พระเอกนักรักษ์ 'ติ๊ก เจษฎาภรณ์'

พระเอกนักรักษ์ 'ติ๊ก เจษฎาภรณ์'

ชีวิตในโลกกว้างกับสคริปต์ที่เขาร่างเอง และอยากชวนทุกคนออกเดินทางไปด้วยกัน

ติ๊ก- เจษฎาภรณ์ ผลดี แจ้งเกิดในฐานะนักแสดงที่สวมบทบาท 'แดง ไบเล่ย์' จากภาพยนตร์เรื่อง 2499 อันธพาลครองเมือง เมื่อปี 2540 ประสบความสำเร็จได้รับความนิยมจนได้รับรางวัลไทยแลนด์ บล็อกบัสเตอร์ เอนเตอร์เทนเมนท์ อวอร์ด สาขานักแสดงหน้าใหม่ยอดเยี่ยม จากนั้นก็มีผลงานละครมากมาย ได้รับรางวัลโทรทัศน์ทองคำปี 53 สาขานักแสดงนำชายดีเด่นจากเรื่อง 'วนิดา' รางวัลเมขลาปี 47 สาขานักแสดงนำชายดีเด่นจากเรื่อง 'นางสาวจริงใจกับนายแสนดี' รางวัลพิฆเนศรปี 59 สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม จากเรื่อง 'เพลิงนรี' เป็นนักแสดงชายที่ได้รับความนิยมสูงและยาวนานจากโพลต่างๆ 

แต่ไม่ใช่แค่ในจอเท่านั้นที่เป็นพระเอก นอกจอในชีวิตจริงเขาก็เป็นพระเอกเช่นกัน ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติด้วยการผลิตรายการ 'เนวิเกเตอร์' เพื่อสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนหันมาสนใจรักษาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ กระทั่งได้รับรางวัลลูกโลกสีเขียว ครั้งที่ 12 ประจำปี 2553 ประเภทสื่อมวลชน ล่าสุดเขาได้ร่วมงานกับยูนิเซฟลงพื้นที่ไปช่วยเหลือเด็กๆ ผู้ประสบภัยจากพายุไซโคลนที่ประเทศโมซัมบิก 

และต่อไปนี้คือมุมมองของ ‘เจ้าป่าหน้าหยก’ ที่ยืนยันตัวตนในฐานะนักรักษ์ได้อย่างไม่ต้องสงสัย

 

7

 

  1. ชีวิตคือการเดินทาง

สำหรับผม การเดินทางทำให้คนหายโง่ เพียงแค่คุณก้าวเดินออกไป คุณก็เปิดโลกกว้างแล้ว เปิดมุมมองต่างๆ แล้วก็เปิดใจ ผมอยากจะให้มองสิ่งต่างๆ คือภาพรวม ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเชื่อมต่อกัน เชื่อมโยงกัน ไม่มีสิ่งไหนเก่งกว่าใคร ไม่มีสิ่งไหนด้อยกว่าใคร ทุกๆ คน ทุกสิ่งอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีเท่าเทียมกว่า

 

  1. แบกเป้ไปกับ เนวิเกเตอร์

รายการเนวิเกเตอร์เรามีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อ 14 ปีที่แล้ว คือในตอนนั้นนะครับ เป้าหมายของคือเราอยากจะสื่อสารออกไป ให้คนได้เห็นธรรมชาติในมุมมองต่างๆ ไม่ใช่เพียงแค่ป่าเขาหรือท้องทะเลอย่างเดียว เราอยากจะให้คนได้เห็นวิถีชีวิตต่างๆ ความน่ารักในหลายๆ พื้นที่ ภาษาที่แตกต่าง อาหารที่แตกต่าง อาชีพ แน่นอนครับ...ในทุกสถานที่ในประเทศไทยจะได้เห็นในมุมมองที่ไม่ค่อยได้เห็น แล้วก็มีผู้ชายคนหนึ่งที่เขาอยากจะเดินทางในแบบแอดแวนเจอร์ ไปในที่ๆ มันยากลำบาก และผู้ชายคนนั้นก็คือผมเอง

การเดินทางแบบเนวิเกเตอร์คือการเดินทางแบบที่ผมเดินทาง เพียงแต่ว่านำมาออกอากาศให้ทุกคนได้ดู บังเอิญว่าเป็นการเดินทางของผม ที่มีกล้องมาถ่ายผม แค่นั้นเองครับ ซึ่งผมเป็นคนแบบนั้น ผมเป็นคนชอบการเดินทางแบบแอดแวนเจอร์ ในแบบเงียบสงบ ในแบบธรรมชาติจริงๆ ได้เห็นสรรพสิ่งต่างๆ ศึกษาในเรื่องของพืชพรรณและสัตว์ป่าอย่างจริงๆ จังๆ ได้อยู่ในความสงบแบบนั้น อันนี้คือสิ่งที่ผมชอบมากที่สุด

