ความรับผิดชอบแบบมืออาชีพ | ตะวัน วรรณรัตน์
หลากหลายเหตุการณ์ที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบในฐานะมืออาชีพ เป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยขาดแคลนอย่างมากในทุกระดับ
เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาใครหลายคนคงได้อ่านหรือได้ยินข่าวชายตกท่อร้อยสายไฟของการไฟฟ้านครหลวงที่มีความลึก 15 เมตร ฝาท่อเป็นไม้อัดที่ตามข่าวระบุว่ามีความหนาประมาณ 1.3เซนติเมตร
และหากย้อนกลับไปในรอบหลายปีที่ผ่านมา จะมีการปรากฏข่าวสารเรื่องถนนเป็นหลุมเป็นบ่อ คานเหล็กจากไซต์ก่อสร้างหล่นทับรถยนต์ นักเรียนประถมทั้งขั้นเรียนท้องเสียจนต้องเข้าโรงพยาบาล และอื่น ๆ ในทำนองเดียวกันนี้อยู่บ่อยครั้ง
จนผู้คนในสังคมเริ่มจะคุ้นเคยไปจนถึงขั้นชินชา และไม่สนใจหากไม่ได้เป็นผู้ประสบเหตุด้วยตนเองหรือผู้ประสบเหตุไม่ใช่ญาติมิตรของตน
เหตุการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการปฏิบัติหน้าที่อย่างมีความรับผิดชอบในฐานะมืออาชีพเป็นสิ่งหนึ่งที่สังคมไทยขาดแคลนอย่างมากในทุกระดับ
โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงการปฏิบัติงานในฐานะที่เป็นมืออาชีพมัก ผู้คนก็มักจะหมายถึงการปฏิบัติงานของผู้ที่ทำงานในลักษณะวิชาชีพโดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชีพที่มีองค์กรหรือสมาคมวิชาชีพกำกับควบคุม เช่นในการทำหน้าที่ของแพทย์ วิศวกร ครูและนักสื่อสารมวลชน
หรือในบางกรณีก็จะหมายถึงทำหน้าที่ของผู้ที่ต้องใช้ความรู้เฉพาะทางในระดับสูงเช่นนักวิทยาศาสตร์ แต่เอาเข้าจริงแล้วสังคมที่น่าอยู่จะต้องคาดหวังให้ผู้ประกอบอาชีพในทุก ๆ อาชีพต้องมีความรับผิดชอบในฐานะมืออาชีพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับอาชีพ ที่จะสร้างผลกระทบให้กับผู้คนและสังคมได้ในวงกว้าง
ลองจินตนาการดูก็ได้ว่า หากคนขับรถประจำทางขับรถด้วยประมาทเลินเล่อความเสียหายที่เกิดขึ้นอาจร้ายแรง ถึงขึ้นทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตได้นับสิบคน
อย่างไรก็ตาม บทความนี้ต้องการจะเน้นกล่าวถึงความรับผิดชอบแบบมืออาชีพในอีกลักษณะที่ไม่ค่อยจะมีการกล่าวถึงกันมากนัก กล่าวคือความรับผิดชอบแบบมืออาชีพเมื่อเราปฏิบัติหน้าที่หรือกระทำการในลักษณะที่ไม่ได้เป็น “ตัวเอง”
เราทุกคนคงคุ้นเคยกับการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นตัวเอง เพราะมันคือการทำหน้าที่ตามปกติในชีวิตการทำงานของผู้คนทั่วไป
ไม่ว่าจะเป็น การรักษาคนของนายแพทย์ A การออกแบบและควบคุมเครื่องจักรของนายช่าง B การประกอบอาหารของเชฟ C หรือการสอนหนังสือของครู D แน่นอนว่าหมายรวมไปถึงการขับรถประจำทาง การตัดผม และอื่น ๆ อีกมากมาย
แต่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เราไม่ใช่ตัวเองคือการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็น “ตัวแทน” ขององค์กร หน่วยงาน กลุ่มคนหรือแม้แต่ตัวแทนมหาชน
การปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะที่เป็น “ตัวแทน” เช่นนี้เรียกร้องความรับผิดชอบในระดับที่สูงกว่าการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็น “ตัวเอง” ผู้ปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะนี้จึงต้องคำนึงถึงอยู่เสมอว่าตนเองเป็น “ตัวแทน” ของผู้อื่น
โดยเฉพาะการยิ่งการปฏิบัติหน้าที่ในลักษณะนี้มักจะเป็นบทบาทที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ทั้งที่เป็นการตัดสินใจในเชิงนโนบายซึ่งจะส่งผลให้คุณให้โทษกับบุคคลอื่น ๆ อย่างกว้างขวาง และการตัดสินใจเชิงการให้คุณให้โทษเป็นรายบุคคล
การพิจารณาตัดสินใจ จึงต้องปราศจากอคติและผลประโยชน์ส่วนบุคคลของผู้ทำหน้าที่แต่มุ่งเน้นถึงผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นโดยรวมของสังคมหรือองค์กร
นอกจากนี้การตัดสินใจจะต้องกระทำไปบนความรู้และข้อมูลที่รอบด้านจากการรับฟังความคิดเห็นเพื่อให้การพิจารณาตัดสินใจนั้นปราศจากข้อผิดพลาดหรือมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
