ภรรยา กับความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำงานของสามี
ในช่วงที่ผ่านมาจะได้ยินการพูดคุยสนทนา ถึงความสำคัญของของภรรยาที่มีต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในทางธุรกิจหรืออาชีพของสามีมากขึ้น เลยทำให้สนใจอยากจะทราบว่าได้มีการศึกษาวิจัยหาความสัมพันธ์ระหว่างสองปัจจัยนี้กันบ้างหรือไม่
พบว่าในต่างประเทศมีการศึกษาเรื่องนี้กันพอสมควร และไม่ใช่เพียงแค่บทบาทของภรรยาต่อความสำเร็จของสามีเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องของบทบาทของสามีต่อความสำเร็จในการทำงานของภรรยา และที่พบมากที่สุดคือความสัมพันธ์ของคู่ชีวิตต่อความสำเร็จในการทำงานของอีกฝ่ายหนึ่ง
โดยสรุปจากผลการวิจัยพบว่า สัมพันธภาพระหว่างคู่ชีวิตมีความสัมพันธ์กันอย่างชัดเจนกับความก้าวหน้าในการทำงานของทั้งสามีและภรรยา แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของชีวิตคู่ที่มีต่อความสามารถและประสิทธิผลในการทำงาน
ทำให้อาจจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ที่เคยคิดว่าความสำเร็จในการทำงานนั้นมาจาก การศึกษา ประสบการณ์ ทักษะ การเรียนรู้ การทำงานร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ แต่จริงๆ แล้วยังมีอีกปัจจัยที่ถูกละเลยนั้นคือสัมพันธภาพระหว่างสามีภรรยา
งานวิจัยใน Journal of Marriage and Family พบว่าการได้รับการสนับสนุนในด้านจิตใจจากคู่ชีวิต ส่งผลต่อความสำเร็จและพอใจในการทำงานของแต่ละฝ่าย เพราะจะทำให้ลดความเครียด ขณะที่บรรยากาศและความสัมพันธ์ที่ดีในบ้าน ซึ่งนำไปสู่ผลการทำงานที่ดีขึ้น
บทความใน Harvard Business Review พบว่าคู่ชีวิตอีกฝ่ายมักจะมีผลต่อความสำเร็จในด้านการทำงานของอีกฝ่าย คู่ชีวิตที่ดีจะนำไปสู่การเพิ่มต้นทุนทางสังคม
บทความดังกล่าวระบุเลยว่าภรรยาที่ดีจะช่วยในการสร้างความสัมพันธ์และสร้างเครือข่ายกับบุคคลอื่นๆ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโอกาสและความสัมพันธ์ใหม่ๆ นำไปสู่การเติบโตทางวิชาชีพหรือการเติบโตทางธุรกิจ
ข้อมูลจาก National Bureau of Economic Research พบว่าคู่ชีวิตจะมีส่วนส่วนสำคัญในการตัดสินใจในอาชีพของอีกฝ่าย เนื่องจากคู่ชีวิตจะคอยให้คำแนะนำ ชี้ให้เห็นถึงข้อดีข้อเสีย และคอยสนับสนุนต่อความก้าวหน้าในอาชีพของอีกฝ่าย
งานวิจัยใน American Sociological Review พบว่าคู่ชีวิตที่ดี คอยสนับสนุนอีกฝ่าย จะนำไปสู่ Work-Life Balance ที่ดีขึ้น และความสมดุลดังกล่าวจะนำไปสู่การลดอาการ Burnout และทำให้สามารถประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ดีและยาวขึ้น
งานวิจัยใน Psychological Science ชี้ให้เห็นว่าชีวิตคู่ที่มีความสุข จะนำไปสู่ ความสุขทางใจ ซึ่งนำไปสู่การทำงานที่ดีและมีความสุขขึ้น คู่ชีวิตที่คอยสนับสนุนอีกฝ่าย จะทำให้ความสุขของอีกฝ่ายเพิ่มขึ้น และนำไปสู่ความสามารถในการทำงานที่ดีขึ้น
ดังนั้น จากงานวิจัยต่างๆ น่าจะพอสรุปได้ว่าคู่ชีวิตที่ดีและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคู่ชีวิต จะส่งผลในเชิงบวกต่อการทำงานของอีกฝ่าย
เมื่อไปค้นเพิ่มเติมดูว่าภรรยาจะส่งผลต่อความสำเร็จของสามี หรือ สามีจะส่งผลต่อความสำเร็จของภรรยามากกว่ากัน ก็เจองานวิจัยใน Gender & Society ที่ระบุว่าผู้ชายจะได้รับประโยชน์จากการสนับสนุนของคู่ชีวิตมากกว่า
กล่าวได้ว่าภรรยาจะมีอิทธิพลต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวในการทำงานของสามี มากกว่าที่สามีจะมีต่อภรรยา
ในทางกลับกันความสัมพันธ์ที่ไม่ดีระหว่างคู่ชีวิต ก็จะส่งผลต่อความก้าวหน้าและความสำเร็จในการทำงานของอีกฝ่ายหนึ่งเช่นกัน
ซึ่งปรากฏการณ์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า The Spillover-Crossover Model ที่ระบุว่า ปัญหาและความเครียดในที่ทำงานกับที่บ้านเป็นวงจรที่มีส่วนสัมพันธ์กัน ไม่ว่าจะเครียดจากงานแล้วนำไปสู่ความเครียดและความขัดแย้งในชีวิตคู่ หรือ ความขัดแย้งและความเครียดในชีวิตคู่ ที่นำไปสู่ความเครียดในการทำงาน
ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่พบได้บ่อยๆ ในชีวิตการทำงาน เมื่อใดที่เจ้านายทะเลาะกับที่บ้านก็จะพบว่าจะนำความเครียดดังกล่าวมาต่อในที่ทำงานด้วย ซึ่งสุดท้ายแล้วก็มักจะนำไปสู่ผลการทำงานที่ลดลง
ดังนั้น สำหรับหลักสูตรการพัฒนาผู้บริหารทั้งหลาย แทนที่จะพัฒนาแต่ทักษะในการทำงานอย่างเดียว การพัฒนาความสามารถในการบริหารชีวิตคู่ก็สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคุณสามีที่ต้องคอยทำให้ภรรยามีความสุข เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงานของตน.