TOYOTA - SONY เพิ่มสิทธิ 'ลางานเลี้ยงลูก' ให้พนักงานพ่อลูกอ่อนชาวญี่ปุ่น

TOYOTA - SONY เพิ่มสิทธิ 'ลางานเลี้ยงลูก' ให้พนักงานพ่อลูกอ่อนชาวญี่ปุ่น

บริษัทในญี่ปุ่นอย่าง โตโยต้าและโซนี เพิ่มสวัสดิการให้แก่พนักงานชายใช้สิทธิ "ลางานเลี้ยงลูก" มากขึ้น ส่งเสริมวัฒนธรรมให้สิทธิวันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแก่ผู้ที่มีลูกทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเพศ 

KEY

POINTS

  • รัฐบาลตั้งเป้าที่จะเพิ่มอัตราการลางานเพื่อดูแลบุตรในบริษัทเอกชนเป็น 50% ภายในปี 2568 เพื่อส่งเสริมให้สิทธิการลาเลี้ยงดูบุตรครอบคลุมถึงทุกคนเท่าเทียมกัน
  • ยกตัวอย่าง บริษัทโตโยต้า เพิ่มสิทธิวันลาเลี้ยงลูกให้แก่พนักงานมากขึ้น โดยแจ้งเตือนให้พนักงานที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่ยังไม่ได้ลาเพื่อดูแลบุตรว่า อย่าลืมใช้สิทธิดังกล่าว
  • ขณะที่ โซนีกรุ๊ป ส่งเสริมให้พนักงานชายตระหนักถึงความสำคัญในการมีลูกและเลี้ยงดูลูกมากขึ้น โดยจัดอบรมให้พนักงานชายฝึกซ้อมการเลี้ยงลูกจากอุปกรณ์จำลอง

พนักงานชายในบริษัทภาคการผลิตของญี่ปุ่น เช่น โตโยต้า มอเตอร์ และโซนี ได้รับสิทธิลางานเลี้ยงลูกเพิ่มมากขึ้น ซึ่งสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมที่หลายๆ องค์กร พิจารณาให้สิทธิวันลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตร แก่ผู้ปกครองทุกคนโดยไม่แบ่งแยกเพศ 

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานว่า อัตราการลางานเพื่อดูแลบุตรของพนักงานชายในบริษัทโตโยต้าในปีงบประมาณ 2023 อยู่ที่ 61.5% เพิ่มขึ้นจาก 19.4% ในปีงบประมาณ 2021 และ 38% ในปีงบประมาณ 2022 ซึ่งอัตราการลางานที่เพิ่มขึ้นนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่ทางโตโยต้าประกาศนโยบายเมื่อเดือนมีนาคม 2023 ว่า บริษัทมีเป้าหมายที่จะทำให้การลาเพื่อดูแลบุตรเป็นไปได้สำหรับทุกคนเท่าเทียมกันโดยไม่แบ่งแยกเพศ

รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายบริษัทเอกชนต้องให้ "สิทธิลาเลี้ยงลูก" แก่พนักงานเพิ่มขึ้น 

ก่อนหน้านี้ อัตราการลางานเพื่อเลี้ยงบุตรในอุตสาหกรรมการผลิตของประเทศญี่ปุ่นอยู่ในระดับต่ำ โดยอัตราการลางานในปี 2023 อยู่ที่ 21.3% ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวม 0.8 จุด ตามผลสำรวจของ Persol Research and Consulting ตัวเลขดังกล่าว "ต่ำกว่า" อัตราการลางานของพนักงานในภาคการเงินการประกันภัย และภาคอสังหาริมทรัพย์และการเช่า มากกว่า 15 จุด

นาโอโกะ คูกะ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันวิจัย NLI กล่าวว่า “โรงงานส่วนใหญ่ใช้แรงงานจำนวนมาก และการขาดงานมักส่งผลกระทบต่อการผลิต อีกทั้งอัตราส่วนของผู้ชายในสถานที่ทำงานก็สูงเช่นกัน และในอดีตเป็นไปได้ว่าบริษัทหลายแห่งมีแนวคิดที่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาททางเพศแบบดั้งเดิม คือให้เฉพาะพนักงานหญิงลางานเลี้ยงลูกได้ แต่ปัจจุบันมีการปรับเปลี่ยนใหม่” 

