นักวิทยาศาตร์พบฟอสซิลสัตว์คอยาว รูปร่างคล้าย ‘มังกร’ ในจีน

นักวิทยาศาตร์พบฟอสซิลสัตว์คอยาว รูปร่างคล้าย ‘มังกร’ ในจีน

คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติค้นพบ “ฟอสซิล” ขนาดเต็มตัวของสัตว์เลื้อยคลานโบราณที่มีคอยาวเป็นพิเศษ มีรูปร่างคล้ายกับ “มังกร” สัตว์ในตำนานของ “จีน” โดยการค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นฟอสซิลที่สมบูรณ์ที่สุด ช่วยให้นักวิจัยสามารถจำลองรูปร่างของสัตว์ชนิดนี้ได้เป็นครั้งแรก

KEY

POINTS

  • คณะนักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟอสซิล “ไดโนเซฟาโลซอรัส โอเรียนทัลลิส” (Dinocephalosaurus orientalis) สัตว์เลื้อยคลานคอยาว มีรูปร่างเหมือน “มังกรจีนในตำนาน” ทางตอนใต้ของจีน มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิก เมื่อประมาณ 240 ล้านปีก่อน
  • ลักษณะสำคัญของสัตว์ชนิดนี้คือมีคอยาวเป็นพิเศษ มีกระดูกสันหลังส่วนคอ 32 ชิ้น คล้ายกับงู ด้วยคอที่มีขนาดยาว โค้งงอ และยืดหยุ่น ทำให้สามารถขดคอเป็นวงกลมได้ มีคอยาวมากกว่าความยาวของลำตัวและหางรวมกัน แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดถึงฟังก์ชันการใช้งานคอยาว
  • ไดโนเซฟาโลซอรัสอาศัยอยู่ในยุคไทรแอสซิก ซึ่งเป็นยุคที่นักบรรพชีวินวิทยายังมีข้อมูลของสิ่งมีชีวิตไม่มากนัก จำเป็นต้องใช้วิธีการเปรียบเทียบพฤติกรรมสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันเพื่อทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตในอดีต

คณะนักวิทยาศาสตร์นานาชาติค้นพบ “ฟอสซิล” ขนาดเต็มตัวของสัตว์เลื้อยคลานโบราณที่มีคอยาวเป็นพิเศษ และมีรูปร่างคล้ายกับ “มังกร” สัตว์ในตำนานของ “จีน” โดยการค้นพบในครั้งนี้ถือเป็นฟอสซิลที่สมบูรณ์ที่สุดในปัจจุบัน ช่วยให้นักวิจัยสามารถจำลองรูปร่างของสัตว์ชนิดนี้ได้เป็นครั้งแรก

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสกอตแลนด์ตีพิมพ์บทความการค้นพบฟอสซิล “ไดโนเซฟาโลซอรัส โอเรียนทัลลิส” (Dinocephalosaurus orientalis) สัตว์เลื้อยคลานคอยาวขนาด 5 เมตร อาศัยอยู่ในน่านน้ำทางตอนใต้ของจีน มีชีวิตอยู่ในยุคไทรแอสซิก เมื่อประมาณ 240 ล้านปีก่อน ในวารสารวิชาการ Earth And Environmental Science: Transactions ของราชสมาคมแห่งเอดินบะระ (Royal Society of Edinburgh)

ฟอสซิล Dinocephalosaurus orientalis

ค้นพบ “มังกร” ในตำนานของจีน

ลักษณะสำคัญของสัตว์ชนิดนี้คือมีคอยาวเป็นพิเศษ มีกระดูกสันหลังส่วนคอ 32 ชิ้น คล้ายกับงู ด้วยคอที่มีขนาดยาว โค้งงอ และยืดหยุ่น ทำให้มันสามารถขดคอเป็นวงกลมได้ มีคอยาวมากกว่าความยาวของลำตัวและหางรวมกัน ขณะที่มนุษย์และยีราฟมีกระดูกสันหลังส่วนคอเพียง 7 ชิ้นเท่านั้น 

นอกจากนี้ ไดโนเซฟาโลซอรัสยังมีครีบข้างลักษณะคล้ายกับตีนกบใช้ในการว่ายน้ำ ทำให้พวกมันสามารถปรับตัวให้เข้ากับวิถีชีวิตในท้องทะเลได้เป็นอย่างดี

ทั้งนี้แม้ว่ารูปร่างของสัตว์ชนิดนี้จะมีรูปร่างกะโหลกและฟันคล้ายกับ เพลซิโอซอร์ (Plesiosaurs) ไดโนเสาร์คอยาวที่มีชื่อเสียงที่สุด และเป็นต้นแบบของ “เนสซี” หรือ สัตว์ประหลาดแห่งล็อกเนสส์ ซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง 40 ล้านปีถัดมา แต่สัตว์ทั้งสองชนิดนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากไดโนเซฟาโลซอรัสมีกระดูกสันหลังอีกมากมายทั้งในคอและลำตัว ทำให้มีลักษณะคล้ายงูมากกว่ามาก

