Nimby กรีดใจ

มนุษย์โดยทั่วไปนั้นถึงแม้จะชอบโครงการสำคัญที่รัฐหรือเอกชนจัดขึ้น แต่ก็เกรงจะมีผลกระทบในทางลบ จึงมักมีพฤติกรรมตามที่เรียกกันในโลกว่า NIMBY ซึ่งมาจากวลี “Not In My Backyard” (อย่าเอามาไว้หลังบ้านฉัน) 

NIMBY สามารถขยายไปครอบคลุมเรื่องการอยากได้บริการจากรัฐแต่ไม่อยากร่วมจ่ายภาษีด้วย

วลี NIMBY ใช้กันเกลื่อนในทศวรรษ 1980 ถึงแม้ความรู้สึกในลักษณะนี้มีมานานก่อนหน้า จุดเริ่มต้นของ NIMBY มาจากความรู้สึกต่อต้านการพัฒนาท้องถิ่นและการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งคาดว่าจะมีผลลบต่อชุมชน 

 สหรัฐซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการพูดถึงความรู้สึกนี้มีปัญหาต่อต้านการฟื้นฟูเขตเมือง การสร้างไฮเวย์และโครงการใหญ่ๆ เพราะกังวลเกี่ยวกับเรื่องการต้องอพยพย้ายถิ่นฐานของตนเองเเละการทำลายสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้าง Cross Bronx Expressway ในเมืองนิวยอร์กในทศวรรษ 1950 และ 1960 ถือว่าล้ำยุคแต่ NIMBY ก็เกิดขึ้นเพราะผู้อยู่อาศัยในบริเวณนั้นต่อต้านเพราะเกรงว่าจะมีผลกระทบด้านลบต่อชุมชนโดยเฉพาะตนเอง

ในทศวรรษ 1970 ขบวนการเคลื่อนไหวรักสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นในสหรัฐและหลายประเทศ เมื่อมีการก่อสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้านิวเคลียร์  ไฟฟ้าราคาถูกนั้นก็อยากได้ แต่ “อย่ามาสร้างใกล้เมืองฉันก็แล้วกัน” หากทุกคนคิดอย่างนี้ก็พอคาดเดาได้ว่าการก่อสร้างเป็นไปได้ยาก และลามไปถึงโครงการก่อสร้างบ้านให้คนมีรายได้น้อย (หากมาอยู่ใกล้ๆ จะทำให้ราคาบ้านของฉันตก) โรงงานขจัดขยะและน้ำเสียด้วย

ในบ้านเรา NIMBY ก็อาละวาดมานานแล้วในเรื่องที่ตั้งโรงงานกำจัดขยะ สถานที่กลบฝังขยะ การตั้งโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ การวางสายส่งไฟฟ้าแรงสูงผ่านพื้นที่ การตั้งเสาบนหลังคาเพื่อส่งต่อสัญญาณโทรศัพท์ การตั้งโรงงานอุตสาหกรรมใกล้บ้าน การเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างหรือขยายถนน ฯลฯ ในใจลึกๆ รู้ว่าเป็นสิ่งที่ดีต่อสังคม แต่ทัศนคติ NIMBY ครอบงำทุกฝ่าย สู้กันไปมาจนมันเกิดได้ยากหรือไม่เกิดขึ้นเลยทำให้เกิดความเสียหายแก่ประเทศ

ข้อเสียประเด็นที่สองก็คือ ทำให้การแก้ไขปัญหาเพื่อลดความเหลื่อมล้ำยากยิ่งขึ้น ดังกรณีของบ้านจัดสรรเพื่อคนมีรายได้น้อย การสร้างระบบขนส่งเพื่อมวลชน การสร้างโรงไฟฟ้าจากพลังลมที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ (ใบพัดผลิตกระแสไฟฟ้าส่งเสียงดังและอาจเป็นภัยต่อนกและสัตว์)

อย่างไรก็ดี การเกิดขึ้นของ NIMBY ก็เป็นประโยชน์อยู่บ้างเหมือนกัน 1.ทำให้เกิดการร่วมกันตัดสินใจของชุมชน เกิดความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันจากการร่วมชะตากรรม 2.เป็นการป้องกันชุมชนจากโครงการพัฒนาซึ่งอาจเป็นภัยต่อสิ่งแวดล้อมต่อสุขภาพ หรือคุณภาพชีวิตของสมาชิก 3.ทำให้ผู้เสนอโครงการต้องกลั่นกรองโครงการด้วยความรอบคอบ และมีการวางแผนโครงการอย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น

NIMBY เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติของผู้คิดว่าตนเองกำลังจะเสียประโยชน์ ถึงแม้จะตระหนักว่าโครงการโดยแท้จริงแล้วเป็นประโยชน์ก็ตาม สิ่งที่ต้องการก็คือขอให้โครงการเกิดขึ้นก็ได้เพียงแต่อย่าให้ตนเองเป็นผู้ร่วมแบกภาระก็แล้วกัน จะไม่ว่าอะไรเลย ถ้าไปสร้างบนที่ดินของคนอื่น พูดง่ายๆ ก็คืออยากได้แต่ไม่อยากเสีย

