิดของคุณอย่างชัดเจน สร้างสรรค์ และมีเหตุผล ฝึกฝนการแสดงความคิดและอธิบายมันออกไปอย่างมีประสิทธิผล
3. แก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ โดยแบ่งปัญหาที่ซับซ้อนออกเป็นองค์ประกอบย่อยๆ ระบุปัญหาที่ซ่อนอยู่ และพิจารณาวิธีแก้ปัญหาต่างๆ ฝึกฝนเทคนิคการแก้ปัญหา เช่น การระดมความคิด การประเมินทางเลือก และคาดการณ์ผลที่ตามมาที่อาจเกิดขึ้น
4. ฝึกนิสัยช่างสงสัย อยากรู้อยากเห็น เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ปลูกฝังความคิดที่สนใจและความกระหายในความรู้ เปิดใจรับแนวคิดใหม่ๆ แสวงหามุมมองที่หลากหลาย และขยายความเข้าใจของคุณอย่างต่อเนื่องผ่านการอ่าน ค้นคว้า และเรียนรู้จากผู้อื่น เข้าร่วมเวิร์กช็อปหรือหลักสูตรการคิดอย่างมีวิจารณญาณเพื่อฝึกฝนทักษะนี้ให้มากขึ้น
5. ฝึกฝนความเห็นอกเห็นใจตนเอง การคิดอย่างลึกซึ้งไม่ใช่เรื่องง่ายในโลกที่มีสิ่งรบกวนสมาธิมากมายรอบตัว ดังนั้นการทำสมาธิหรือออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อจัดการกับความเครียด จะช่วยให้สร้างสมาธิและทำให้ความคิดเฉียบคมขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม กระบวนการคิดอย่างลึกซึ้ง มีวิจารณญาณ และมีประสิทธิผล ต้องหมั่นฝึกฝนตนเองและใช้เวลา ไม่ใช่ว่าจะทำได้ทันที ต้องค่อยๆ ฝึกฝนไปทีละน้อยไม่นานก็จะทำได้ในที่สุด