เราอยากจะให้คนที่ได้ดูรายการเนวิเกเตอร์รู้สึกอะไรบางอย่างที่สื่อสารออกไป อยากให้เขารู้สึกว่า อยากจะเก็บกระเป๋าแล้วก็ออกเดินทาง ไปพร้อมๆ กับผม ได้ออกไปเรียนรู้โลกกว้าง ได้เข้าใจเรื่องของสิ่งแวดล้อม พืชพรรณและสัตว์ป่า ทั้งบนบกและท้องทะเล เราอยากให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี อยากให้คนเข้าใจ บางอย่างยังมีความเชื่อที่ผิดๆ อยู่ แล้วบางอย่างคนอาจจะไม่เข้าใจเท่าไรนัก พอเวลาไม่เข้าใจ ไม่เกิดการเรียนรู้ เลยมองไม่เห็นว่าเราจะดูแลแล้วก็รักษาธรรมชาติไปทำไม เพราะว่ามันค่อนข้างจะไกลตัว ดังนั้น ผมเลยอยากจะสื่อสาร แล้วก็ค่อนข้างที่จะคาดหวัง โดยเฉพาะในกลุ่มของเด็กๆ นักเรียน เราอยากเป็นส่วนหนึ่งแล้วก็เป็นตัวแทนให้กับพวกเขา เป็นพี่ชายเขา เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับเขา

 

4

 

  1. มองโลกแล้วย้อนมองเรา

เมื่อก่อนในช่วงวัยเรียน ผมจะชอบสิงคโปร์ คือผมชอบความเป็นระเบียบเรียบร้อย ผมชอบในการยึดถือกฎเกณฑ์กติกาที่ดี แล้วผมก็ชอบความสะอาด สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีหลายเชื้อชาติอาศัยอยู่ เป็นศูนย์รวมของคนเอเชีย มีแขก มีคนผิวดำ มีฝรั่ง มียุโรป แล้วเขาสามารถทำให้ประเทศเล็กๆ ของเขา ให้เป็นประเทศที่มีความเจริญทางด้านธุรกิจ ทางด้านการค้า เป็นศูนย์กลางของภูมิภาคนี้ แล้วก็ยังมีมุมของการอนุรักษ์ธรรมชาติที่ดีด้วย ดังนั้นเราจะเห็นว่า สิงคโปร์แม้ประเทศเขาจะเล็กก็ตาม แต่การใช้สอยประโยชน์ในพื้นที่ของเขา ทั้งแหล่งที่อยู่อาศัย ทั้งสวนสาธารณะ เขามีการบาลานซ์ที่ดี ทั้งระบบของการจัดการแล้วก็การคมนาคม การจราจรที่ดี ถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความปลอดภัยสูง นึกออกไหมครับ เมื่อก่อนเวลาคุณพ่อคุณแม่หรือบ้านไหนที่มีฐานะหน่อย จะส่งลูกไปเรียนสิงคโปร์ มั่นใจได้ว่าปลอดภัย พอมาระยะหลังๆ ผมก็ยังชอบสิงคโปร์อยู่

อีกอันหนึ่งที่ผมคิดว่าประเทศไทยน่าจะนำโมเดลนี้มาใช้ ก็คือญี่ปุ่น ทุกๆ เรื่องเลยครับ ผมอยากจะให้มองในเรื่องของการขนส่ง การคมนาคมของประเทศญี่ปุ่น ทุกๆ ทางเลยครับ ทั้งทางน้ำทางบก ล้วนแล้วแต่มีความเชื่อมโยงกัน ดังนั้นคนญี่ปุ่นที่มีรถยนต์ใช้ อาจจะเป็นคนที่มีฐานะขึ้นอีกสเต็ปหนึ่ง รถเขาอาจจะไม่แพงแต่ภาษีสูง แล้วในเรื่องของที่จอดรถก็มีจำนวนจำกัด ต้องมีที่จอดถึงจะซื้อได้ ไม่ใช่ไปจอดสะเปะสะปะ หน้าบ้านคนอื่น หรือว่าจอดข้างถนน บ้านเราเป็นแบบนั้นไงครับ ใครๆ ก็ซื้อรถได้ เพราะว่าเราไม่ถูกห้ามหรือว่าถูกจำกัดในเรื่องของที่จอด คนเลยซื้อได้ตามอำเภอใจ แล้วบ้านเมืองเรามีระบบการคมนาคมที่ไม่เชื่อมโยงอะไรกันเลย รถเมล์ก็ลำบาก รถก็ติด รถไฟฟ้าก็ไม่ต่อเนื่อง มีแค่บางเส้น น้อยนิด