TOYOTA - SONY เพิ่มสิทธิ \'ลางานเลี้ยงลูก\' ให้พนักงานพ่อลูกอ่อนชาวญี่ปุ่น

รัฐบาลตั้งเป้าที่จะเพิ่มอัตราการลางานเพื่อดูแลบุตรในบริษัทเอกชนเป็น 50% ภายในปี 2568 โดยกำหนดให้บริษัทที่มีพนักงานมากกว่า 1,000 คน ต้องเปิดเผยตัวเลขการลางานเพื่อดูแลบุตรของพนักงาน โดยเฉพาะพนักงานชาย

โตโยต้า มอเตอร์ ให้สวัสดิการวันลาเลี้ยงลูกแก่พนักงานทุกเพศเท่าเทียม

สำหรับสวัสดิการ "วันลาเลี้ยงลูก" ของบริษัทโตโยต้า มีการปรับให้สิทธินี้แก่พนักงานเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องตามเป้าหมายหลักของรัฐบาลญี่ปุ่น โดยโตโยต้าจะมีการแจ้งเตือนให้พนักงานทุกคนที่มีบุตรอายุต่ำกว่า 2 ขวบที่ยังไม่ได้ลาเพื่อดูแลบุตรว่าให้ใช้สิทธิดังกล่าว หรือสอบถามว่าต้องการใช้สิทธิลาหรือไม่ นอกจากนี้ บริษัทยังได้ติดโปสเตอร์รณรงค์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกในที่ทำงานด้วย

โตโยต้ากล่าวว่า การมีส่วนร่วมที่เพิ่มขึ้นนี้เป็นผลมาจากความพยายามตลอดทั้งปี นอกจากนี้ ยังเห็นผลทั่วทั้งทุกกลุ่มบริษัทในเครือ โดยบริษัทในเครือที่ผลิตซัพพลายเออร์ชิ้นส่วนหลักจำนวน 6 ใน 7 แห่ง รายงานว่า มีอัตราการลางานเพื่อเลี้ยงบุตรของพนักงานเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% 

ด้าน บริษัท Denso ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทในเครือดังกล่าว ได้ใช้พนักงานชั่วคราวให้เข้ามาทำงานแทน ในช่วงที่พนักงานประจำลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร เพื่อให้การดำเนินงานในโรงงานยังคงราบรื่นและได้กำลังการผลิตเหมือนเดิม

โตโยต้าโบโชคุ-โซนี-ฮิตาชิ ต่างก็เพิ่มสิทธิลางานเลี้ยงลูกให้พนักงานมากขึ้น

บริษัท โตโยต้าโบโชคุ ซึ่งเป็นบริษัทซัพพลายเออร์อีกรายหนึ่งในเครือโตโยต้า มีนโยบายให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่พนักงานที่ลางานเพื่อดูแลเด็กทารกในวัย 28 วันขึ้นไป เริ่มให้สวัสดิการนี้มาตั้งแต่เดือนเมษายน 2023 โดยในภาพรวมของอัตราการลางานเลี้ยงลูกเพิ่มขึ้น เป็น 67% จากเดิมในปีก่อนอยู่ที่ 28% โดยมีช่วงลาเฉลี่ย 2 เดือน

บริษัท โซนีกรุ๊ป ก็ให้สิทธิลาเลี้ยงลูกเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยจากการสำรวจติดตามผลพบว่า อัตราการลางานพื่อเลี้ยงลูกของพนักงานเพิ่มขึ้นมา 20 จุดเป็น 76% (จากเดิมอยู่ที่ 56%) ขณะเดียวกัน บริษัทก็เน้นส่งเสริมให้พนักงานชายตระหนักถึงความท้าทายในการมีลูกและเลี้ยงดูลูกมากขึ้น โดยจัดสัมมนาที่ให้ผู้ชายฝึกซ้อมการเลี้ยงลูกจากอุปกรณ์จำลอง เช่น ให้สวมเสื้อแจ็คเก็ตพร้อมอุ้มกระเป๋าน้ำร้อน (Water bag) เพื่อจำลองการตั้งครรภ์และสอนวิธีดูแลลูกเล็กที่ร้องไห้งอแงอยู่ตลอดเวลา

