ทำไมบางคนทำงานที่เดิมได้นาน เพราะยึดติดอยู่กับ Comfort Zone จริงไหม?

ทำไมบางคนทำงานที่เดิมได้นาน เพราะยึดติดอยู่กับ Comfort Zone จริงไหม?

บางคนทำงานที่เดิมได้นานๆ เพราะยึดติด Comfort Zone จริงไหม? แล้วถ้าไม่ใช่ล่ะ คำตอบอาจคือ การรู้จักเข้าโหมด Learning Zone หาความตื่นเต้นใหม่ และเพิ่มสกิลใหม่ๆ ในที่ทำงานเดิม

KEY

POINTS

  • คนที่ทำงานที่เดิมได้นาน อาจไม่ได้ติดกับดัก Comfort Zone เสมอไป แต่รู้จักเข้าโหมด Learning Zone เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ให้เบื่อ
  • หากเราไม่ได้รับการผลักดันมากพอ เราก็จะไม่กล้าออกจาก Comfort Zone แต่ถ้าถูกผลักดันมากเกินไป ก็จะเริ่มวิตกกังวลจนเข้าสู่ Panic Zone ซึ่งทั้งสองโซนนี้ทำให้การเรียนรู้ถูกจำกัด 
  • ในทางกลับกัน ถ้าเรามุ่งเป้าไปที่ “จุดที่ลงตัว” ซึ่งก็คือ Learning Zone จะทำให้วัยทำงานพัฒนาตัวเองไปได้อีกไกล แม้จะทำงานที่เดิม

ในโลกการทำงานมักจะมีชุดคำพูดหนึ่งในทำนองที่ว่า คนที่ทำงานที่เดิมนานๆ ได้ เพราะไม่อยากก้าวออกจาก Comfort Zone ของตนเอง หรือไม่กล้าก้าวออกไปเจอสิ่งใหม่ๆ เรื่องนี้จริงเท็จแค่ไหน?

ในมุมหนึ่งอาจปฏิเสธไม่ได้ว่า บางคนรู้สึกติดกับดัก Comfort Zone กับงานเดิมของตนเองจริงๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะเป็นแบบนั้น เพราะในอีกมุมก็มีวัยทำงานที่ทำงานที่เดิมนานๆ ได้ เพราะพวกเขารู้จักมองหา Learning Zone ให้ตนเองได้เรียนรู้สิ่งใหม่ หรือเพิ่มพูนสกิลใหม่ๆ เพื่อพัฒนาตัวเองให้ดียิ่งขึ้นไปอีก ซึ่งองค์กรต้องมีส่วนสนับสนุนให้พนักงานมีพื้นที่ดังกล่าวด้วย

Learning Zone Model คืออะไร ทำไมช่วยให้ไม่เบื่องาน?

โดยแนวคิด Learning Zone Model นี้ ได้รับการพัฒนาโดยนักจิตวิทยาชาวรัสเซียที่ชื่อว่า เลฟ ไวก็อตสกี้ (Lev Vygotsky) และในปัจจุบันก็ได้รับความนิยมจากผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาคนอื่นๆ มากมาย รวมถึง ทอม เซนนิงเกอร์ (Tom Senninger) นักการศึกษาชื่อดังชาวเยอรมนีด้วย ซึ่งแนวคิดนี้อธิบายว่า คนเราต้องเผชิญกับความท้าทายเพื่อเรียนรู้ให้ประสบความสำเร็จ แต่ต้องมีความสมดุลต้องเหมาะสม 

หากเราไม่ได้รับการผลักดันมากพอ เราก็จะไม่กล้าก้าวออกจาก Comfort Zone ได้ แต่ถ้าเราถูกผลักดันมากเกินไป เราก็จะเริ่มวิตกกังวลและรู้สึกกดดันเกินไป จนเข้าไปอยู่ใน Panic Zone ซึ่งหากเราดันมาอยู่ในทั้งสองโซนนี้ จะทำให้การเรียนรู้ของเราถูกจำกัด ในทางกลับกัน ถ้าเราต้องมุ่งเป้าไปที่ “จุดที่ลงตัว” ซึ่งก็คือ Learning Zone จะทำให้คนเราสามารถพัฒนาตัวเองไปได้อีกไกล

