อาร์ตทอย ฝาท่อ กางเกงช้าง ไอติมสามมิติ Soft Power สุดป๊อบที่ต่างชาติรู้จัก
นอกจากสงกรานต์จะเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ระดับเรือธงของไทยที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดีแล้ว ยังมีไอเท็มอีกหลายอย่างที่อาจเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้เช่นกัน เพราะโด่งดังสุดปังในหมู่ชาวต่างชาติแบบไม่น้อยหน้าใคร
KEY
POINTS
- นอกจากสงกรานต์จะเป็น “ซอฟต์พาวเวอร์” ระดับเรือธงของไทยที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดีแล้ว ยังมีไอเท็มอีกหลายอย่างที่อาจเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้เช่นกัน เพราะโด่งดังสุดปังในหมู่ชาวต่างชาติแบบไม่น้อยหน้าใคร
- ไม่ว่าจะเป็น กางเกงช้าง, กางเกงปลาทูแม่กลอง, กางเกงแมวโคราช, กางเกงปูก้ามดาบสมุทรสาคร ตามมาด้วยไอศกรีมสามมิติที่เปรียบเสมือนวัฒนธรรมที่กินได้ สื่อสารออกมาในลวดลายของกระเบื้องพระปรางวัดอรุณฯ, สิงโต-มังกรเยาวราช, เมืองโบราณศรีเทพ, รามเกียรติ์
- อีกทั้งยังมีอาร์ตทอย งานศิลปะของเล่นของสะสมผลงานจากศิลปินชาวไทยที่โด่งดังไกลระดับโลกอย่าง Crybaby และ Andy รวมไปถึงฝาท่อลายศิลป์ที่เชื่อมโยงถึงอัตลักษณ์และมรดกวัฒนาธรรมของย่านชุมชนชื่อดังในกรุงเทพฯ
รู้หรือไม่? ซอฟต์พาวเวอร์ไทยขึ้นแท่นอันดับ 3 ในอาเซียน (รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย) และรั้งอันดับ 40 ของโลก จากการจัดอันดับ “Global Soft Power Index 2024” โดยปีนี้ไต่อันดับขึ้นมาด้วยคะแนน 44.8 คะแนน บวกเพิ่ม 2.4 คะแนน ซึ่งถือเป็นทิศทางที่ดีขึ้นจากปีที่แล้ว
เชื่อว่าหากมีการสนับสนุนและต่อยอดขึ้นไปอีกเรื่อยๆ ซอฟต์พาวเวอร์ไทยย่อมไม่แพ้ชาติใดในโลก นอกจากประเพณี “สงกรานต์” จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ไทยระดับเรือธงที่ชาวต่างชาติรู้จักกันดีแล้ว (โดยเฉพาะปีนี้ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ” จากยูเนสโก) ยังมีไอเท็มอีกหลายอย่างที่สอดแทรกความเป็นไทย ซึ่งอาจเป็นซอฟต์พาวเวอร์ของไทยได้อย่างไม่น้อยหน้าใคร เพราะโด่งดังสุดปังในหมู่ชาวต่างชาติเช่นกัน กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมมาให้ทราบกันดังนี้
1. กางเกงช้าง กางเกงปลาทูแม่กลอง กางเกงแมวโคราช
แม้ไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าต้นกำเนิดของกางเกงช้างไทยถูกผลิตขึ้นครั้งแรกที่ไหน และเริ่มได้รับความนิยมตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ช่วงแรกๆ พบว่ากางเกงช้างขายอยู่ในย่านพาหุรัด กรุงเทพมหานคร ซึ่งชาวต่างชาตินิยมซื้อกลับไปเป็นของที่ระลึก รวมถึงกรณีที่นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติจะเข้าชมเยี่ยมวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระบรมมหาราชวัง จะต้องแต่งกายให้มิดชิดเหมาะสม หากนักท่องเที่ยวนุ่งกระโปรงสั้นหรือกางเกงขาสั้นมา เจ้าหน้าที่จะช่วยดูแลโดยแจกผ้าถุงหรือกางเกงช้างให้สวมทับก่อนจะเข้าไปเที่ยวชมด้านใน
