วัยทำงาน 41% ทนทำงานเดิมแม้รายได้ต่ำ ขาดทักษะใหม่ที่ใช้หางานเงินเดือนสูง
41% ของวัยทำงานคนไทย กลุ่มรายได้ค่อนข้างต่ำ (13,000 บาทต่อเดือน) ฝืนทนทำงานเดิม แม้รู้สึกว่าได้งานไม่ตรงใจ สาเหตุหนึ่งเพราะไม่มีทักษะใหม่ที่จะทำให้เข้าถึงงานเงินเดือนสูงกว่านี้
KEY
POINTS
- ผลสำรวจด้านความพึงพอใจต่องานของคนไทยฉบับล่าสุด ปี 2024 พบว่า แม้ในภาพรวมแรงงานไทยจะพอใจในงานระดับหนึ่ง แต่คนที่มีรายได้ต่ำส่วนใหญ่ ยังรู้สึกว่างานที่ทำอยู่ไม่ตอบโจทย์ ไม่ตรงใจ
- มีความเป็นไปได้ว่าวัยทำงานที่มีรายได้ต่ำ อาจจะเผชิญกับภาวะฝืนทนทำงานที่เดิมอยู่ เพราะไม่ได้มีทักษะใหม่ ที่จะช่วยให้เข้าถึงงานเงินเดือนสูง
- ทางออกของปัญหานี้อาจจะอยู่ที่การปรับตัว และรู้จักอัปสกิล รีสกิล ให้ตนเอง เรียนรู้ทักษะใหม่ไปเรื่อยๆ โดยไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่
เปิดรายงานผลสำรวจด้านความพึงพอใจต่องานของคนไทย (Thai workforce’s job satisfaction mini-survey 2024) จาก Jobsdb พบว่า แม้ในภาพรวมเกือบ 50% ของวัยทำงานไทยจะมีความพึงพอใจในงานของตนระดับหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่ในจำนวนนั้นกลับยังรู้สึกว่า งานที่ทำอยู่ไม่ตรงกับความต้องการ แรงบันดาลใจ หรือไม่ตรงกับทักษะที่เรียนจบมา
ทักษะที่ได้จากการเรียนในมหาวิทยาลัย อาจไม่สอดคล้องกับทักษะที่ตลาดงานต้องการในปัจจุบัน
โดยจากการเปรียบเทียบระหว่างแรงงานไทย “กลุ่มได้เงินเดือนระดับต่ำ” กับ “กลุ่มได้เงินเดือนระดับกลางไปถึงระดับสูง” พบว่า 41% ของแรงงานไทยที่มีรายได้ต่ำกว่าอีกกลุ่ม (ประมาณ 13,000 บาทต่อเดือน) รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ในปัจจุบันไม่ตรงกับทักษะของตนเลย แต่พวกเขาก็ยังต้องทนทำงานนั้นต่อไป เพราะยังขยับไปหางานที่ดีกว่าไม่ได้
ดวงพร พรหมอ่อน กรรมการผู้จัดการ Jobsdb by seek อธิบายเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลที่ได้มานี้ มีความเป็นไปได้ว่า งานที่กลุ่มรายได้น้อยทำอยู่อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ตลาดงาน ณ ตอนนี้ ทักษะที่พวกเขามีจากรั้วมหาวิทยาลัย อาจไม่สอดคล้องกับตำแหน่งงานที่เป็นที่ต้องการของตลาดงานในปัจจุบัน
ดวงพร บอกอีกว่า ตำแหน่งงานบางอย่างที่เคยมีมานานเป็น 10 ปี แต่พอถึงยุคนี้อาจถูกลดความสำคัญลงหรืออาจจะไม่มีอีกต่อไป เพราะโลกการทำงานตอนนี้เปลี่ยนไปจากอดีตอย่างมาก วิธีการทำงานต่างๆ ก็เปลี่ยนไปเช่นกัน หลายองค์กรต้องการคนที่ใช้เทคโนโลยีได้ด้วย เช่น ต้องมีทักษะการใช้เอไอเข้ามาเสริมการทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ ดังนั้น ในแรงงานกลุ่มนี้ เป็นไปได้ว่าเขาอาจจะทนทำงานเดิมอยู่ เพราะไม่ได้มีทักษะใหม่ ที่จะช่วยให้เขาสามารถเข้าถึงงานที่มีเงินเดือนสูงขึ้นกว่านี้ได้
กลุ่มวัยทำงานที่มีทักษะสูง ได้งานเงินเดือนสูง ย่อมรู้สึกพึงพอใจในงานของตนมากกว่า
ขณะที่ กลุ่มแรงงานที่มีรายได้สูงกว่าอีกกลุ่ม (ประมาณ 70,000 บาทต่อเดือน) พบว่า 18% ของแรงงานกลุ่มนี้ รู้สึกว่างานที่ทำอยู่ในปัจจุบันตรงกับทักษะ ความต้องการ และแรงบันดาลใจของพวกเขาได้เป็นอย่างดี พวกเขารู้สึกว่าได้งานที่เหมาะกับตนเองแล้ว โดยกลุ่มนี้มักจะเป็นแรงงานทักษะสูง มีสกิลต่างๆ ครบครันตามที่ตลาดงานต้องการ และค่าตอบได้ที่ได้รับมาก็ทำให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ได้สบาย ไม่ลำบาก
