การ ‘ปล่อยมือ’ คุณสมบัติผู้นำที่ถูกละเลย
เมื่อนึกถึงคุณสมบัติของผู้นำที่ดี จะสามารถคิดกันได้มากมาย แต่หนึ่งคุณสมบัติที่ถูกละเลยและไม่ได้รับการนึกถึงคือการ “ปล่อยมือ” เป็นการปล่อยมือจากความเป็นผู้นำที่เป็นอยู่ทั้งในด้านหน้าที่ความรับผิดชอบและด้านจิตใจ
ผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการหรือมืออาชีพที่เป็นซีอีโอ ต่อให้ดีและเก่งเพียงใด เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการคิด การตัดสินใจ การจดจำ การก้าวทันการเปลี่ยนแปลง ย่อมไม่สามารถสู้สมัยที่ยังหนุ่มสาวได้ ผู้นำจึงควรที่จะเรียนรู้และมีความสามารถที่จะ “ปล่อยมือ” จากงานบริหารทั้งหลาย และส่งไม้ต่อให้กับผู้นำรุ่นต่อไป
ถึงแม้หลักการข้างต้นจะเป็นสัจธรรมที่แท้จริง แต่ผู้นำจำนวนมากที่ไม่พร้อมและไม่สามารถที่จะปล่อยมือจากความเป็นผู้นำไปได้ ทำให้สุดท้ายเมื่อถึงเวลาต้องจากไปจริงๆ ก็ไม่ได้ลงจากตำแหน่งได้อย่างสง่างาม และทำให้มีผู้มีระลึกถึงแต่ในทางบวกอยู่เสมอ
การ “ปล่อยมือ” ของผู้นำจะแตกต่างกันตามบริบทของตัวผู้นำและองค์กรด้วย ผู้นำที่เป็นเจ้าของกิจการไม่ได้มีการกำหนดระยะเวลาหรืออายุของความเป็นผู้นำไว้ สามารถดำรงตำแหน่งผู้นำไปได้เรื่อยๆ จนกว่าพร้อมที่จะปล่อยมือ
ส่วนผู้นำที่เป็นมืออาชีพส่วนใหญ่จะมีกรอบเรื่องระยะเวลา (ตามสัญญาจ้าง) หรืออายุ (การเกษียณอายุ) กำหนดไว้ เพียงแต่บางแห่งต่อให้ครบสัญญาหรือเกษียณแล้วก็ยังดำรงตำแหน่งได้เรื่อยๆ ดังนั้น ความท้าทายในการ “ปล่อยมือ” สำหรับผู้นำภายใต้แต่ละบริบทย่อมแตกต่างกันออกไปเช่นกัน
ผู้นำที่เป็นเจ้าของกิจการนั้น ความท้าทายของการปล่อยมือคือการหาผู้มารับช่วงต่อกิจการ บางท่านที่ไม่มีทายาทหรือทายาทไม่ได้สนใจทำธุรกิจต่อก็จะหามืออาชีพเข้ามาบริหาร หรือขายกิจการให้คนอื่นไปเลย ในกรณีนี้ผู้นำอาจจะไม่สามารถที่จะตัดใจทิ้งสิ่งที่ตนได้สร้างมากับมือให้กับผู้อื่นได้
ดังนั้น จึงพยายามที่จะยื้อเวลาไว้ให้นานที่สุด แต่การยื้อนั้นก็ทำให้ผู้นำจะต้องบริหารกิจการทั้งๆ ที่ความพร้อมและความสามารถก็ลดลงเรื่อยๆ และสุดท้ายก็ทำให้มูลค่าของกิจการลดลงด้วย
เจ้าของกิจการที่มีทายาทมารับช่วงต่อนั้น ความท้าทายของการปล่อยมือคือความเป็นห่วง ความไม่วางใจในมือคนรุ่นใหม่ หลายท่านยังมีความรู้สึกว่าถ้าตนเองไม่อยู่ หรือไม่เข้ามาดูแลอย่างใกล้ชิดแล้ว กิจการจะไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้
ผู้นำที่เก่งจริงและมองการณ์ไกล จะต้องเตรียมทั้งระบบ ผู้บริหารระดับรอง หรือการพัฒนาทายาทธุรกิจให้พร้อม เพื่อที่วันหนึ่งตนเองจะสามารถปล่อยมือให้รุ่นหลังบริหารธุรกิจต่อไปได้
สำหรับผู้นำมืออาชีพนั้น ถ้าอยู่ในบริบทที่เคร่งเรื่องระยะเวลาตามสัญญา (เช่น ถ้าครบสองสมัยแล้วไม่สามารถต่อได้) หรือตามอายุ (เกษียณอายุ) ผู้นำจะรู้ตัวล่วงหน้าอยู่แล้วว่าจะเป็นผู้นำถึงเมื่อไร ส่วนใหญ่จะมีการเตรียมการและวางแผนล่วงหน้าในการปล่อยมือไว้แล้ว ทั้งการสรรหาและส่งมอบงานให้กับผู้นำรุ่นใหม่ และสิ่งที่จะทำเมื่อพ้นตำแหน่งผู้นำ
ความท้าทายของผู้นำกลุ่มนี้ในการปล่อยมือ จะเป็นเรื่องของจิตใจมากกว่า แม้จะปล่อยมือจากการบริหารได้จริง แต่ก็จะไม่สามารถปล่อยมือจากสถานะของความเป็นผู้นำได้ ไม่ว่าจะเป็นเกียรติยศ ชื่อเสียง ความสะดวกสบาย ที่มาพร้อมกับความเป็นผู้นำ ยังมีความยึดติดในสถานะเดิมๆ ที่มีอยู่และรู้สึกว่าต่อให้คนใหม่มาก็ทำงานสู้ตนเองไม่ได้
กลุ่มที่ท้าทายที่สุดคือ “ผู้นำมืออาชีพ” ที่ต่อให้มีสัญญาหรือระยะเวลากำหนดไว้ แต่จะสามารถต่อสัญญาได้เรื่อยๆ แบบไม่มีกำหนด ทำให้ขาดการเตรียมพร้อมทั้งในด้านการทำงานและด้านจิตใจสำหรับการปล่อยมือ
ผู้นำมืออาชีพหลายท่านอยู่มานานจนทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนเองเป็นเจ้าขององค์กร ผู้ถือหุ้นและกรรมการ ก็ไม่กล้าที่จะปรับเปลี่ยนผู้นำเนื่องจากความเกรงใจ
ดังนั้น สำหรับผู้นำทุกท่านต้องอย่าลืมคิดถึง Exit Strategy ของตนเองไว้ด้วยว่าจะปล่อยมือจากความเป็นผู้นำอย่างไร ที่สำคัญคือการปล่อยมือนั้นไม่ใช่แค่ปล่อยในด้านภาระ หน้าที่ ความรับผิดชอบจากความเป็นผู้นำเท่านั้น แต่ต้องเป็นการปล่อยมือในด้านจิตใจ ที่จะต้องไม่ไปยึดติดกับสิ่งเดิมที่เคยมี เคยได้ มิฉะนั้นนอกจากจิตใจตนเองที่จะไม่สงบสุขแล้ว ยังอาจจะส่งผลในทางลบต่อผู้นำรุ่นต่อไปและองค์กรด้วย