ต่อมากางเกงช้างได้แพร่หลายไปทั่วในหมู่ชาวต่างชาติ จึงกลายเป็นภาพจำว่าเมื่อมาเที่ยวไทยต้องสวมใส่กางเกงช้าง และรวมถึงคนไทยเองก็หันมาสวมใส่กางเกงช้างกันอย่างแพร่หลายมากขึ้นโดยเฉพาะในหน้าร้อน เพราะมีเนื้อผ้าที่บางเบา นิ่ม ใส่สบาย ระบายอากาศได้ดี โดยทั่วไปมักเป็นการพิมพ์ลวดลายช้างกับลายไทย ผสมผสานกันลงไปบนเนื้อผ้าที่มีหลากหลายสีสัน ทั้งสีดำ สีน้ำตาล สีน้ำเงิน สีแดง สีเขียว สีขาว เป็นต้น
ปัจจุบันกางเกงช้างมีขายทั่วไปทั้งในร้านค้าแบบออนไลน์และออฟไลน์ บางครั้งก็พบการจำหน่ายสินค้านี้จากร้านค้าของชาวต่างชาติ หากใครอยากซื้อสินค้ากางเกงช้างที่ผลิตด้วยฝีมือคนไทยแท้ๆ มีข้อสังเกตอยู่ไม่กี่ข้อ คือ ผลิตด้วยผ้าสปันไทยที่มีความพลิ้ว ใส่แล้วเย็นสบาย, แพลตเทิร์นลายช้าง เท้าช้างจะต้องชี้ลงพื้นเท่านั้น ไม่มีหงายท้อง, ขากางเกงทั้งสองข้างลวดลายต้องเชื่อมต่อกัน ไม่เหลื่อมกัน, ตะเข็บเย็บเรียบร้อย แข็งแรง ไม่หลุดลุ่ยง่าย เป็นต้น
นอกจากกางเกงช้างแล้ว เมื่อประเทศไทยผลักดันเรื่องซอฟต์พาวเวอร์มากขึ้น ทำให้เกิดกางเกงซอฟต์พาวเวอร์ลวดลายต่างๆ ในแต่ละจังหวัดของไทยที่ชูอัตลักษณ์ของพื้นที่นั้นๆ ได้แก่ กางเกงปลาทูแม่กลอง, กางเกงแมวโคราช, กางเกงปูก้ามดาบสมุทรสาคร, กางเกงปลาแรดอุทัยธานี เป็นต้น (อ่านเพิ่ม: 5 อันดับกางเกงซอฟต์พาวเวอร์สุดฮิตในโซเชียล)
2. อาร์ตทอยฝีมือคนไทย Crybaby, ย่าโม
วงการอาร์ตทอยกำลังเฟื่องฟูทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศ โดยอาร์ตทอย คือ ของเล่น-ของประดับตกแต่งที่ออกแบบโดยศิลปินผู้สร้างสรรค์จากทั่วโลก ศิลปินแต่ละคนก็จะถ่ายทอดเรื่องราวผ่านการออกแบบผลงานอาร์ตทอยที่แตกต่างกันไป ส่วนใหญ่อาร์ตทอยมักถูกผลิตออกมาในจำนวนจำกัด จึงทำให้ Art toy บางรุ่นมีมูลค่าสูง ในปัจจุบันมีศิลปินชาวไทยอยู่หลายคนที่สร้างสรรค์ผลงานอาร์ตทอยจนมีชื่อเสียงโด่งดังไปไกลระดับโลก
ยกตัวอย่างเช่น “ครายเบบี้” (CRYBABY) อาร์ตทอยคาแร็กเตอร์เด็กร้องไห้ เป็นผลงานการออกแบบของ “มอลลี่” หรือ “มด-นิสา ศรีคำดี” โดยได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์มาจาก “น้ำตา” เพราะเธอเชื่อว่าการร้องไห้ ไม่ได้หมายถึงอ่อนแอเสมอไป ทั้งนี้ ครายเบบี้ได้ร่วมงานกับ POP MART บริษัทจำหน่ายสินค้าอาร์ตทอยของจีน ออกคอลเล็กชันสินค้ากล่องสุ่มมาให้เลือกซื้อมากมายหลายคอลเล็กขั่น โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมที่สุดคงจะหนีไม่พ้น CRYBABY × Powerpuff Girls ที่มีคนรีวิวเต็มโซเชียล (อ่านเพิ่ม: ‘ลาบูบู้’ ฟีเวอร์! ชวนส่อง 7 ตุ๊กตา มหัศจรรย์ ราคา To the Moon!)
