Work Hard อย่างเดียวจะอยู่รอดจริงไหม? เมื่อ Work Smart ก็สำคัญไม่แพ้กัน

Work Hard อย่างเดียวจะอยู่รอดจริงไหม? เมื่อ Work Smart ก็สำคัญไม่แพ้กัน

Work Hard อย่างเดียว อาจยากที่จะสำเร็จ ต้องรู้จัก Work Smart ด้วย สองสิ่งนี้ต่างกันอย่างไร? เมื่ออุดมการณ์การทำงานหนัก อาจเป็นกับดักของชนชั้น?!

KEY

POINTS

  • การทำงานหนักหรือ work hard แล้วจะอยู่รอด? อาจใช้ไม่ได้กับวัยทำงานทุกคน เมื่อวัยทำงานมีหลายกลุ่ม และสภาพสังคมและเศรษฐกิจทุกวันนี้ก็บิดเบี้ยว เอื้อประโยชน์ให้แค่กับคนบางกลุ่ม
  • การ Work Hard ในมุมหนึ่ง อาจหมายถึงการเอางานมาสุมที่ตัวเองมากๆ จนกลายเป็นคอขวดในระบบงาน จนทำให้เกิดการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ
  • Work Hard เพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ถ้าอยากให้งานมีประสิทธิภาพสูงสุด อาจต้อง Work Smart ด้วย 

เกิดดราม่าในกลุ่มวัยทำงานอีกครั้งกับประเด็นที่ว่า “ในยุคเศรษฐกิจผันผวนสูงแบบนี้ คนที่ทำงานชิลๆ หรือทำงานแบบ Work Life balance อาจจะอยู่ไม่รอด แต่ต้องเข้าสู่โหมด Work Hard ถึงจะอยู่รอดได้” เมื่อประเด็นดังกล่าวถูกเผยแพร่ออกไปในโลกออนไลน์ ก็มีทั้งกระแสของคนเห็นด้วยและคนไม่เห็นด้วย พร้อมเกิดคำถามตามมาว่า การทำหนักงานอย่างเดียวทำให้อยู่รอดได้จริงหรือ? 

เรื่องนี้มีความคิดเห็นในอีกมุมหนึ่งจาก “โตมร ศุขปรีชา” นักคิดนักเขียนชื่อดัง ที่ได้โพสต์ข้อความสะท้อนมุมมองถึงประเด็นดังกล่าวผ่านเพจส่วนตัว Tomorn Sookprecha ไว้ว่า จริงๆ แล้วมีคนจำนวนมากในสังคมเป็นกลุ่มที่ Work Hard ในระดับ Hardest จนไม่สามารถจะทำงานหนักไปมากกว่านี้ได้อีกแล้ว และแม้จะทำงานหนักขนาดนั้นแต่ก็ยังไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้ ซึ่งพวกเขาถูกจัดลำดับทางสังคมให้เป็น ‘คนชั้นล่าง’ 

Work Hard แล้วจะอยู่รอด?! อาจใช้ไม่ได้กับวัยทำงานทุกคนทุกกลุ่ม

เขามองคำว่า Work Hard เป็นคำที่ถูกสงวนเอาไว้สำหรับคนที่ยังมีหนทางมากพอจะขยับขยายตัวเองให้มีศักยภาพในการ 'ดึงทรัพยากร' เข้ามาอยู่กับตัวเองมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่คือคนที่ถูกจัดลำดับทางสังคมให้เป็น ‘คนชั้นกลาง’ และต่อให้เป็นคนชั้นกลางที่มีหนทางจะขยับฐานะของตนเอง ด้วยการทำงาน Work Hard แต่ทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจว่า ด้วยสภาพสังคมที่ปราศจากความเป็นธรรม บิดเบี้ยว และเอื้อต่อคนเพียงบางกลุ่ม คนชนชั้นกลางบางคนก็ไม่มีทาง ‘รวย’ ในระดับเจ้าสัวได้อีกต่อไปแล้วในยุคนี้