อย่างไรก็ตามคงเป็นการยากที่จะกล่าวโทษว่าการพิจารณาตัดสินใจเรื่องนั้น ๆ ผิดหรือถูก เนื่องด้วยเป็นประเด็นที่ต้องใช้ดุลยพินิจ ดังนั้น บุคคลเหล่านี้ก็แทบจะไม่เคยต้องรับผิดชอบต่อการพิจารณาตัดสินใจที่ผิดพลาดของตน
อีกกรณีหนึ่งคือการกระทำในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะ การเป็นบุคคลสาธารณะนั้นอาจเป็นได้ในหลายลักษณะ ซึ่งโดยทั่วไปมักหมายถึงผู้ประกอบอาชีพนักร้องนักแสดง ซึ่งในยุคหลังมานี้ได้ขยายขอบเขตรวมไปถึงผู้ที่ถูกเรียกว่าเป็นไอดอล ยูทูปเบอร์และอื่น ๆ ซึ่งเป็นที่รู้จักของผู้คนในสังคมในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ความรับผิดชอบแบบมืออาชีพของการกระทำการในฐานะที่เป็นบุคคลสาธารณะ ในบทความนี้ต้องการจะหมายถึงการให้ความรู้ ให้ข้อสังเกต ให้ข้อมูลของผู้ที่สังคมยกให้เป็น “กูรู” ในด้านต่าง ๆ
สังคมไทยมักจะให้ความเชื่อถือกับกูรูในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะทางด้านสาธารณะสุขและด้านสุขภาพ ซึ่งกูรูในด้านดังกล่าวนี้ก็มักจะหนีไม่พ้นผู้ที่ประกอบอาชีพทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น แพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์หรือแม้แต่เทคนิคการแพทย์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีตำแหน่งทางวิชาการหรือที่เรียกว่าเป็นอาจารย์หมอก็มักจะได้รับความเชื่อถือมากขึ้นอีกเป็นพิเศษ
เราจึงมักพบการออกมาให้ความคิดเห็นของแพทย์กูรูในฐานะบุคคลสาธารณะอยู่บ่อยครั้ง เช่น การที่แพทย์ออกมาสื่อสารผ่านช่องทางสาธารณะในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ว่าโควิดกลับมาระบาดใหม่อีกแล้ว เป็นต้น
การแสดงความเห็นของบุคคลสาธารณะดังกล่าว ส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คนในสังคมเนื่องจากบุคคลสาธารณะเป็นบุคคลที่ได้รับความเชื่อถือ จากกรณีตัวอย่างเรื่องโควิด
เมื่อแพทย์ที่เป็นบุคคลสาธารณะสื่อสารผ่านช่องทางที่เป็นสาธารณะต่าง ๆ ก็ย่อมที่จะส่งผลต่อพฤติกรรมของผู้คน เช่น คนจะหันไปซื้อหน้ากากอนามัยเพิ่มขึ้น คนจะหลีกเลี่ยงการไปโรงพยาบาล หรือหลีกเลี่ยงสถานที่ปิด เช่น โรงภาพยนตร์ ผับ บาร์
ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังภาคส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไปเป็นลูกโซ่ หากคำเตือนของกูรูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง แน่นอนว่าย่อมก่อประโยชน์มหาศาลกับสังคม แต่หากคำเตือนนั้นผิดพลาดหรือไม่ตรงกับข้อเท็จจริง ก็แทบจะไม่เคยเห็นกูรูผู้คนใดแสดงความรับผิชอบต่อการกระทำของตน
นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลนาม แกรี่ เบคเกอร์ ได้เคยวิเคราะห์เอาไว้ว่าสังคมอาจลดการก่ออาชญากรรมด้วยการสร้างต้นทุนของการก่ออาชญากรรมให้สูงขึ้น เบคเกอร์มีความเชื่อว่าอาชญากรมิได้เป็นผู้ที่ปราศจากเหตุผล
ดังนั้น อาชญากรจะตัดสินใจก่ออาชญากรรมก็ต่อเมื่อพวกเขาพิจารณาแล้วเห็นว่าต้นทุนของการก่ออาชญากรรมนั้นต่ำกว่าผลประโยชน์ที่พวกเขาจะได้รับ ซึ่งต้นทุนของการก่ออาชญากรรม ที่อาชญากรพิจารณาประกอบไปด้วยความหนนักเบาของบทลงโทษและความน่าจะเป็นที่จะถูกจับได้
ในทำนองเดียวกันนี้ การสร้างต้นทุนของการตัดสินใจผิดพลาดและการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อน่าจะมีส่วนช่วยทำให้ทั้งผู้ที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะตัวแทนรวมถึงกูรูผู้เป็นบุคคลสาธารณะใช้ความรอบคอบและระมัดระวังในการกระทำของตนมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
การสร้างต้นทุนของการกระทำผิดและการกระทำที่ประมาทเลินเล่อจะไม่ส่งผลเสียหายแต่อย่างใดเลยกับผู้กระทำการ หากผู้กระทำการได้แสดงให้เห็นอย่างชัดแจ้งว่าว่าตนตัดสินใจหรือได้กระทำการใด ๆ ไปบนความรู้ที่รู้จริง บนข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน ปราศจากอคติและผลประโยชน์ส่วนตัว
เพราะสังคมก็คงจะเข้าใจและมั่นใจได้ว่าผู้กระทำการคนดังกล่าวนั้นปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรับผิดชอบแบบมืออาชีพอย่างเต็มที่แล้ว