“นั่นหมายความว่า ถ้าเมื่อไหร่ที่คนเรารู้สึกว่ารายได้จากงานที่ทำอยู่มันเลี้ยงตัวเองได้ มันครอบคลุมค่าใช้จ่ายประจำทุกๆ อย่างได้แล้ว ก็แน่นอนว่าพวกเขาต้องรู้สึกพึงพอใจ และรู้สึกว่างานที่ทำอยู่นั้นๆ มันตอบโจทย์ของพวกเขาแล้ว” ดวงพร กล่าว
โดยสรุปคือในตลาดงานตอนนี้มีช่องว่าง (Gap) ทางอาชีพเกิดขึ้น “ทักษะของเด็กที่เรียนจบมา” กับ “ทักษะที่ตลาดงานต้องการ” นั้นไม่สอดคล้องกัน และทำให้เห็นว่าจริงๆ แล้ว ตลาดงานในไทยต้องการแรงงานทักษะสูง หรือแรงงานที่มีสกิลเฉพาะทาง วัยทำงานต้องรู้จักปรับตัว มีการอัปสกิล-รีสกิล อยู่ในสารบบของเขาตลอดเวลา จึงจะสามารถเอาตัวรอดในการทำงานยุคนี้ได้
“ทักษะหรือสกิลต่างๆ ที่น้องๆ ทุกคนร่ำเรียนมาจนจบในปีนี้ ต่อไปในอีก 3 ปีข้างหน้า มันอาจจะใช้ไม่ได้แล้วก็ได้นะ หน้าที่ของเด็กยุคนี้คือต้องเรียนรู้อยู่เสมอ ต้อง Continuous Learning เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อหาให้เจอว่า ทักษะถัดไปของเราคืออะไร เพราะเราไม่รู้ว่าต่อไปมันจะมีเทคโนโลยีอะไรที่จะมาเปลี่ยนวิธีการทํางานของพวกเราอีก ดังนั้น แน่นอนว่าเด็กๆ รุ่นใหม่ไม่สามารถหยุดเรียนรู้ได้” กรรมการผู้จัดการ Jobsdb ให้ความเห็น
อัปสกิล-รีสกิล มีความสำคัญต่อวัยทำงานทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นทั้งเด็กจบใหม่ และผู้ที่มีอายุงานระดับหนึ่งแล้วก็ตาม
แม้กระทั่งทางกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน ก็มีการเน้นย้ำอยู่เสมอในเรื่องของการอัปสกิล-รีสกิล ให้กับแรงงานไทย และพยายามผลักดันให้คนไทยมีสกิลที่เก่งขึ้น เพื่อจะได้สู้กับแรงงานต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามาในไทยมากขึ้น ซึ่งทุกวันนี้แรงงานต่างชาติมีทักษะดีๆ มากขึ้น ทั้งในเรื่องของภาษาและทักษะด้านเทคโนโลยี
ด้านเด็กไทยเอง ทุกวันนี้ก็พบว่ามีการปรับตัวมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จะเห็นว่าเด็กที่เพิ่งเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็หันไปเรียนอัปสกิลต่างๆ เพิ่มเติม ไปสอบใบ Certificate อะไรหลายๆ อย่าง เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าพอสมัครงานแล้วพวกเขาจะมีโอกาสได้งาน หรือมั่นใจว่าสามารถทำงานในสายงานที่ต้องการได้ นี่แสดงให้เห็นว่าแม้จะเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็ไม่ได้การันตีว่าจะสามารถหางานในตลาดงานตอนนี้ได้
นอกจากนี้ ดวงพร เล่าอีกว่า ในส่วนของวัยทำงานที่มีอายุงานระดับหนึ่ง หรือมีประสบการณ์อยู่ในตลาดงานมาประมาณหนึ่งแล้ว ก็ยิ่งเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานยุคนี้ พนักงานหลายๆ องค์กรเกิดการรับรู้แล้วว่าองค์กรของตนเองกําลังจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และเชื่อว่าองค์กรหรือนายจ้างเอง หลายแห่งก็เริ่มมีการจัดฝึกอบรมด้านเทคฯ ให้พนักงานแล้ว เพื่ออัปสกิล-รีสกิลให้พนักงานสามารถจะก้าวสู่วิธีทำงานในระดับที่มีการเอาเทคโนโลยีมาใช้ร่วมด้วยได้
แต่หากองค์กรไหนยังนิ่งๆ อยู่ในตอนนี้ ไม่มีการฝึกอบรมสกิลอื่นๆ ให้พนักงาน ก็เป็นไปได้ว่า ตำแหน่งงานเหล่านั้นอาจจะถูกตัดออกไปจากองค์กรในอนาคต ซึ่งต่อไปจะเกิดฉากทัศน์ลักษณะนี้ในตลาดงานไทยมากขึ้น ดังนั้น ในฐานะพนักงานก็ต้องไม่หยุดนิ่งเช่นกัน ต้องกระตือรือร้นหมั่นเรียนรู้ทักษะใหม่ๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อเป็นเกราะป้องกันไม่ให้ตนเองอยู่ในจุดเสี่ยงที่องค์กรไม่ต้องการในอนาคตนั่นเอง