รู้ความแตกต่าง Comfort Zone, Learning Zone, Panic Zone

ทีนี้ ลองมาทำความรู้จักกับประสบการณ์การเรียนรู้ในแง่ของการทำงานทั้ง 3 รูปแบบกันก่อน ได้แก่ 

Comfort Zone: เป็นการทำงานในชีวิตประจำวันที่เราคุ้นเคย เพราะผ่านขั้นตอนการเรียนรู้และทำซ้ำมาแล้ว สามารถทำงานนั้นได้อย่างมั่นใจ และคุ้นเคยกับบุคลากรที่ต้องทำงานร่วมด้วย ทั้งนี้ Comfort Zone ไม่จำเป็นต้องเป็นสถานที่ที่แย่เสมอไป แต่เป็นสถานที่ที่เราทำงานได้ดี กำหนดขอบเขตส่วนตัวได้ชัดเจน แต่การอยู่ใน Comfort Zone นานเกินไป อาจทำให้คุณไม่สามารถพัฒนาทักษะใหม่ๆ ได้ และอาจจำกัดโอกาสในหน้าที่การงาน

Learning Zone หรือ Growth Zone: เป็นการทำงานที่ต้องใช้ความสามารถที่คุณมีอยู่ให้ขยายขอบเขตออกไป ทำให้คุณได้เรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ไปพร้อมกับการทำงานนั้น การก้าวสู่โซนแห่งการเรียนรู้จะทำให้รู้สึกหวาดกลัวหรือกดดันในตอนแรก แต่หากมองว่าเป็นโอกาสในการผจญภัย ปล่อยให้ตัวเองอยากรู้อยากเห็น เกิดการตั้งคำถาม และลองผิดลองถูกจนเกิดการเรียนรู้อย่างสมเหตุสมผล คุณก็จะทำงานได้ดีแถมยังพัฒนาตัวเองได้ไกลกว่าเดิม ซึ่งแรงกดดันในปริมาณที่พอเหมาะนี้ จะส่งผลดีและผลักดันให้คุณประสบความสำเร็จได้ โดยไม่ทำให้คุณรู้สึกดิ้นรนหรือตื่นตระหนก (Panic)

Panic Zone: เป็นโซนการทำงานที่จะทำให้คุณก้าวข้ามทั้งสิ่งที่คุณคุ้นเคย และสิ่งที่คุณคาดว่าจะต้องเรียนรู้ได้อย่างสมเหตุสมผล โซนนี้ไม่ใช่โซนที่ดีเลย เพราะจะทำให้รู้สึกว่าถูกครอบงำด้วยความต้องการที่ไม่สมเหตุสมผล ซึ่งคุณไม่สามารถรับมือได้ ทำให้เกิดความเครียดเพิ่มขึ้นเนื่องจากกลัวว่าตนเองจะล้มเหลว สิ่งนี้อาจทำลายแรงจูงใจ นำไปสู่ประสบการณ์การทำงานที่ไม่ดีและไม่อยากกลับไปทำมันอีกเลย

หากความท้าทายในงาน มีความสมเหตุสมผล ก็จะก้าวสู่ Learning Zone ได้ดี

ยกตัวอย่างเช่น คุณคุ้นเคยกับการรายงานความคืบหน้าของโครงการตามปกติให้กับทีมและหัวหน้าของคุณทราบอยู่แล้ว คุณจึงมั่นใจและทำงานนั้นออกมาได้ดีเสมอ แต่จะเกิดอะไรขึ้นหาก CEO ขอให้คุณนำเสนอเกี่ยวกับความเหมาะสมของโครงการกับกลยุทธ์ที่กว้างขึ้นขององค์กร จู่ๆ คุณก็จำเป็นต้องรวบรวมและจัดระเบียบเนื้อหาใหม่ และนำเสนอต่อผู้ฟังที่มีความต้องการสูง สถานการณ์นี้เองที่จะนำไปสู่ Learning Zone และ Panic Zone 

