นายจ้างออสซีโวย! กม.ไม่รับสาย-ไม่ตอบเมลนอกเวลางาน ทำประสิทธิภาพงานลดลง

นายจ้างออสซีโวย! กม.ไม่รับสาย-ไม่ตอบเมลนอกเวลางาน ทำประสิทธิภาพงานลดลง

นายจ้างไม่ถูกใจสิ่งนี้! กฎหมายใหม่ออสเตรเลียที่อนุญาตให้ลูกจ้าง ไม่ต้องรับสาย ไม่ตอบอีเมล นอกเวลางาน อาจยิ่งทำให้ประสิทธิภาพงานลดลง

KEY

POINTS

  • ผลสำรวจเผยชาวออสเตรเลียประมาณ 71% ถูกขอให้ทำงานล่วงเวลา โดย 1 ใน 3 ของพนักงานกลุ่มตัวอย่างบอกว่า การทำงานล่วงเวลาทำให้พวกเขาเครียด เหนื่อยล้าทางจิตใจและร่างกาย
  • วัยทำงานออสเตรเลียส่วนใหญ่ สนับสนุน ‘กฎหมายสิทธิตัดการเชื่อมต่อ (Right to disconnect)’ ไม่รับสาย ไม่ตอบเมลหลังเวลาเลิกงานได้โดยไม่ผิด ล่าสุด..กฎหมายนี้บังคับใชhเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา
  • นายจ้างบางส่วนไม่เห็นด้วยกับกฎหมายนี้ โดยมองว่าอาจนำไปสู่การสูญเสียตำแหน่งงาน ทั้งยังทำให้เกิดความสับสน ความไม่แน่นอน และทำให้ประสิทธิผลของงานลดลง

ไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับกฎหมาย ‘ปิดสวิตช์’ หรือ ‘กฎหมายสิทธิตัดการเชื่อมต่อ (Right to disconnect)’ ของออสเตรเลีย ที่เพิ่งจะบังคับใช้ไปหมาดๆ เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา ทั้งนี้กฎหมายดังกล่าวบังคับใช้กับองค์กรที่มีพนักงานตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป (ส่วนธุรกิจขนาดเล็กลูกจ้างน้อยกว่า 15 คน จะมีผลบังคับใช้ในวันที่เดียวกันในปี 2568) โดยภาพรวมคือจะบังคับใช้ครอบคลุมถึงพนักงานส่วนใหญ่ในประเทศออสเตรเลีย 

สำหรับเนื้อหาสาระสำคัญคือ กฎหมายนี้อนุญาตให้วัยทำงานมีสิทธิที่จะไม่ต้องตอบอีเมล รับสายโทรศัพท์ หรืออ่านข้อความใด ๆ เกี่ยวกับงาน หากข้อความเหล่านั้นถูกส่งมานอกเวลาทำงานปกติ โดยไม่ต้องกลัวถูกลงโทษ ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ห้ามไม่ให้เจ้านายติดต่อพนักงาน หรือห้ามไม่ให้พนักงานติดต่อกันเอง ยังติดต่อได้แต่ให้สิทธิแก่พนักงานที่จะเพิกเฉยต่อการติดต่อดังกล่าวได้โดยไม่ต้องมีการลงโทษทางวินัย 

ยกตัวอย่างเช่น หากเจ้านายของคุณส่งอีเมลเรื่องงานถึงคุณตอน 23.00 น. ในขณะที่คุณเลิกงานตอน 17.00 น. กรณีนี้ก็ไม่จำเป็นต้องอ่านหรือตอบอีเมลนั้น เว้นแต่การปฏิเสธจะถือว่าไม่สมเหตุสมผล หรือเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนอย่างยิ่งก็ต้องตอบกลับโดยทั้งสองฝ่ายต้องตกลงกันให้ได้

นายจ้างในอุตสาหกรรมภาคบริการ ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายใหม่นี้

