ผลสำรวจบางประเด็นจากการบังคับใช้กฎหมายรับรองเพศสภาพในกลุ่มประเทศ EU

ผลสำรวจบางประเด็นจากการบังคับใช้กฎหมายรับรองเพศสภาพในกลุ่มประเทศ EU

ในทุกปีของเดือนมิถุนายน ในหลายประเทศ จะมีการจัดงานของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือที่เรียกว่าเป็นเดือนแห่งเทศกาลไพรด์ หรือ Pride Month ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความต้องการ สิทธิความเท่าเทียม ในสังคมของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ

บทความนี้จึงขอนำเสนอผลสำรวจบางประเด็น จากการบังคับใช้กฎหมายรับรองเพศสภาพในกลุ่มประเทศสหภาพยุโรปมาฝากทุกท่านเพื่อเฉลิมฉลองส่งท้าย Pride Month 

หากพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการรับรองเพศสภาพที่เกิดขึ้นในต่างประเทศปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าประเทศอาร์เจนตินาเป็นประเทศแรกของโลกที่มีการตรากฎหมายรับรองเพศสภาพหรือที่รู้จักในชื่อ “กฎหมายว่าด้วยอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ (Gender Identity Law)” ลงวันที่ 8 พฤษภาคม ค.ศ. 2012

กฎหมายฉบับนี้ให้การรับรองสิทธิแก่บุคคลในการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ สิทธิในการพัฒนาอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนอย่างอิสระ รวมถึงมีสิทธิได้รับการปฏิบัติจากบุคคลอื่นตามเพศสภาพที่ตนดำรงอยู่ 

กฎหมายของประเทศอาร์เจนตินาฉบับนี้ ถือว่าเป็นการรับรองเพศสภาพของบุคคลบนพื้นฐานของการกำหนดเจตจำนงโดยตนเองเป็นฉบับแรกของโลก และได้กลายเป็นต้นแบบในการตรากฎหมายรับรองเพศสภาพของบุคคลให้กับกลุ่มประเทศแถบยุโรปในเวลาต่อมา 

ผลการศึกษาเกี่ยวกับการรับรองเพศสภาพในกลุ่มประเทศแถบยุโรปของ Richard Köhler ในผลงานเรื่อง Self-determination models in Europe: Practical experiences ซึ่งเผยแพร่โดยองค์กรบุคคลข้ามเพศแห่งยุโรป (Transgender Europe -TGEU) ในปี ค.ศ. 2022

พบว่าในประเทศกลุ่มสหภาพยุโรปอย่างน้อยมีจำนวน 39 ประเทศมีกฎหมายให้การรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพแก่บุคคล 

 

อย่างไรก็ตาม กฎหมายของประเทศเหล่านี้ยังคงมีการกำหนดเงื่อนไขในการรับรองที่แตกต่างกัน กล่าวคือ มีจำนวน 27 ประเทศเรียกร้องให้มีการวินิจฉัยรับรองสุขภาพทางจิตเวช (Mental Health Diagnosis) และอีกจำนวน 8 ประเทศบังคับให้บุคคลต้องทำหมันก่อน นอกจากนั้นยังมีอีก 19 ประเทศบังคับให้บุคคลต้องทำการหย่า 

ในขณะที่มีเพียง 9 ประเทศเท่านั้นที่กำหนดเงื่อนไขเพียงการประกาศว่าบุคคลมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเช่นไร หรือที่เรียกว่าเป็นการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพของบุคคลโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของการกำหนดเจตจำนงโดยตนเอง (Self-determination)

ซึ่งหมายถึง การกำหนดเจตจำนงของบุคคลโดยไม่ขึ้นกับบุคคลที่สาม เช่น ศาล นักจิตวิทยา นักจิตแพทย์ ผู้ให้บริการทางการแพทย์ หรือผู้แทนโดยชอบธรรม รวมถึง กระบวนการพิสูจน์หรือการรักษาในทางการแพทย์ที่ไม่จำเป็นด้วย

ผลสำรวจบางประเด็นจากการบังคับใช้กฎหมายรับรองเพศสภาพในกลุ่มประเทศ EU

และต้องกระทำผ่านกระบวนการพิจารณาทางปกครอง ซึ่งตรงข้ามกับกระบวนการในทางศาล โดยจะต้องดำเนินการให้รวดเร็ว เข้าถึงได้ง่ายและโปร่งใสตรวจสอบได้