อย่างไรก็ตาม หากความท้าทายที่คุณได้รับนั้นสมเหตุสมผลและไม่เกินทักษะของคุณมากเกินไป และคุณสามารถเข้าถึงการสนับสนุนที่เหมาะสมได้อย่างง่ายดาย ภารกิจที่อาจทำให้คุณตกใจในครั้งแรกแต่ท้ายที่สุดคุณก็ทำมันได้อย่างสบายใจขึ้น นั่นแปลว่าเข้าสู่ Learning Zone เมื่อทำได้ดีก็อาจส่งผลให้เจ้านายมอบบทบาทใหม่ให้ จึงทำให้สามารถทำงานที่เดิมได้นาน พร้อมกับได้เพิ่มทักษะใหม่ๆ ไปด้วย

ทั้งนี้ การก้าวออกจาก Comfort Zone ในที่ทำงานเดิม เพื่อหา Learning Zone ในที่ทำงานใหม่ก็ไม่ผิด หากมีโอกาสก็ย่อมทำได้ แต่สำหรับบางคนที่มีเหตุปัจจัยให้ไม่สามารถลาออกจากที่เดิมได้ อาจต้องปรับตัวและมองหาจุดที่จะขยับสู่ Learning Zone ในที่ทำงานเดิม

วิธีก้าวสู่ Learning Zone ในที่ทำงานเดิมอย่างมีประสิทธิภาพ

เอาเป็นว่าถ้าใครรู้สึกว่าอยากก้าวออก Comfort Zone ไปสู่ Learning Zone เพื่อพัฒนาตนเองในที่ทำงานเดิม โดยหลีกเลี่ยง Panic Zone อาจเริ่มจากฝึกฝนตนเองดังนี้  

1. ต้องเชื่อว่าคุณสามารถเรียนรู้ได้ และรู้สึกปลอดภัยที่จะทำเช่นนั้น 

คุณต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเอง รวมถึงรู้สึกปลอดภัยทางจิตใจในทีม หัวหน้าทีม หรือผู้ที่ให้คำปรึกษาคุณด้วย เพื่อให้สามารถเรียนรู้โดยไม่รู้สึกเครียด ซึ่งสิ่งนี้ต้องอาศัยวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้าง พนักงานจะต้องไม่กลัวที่จะถูกลงโทษหากทำผิดพลาด หากองค์กรไม่ซัพพอร์ต พนักงานก็จะไม่กล้าออกจาก Comfort Zone

2. สร้างจุดเชื่อมโยงระหว่าง Comfort Zone และ Learning Zone 

หลักการคือ ให้ใช้ทักษะและขั้นตอนที่คุณคุ้นเคยอยู่แล้ว ขณะเดียวกันก็ไม่ควรจำกัดการเรียนรู้ของตัวเอง ต้องมั่นใจได้ว่าทักษะพื้นฐานของคุณยังคงดีอยู่เมื่อคุณก้าวเข้าสู่พื้นที่เรียนรู้ใหม่ อีกทั้งควรทำงานร่วมกับหัวหน้าหรือที่ปรึกษา เพื่อขอการสนับสนุนและคำแนะนำ เพื่อให้ก้าวสู่ Learning Zone ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. เรียนรู้จากการสังเกต-เลียนแบบคนที่เก่งกว่า

อีกหนึ่งวิธีที่ช่วยให้ก้าวสู่ Learning Zone ได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ เรียนรู้โดยการสังเกตและเลียนแบบคนที่เก่งกว่า หรือคนที่เป็นแรงบันดาลใจของเราในที่ทำงาน ลองสังเกตบุคคลเหล่านั้นและเปรียบเทียบตัวเองกับพวกเขา หาจุดที่ตัวเองยังด้อยกว่า และพยายามปรับปรุงจุดนั้นให้ดียิ่งขึ้น หรือแม้แต่เข้าไปขอให้ช่วยสอนงานบางอย่างที่เราไม่เก่งแต่พวกเขามีความเชี่ยวชาญกว่า เพื่อให้เราได้ฝึกฝนสกิลเหล่านั้นไปในตัว

ย้ำอีกทีว่า หากต้องการให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง องค์กรต้องเข้ามาสนับสนุนให้มีพื้นที่ให้พนักงานสามารถลองผิดลองถูกได้ โดยไม่ถูกตำหนิหากเกิดการผิดพลาด เพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรในการเรียนรู้ และรักษาพนักงานที่มีศักยภาพเอาไว้ได้