อย่างไรก็ตาม หลังจากกฎหมายนี้เริ่มบังคับใช้ ก็มีนายจ้างบางส่วนแสดงความไม่เห็นด้วย สำนักข่าวเดอะการ์เดียน (the guardian) รายงานอ้างถึงความเห็นของกลุ่มนายจ้างธุรกิจในออสเตรเลียที่ระบุว่า กฎหมายนี้ไม่จำเป็นและอาจนำไปสู่การสูญเสียตำแหน่งงานของลูกจ้างได้ หากพนักงานใช้สิทธิไม่รับสาย-ไม่ตอบเมลหลังเวลาเลิกงานกันทั่วประเทศ อาจทำให้เกิดความสับสน ความไม่แน่นอน และลดประสิทธิผลในการทำงานลง

ขณะที่สำนักข่าวบลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานกรณีของ เกล็น เดย์ (Glen Day) นายจ้างที่จ้างพนักงาน 120 คนเพื่อทำงานในธุรกิจร้านอาหารของเขา ที่ตั้งอยู่ในเมืองโกลด์โคสต์ รัฐควีนส์แลนด์ ของออสเตรเลีย โดยเขาบอกว่า หลังจากกฎหมายใหม่บังคับใช้ เขาอาจต้องคิดให้ดีก่อนที่จะติดต่อพนักงานหลังเวลาทำการ ซึ่งนั่นเป็นอุปสรรคของธุรกิจร้านอาหารอย่างมาก เขากังวลว่ากฎหมายนี้จะส่งต่อผลกระทบต่อธุรกิจ หากติดต่อพนักงานไม่ได้ในสถานการณ์เร่งด่วน

“มันเป็นอุปสรรคจริงๆ ผมมองว่ากฎระเบียบนี้ใช้ไม่ได้ผลสำหรับนายจ้างในอุตสาหกรรมการบริการ ซึ่งลูกจ้างมักจะต้องทำงานล่วงเวลา เนื่องจากกรอบเวลางานของพวกเขาไม่เหมือนงานประจำแบบ 9.00-17.00 น. (Nine-to-Five) ถ้ามีพนักงานสักคนโทรมาลาป่วย คุณต้องหาคนใหม่มาแทนที่ สำหรับธุรกิจอย่างเรา มันแทบจะเป็นไปไม่ได้” เกล็น เดย์ สะท้อนมุมมองส่วนตัว 

ด้านตัวแทนจาก “หอการค้าและอุตสาหกรรมออสเตรเลีย” ชี้ว่า กฎหมายดังกล่าวอาจจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานที่ซบเซาอยู่แล้วในปัจจุบัน จะยิ่งลดลงไปมากว่าเดิมอีก

ตัวบทกฎหมายยังกำกวม อาจตีความไม่ตรงกันจนเกิดปัญหาในเชิงปฏิบัติ

อย่างที่บอกไปข้างต้นว่า กฎหมายนี้เอื้อประโยชน์ให้วัยทำงานชาวออสเตรเลียมีสิทธิ์ปฏิเสธที่จะตอบสนองต่อการติดต่อนอกเวลางานที่ไม่สมเหตุสมผลจากนายจ้าง แต่หากเกิดปัญหาที่ตกลงกันไม่ได้ (เช่น มีความกำกวมว่ากรณีแบบใดเรียกว่าสมเหตุสมผล แล้วกรณีใดไม่สมเหตุผล) ลูกจ้างหรือนายจ้างสามารถรายงานข้อพิพาทดังกล่าวต่อ “คณะกรรมการการทำงานที่เป็นธรรม (Fair Work Commission)” ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลอาจออกคำสั่งกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

หากพบว่าฝ่ายนายจ้างผิดและไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะกรรมการฯ ก็จะมีโทษปรับสูงถึง 93,900 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 2.12 ล้านบาท ขณะที่หากลูกจ้างผิดและไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ก็จะมีโทษปรับ 19,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 4.29 แสนบาท