ไดโนเซฟาโลซอรัส ถูกค้นพบครั้งแรกในปี 2003 แต่นักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถจำลองรูปร่างได้ จนกระทั่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ที่ค้นพบฟอสซิลขนาดเต็มตัว (พร้อมกับฟอสซิลปลาที่อยู่ในท้องของมัน) ที่มณฑลกุ้ยโจว ทางตอนใต้ของจีน  ทำให้เข้าใจว่าสัตว์เลื้อยคลานชนิดนี้มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร

นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าสิ่งมีชีวิตดังกล่าวดูเหมือน “มังกรจีนในตำนาน

“การค้นพบนี้ทำให้เราได้เห็นสัตว์คอยาวที่น่าทึ่งตัวนี้เป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์สวยงามตั้งแต่ปลายจมูกไปจนถึงปลายหาง ตัวของมันขดงอเป็นรูปเลขแปดแบบนี้ ทำให้นึกถึงมังกรจีนมาก” นิก เฟรเซอร์ผู้ดูแลวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสกอตแลนด์กล่าว 

“นี่เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของโลกที่เราไม่รู้จักและมหัศจรรย์ของยุคไทรแอสซิกที่ยังคงทำให้นักบรรพชีวินวิทยาสับสนอยู่ เรามั่นใจว่าเมื่อรูปภาพของฟอสซิลชิ้นนี้เผยแพร่ไป จะชวนผู้คนคนทั่วโลกจินตนาการถึงมังกรจีนที่มีรูปร่างคล้ายกับงู” เฟรเซอร์กล่าวเสริม

แบบจำลอง Dinocephalosaurus orientalis

ฟังก์ชันการทำงานคอยาวของ “ไดโนเซฟาโลซอรัส”

นักวิจัยจากสกอตแลนด์ เยอรมนี อเมริกา และจีน ร่วมกันทำการศึกษาเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ร่วม 10 ปี โดย ศ.หลี่ ชุน จากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพชีวินวิทยา สถาบันวิจัยในสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน หรือ CAS กล่าวว่า “นี่เป็นความพยายามระดับนานาชาติ เราใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่ใน CAS เป็นพื้นฐานในการพัฒนาความรู้ที่มีอยู่เกี่ยวกับสัตว์ชนิดนี้”

ย้อนกลับไปในปี 2003 ศ.ชุน เป็นคนแรกที่ค้นพบฟอสซิลของไดโนเซฟาโลซอรัส ที่หมู่บ้านในมณฑลกุ้ยโจว โดยเขาสังเกตเห็นกระดูกเล็ก ๆ ในแผ่นหินปูน จากนั้นเกษตรกรในท้องถิ่นก็พาชุนไปที่คอกหมูที่มีหินหลากหลายชนิด เขาจึงเริ่มค้นหาฟอสซิล และปะติดปะต่อเข้าด้วยกันจนกลายเป็นการค้นพบสัตว์เลื้อยคลานชนิดใหม่

อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจว่าคอขนาดยาวของไดโนเซฟาโลซอรัสมีการทำงานอย่างไร แต่พวกเขาสันนิษฐานว่าการมีคอยาวจะช่วยให้มันจับปลาได้

“ผมยังงงกับฟังก์ชันของคอยาว สิ่งเดียวที่ผมนึกออก คือคอยาว ๆ มีประโยชน์ในการหาอาหารตามซอกหิน ทำให้มันสามารถซอกซอน สำรวจ และเคลื่อนตัวเข้าใกล้กับรอยแยกใต้น้ำเหล่านั้น และอาจจะล่าเหยื่อด้วยวิธีนี้”  เฟรเซอร์กล่าว 

ในฐานะนักบรรพชีวินวิทยา เฟรเซอร์และคณะจำต้องทำการศึกษาต่อไปเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตชนิดนี้เพิ่มเติม โดยนักวิจัยจะใช้วิธีการเปรียบเทียบพฤติกรรมสิ่งมีชีวิตในปัจจุบันเพื่อทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตในอดีต เช่น อิกทิโอซอรัสสามารถเปรียบเทียบได้กับปลาทูน่าและโลมา แต่สัตว์จำนวนมากในยุคไทรแอสซิกอาจมีพฤติกรรมที่พบไม่ได้สัตว์ในปัจจุบันแล้ว


ที่มา: CNNIndependentNew York PostWION

แบบจำลองฟอสซิสของ Dinocephalosaurus orientalis