โซเชียลพ่นพิษ! คนรุ่นใหม่สหรัฐกว่า 40% ตกอยู่ในภาวะ 'หมกมุ่นเรื่องเงิน'

โซเชียลพ่นพิษ! คนรุ่นใหม่สหรัฐกว่า 40% ตกอยู่ในภาวะ 'หมกมุ่นเรื่องเงิน'

การใช้ “โซเชียลมีเดีย” เปรียบเหมือนดาบสองคมที่มีทั้งคุณและโทษ แต่ผลสำรวจล่าสุดเผย คนรุ่นใหม่กว่า 40% ในสหรัฐ ตกอยู่ในภาวะ “หมกมุ่นเรื่องเงิน” (Money Dysmorphia) เพราะพิษสังคมออนไลน์ทำให้อยากมีเหมือนคนอื่น ๆ และรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าในด้านการเงิน

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจล่าสุดชี้ ชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 ตกอยู่ในภาวะหมกมุ่นเรื่องเงิน (Money Dysmorphia) โดยปัจจุบันคนกลุ่มนี้มักเปรียบเทียบสถานะทางการเงินของตนเองกับบุคคลอื่น และรู้สึกว่า “ตัวเองยังมีเงินไม่มากพอ”
  • ประมาณ 43% ของกลุ่มคน Gen Z และ 41% ของกลุ่มคน Gen Y หรือมิลเลนเนียล กำลังต่อสู้กับการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น และรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าในด้านการเงิน
  • ผลสำรวจอีกชิ้นระบุ ผู้บริโภคประมาณ 1 ใน 4 รู้สึกพึงพอใจน้อยลงต่อจำนวนเงินที่พวกเขามีอยู่ ก็เพราะโซเชียลมีเดีย

 

ปัจจุบันมีหลักฐานมากมายบ่งชี้ว่า โซเชียลมีเดียมีผลกระทบเชิงลบต่อการเห็นคุณค่าในตนเอง (Self-esteem) นอกจากส่งผลกระทบเชิงลบต่อความรู้สึกที่ผู้คนมีต่อรูปร่างหน้าตาและสถานะทางสังคมของตนเองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสุขภาวะทางการเงินและสถานภาพทางเศรษฐกิจด้วย

รายงานฉบับล่าสุดจาก “เครดิต การ์มา” (Credit Karma) บริษัทการเงินข้ามชาติในสหรัฐ ระบุว่า ชาวอเมริกันเกือบ 1 ใน 3 หรือ 29% ตกอยู่ในภาวะหมกมุ่นเรื่องเงิน (Money Dysmorphia) ซึ่งอธิบายถึงความคิดที่บิดเบี้ยวเกี่ยวกับสถานะทางการเงิน โดยปัจจุบันคนกลุ่มนี้มักเปรียบเทียบสถานะทางการเงินของตนเองกับบุคคลอื่น และรู้สึกว่า “ตัวเองยังมีเงินไม่มากพอ”

“ภาวะหมกมุ่นเรื่องเงินคือ การอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น” คอร์ตนีย์ อาเลฟ เจ้าหน้าที่ฝ่ายสนับสนุนการเงินเพื่อผู้บริโภคของเครดิต การ์มาระบุ

ข้อมูลของเครดิต การ์มาระบุว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ภาวะหมกมุ่นเรื่องเงินนั้นพบเห็นได้มากเป็นพิเศษในกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยประมาณ 43% ของกลุ่มคน Gen Z (เจนแซด) และ 41% ของกลุ่มคน Gen Y (เจนวาย) หรือ Millennial (มิลเลนเนียล) กำลังต่อสู้กับการเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น และรู้สึกว่าตนเองด้อยกว่าในด้านการเงิน

“เรื่องนี้เป็นปัญหามานานมากแล้ว แต่โซเชียลมีเดียได้กระตุ้นให้ปัญหาดังกล่าวขึ้นไปสู่อีกระดับ” แคโรลีน แมคคลานาแฮน นักวางแผนทางการเงินผู้มีใบรับรอง และผู้ก่อตั้งบริษัทไลฟ์ แพลนนิง พาร์ตเนอร์ส (Life Planning Partners) ในเมืองแจ็กสันวิลล์ รัฐฟลอริดาระบุ

นอกจากนี้ เครดิต การ์มายังพบว่า ถึงแม้คนที่มีอาการหมกมุ่นเรื่องเงินจำนวนมาก “มีเงินออมสูงกว่าค่าเฉลี่ย” แต่คนเหล่านี้ก็ยังใฝ่ฝันที่จะเป็นคนรวย

ด้านอาเลฟกล่าวว่า มีการบิดเบือนระหว่างความรู้สึกกับความเป็นจริง โดยมีชาวอเมริกันเพียง 14% ที่มองว่าตัวเองมีฐานะมั่งคั่ง

ขณะที่รายงานอีกชิ้นหนึ่งจาก “เอเดลแมน ไฟแนนเชียล เอนจินส์” (Edelman Financial Engines) ระบุว่า คนเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเองร่ำรวยได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะมีเงินมากเพียงใดก็ตาม

ผลสำรวจสถานะการเงินของผู้บริโภคโดยธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า ความมั่งคั่งสุทธิของภาคครัวเรือนโดยเฉลี่ยของสหรัฐพุ่งทะยานขึ้นตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มขึ้น 37% ระหว่างปี 2562-2565

อย่างไรก็ตาม เอเดลแมน ไฟแนนเชียล เอนจินส์ระบุว่า มีชาวอเมริกันเพียง 14% ที่มองว่าตัวเองร่ำรวย และมาตรฐานความร่ำรวยมีแต่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ โดยรายงานอีกชิ้นหนึ่งจาก “เลนดิง คลับ” (LendingClub) ระบุว่า ชาวอเมริกันกว่าครึ่งหนึ่งมีรายได้ปีละกว่า 100,000 ดอลลาร์ (ราว 3.56 ล้านบาท) แต่คนเหล่านี้ก็ยังพูดว่าตัวเองใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน

นอกจากนั้น ปัญหาเงินเฟ้อสูงและความไร้เสถียรภาพที่ยืดเยื้อยาวนานได้บั่นทอนกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ขณะที่อินสตาแกรม (Instagram) แพลตฟอร์มรูปภาพยอดนิยมของบริษัทเมตา (Meta) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลกระทบเช่นกัน

“สิ่งที่เราพบคือความเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกไม่ดีต่อสถานะการเงินของคุณกับระยะเวลาที่คุณใช้โซเชียลมีเดีย” อิซาเบล แบร์โรว์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนการเงินของเอเดลแมน ไฟแนนเชียล เอนจินส์ระบุ

ผลการศึกษาของเอเดลแมน ไฟแนนเชียล เอนจินส์บ่งชี้ด้วยว่า ผู้บริโภคประมาณ 1 ใน 4 รู้สึกพึงพอใจน้อยลงต่อจำนวนเงินที่พวกเขามีอยู่ ก็เพราะโซเชียลมีเดีย

นอกจากนี้ โลกโซเชียลมีเดียยังทำให้บางคน “ใช้จ่ายเกินตัว” ไปกับการซื้อสิ่งของแพง ๆ รวมถึงสินค้าหรูหรา การพักร้อน การรีโนเวตหรือปรับปรุงบ้าน เนื่องจากเผชิญแรงกดดันจากความอยากได้อยากมีเหมือนคนอื่น

อ้างอิง: CNBC, Credit Karma