เนื่องด้วยการ Work Hard นั้น เม็ดเงินส่วนใหญ่ที่ถูกผลิตขึ้นมาไม่ได้ตกอยู่กับคนที่ทำงานหนักจริงๆ แต่กลับตกไปอยู่กับกลุ่มคนที่ถูกมองว่าอยู่ในลำดับชั้นทางสังคมแบบ Elite แทบทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ การส่งต่อ 'อุดมการณ์ Work Hard' (ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว) จึงเป็นเรื่องที่มีปัญหาซ่อนอยู่ในตัวของมันเอง เพราะตั้งอยู่บนฐานของโครงสร้างสังคมที่ไม่เป็นธรรม ยิ่งทำมากก็อาจยิ่งไปเพิ่มความไม่เป็นธรรมเหล่านั้นให้มากขึ้น

อีกทั้ง การทำงานแบบ work hard ซึ่งเป็นอุดมการณ์ของคนที่เชิดชูความขยันนั้น ก็ยังไปเบียดเบียนหลักแนวคิดวิถีชีวิตแบบอื่นๆ เช่น หลักการใช้ชีวิตแบบกลมกลืนกับธรรมชาติ หลักการใช้ชีวิตง่ายคือถูกต้อง หรือแม้แต่การใช้ชีวิตแบบคนขี้เกียจ ซึ่งมนุษย์เราสามารถเลือกวิถีชีวิตได้หลากหลายรูปแบบ 

Work Hard อย่างเดียวจะอยู่รอดจริงไหม? เมื่อ Work Smart ก็สำคัญไม่แพ้กัน

Work Hard อาจทำให้เกิดงานที่ไร้ประสิทธิภาพ ขณะที่สังคมควรถกกันเรื่อง Decent Work มากขึ้น

สำหรับอุดมการณ์ Work Hard ที่ไม่ได้ถูกอธิบายอย่างละเอียดลึกซึ้ง มักทำให้คนจำนวนมากคิดว่า การ Work Hard มีอยู่เพียงวิธีเดียว คือ ทุ่มเทแรงใจแรงกายเอาหัวชนกำแพง ต้องทำงานมากๆ ยิ่งตำแหน่งใหญ่โตก็ยิ่งต้องเอางานมาสุมที่ตัวเองมากๆ จนกลายเป็นคอขวดของการทำงานที่ไร้ประสิทธิภาพ เพราะไม่ไว้วางใจในประสิทธิภาพ ความฉลาด ของคนที่อยู่ใน 'ระดับล่าง' กว่าตัวเอง

ขณะเดียวกัน หากศึกษาวิถีชีวิตแห่งความขี้เกียจให้ลึกลงไปจะพบว่า มันคือตัว 'ผลักดัน' ให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ มีงานวิจัยจำนวนมากระบุว่า หากจะหาวิธีทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด ให้หันไปพิจารณาคนขี้เกียจ เพราะคนเหล่านี้จะ 'ออกแบบ' วิธีทำงานที่ชาญฉลาด ใช้แรงงานน้อย แต่ได้งานออกมาพอดีกับที่ควรจะเป็น ไม่ได้มุ่งมั่นเอาหัวชนกำแพงทำตามที่ 'ถูกสั่ง' มา เป็นต้น

ด้าน สฤณี อาชวานันทกุล นักวิชาการอิสระ ก็ได้โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว Sarinee Achavanuntakul เกี่ยวกับประเด็นดราม่า Work Hard ไว้เช่นกัน โดยระบุว่า “เห็นมีดรามาในเน็ตเรื่อง slow life / work hard / work-life balance ไม่มีเวลามาชวนคุยเรื่องนี้ แค่อยากบอกว่า ยุคนี้เราควรก้าวไปให้พ้นจากคำเหล่านี้ แล้วไปเน้นถกกันเรื่อง “decent work” (งานที่มีคุณค่า) แทน ซึ่งอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG8 ด้วย” 

ทั้งนี้ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ให้นิยามคำว่า Decent Work ไว้ว่า เป็นงานที่มีคุณค่า หรืองานที่สามารถตอบสนองความต้องการเกี่ยวกับชีวิตการทำงานของคนได้ งานดังกล่าวต้องให้ค่าแรงที่เป็นธรรม, มอบโอกาสใหม่ ๆ, ประกันความมั่นคงแก่ตนและครอบครัว, ส่งเสริมเสรีภาพ, พัฒนาทักษะแรงงาน, ปฏิบัติอย่างเท่าเทียม และช่วยให้เป็นที่ยอมรับจากสังคม

Work Hard ไม่ใช่ว่าไม่ดี แต่จะดีกว่าถ้าไม่ติดกับดักความคิด และมี Work Smart ควบคู่ไปด้วย 

