"บิล เกตส์" ผู้ใหญ่และเศรษฐียังพอมีเดินตาม
“เดินตามหลังผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” อาจตกยุคแล้วฉันใด เศรษฐีมิใช่จะคิดดีทำดีแบบที่น่าเดินตามเสมอไปก็ฉันนั้น อย่างไรก็ดี มหาเศรษฐีบิล เกตส์ มีเรื่องคิดดีทำดีที่น่าเดินตามจำนวนมาก
ขอนำข้อความที่เขาบันทึกไว้ใน The Gates Notes The Insider Edition เมื่อวันที่ 7 พ.ค.มาแปลคร่าวๆ เสริมด้วยเรื่องราวที่เขาและมูลนิธิเกตส์อ้างถึง
ข้อความในบันทึกชื่อ “ผู้คนและการร่วมมือกันที่กำลังเปลี่ยนโลก” มีเนื้อหาดังนี้
“ทุกวัน ผมได้รับแรงบันดาลใจจากความก้าวหน้าอันน่าทึ่งที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกในด้านการต่อสู้กับความยากจนและโรคร้าย แม้กระทั่งท่ามกลางความยากลำบากแสนสาหัส ยังมีวีรชนผู้ที่ชี้ให้เราเห็นศักยภาพอันล้ำเลิศของมนุษย์และการยกระดับชีวิตของคนนับล้านพร้อมกันไปในกระบวนการนั้นด้วย
ผ่านการทำงานกับมูลนิธิเกตส์ ผมได้รู้จักกับวีรชนเหล่านั้น รวมทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักการศึกษา พยาบาล เกษตรกร หมอตำแย นักเรียนและนักเคลื่อนไหว จึงได้เรียนรู้เกี่ยวกับแรงบันดาลใจของพวกเขา นี่เป็นส่วนที่ดีที่สุดของงานที่ผมทำ
ผมได้นำเรื่องราวของพวกเขามาปันในบันทึกล่าสุดของผม เช่น เรื่องเกษตรกรชาวเคนยาชื่อ โจซีฟีน คิมอนยี เรื่องเหล่านี้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจพร้อมกับให้บทเรียนที่เตือนเราว่า เราต่างเชื่อมโยงกันและความก้าวหน้าในด้านหนึ่งมักก่อให้เกิดความก้าวหน้าในอีกด้านหนึ่งเสมอ คุณอาจอ่านรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ gatesnotes.com
“ผมหวังว่าคุณจะรู้สึกเบิกบานใจในการเรียนรู้เกี่ยวกับวีรชนเหล่านี้ และแรงกระเพื่อมที่ไม่คาดฝันอันเกิดจากความร่วมมือกันของพวกเขาเท่าๆ กับผม และถ้าเรื่องของพวกเขาก่อให้เกิดแรงบันดาลใจแก่คุณ
ผมหวังว่าคุณจะนำไปปันต่อ ด้วยความร่วมมือกัน เราสามารถกระจายเรื่องราวเกี่ยวกับความก้าวหน้าที่กำลังเกิดทุกวันโดยคนที่มีความพิเศษทั่วโลกได้ส่งผลให้ความก้าวหน้าเกิดขึ้นต่อไปอีก”
บิล เกตส์ เล่าว่า เขาพบกับโจซีฟีน ซึ่งภูมิใจมากที่สามารถดำเนินชีวิตได้แบบไร้ความขาดแคลน หลังจากที่เธอได้วัวนมพันธุ์ใหม่ที่เกิดจากการร่วมกันพัฒนาสายพันธุ์โดยนักวิทยาศาสตร์ชาวสกอตและชาวเคนยา โดยการสนับสนุนของมูลนิธิเกตส์
วัวพันธุ์ใหม่ให้น้ำนมวันละ 16 ลิตร หรือเกือบ 2 สองเท่าของวัวที่โจซีฟีนเคยเลี้ยง ผลิตผลของวัวสายพันธุ์ใหม่ทำให้ลูกของเธอมีนมดื่มและมีเหลือขาย ก่อให้เกิดรายได้ที่เอื้อให้ลูกไปโรงเรียน ยิ่งกว่านั้น เธอยังมีนมเหลือเพื่อช่วยเพื่อนบ้านที่เดือดร้อนอีกด้วย
นอกจากนั้น มีเรื่องราวของนักเรียนหญิงชื่อโอมพิเล ในแอฟริกาใต้ ย้อนไปในวันก่อน โอมพิเลรู้สึกท้อแท้ใจเมื่อนึกถึงเรื่องไปโรงเรียนทั้งที่มีความสนใจในการเรียนและเข้าใจในความสำคัญของการไปโรงเรียน
สิ่งที่ทำให้เธอรู้สึกท้อแท้ ได้แก่ ห้องส้วมแบบโบราณที่ไม่ชวนใช้และส่งกลิ่นเหม็น หลังโรงเรียนได้รับความช่วยเหลือให้ปรับปรุงส้วมเป็นระบบนำสมัยที่เกิดจากการวิจัยและพัฒนาโดยความร่วมมือขององค์กรต่างๆ รวมทั้งมูลนิธิเกตส์
โอมพิเลตื่นเต้นและมีความสุขที่ได้ไปโรงเรียน ส่งผลให้การเรียนของเธอดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ไม่เฉพาะโอมพิเลเท่านั้นที่มีความสุขกับการไปโรงเรียนและผลการเรียนดีขึ้น นักเรียนในโรงเรียนของเธอซึ่งส่วนใหญ่ไม่ชอบไปโรงเรียนและขาดเรียนบ่อยมากมาก่อนก็ชอบไปโรงเรียนเช่นกัน
ไม่เฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้นที่มีเรื่องราวของวีรชนที่สร้างแรงบันดาลใจให้บิล เกตส์ ในสหรัฐเองก็มี เช่น เรื่องราวของเคท สวินเบอร์น ผู้นำองค์กรเอกชนแห่งหนึ่งในเมืองนิวออร์ลีน ซึ่งมีวัยรุ่นด้อยโอกาสจำนวนมากโดยเฉพาะในกลุ่มชนผิวสี
การสร้างโครงการที่นำฝ่ายการศึกษา ภาคธุรกิจและกลุ่มองค์กรเอกชนเข้ามาทำงานร่วมกัน เพื่อเปิดทางให้เยาวชนฝึกงานและมองเห็นทางสร้างอนาคตเป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เยาวชนในโครงการประสบความสำเร็จใกล้เต็มร้อย แนวคิดของเธอกำลังแพร่กระจายไปยังเมืองต่างๆ ในสหรัฐ
เรื่องราวที่เล่ามานี้คงชี้ว่า “เดินตามผู้ใหญ่ หมาไม่กัด” ยังไม่ถึงกับตกยุคเสียทีเดียว และเศรษฐีคิดดีทำดียังพอมีเดินตามได้อยู่บ้าง