ภาพจาก: mollyfactory
นอกจากนี้ ยังมีศิลปินไทยผู้ผลิตผลงานอาร์ตทอยอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Fat Lane 17 กลุ่มศิลปินอาร์ตทอยคนไทยที่ไม่เปิดเผยตัวตน จุดเด่นจะเป็นงานสไตล์ “Parody (งานล้อเลียน)” เป็นชิ้นงานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว, Mushkin ผลงานจากศิลปินไทยอย่าง KREME หรือ แอนดี้-วรกันต์ จงธนพิพัฒน์ ด้วยจุดเด่นของชิ้นงานที่เป็นสัตว์ประหลาดขนปุกปุย สีสันสดใส มีหลากหลายคาแรกเตอร์ จึงถูกใจนักสะสมทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ, MOTMO Studio ผลิตผลงานที่เน้นบอกเล่าเรื่องราวของประวัติศาสตร์ไทย เช่น อาร์ตทอยสัตว์หิมพานต์ ในตำนานแบบไทยๆ เป็นต้น
ภาพจาก : KREME
อีกทั้ง ไม่นานมานี้ก็มีกระแสฟีเวอร์ “อาร์ตทอยย่าโม” คอลเลกชันอาร์ตทอยที่หยิบเอาคนดังในประวัติศาสตร์ไทยอย่าง “ท้าวสุรนารี” หรือ “ย่าโม” วีรสตรีแห่งเมืองโคราช ออกมานำเสนอในรูปแบบของเล่นที่เข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ง่ายขึ้น โดยข้อมูลจากเฟซบุ๊ก Korat : เมืองที่คุณสร้างได้ ได้ออกมาโพสต์ข้อความระบุว่า
“โดนใจคนรุ่นใหม่ ออกแบบผลงานศิลปะ “อาร์ตทอย ท้าวสุรนารี” ไอเดียของ “น้องโด้-ก้องพิภพ หมู่โสภณ” นักศึกษาออกแบบนิเทศศิลป์ ชั้นปีที่ 3 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน จังหวัดนครราชสีมา เตรียมดันสู่ซอฟต์พาวเวอร์ สินค้าอัตลักษณ์คนโคราชที่สร้างรายได้ให้กับท้องถิ่นในอนาคต” ทั้งนี้ อาร์ตทอยย่าโม ทำจากวัสดุเรซิน ความสูงรวม 13 ซม. สนนราคาอยู่ที่ 2,399 บาท
ภาพจาก : Yamo Art Toy และ Korat
3. ไอศกรีมสามมิติ ลายกระเบื้อง, สิงโต-มังกร, เมืองศรีเทพ, รามเกียรติ
อีกหนึ่งซอฟต์พาวเวอร์ไทยที่กินได้และสื่อถึงศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ และชุมชนต่างๆ ของไทยได้เป็นอย่างดี เริ่มจาก “ไอศกรีมสามมิติ” ที่ทำเป็นลวดลายกระเบื้องพระปรางค์วัดอรุณฯ ผลงานของ “น้ำตาล-ศิริญญา” เจ้าของแบรนด์ Pop Icon ที่กลายไวรัลเป็นพลุแตกเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา โดยในปีนี้ก็ยังคงได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติอยู่ไม่น้อย
โดยในครั้งนั้นที่เกิดกระแสฟีเวอร์ เจ้าตัวได้เล่าให้กรุงเทพธุรกิจฟังว่า โจทย์ที่ตั้งต้นคืออยากจะทำไอศกรีมที่เชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของไทย และอยากยกระดับของที่ระลึกให้เกิดเป็นมิติใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง โดยเธอเห็นว่า ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ไม่จำเป็นต้องบอกเล่าผ่านหนังสือเท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดผ่านสิ่งอื่นๆ ได้ เธอจึงถอดลายกระเบื้องบนพระปรางค์ฯ มาสื่อถึงความเป็นไทยผ่านไอศกรีม 2 รสชาติคือ “รสชาไทย” และ “รสกะทิอัญชันอบควันเทียน” เนื่องจากเป็นรสชาติที่ชาวต่างชาติคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี
ภาพจาก : Pop Icon
ต่อมาไม่นานแบรนด์ดังกล่าวก็เปิดตัวไอศกรีมรสชาติและลวดลายใหม่ๆ จนกลายเป็นกระแสอีกระลอก นั่นคือ ไอศกรีมลวดลาย “สิงโต นำโชค” ที่มาพร้อมกับรสส้มและทับทิม และไอศกรีมลวดลาย “มังกรเขียว เหนี่ยวทรัพย์” ที่มาพร้อมกับรสชาเขียว โดยมีแรงบันดาลใจในการออกแบบลวดลายมาจากศิลปวัฒนธรรมของ “ถนนเยาวราช” ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นถนนมังกร
ส่วนรสชาติของไอศกรีมที่เลือกมาเป็นชาเขียวนั้น ก็เพื่อที่จะสื่อถึงวัฒนธรรมการดื่มชาของชาวจีน ขณะที่รสชาติส้มและทับทิม ก็สื่อถึงน้ำผลไม้ Street Food สุดฮิตประจำถนนเยาวราช และตามมาติดๆ ด้วย ไอศกรีม "ออเจ้าชุดไทย" ไอศกรีมสามมิติ 2 รสชาติใหม่ คือ รสมะม่วงน้ำดอกไม้ทอง และ รสนมลิ้นจี่กุหลาบ อัปเดตปี 2024 มีเพิ่มเติมไอศกรีมมังกร-สิงโต รสชาติใหม่คือ รสทุเรียน, ข้าวเหนียวมะม่วง, คอตตอนแคนดี้ รวมถึงมี "ไอศกรีมเสาชิงช้า" ที่ออกใหม่ล่าสุด ณ เดือนเมษายน 2567 มีหลายรสชาติ หนึ่งในรสชาติที่น่าสนใจคือ รสมะม่วงเสาวรส (อ่านเพิ่ม: ไอติมวัดอรุณฯ, ไอติมมังกร-สิงโตเยาวราช)
นอกจากนี้ ยังมีไอศกรีมสามมิติจากแหล่งอื่นๆ ที่มีลวดลายสะท้อนถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ท่องเที่ยวไทยอีกมากมายหลายแห่ง ไม่ว่าจะเป็น “ไอศกรีมเมืองโบราณศรีเทพ” เป็นไอศกรีมสามมิติที่มีลวดลายมาจากรูปสลักที่พบภายใน “เมืองโบราณศรีเทพ” ตั้งอยู่ที่ตำบลศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ แหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่คาดว่ามีอายุไม่ต่ำกว่า 1,000 ปี ซึ่งยูเนสโกประกาศให้เมืองโบราณศรีเทพ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแหล่งที่ 4 ของไทย และเป็นมรดกโลกแห่งที่ 7 ของไทย ณ วันที่ 19 กันยายน 2566
รวมไปถึง “ไอศกรีมรามเกียรติ์” จากแหล่งท่องเที่ยว ณ สัทธา อ.บางแพ จ.ราชบุรี ที่มีลวดลายให้เลือกทั้งลายทศกัณฐ์และลายหนุมาน ซึ่งมาพร้อมกับ 4 รสชาติ ได้แก่ รสชาไทย นมชมพู รสน้ำมะพร้าวอัญชัน และรสน้ำมะพร้าวใบเตย
ภาพจาก: ณ สัทธา และ ศรีเทพ Sri Thep
4. ฝาท่อลายศิลป์ ย่านคลองโอ่งอ่าง, ย่านเยาวราช-เจริญกรุง
ถือเป็นไอเท็มระดับพื้นราบที่ใช้ศิลปะแบบไทยๆ สะท้อนถึงอัตลักษณ์และมรดกทางวัฒนธรรมของพื้นที่ชุมชนต่างๆ ในกรุงเทพฯ ให้ปรากฏแก่สายตานักท่องเที่ยวต่างชาติได้ดีไม่น้อยเลย สำหรับ “ฝาท่อลายศิลป์” หรือ “ศิลปะบนฝาท่อ” จุดเช็กอินที่ขาเที่ยวสายศิลปะเห็นแล้วต้องร้องว้าว!