คำถามที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งสำหรับนายจ้างก็คือ กฎหมายจะบังคับใช้กับพนักงานอาวุโสที่มีระดับเงินเดือนสูงอย่างไร? เช่น ผู้จัดการที่มักจะถูกเรียกตัวให้จัดการกับปัญหาสำคัญในออฟฟิศตลอดเวลา หรือต้องคุยธุรกิจกับภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากวันทำงานมาตรฐานของออสเตรเลีย

เจนนี แมนส์ฟิลด์ (Jennie Mansfield) หุ้นส่วนสำนักงานกฎหมาย Ashurst ซึ่งเชี่ยวชาญด้านกฎหมายจ้างงานและความสัมพันธ์ในที่ทำงานในซิดนีย์ กล่าวว่า ลูกค้าของเธอต่างประหลาดใจเมื่อพบว่าสิทธิในการตัดการเชื่อมต่อใช้ได้กับพนักงานทุกคน รวมถึงผู้ที่มีรายได้เกินเกณฑ์ในระดับสูงด้วย และพวกเขาไม่แน่ใจว่าจะสามารถติดต่อทนายได้เวลาไหนบ้าง

“ปัญหาในทางปฏิบัติสำหรับกฎหมายฉบับนี้ก็คือ จะรู้ได้อย่างไรว่าการติดต่อนอกเวลาทำการแบบไหนที่ถือเป็นเรื่อง ‘ไม่สมเหตุสมผล’ ในเมื่อมันมีปัจจัยที่ต้องพิจารณาหลายอย่าง เพื่อใช้ประเมินว่าการที่พนักงานปฏิเสธที่จะรับสายหรือตอบแชทเรื่องงานนอกเวลางานนั้น ถือเป็นเรื่องสมเหตุสมผลหรือไม่ ซึ่งการตีความของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จึงอาจหาข้อสรุปยาก” แมนส์ฟิลด์กล่าว

พนักงานออสเตรเลียสนับสนุนกฎหมายนี้ เพราะ 71% ของพวกเขาถูกขอให้ทำงานล่วงเวลา

แม้จะมีหลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย เนื่องจากมีความกำกวมบางอย่างในตัวบทกฎหมายที่อาจทำให้นำมาปฏิบัติตามได้ยาก แต่ในอีกมุมหนึ่ง สิ่งนี้มีความสำคัญกับพนักงานในภาพรวมไม่น้อย โดยกฎหมายสิทธิในการตัดการเชื่อมต่อ มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำหนดขอบเขตระหว่างเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวให้ชัดเจนขึ้น 

เนื่องจากช่วงหลังสถานการณ์โควิดทำให้รูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป (ทำงานผ่านระบบออนไลน์) หลายบริษัทสามารถติดตามให้พนักงานทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน บางครั้งก็กินเวลาช่วงวันหยุดไปด้วย สิ่งเหล่านี้นำมาซึ่งปรากฏการณ์ที่วัยทำงานกำลังหมดไฟในการทำงาน (Burnout) 

จากผลสำรวจของศูนย์เพื่อการทำงานในอนาคตของสถาบันออสเตรเลีย ในปี 2022 พบว่า ชาวออสเตรเลียประมาณ 71% ถูกขอให้ทำงานล่วงเวลา โดย 1 ใน 3 ของพนักงานกลุ่มนี้บอกว่า การทำงานล่วงเวลาทำให้พวกเขาเครียด เหนื่อยล้าทางจิตใจ หรือเหนื่อยล้าทางร่างกาย ขณะที่การสำรวจย่อยอีกชิ้นหนึ่ง (สำรวจแยกต่างหาก) ที่ดำเนินการในช่วงต้นปีนี้พบว่า ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเกือบ 60% ในออสเตรเลียสนับสนุนกฎหมายสิทธิในการตัดการเชื่อมต่อให้เกิดขึ้น ตอกย้ำว่าวัยทำงานออสเตรเลียต่างสนับสนุนกฎหมายนี้กันอย่างกว้างขวาง