ประเทศมอลตาและประเทศไอซ์แลนด์นับเป็นประเทศที่ให้การรับรองเพศสภาพตามหลักการกำหนดเจตจำนงโดยตนเอง

สำหรับประเทศมอลตาได้ตรากฎหมายว่าด้วยอัตลักษณ์ทางเพศ การแสดงออกทางเพศ และคุณลักษณะทางเพศ (The Gender Identity, Gender Expression and Sex Characteristics Act 2015) กำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับการรับรองสิทธิในอัตลักษณ์ทางเพศ รวมถึงกำหนดกระบวนการขั้นตอนเกี่ยวกับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศของกลุ่มบุคคลข้ามเพศ และบุคคลอินเตอร์เซ็กไว้อย่างชัดเจน 

ในขณะที่ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งได้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการกำหนดเจตจำนงในเรื่องเพศสภาพ (Act on Gender Autonomy) เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน ค.ศ. 2019 ซึ่งถือเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งในการสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศที่มีความน่าสนใจและทันสมัยมากที่สุดในเวลานี้ของโลก

เนื่องจากประเทศไอซ์แลนด์เป็นเพียงประเทศเดียวในยุโรปเท่านั้นที่นำหลักการกำหนดเพศสภาพตามเจตจำนงของบุคคล มาใช้สำหรับการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพทางกฎหมายแก่กลุ่มบุคคลนอนไบนารี่ โดยไม่มีการกำหนดอายุขั้นต่ำของบุคคลแต่อย่างใด  

ผลสำรวจบางประเด็นจากการบังคับใช้กฎหมายรับรองเพศสภาพในกลุ่มประเทศ EU

ภายหลังจากการมีกฎหมายรับรองเพศสภาพแล้ว พบว่ามีบุคคลข้ามเพศได้ยื่นคำร้องเพื่อขอรับรอง      อัตลักษณ์ทางเพศสภาพของตนจำนวนไม่มากนัก เนื่องจากระบบกฎหมายภายในรัฐที่บุคคลข้ามเพศอาศัยอยู่นั้น ได้กำหนดมาตรการทางกฎหมายที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อการใช้สิทธิดังกล่าว และสอดคล้องกับผลจากรายงานของรัฐต่าง ๆ

ที่พบว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิยื่นคำร้องรับรองเพศสภาพ ภายใต้หลักการกำหนดเจตจำนงทางเพศสภาพของตนเองนั้น มีปริมาณมากกว่าผู้ยื่นคำร้องในประเทศที่มีการกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการรับรองเพศสภาพ

นอกจากนั้น การได้รับสิทธิตามกฎหมายรับรองเพศสภาพของแต่ละประเทศยังคงมีข้อจำกัดแตกต่างกัน เช่น ข้อจำกัดเกี่ยวกับการบังคับใช้สิทธิในการกำหนดเจตจำนงของตนเอง ซึ่งมีประเด็นว่าบุคคลจะสามารถใช้สิทธิในการกำหนดเพศสภาพตามเจตจำนงของตนเองได้กี่ครั้ง และสามารถกระทำได้ตลอดชีวิตหรือไม่

และการพิจารณาสำหรับการยื่นคำร้องในครั้งที่สองจะได้รับการพิจารณาโดยองค์กรใด ซึ่งทางปฏิบัติของต่างประเทศยังคงมีความแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม ผลประการสำคัญที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ พบว่า ในประเทศที่มีการรับรองอัตลักษณ์ทางเพศสภาพ ไม่ปรากฏรายงานว่ามีผู้ใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือมีเจตนากระทำความผิดในทางอาญา

และยังพบว่าประเทศที่ให้การรับรองเพศสภาพบนพื้นฐานของการกำหนดเจตจำนงของตนเองนั้น ยังมีมาตรฐานในการคุ้มครองสิทธิของสตรี และสร้างหลักประกันในความเท่าเทียมระหว่างเพศในระดับสูง

ซึ่งการไม่ปรากฏถึงหลักฐานของการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต หรือมีเจตนากระทำความผิดในทางอาญาดังกล่าวนี้เอง ย่อมเป็นข้อสนับสนุนได้อย่างดีว่า การกำหนดเพศสภาพตามเจตจำนงของบุคคลนั้นไม่ได้เป็นการเบียดบัง หรือเป็นภัยต่อพื้นที่สตรีและยังเป็นการสนับสนุนสร้างความเท่าเทียมระหว่างเพศให้เกิดขึ้นภายในรัฐอีกด้วย.