นอกจากจะได้เที่ยวไปในชุมชนย่านดังของกรุงเทพฯ แล้ว ยังได้สนุกไปกับการค้นหาผลงานฝาท่อลายศิลป์แต่ละชิ้นที่ซ่อนอยู่ นี่ก็อาจเป็นซอฟต์พาวเวอร์อีกอย่างที่ต่างชาติสามารถพบเห็นและจดจำเมืองไทยได้ผ่านศิลปะเหล่านี้ สำหรับผลงานฝาท่อลายศิลป์ที่โด่งดังในกรุงเทพฯ จุดหลักๆ ก็ได้แก่ ฝาท่อลายศิลป์ย่านคลองโอ่งอ่าง และ ย่านเยาวราช-เจริญกรุง
สำหรับย่านคลองโอ่งอ่างนั้น กรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ดำเนินการติดตั้ง “ฝาท่อลายศิลป์” ซึ่งเป็นฝาท่อเหล็กหล่อสี จำนวน 5 ฝา ตามโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์คลองโอ่งอ่าง ติดตั้งไว้บริเวณฟุตบาทตั้งแต่ช่วงสะพานดำรงสถิตถึงสะพานโอสถานนท์ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนกันยายน ปี 2562 โดยฝาท่อลวดลาย “สวัสดี” ถูกติดตั้งช่วงสะพานดำรงสถิตถึงสะพานภาณุพันธุ์, ฝาท่อลาย “คนแจวเรือ” ช่วงสะพานภาณุพันธุ์ถึงสะพานหัน, ฝาท่อลาย “พาหุรัด” ช่วงสะพานหันถึงสะพานบพิตรพิมุข, ปิดท้ายด้วยฝาท่อลาย “พระนคร” และฝาท่อลาย “สัมพันธวงศ์” สองลายนี้ถูกติดตั้งในช่วงสะพานบพิตรพิมุขถึงสะพานโอสถานนท์
ขณะที่ฝาท่อลายศิลป์ ย่านเยาวราช-เจริญกรุง มีการติดตั้งไว้ตั้งแต่ปี 2564 โดยผลงานดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากโครงการ “การออกแบบศิลปะบนฝาท่อเพื่อเผยแพร่แผนที่ทางวัฒนธรรมของชุมชน” ภายใต้งานวิจัยของคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีให้ตามไปเช็กอินทั้งหมด 19 จุดสำคัญในย่านเยาวราช-เจริญกรุง ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ย่านนี้ได้ด้วย ซึ่งทีมวิจัยได้ดึงเอาอัตลักษณ์ของย่านเยาวราช-เจริญกรุง ที่มีการแบ่งหมวดไว้ 4 ประเภท นำมาสื่อสารผ่านศิลปะ คือ
1. สถานที่สำคัญของย่านในอดีต เช่น น้ำพุวงเวียนโอเดียน ประตูสามยอด ห้างขายยา เป็นต้น
2. สัญลักษณ์ทางวัฒนธรรม เช่น ลวดลายจีน อักษรที่เป็นมงคล หน้ากากงิ้ว เป็นต้น
3. กิจกรรมทางวัฒนธรรมและกิจกรรมในชีวิตประจำวัน เช่น รถเข็นจีน รถราง เป็นต้น
4. อาชีพและสินค้าที่เป็นที่นิยมและสร้างสรรค์ในย่าน เช่น ผลไม้จีน เครื่องยาจีน โคมไฟจีน ย่านทำตะเกียง อัญมณี เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม Soft Power นั้นสามารถปรากฏได้ทั้งในคน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้แต่เรื่องราวที่เป็นอัตลักษณ์ของสังคมไทย ที่อาจไม่ได้ถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ Food Film Fashion Fighting Festival เท่านั้น อีกทั้งกระแสซอฟต์พาวเวอร์ไทยในปีนี้คงจะไม่เงียบลงไปง่ายๆ และน่าจะยังเป็นกระแสต่อเนื่องในปีถัดๆ ไปด้วย เพราะนี่คือ “อำนาจเชิงวัฒนธรรม” ที่มีคุณค่า ซึ่งสามารถนำไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างมหาศาล