บ้านเรารถไฟเพิ่มขึ้นอีก 3 กิโล 10 กิโล เราก็เฮ ดีใจกันจะตายกันอยู่แล้ว...ใช่ไหมครับ แต่ว่าของญี่ปุ่นเขามี Hub ที่ใหญ่มาก คือลำพังสถานีเล็กๆ ของเขา ผมว่ามันใหญ่มากแล้วก็เชื่อมโยงกัน ไม่ว่าบ้านอยู่ไหนเขาจะมีการเดินทางที่ค่อนข้างสะดวก แล้วก็มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่ทิ้งขยะมั่วๆ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ผมว่านอกจากเทคโนโลยีที่ดีแล้ว การปลูกฝังคนจึงสำคัญ แล้วเทคโนโลยีก็ซัพพอร์ทคน คนของเขาจึงใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม เขาจะไม่ทำลาย เขาจะไม่ทิ้งขยะสะเปะสะปะ เขาจะไม่จอดรถมั่วๆ เพราะว่าเขาจะต้องมีที่จอดรถ หรือถ้าไม่มีที่จอดรถ เขาก็ต้องไปเช่าที่จอดรถ คือทุกสิ่งทุกอย่างต้องมีระเบียบ รับผิดชอบต่อสังคม แต่เมืองไทยตอนนี้คือ ต่อให้ซอยแคบขนาดไหนก็ตาม รถก็ยังจอดข้างๆ กลายเป็นว่าวิ่งได้เลนเดียวอยู่ดี ต่อให้ทำถนนมากี่เลนก็ตาม รถก็ยังจอดอยู่ดี นี่คือเป็นตัวอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น

ผมว่าการที่เราได้ไปเห็น ทั้งในเรื่องของความศิวิไลซ์และความไม่ศิวิไลซ์ นั่นคือประสบการณ์ชีวิต แล้วเราสามารถเอาสิ่งต่างๆ ประสบการณ์ในชีวิตมาปรับปรุงในประเทศของเราเพื่อให้เราได้เจอในสิ่งที่มันดีกว่าได้ คือในสิ่งที่มันดีเราก็นำมาปรับปรุงแล้วก็นำมาเป็นตัวอย่าง แต่ถ้าอันไหนไม่ดีก็จะเข้าใจเองว่ามันไม่ดี เป็นอย่างนี้เป็นเพราะอะไร เราจะทราบถึงเหตุผลที่ว่ามันไม่ดี เพราะเป็นอย่างนี้นี่เอง เราจะไม่ทำแบบนั้นอีก

 

1

 

  1. เรื่องร้ายในต่างแดน

 การเดินทางสำหรับผมไม่มีอะไรที่เลวร้ายนะครับ ถึงแม้ว่ามันจะเลวร้ายผมก็ไม่รู้สึกว่ามันเลวร้าย ความเลวร้ายมันคือแค่ความลำบาก อย่างเคสล่าสุด ผมไปที่โมซัมบิก เป็นแอฟริกาตอนใต้ ทุกๆ คนมองว่าแอฟริกาอาจจะกินอยู่ยาก การคมนาคมอาจจะไม่สะดวก รวมถึงแหล่งที่พักอาศัยต่างๆ แต่สำหรับผมแล้ว ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติ คือว่าเราไปในที่แบบนั้น เราก็ต้องเข้าใจในสถานที่นั้น ไม่ได้เอามาเปรียบเทียบกับความศิวิไลซ์ที่เราเคยเห็น คือผมไม่ได้เอามาเปรียบเทียบซึ่งกันและกันอยู่แล้ว ผมมองว่ามันก็เป็นเสน่ห์อย่างหนึ่ง ในการเดินทางอาจจะต้องลุยเข้าไปในพื้นที่ กว่าจะไปถึงศูนย์พักพิง ศูนย์ผู้อพยพ ผู้ที่ประสบภัยจากภัยธรรมชาติต่างๆ ดังนั้นเส้นทางต่างๆ ที่เป็นถนนดีๆ มันก็อาจจะมีน้อย ส่วนมากเป็นเส้นทางออฟโรด การกินการอยู่ก็ต้องง่าย