อย่างไรก็ตาม คนที่มีอุดมการณ์ Work Hard หรือการทำงานหนักเพื่อให้งานสำเร็จตามเป้าหมาย ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่ในขณะเดียวกัน หากต้องการให้งานออกมาดีมีประสิทธิภาพสูงสุด อาจต้องพิจารณา Work Smart ด้วย ข้อมูลจาก Indeed ซึ่งเป็นเว็บไซต์ให้คำแนะนำเรื่องหน้าที่การงานและอาชีพ ระบุถึงความหมายและความแตกต่างของคำว่า Work Hard และ Work Smart เอาไว้ดังนี้ 

Work Hard หมายถึง ลักษณะหรือคุณสมบัติของคนที่ทำงานหนัก เริ่มต้นทำงานเร็วกว่าคนอื่น และเลิกงานช้ากว่าคนอื่น สำหรับพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการเป็นคนทำหนักงาน ได้แก่ เป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในแรงงานทางกายภาพหรือทางจิตใจที่ต้องใช้ความคิดเข้มข้น มีความพยายามหรือความอดทนที่สูงเพื่อทำภารกิจหรือโครงการให้สำเร็จ เน้นปริมาณมากกว่าคุณภาพ มีการวางแผนก่อนเริ่มโครงการและงานในระดับต่ำ

ในขณะที่ Work Smart หมายถึง การทำงานอย่างชาญฉลาด มักจะมองหาวิธีสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือวิธีการทำงานที่ประหยัดเวลาอยู่เสมอ คนที่ Work Smart อาจใช้เวลาไปกับการวางแผน สร้างเครือข่าย หรือทำข้อตกลง ขณะเดียวกันก็อาจมองหาทางลัดเพื่อบรรลุเป้าหมายได้เร็วขึ้นและเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ทั้งนี้อาจแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบุคคลหรืออุตสาหกรรม ส่วนพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงการทำงานอย่างชาญฉลาด ได้แก่ เน้นคุณภาพและปริมาณที่สูงขึ้น มีการสะท้อนและประเมินผลระหว่างดำเนินโครงการ ชอบมีส่วนร่วมในการค้นหาวิธีการใหม่ๆ ในการทำงาน ชอบวางแผนระดับสูงก่อนการเสร็จสิ้นงาน

Work Hard อย่างเดียวจะอยู่รอดจริงไหม? เมื่อ Work Smart ก็สำคัญไม่แพ้กัน

‘Work Hard’ VS ‘Work Smart’ ต่างกันในบางจุด แต่ก็ทำงานส่งเสริมกัน เปิดฮาวทูการทำงานให้มีผลิตผลสูงสุด

การระบุความแตกต่างระหว่างการทำงานหนักและการทำงานอย่างชาญฉลาดอาจเป็นเรื่องยาก และไม่สามารถแยกขาดจากกันได้ขนาดนั้น เนื่องจากทั้งสองวิธีล้วนแต่ช่วยส่งเสริมให้พนักงานบรรลุเป้าหมายเดียวกัน แต่หามองในรายละเอียด อาจมีบางจุดที่แตกต่างกันบ้าง ได้แก่ 

ในแง่ของจุดมุ่งหมายและกระบวนการ : Work Hard มักมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลผลิตหรือเพิ่มปริมาณตลอดระยะเวลาของโครงการ ใช้วิธีการทำงานที่เชื่อถือได้แต่มักจะซ้ำซากเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย ขณะที่ Work Smart อาจมุ่งเป้าไปที่การปรับปรุงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย หรือปรับปรุงกระบวนการให้ดีขึ้น อาจเสียสละเวลาเพื่อทดสอบทฤษฎีทางเลือกหรือเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตรงเป้าหมายมากขึ้น แม้จะได้งานปริมาณน้อยลง

ในแง่ของแนวคิด-แนวทางการทำงาน : Work Hard มักจะดำเนินงานไปตามเส้นตรงที่วางไว้เพื่อไปสู่ความสำเร็จ มักเกิดกับอุตสาหกรรมบางประเภทที่ต้องการทำสิ่งต่างๆ ด้วยวิธีเดิมๆ ในลักษณะที่คาดเดาได้ เพื่อนำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง เหมาะกับงานที่ชอบกฎเกณฑ์ ความมีระเบียบ และความเชี่ยวชาญเฉพาะ แต่สำหรับ Work Smart มักเป็นการระดมความคิดและการวางแผน ต้องอาศัยความพยายามอย่างต่อเนื่องมากกว่า มีความยืดหยุ่นมากกว่า มีพื้นที่ให้ทีมงานได้ทดลองมากขึ้น เพื่อหาทางปรับปรุงและพัฒนาต่อไป 