ด้านบริษัท ฮิตาชิ ได้นำเสนอตารางการทำงานที่ยืดหยุ่น การทำงานจากระยะไกล และลดชั่วโมงการทำงาน เพื่อส่งเสริมให้พนักงานลางานเลี้ยงลูกได้สะดวกมากขึ้น อีกทั้งฝ่ายแรงงานและฝ่ายบริหารตกลงที่จะร่วมมือกันเพื่อให้บรรลุอัตราการลาเพื่อเลี้ยงบุตร 100% ภายในสิ้นปีงบประมาณ 2568 โดยก่อนหน้านี้พบว่าอัตราการลางานเลี้ยงลูกในปีงบประมาณ 2023 อยู่ที่ 65.2% เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2022 ซึ่งอยู่ที่ 56.8% 

TOYOTA - SONY เพิ่มสิทธิ \'ลางานเลี้ยงลูก\' ให้พนักงานพ่อลูกอ่อนชาวญี่ปุ่น

การได้ลางานไปเลี้ยงลูกเป็นสิ่งที่ดี แต่โรงงานก็ต้องไม่ขาดกำลังผลิต หลายบริษัทจึงใช้พนักงานชั่วคราวเข้ามาเสริม

ยังมีบริษัทญี่ปุ่นอีกหลายแห่งที่กำลังปรับปรุงนโยบาย เพื่อเพิ่มสิทธิลางานเลี้ยงลูก ให้สอดคล้องตามนโยบายหลักของรัฐบาล ไม่เพียงเพิ่มสิทธิวันลาให้พนักงานชายมากขึ้นเท่านั้น แต่จำนวนวันลาก็ยาวนานขึ้นด้วย ทั้งนี้ ต้องไม่ให้เกิดผลกระทบต่อกำลังการผลิตของบริษัท

บางบริษัทจึงใช้วิธีหาคนงานชั่วคราวมาเสริมกำลังการผลิตในช่วงที่พนักงานประจำลางาน ยกตัวอย่างเช่น  โรงเบียร์ซัปโปโร ได้เปิดตัวโครงการหาพนักงานที่สมัครใจมาทำงานแทนบุคคลที่ลางานเพื่อดูแลเด็ก โดยจะได้รับโบนัสพิเศษเป็นการตอบแทน

“เราหวังว่าระบบนี้จะช่วยบรรเทาความรู้สึกผิดของผู้ที่ลาเพื่อดูแลลูกกับเพื่อนร่วมงาน และเป็นโอกาสในการลานานขึ้น โดยคาดว่าจะสนับสนุนให้พนักงานชายลางานเลี้ยงลูก (หรืออาจใช้เป็นลาพักร้อน) ติดต่อกันได้นานหนึ่งเดือน” ตัวแทนจากบริษัทซัปโปโรกล่าว 

“ฉันเชื่อว่าการเปิดเผยข้อมูลที่จำเป็น จะส่งผลให้อัตราการลาเพื่อเลี้ยงบุตรของพนักงานที่ทำงานในโรงงานหรืออุตสาหกรรมภาคการผลิตขนาดใหญ่ เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น” อิซึมิ ซูนาคาวะ แห่ง Persol Research and Consulting กล่าว

อีกทั้ง การสร้างกลไกหรือนโยบายที่ช่วยส่งเสริมการให้ความคุ้มครองเชิงรุกแก่ผู้ที่ลางาน และผู้ที่ต้องมาทำงานแทน เป็นสิ่งจำเป็นและถือเป็นการประสิทธิผลในการทำงาน เช่น การเพิ่มการประเมินผลการปฏิบัติงาน และให้ค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่มาทำหน้าที่แทนคนลางาน นอกจากจะทำให้บริษัทไม่ขาดกำลังผลิตแล้ว ยังช่วยให้คนมีลูกได้มีเวลาเลี้ยงลูกได้ยาวนานมากขึ้น

เทรนด์นี้จะเติบโตและแพร่ขยายไปมากแค่ไหนในอนาคต คงต้องรอดูกันต่อไปว่าแนวโน้มนี้จะขยายไปยังธุรกิจขนาดเล็กที่เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานหรือไม่ แต่ในมุมมองของ อิซึมิ มองว่าหากบริษัทใหญ่ๆ เริ่มทำสิ่งนี้ได้ บริษัทขนาดเล็กก็น่าจะสามารถดำเนินการตามเทรนด์ได้เช่นกัน