ความเห็นแก่ตัวเช่นนี้เป็นสมบัติของมนุษยชาติมายาวนาน แต่สำหรับผู้ที่มีความคิดความอ่านและตระหนักถึงหน้าที่พลเมืองของตนเอง ไม่ควรมี NIMBY อยู่ในสมองมากเกินไป เมื่อมี NIMBY ก็เกิด YIMBY ขึ้นในปัจจุบันในเชิงประชด โดย YIMBY หมายถึง Yes In My Backyard (เชิญมาสร้างหลังบ้านฉันเลย) อย่างไรก็ดีในความเป็นจริงก็ยังไม่เห็นขบวนการนี้ในเชิงรูปธรรมเช่น มีคนมาชุมนุมและถือป้ายสนับสนุน YIMBY

หากขยาย NIMBY ให้กว้างขึ้น ก็อาจกินความหมายไปถึงความรู้สึกที่อยากได้บริการจากรัฐเเต่ตนเองไม่ต้องการจ่ายภาษี NIMBY ในลักษณะนี้ก็เกิดขึ้นตามธรรมชาติเช่นกันจากสมองของผู้ที่มีความเห็นแก่ตัวมากสักหน่อย กล่าวคือไม่ชอบการเสียภาษี แต่ในขณะเดียวกันต้องการสารพัดบริการจากรัฐฟรี ไม่ว่าจะเป็นบริการสาธารณสุข บริการจากโครงสร้างคมนาคมพื้นฐาน การได้รับการศึกษา การดูแลความปลอดภัยจากรัฐ การรับบริการในด้านความมั่นคงจากรัฐ เงินช่วยเหลือการว่างงาน เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงินกู้เรียนมหาวิทยาลัยดอกเบี้ยต่ำ ฯลฯ ถ้าพูดกันอย่างไม่เกรงใจก็คือคนไทยนี่แหละเป็นมนุษย์พันธุ์ NIMBY พิเศษในเรื่องภาษี

คนไทยก็เหมือนคนชาติอื่นๆ ที่ไม่ชอบการเสียภาษี แต่ชอบการได้รับบริการมากๆ จากรัฐบาล เพียงแต่คนไทยเราดูจะมีความเป็นพิเศษกว่าคนชาติอื่นอยู่สักหน่อย บางคนมีที่ดินมูลค่าเป็นร้อยเป็นพันล้านถูกเก็บภาษีที่ดินปีละไม่กี่หมื่นบาท โวยวายอย่างน่าสงสารมาก 

อย่าลืมว่าถ้ารัฐบาลเก็บภาษีได้น้อย แต่ต้องใช้เงินมากในการให้บริการแก่ประชาชนตามที่ประชาชนคาดหวังและเรียกร้อง รัฐบาลก็ต้องกู้ยืมในประเทศ และ/หรือจากต่างประเทศ กรณีต่างประเทศทำให้ปัญหาหนักขึ้นไปอีกเพราะต้องใช้คืนเป็นเงินสกุลต่างประเทศ หากขาดแคลนเงินตราต่างประเทศก็จะทำให้เงินตราต่างประเทศมีราคาแพงขึ้น (ค่าเงินของสกุลตนเองลดต่ำลง) ส่งผลให้วัตถุดิบและสินค้านำเข้ามีราคาสูงขึ้น จนผลักดันให้ข้าวของแพงขึ้น 

ในกรณีที่อับจนจริงก็พิมพ์ธนบัตรเพิ่มเพื่อเอามาใช้ และหากไม่มีเงินตราต่างประเทศ ทองคำและสินทรัพย์ระหว่างประเทศหนุนหลังเพียงพอ คนก็ไม่เชื่อถือเงินสกุลของตน ค่าเงินก็จะตกลงไปอีกเพราะขาดความน่าเชื่อถือ ดังนั้น การได้บริการจากรัฐมาฟรีๆ จึงไม่มีเพราะมันมีต้นทุนแฝงอยู่เสมอ ถึงแม้จะไม่เสียภาษีก็ตาม

หากมองในเเง่ดี NIMBY เตือนใจให้ผู้คนที่มีสติ มีความคิดความอ่าน และมีความเป็นพลเมืองอยู่บ้างทั้งหลายนึกถึงความเห็นแก่ตัวของตนเองอันนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ ได้อีกมากมาย หากอยากได้ก็ต้องยอมเสียครับ ทั้งการยอมรับผลเสียส่วนตัวที่อาจเกิดขึ้นจากโครงการที่มีประโยชน์ต่อสังคมและจากการต้องยอมจ่ายภาษีเพื่อแลกกับบริการจากภาครัฐ