ในแง่ของผลลัพธ์ : Work Hard มักส่งผลให้มีปริมาณงานที่ทำเสร็จมากขึ้น แต่อาจไม่ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้นหรือได้ข้อมูลใหม่ใดๆ แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินจะเหมาะกับการทำงานหนักมากกว่า ขณะที่ Work Smart ทำให้สมาชิกในทีมแต่ละคน สามารถค้นหาวิธีการที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตนเองได้ รวมถึงวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงขึ้น หรือเวลาในการส่งมอบที่เร็วขึ้น แต่ไม่เหมาะกับการทำงานในสถานการณ์ฉุกเฉิน

ทั้งนี้ มีวิธีที่จะฝึกฝนให้วัยทำงานไม่เพียงแต่จะเป็นคนตั้งใจทำงาน ทำงานหนัก แต่ยังสามารถก้าวสู่การเป็นคน Work Smart มากขึ้นได้ โดยมีคำแนะนำดังนี้

1. มีความคิดสร้างสรรค์
เน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ แทนที่จะนิ่งนอนใจ แม้ว่าคุณและทีมของคุณจะประสบความสำเร็จแล้วก็ตาม แต่ควรลองพิจารณาปรับปรุงวิธีการทำงานใหม่ให้ดีขึ้น เพิ่มไอเดียใหม่ๆ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ่านการช่วยกันระดมความคิดและบันทึกไอเดียเอาไว้

2. ทำรีเสิร์ชและวิเคราะห์ข้อมูล 
ฝึกทำวิจัย ทำรีเสิร์ช และวิเคราะห์ตลาดเพื่อเรียนรู้แนวโน้มของอุตสาหกรรมที่เราทำงานอยู่ ค้นหาช่องทางที่มักถูกมองข้ามไป แล้วนำมาใช้ประโยชน์ โดยก่อนจะเริ่มโครงการ ให้ลองสร้างแผนหรือโครงร่างที่ยืดหยุ่นได้เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานที่ประหยัดเวลา

3. เรียนรู้ทักษะชีวิต
เรียนรู้ทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ ใส่ใจในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงานที่ดี การดูแลสุขภาพกายและใจ การเรียนรู้วิธีจัดการเงิน และสร้างเครือข่ายผู้ให้การสนับสนุนที่เชื่อถือได้ การมีความมั่นใจในทักษะชีวิต จะทำให้มีจิตใจที่มั่นคง ส่งผลให้ทำงานอย่างชาญฉลาดมากขึ้น

4. บริหารเวลาอย่างเชี่ยวชาญ
ต้องรู้จักจัดสรรเวลาและทรัพยากรให้ดีที่สุด ค้นหาวิธีขจัดสิ่งรบกวนระหว่างวันทำงาน คุณอาจลองตั้งค่าระบบอัตโนมัติ เช่น การตอบกลับอีเมลทันทีหรือรายงานที่สร้างโดยอัตโนมัติ เพื่อประหยัดเวลาในการทำงานซ้ำๆ ในแต่ละวัน

5. พักเป็นระยะๆ 
การรู้ว่าเมื่อใดควรหยุดงาน เพื่อหันกลับมาคิดทบทวนความคิด เป็นอีกอย่างที่ส่งเสริมการทำงานอย่างชาญฉลาด การให้เวลาตัวเองได้ผ่อนคลาย ปล่อยใจให้โล่ง และพักผ่อนจะช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นและลดความเครียด นอกจากนี้ยังช่วยให้กลับมาทำงานต่อด้วยไอเดียใหม่ๆ ที่ดีขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว การทำงานหนักและการทำงานอย่างชาญฉลาด ทั้งสองอย่างนี้มีความแตกต่างกันพอสมควร อาจไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าแบบไหนดีกว่ากัน แต่ที่แน่ๆ ถ้ามีทั้งสองอย่างมาส่งเสริมกัน ย่อมทำให้งานออกมาดีมีประสิทธิภาพมากกว่าแค่ทำงานหนักอย่างเดียว