ไม่ใช่แค่ในออสเตรเลียเท่านั้น แต่จากการสำรวจในบริษัทต่างๆ ของสหภาพยุโรป ทั้งที่มีและไม่มีนโยบายตัดการเชื่อมต่อหลังเวลาเลิกงาน พบว่า กลุ่มตัวอย่างของพนักงาน 8 ใน 10 คน รายงานว่า พวกเขาถูกเรียกตัวให้ทำงานหรือถูกขอให้จัดการเรื่องงานในช่วงนอกเวลาทำงานเป็นประจำ

กฎหมาย ‘ตัดการเชื่อมต่อนอกเวลางาน’ หลายประเทศในยุโรปมีความแตกต่างกันไป

มูลนิธิเพื่อการปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่และการทำงานแห่งยุโรปเปิดเผยเมื่อปีที่แล้วว่า แม้ว่า 70% ของบริษัทในยุโรปจะมีมาตรการตัดการเชื่อมต่อหลังเวลาเลิกงาน แต่การนำนโยบายนี้มาใช้เพียงอย่างเดียวยังไม่เพียงพอ ต้องมีมาตรการอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ มีมากกว่าสิบประเทศในยุโรปที่มีกฎระเบียบคุ้มครองสิทธิในการตัดการเชื่อมต่อหลังเลิกงาน แต่กฎเกณฑ์นั้นแตกต่างกันอย่างมาก

ฝรั่งเศสเป็นหนึ่งในประเทศแรกๆ ที่นำมาตรการดังกล่าวมาใช้ในปี 2017 โดยอนุญาตให้พนักงานไม่ต้องรับสายหรือตอบอีเมลของที่ทำงาน ในช่วงนอกเวลาทำงานโดยที่ไม่ถูกลงโทษ แต่สำหรับรัฐออนแทรีโอซึ่งเป็นรัฐที่มีประชากรมากที่สุดของแคนาดา กำหนดให้ผู้จ้างงานต้องมีนโยบาย “ตัดการเชื่อมต่อหลังเลิกงาน” แบบเป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น จึงจะบังคับใช้นโยบายนั้นในที่ทำงานได้

ขณะที่ในสหราชอาณาจักร “สิทธิในการปิดเครื่องหลังเวลางาน” เป็นหัวใจสำคัญของคำมั่นสัญญาของพรรคแรงงาน ที่มีต่อผู้มีสิทธิออกเสียง ก่อนที่การเลือกตั้งจะชนะอย่างถล่มทลายในเดือนกรกฎาคม แต่หลังจากนั้นทางการของประเทศกลับไม่ทำตามที่ได้หาเสียงเอาไว้ เจ้าหน้าที่เลือกที่จะหลีกเลี่ยงการออกกฎหมายที่เข้มงวดนี้ 

ในลอนดอน เจเรมี ฟรอสต์ ผู้อำนวยการของ Frost Group บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจด้านการล้มละลายและการปรับโครงสร้างองค์กร ให้ความเห็นว่า บริษัทของเขามีพนักงานจำนวนน้อย ทางบริษัทมีนโยบายให้พนักงานส่วนใหญ่มีตารางงานที่ยืดหยุ่นได้ เพื่อให้พนักงานสามารถจัดการเรื่องส่วนตัวได้ รวมถึงการไปรับส่งลูกที่โรงเรียน

“ผมคิดว่านายจ้างที่ดีจะไม่พยายามทำลายเวลาหยุดงานของพนักงานของตน นายจ้างที่ไม่ดีจะมีอยู่เสมอ และกฎหมายฉบับนี้ก็อาจจะไม่สามารถกำจัดพวกเขาได้ การพยายามหาวิธีปรับปรุงมาตรฐานทั่วไปของนายจ้างนั้นน่าจะดีกว่ามาก” เขากล่าว