เศรษฐกิจไทย ‘ไอซียู’ คนตัวเล็กกำลัง(จะ)ตาย
เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะไอซียู สะท้อนจากยอดขายรถยนต์ถดถอยต่อเนื่อง ยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น คนเที่ยวน้อยลง เหตุหนี้ครัวเรือนสูงผู้คนไม่มีกำลังจ่าย รัฐบาลควรออกมาตรการแก้ไขเร่งด่วน ก่อนที่คนตัวเล็กๆ จะล้มกันหมด
ปรากฏการณ์ที่สะท้อนว่า “เศรษฐกิจภาพรวม” ของประเทศไทยอยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง ถ้าเทียบกับผู้ป่วยอยู่ในภาวะอาการร่อแร่จนต้องส่งเข้า “ห้องไอซียู” เพื่อให้แพทย์ทำการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน เพราะหากช่วยช้า คนไข้ก็อาจจะไม่ฟื้นกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ เศรษฐกิจไทยในขณะนี้ก็ไม่ต่าง
ที่พูดแบบนั้นก็เพราะว่าตั้งแต่ปี 2566 ดัชนีที่ชี้วัดสภาพคล่องทางการเงินอย่างยอดขายรถยนต์ถดถอยต่อเนื่อง โดยเฉพาะรถปิกอัพ ซึ่งเป็นตัวสะท้อนภาวะการเงินของชั้นกลาง-ล่าง ยอดขายเดือน พ.ค. ทุกยี่ห้อมียอดขายรวมกัน 49,871 คัน ลดลง 23.4% จากเดือน พ.ค. 2566 จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่สูงในรอบ 2 ปี แม้ว่า ค่ายรถยนต์จะลดราคาลงแต่ก็ยังไม่มีกำลังซื้อ
อีกตัวชี้วัดที่บ่งชี้ว่า “เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะไอซียู” ก็คือยอดปฏิเสธสินเชื่อบ้านเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาทปัจจุบันมียอดปฏิเสธสินเชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 70% จากเดิม 50-60% เนื่องจากคุณภาพผู้กู้ด้อยลงมากและมีแนวโน้มหนี้เสียเพิ่มสูงขึ้น
ผลสำรวจและภาวะแนวโน้มสินเชื่อของแบงก์ชาติพบว่า ความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยปรับลดลง แม้ว่าผู้ประกอบการจะมีมาตรการส่งเสริมการขายออกมา แต่ยอดโอนที่อยู่อาศัย หรือยอดซื้อรถยนต์ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะหนี้ครัวเรือนยังคงสูงอยู่ผู้คนไม่มีกำลังจ่ายและยังไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นทำให้ระมัดระวังการใช้จ่าย
การระมัดระวังค่าใช้จ่ายสะท้อนผ่านสถานการณ์ท่องเที่ยวไตรมาส 2 ที่ผู้ประกอบการคาดการณ์ว่าจะดีกว่าไตรมาส 1 จากความหวังที่เม็ดเงินจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เข้ามาหมุนเวียนในระบบทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย สถานการณ์ท่องเที่ยวดีขึ้น
แต่ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่คาด ผู้คนไม่เดินทางท่องเที่ยวมากอย่างที่หวัง แถมค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวยังลดลงเหลือเพียงคนละ 2,683 บาท จากก่อนหน้าที่เคยจ่าย 6,856 บาท มิหนำซ้ำเกือบ 50% ลดความถี่ในการท่องเที่ยวน้อยลง เพราะมีภาระหนี้สินเฉลี่ยประมาณ 33% ของรายได้และกว่า 36% รายได้ไม่เพียงพอในการชำระหนี้ในบางเดือน
คำถามคือเราจะทำอย่างไรถึงจะสามารถช่วยเหลือวิกฤติของคนตัวเล็กๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นพนักงานที่ทำงานในองค์กรต่างๆ และส่วนหนึ่งยังเป็นเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก ขนาดกลาง รวมๆ แล้วไม่ต่ำกว่า 33 ล้านคน ที่เป็นฐานรากของประเทศกำลังเผชิญความยากลำบาก ไม่มีสภาพคล่องทางการเงิน
ที่สำคัญเอสเอ็มอีส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสำนักงานที่ส่งเสริมการเศรษฐกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ทำให้ไม่สามารถได้รับการช่วยเหลือพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้นจนสามารถอยู่รอดได้ ท่ามกลางสภาวะกำลังซื้อของคนตัวเล็กๆ หดหาย สภาพคล่องที่ฝืดเคือง แม้ว่าบริษัทอสังหาริมทรัพย์จะหั่นราคาบ้าน ค่ายรถยนต์จะลดราคาลง แต่คนก็ยังไม่มีกำลังซื้อ รัฐบาลควรจะมีมาตรการออกมาแก้ไขเรื่องนี้อย่างเร่งด่วน ก่อนที่คนตัวเล็กๆ จะล้มกันหมด ซึ่งอาจจะสาหัสกว่าวิกฤติปี 2540 ก็เป็นได้