"คิดสร้างสรรค์" หรือแค่ "จอมโปรเจกต์"
เป็นที่ยอมรับกันว่า ความเก่งมาจากการมีความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิก พ่อแม่บางคนประกาศว่า ลูกฉันคิดสร้างสรรค์ได้ดีแน่ๆ เพราะมีดีเอ็นเอของฉันอยู่ในตัว คำถามคือพ่อแม่จะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า ตนเองมีความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิก
การมีบุคลิกเป็นคนคิดสร้างสรรค์เป็นมากกว่าการเป็นจอมโปรเจกต์ ที่ผุดสารพัดโปรเจกต์ขึ้นมาเป็นประจำ โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการตามนิมิตของฉัน มากกว่าจะเป็นโครงการที่ได้รับการไตร่ตรองอย่างรอบคอบว่าทำแล้วได้ผล ทำแล้วดีขึ้นโดยทั่วหน้า ช่างคิดแต่ไม่ใช่การคิดที่สร้างสรรค์ อาจจะเป็นงานใหม่แต่ไม่ใช่งานที่มีประสิทธิผล
คือทำไปแล้วคนคิดได้ดี แต่คนอื่นไม่ได้อะไรสักอย่าง นอกจากฝันดีตามนิมิตของจอมโปรเจกต์ ความคิดที่มีความสร้างสรรค์ต่อผู้คนและสังคม จำเป็นสำหรับการเป็นคนเก่งของสังคมและบ้านเมือง
ตามตำราที่ใช้ประเมินว่ามีบุคลิกที่มีความคิดสร้างสรรค์หรือไม่ ต้องตอบคำถามเกี่ยวกับตนเอง 23 คำถาม ตาม Runco Ideational Behavior Scale (RIBS) ซึ่งเป็นคำถามว่าใช่หรือไม่ใช่ ใครที่เชื่อว่าตนเองเป็นคนช่างคิด ยิ่งถ้าอัตตาสูงอีกด้วย ก็จะตอบว่าใช่ทั้งหมด สรุปเองเลยว่าฉันมีบุคลิกของการเป็นคนคิดสร้างสรรค์ครบถ้วนสมบูรณ์ตามมาตรวัดนี้
ถามเองตอบเองจึงไม่ได้ผลดีนัก ลองถามคนรอบตัวที่ตอบได้อย่างไม่ต้องเกรงใจว่า ตัวฉันมีมักเสนอความคิดใหม่ๆ ที่มาพร้อมการคำอธิบายว่า ทำไมต้องทำ และต้องทำอย่างไรบ่อยครั้งแค่ไหน เน้นอีกครั้งว่า ไม่ใช่แค่เสนอความคิดเกี่ยวกับโครงการใหม่อยู่เป็นประจำ แต่ต้องบอกกันกระจ่างแจ้งไปเลยว่า ทำไมโครงการนั้นจึงจำเป็น
ถาดอาหารใหม่ทำไมต้องยาวขึ้นสี่ห้าเซนติเมตร และทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์ที่ตรงประเด็นปัญหา หรือประเด็นการพัฒนาได้อย่างเต็มที่
ถามคนรอบตัวว่า ที่ได้รู้ได้เห็นความคิดใหม่ๆ จากตัวฉันนั้น แตกต่างไปจากที่ได้รู้ได้ทราบมาจากคนอื่นมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นความคิดใหม่ที่ใครๆ ก็คิดเหมือนกัน เพียงแต่การนำเสนอความคิดนั้นแตกต่างกัน
ความคิดสร้างสรรค์ที่แท้จริงจะมีความเฉพาะเจาะจง มีเอกลักษณ์ที่แตกต่างไปจากแนวทางดั่งเดิม จึงปรากฏให้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจน ไม่ใช่เป็นแค่อีกรูปแบบหนึ่งของสิ่งเดิม
ความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การพลิกโฉมของเดิม แต่ไปไกลถึงการมีของใหม่ที่แตกต่างจากเดิม ขึ้นมาเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง
คนรอบตัวเรา เห็นว่าเราขยับตัวออกจากที่เราอยู่สบายแล้ว เราเก่งอยู่แล้วบ่อยแค่ไหน คนอื่นทนนั่งทำงานในห้องที่แอร์ไม่ดีมานานเป็นปี ใครมีเงินทองหน่อยก็ไปซื้อพัดลมมาเป่าทุเลาความร้อน เราเข้าไปแทนที่จะทนรับสภาพเหมือนคนเดิม กลับหาเรื่องเหนื่อยด้วยการหาหนทางแก้ไขให้แอร์กลับมาทำงานให้ความเย็นได้เหมือนที่ควรจะเป็น
ถ้า “อยู่เป็น” แลกกับการอยู่สบายแบบเดิมๆ ไม่ว่ารอบตัวจะมีปัญหาย่ำแย่แค่ไหน “อยู่เป็น” ไม่ใช่การคิดสร้างสรรค์ แต่ “อยู่ไม่เป็น” แล้วหาความลำบากใส่ตัวด้วยการพยายามปัดเป่าสารพัดย่ำแย่รอบตัวต่างหาก ที่บอกว่าเป็นคนมีความคิดที่สร้างสรรค์ในคำนิยามของโลก
คนรอบตัวเห็นว่าเราฟื้นจากความล้มเหลวที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วแค่ไหน ล้มเหลวแล้วเรียนรู้ได้มากแค่ไหน ล้มเหลวแล้วคนรอบข้างได้รับการดูแลแค่ไหน ล้มเหลวแล้วตีโพยตีพายโทษใครต่อใครบ้างหรือไม่ คำตอบบอกได้ว่า เรามีความคิดสร้างสรรค์เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกหรือไม่
มีความคิดสร้างสรรค์ไม่ได้หมายถึงว่าทุกเรื่องใหม่ที่ทำจะประสบความสำเร็จ แต่ความคิดที่สร้างสรรค์นั้นล้มเหลวได้เสมอ เพราะความคิดสร้างสรรค์มักเป็นเรื่องใหม่ที่มาก่อนกาล
ตู้เอทีเอ็มคิดมาครั้งแรกก็ล้มเหลวไม่มีคนใช้ ผ่านมาอีกร่วม 50 ปีมีคนปัดฝุ่นความคิดมาใช้ใหม่กลายเป็นความสำเร็จตราบเท่าทุกวันนี้ ดังนั้น คนที่มีความคิดที่สร้างสรรค์อย่างแท้จริงจึงต้องพร้อมรับความเสี่ยงต่อความล้มเหลวที่อาจเกิดขึ้น
ภาพลักษณ์ที่กลายเป็นความเชื่อสาธารณะว่า คนที่มีความคิดสร้างสรรค์ ไม่ว่าจะเป็น ด้านศิลปะ หรือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะเป็นคนเคร่งเครียด ดูจริงจังอยู่ตลอดเวลาหรือไม่ก็เป็นคนประหลาด มีอะไรแปลกๆ อยู่เป็นประจำ
แต่จากสถิติที่รวบรวมกันมาจริงๆ กลับพบว่าคนมีความคิดสร้างสรรค์ กลับเป็นคนที่มีเรื่องสนุกๆ มาแบ่งปันกับคนรอบตัวอยู่เป็นประจำ เรื่องสนุกไม่ได้เป็นแค่เรื่องชวนขำ ชวนหัวเราะ แต่เป็นสารพัดสาระที่พูดคุยด้วยแล้วรู้สึกน่าติดตาม ไม่น่าเบื่อ
ใครมี “ความคิดสร้างสรรค์” ดูได้ไม่ง่าย ใครเป็น “จอมโปรเจกต์” ก็ดูได้ไม่ยาก