มันไม่ใช่การมองทุกอย่างบวกเสมอไป เราต้องยอมรับมัน คือเราไม่ถือสาอะไร นำสิ่งต่างๆ เหล่านี้มาปรับปรุง เพื่อให้มันเกิดสิ่งที่ดีขึ้น แล้วก็ย้อนกลับมามองที่สิ่งที่เราอาศัยอยู่ทุกวันนี้ก็คือประเทศไทย ผมอยากจะบอกว่า บางทีแล้ว หลายๆ คนที่มุมมองหรือความคิดต่าง แล้วก็อยากจะพัฒนา อยากเปลี่ยนแปลงประเทศไทยไปให้มันดีขึ้น มันจึงมีแบบอย่างในประเทศนั้นประเทศนี้ ผมว่าคนทุกๆ คนมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะพูดเรื่องนี้ ไม่ได้แปลว่าถ้าใครพูดว่าอยากให้ประเทศไทยเป็นแบบนั้นแบบนี้ ต้องให้คนนั้นไปอยู่ประเทศอื่น นึกออกไหม มันไม่ใช่แบบนั้นครับ เขาอยากจะให้มันดีกว่านี้ มันจะทำได้ไหม หรือเราจะพอใจเพียงแค่นี้ แล้วก็ย่ำอยู่กับที่ 

คือผมว่าเราต้องพัฒนาตัวเองครับ ไม่งั้นก็จะแบบว่า...มันก็ดีอยู่แล้ว เรายอมรับในแบบนี้ แบบไทยๆ มันก็ไม่ไปไหนครับ ผมว่าศิลปวัฒนธรรมยังคงอยู่ได้ แต่อย่างอื่นต้องพัฒนาต่อไป พัฒนาในสิ่งที่ดี รวมถึงการพัฒนาในด้านจิตใจด้วย เราต้องการคนที่มีคุณภาพ คนที่มีคุณภาพอยู่ที่ไหนที่นั่นก็มีคุณภาพตาม ก็เลยต้องย้อนกลับมาที่การพัฒนาคน

 

5

 

  1. รักโลกให้ถูกทาง

ไม่ว่าจะเป็นส่วนบุคคล ตัวเราเอง หรือว่าองค์กรต่างๆ บริษัทต่างๆ ถ้าพูดถึงเรื่องของการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผมอยากให้สิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแต่ไปอยู่ในชีวิตประจำวันของทุกๆ คนอยู่แล้วนะครับ แล้วก็เป็นส่วนหนึ่งของทุกๆ การเดินทาง ของทุกๆ สิ่งที่เราทำงาน คือไม่ว่าอะไรก็แล้วแต่เราสามารถที่จะดูแลแล้วก็ใส่ใจในเรื่องของสิ่งแวดล้อมได้ เริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก่อน ค่อยๆ ขยายวงกว้าง ไปสู่ชุมชน ไปสู่สังคมต่อไป แล้วมันจะเกิดการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ต่อมาก็จะเกิดการเชื่อมโยงแล้วจะทำให้ทุกอย่างล้วนคอนเนคกัน พอคอนเนคกันแล้วมันก็จะเกิดกระแสที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะในตอนนี้นะครับ กระแสของโซเชียลต่างๆ มีส่วนสำคัญในสถานการณ์ ณ ปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันนี้เป็นโลกของการสื่อสาร มันคือดิจิตอล 100 เปอร์เซ็นต์แล้วนะครับ

 

ในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ในเรื่องของธรรมชาติ คือในทุกวินาทีที่เราดำเนินชีวิตต่อไป ต้องยอมรับความจริงว่า ทุกๆ คนต่างก็มีส่วนในเรื่องของการทำลายธรรมชาติอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น เราจะทำยังไงให้เกิดการทำลายธรรมชาติน้อยที่สุด แล้วถ้าจะให้ดี เราพยายามที่จะทำให้ธรรมชาติอยู่กับเราไปนานๆ แล้วก็เพิ่มธรรมชาติให้มากขึ้น เป็นทิศทางที่เรียกว่าระบบนิเวศที่สมบูรณ์ ผมคิดว่าเราทุกคนสามารถช่วยได้ 

 

2

เริ่มต้นตั้งแต่วันนี้ครับ หรือว่าเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อวานเลยก็ได้...ถ้าเป็นไปได้ แล้วก็ลุยกันต่อไปครับ แล้วก็ออกเดินทางไปพร้อมกับเนวิเกเตอร์:)