ไม่รับสาย-ไม่ตอบอีเมล 'ไม่ผิด' ออสเตรเลียเริ่มใช้กม.ปิดสวิตช์หลังเลิกงาน
'ออสเตรเลีย' เป็นชาติล่าสุดที่บังคับใช้กฎหมาย 'Right to disconnect'ลูกจ้างมีสิทธิ์ไม่ตอบอีเมล-รับสาย-อ่านข้อความ นอกเวลางาน ช่วยพนักงานรักษาสิทธิ์ยุคดิจิทัลรุกล้ำชีวิตส่วนตัว
ในวันนี้ (26 ส.ค.) "ออสเตรเลีย" กลายเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่ได้บังคับใช้กฎหมาย "สิทธิตัดการเชื่อมต่อ" (Right to disconnect) โดยอนุญาตให้พนักงานมีสิทธิ์ที่จะไม่ต้องตอบอีเมล รับสายโทรศัพท์ หรืออ่านข้อความใด ๆ เกี่ยวกับงานที่ส่งมานอกเวลาทำงานปกติ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกลงโทษ เพื่อแก้ปัญหางานที่รุกล้ำเข้ามาในเวลาส่วนตัวมากขึ้นเรื่อย ๆ ในยุคดิจิทัลเช่นนี้
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ฝ่ายสนับสนุนชี้ว่ากฎหมายนี้จะช่วยให้คนทำงานกล้าที่จะปฏิเสธการติดต่อเรื่องงานนอกเวลาทำการมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นนับตั้งแต่การระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เส้นแบ่งระหว่างบ้านกับที่ทำงานแทบจะหายไป
"ก่อนที่เราจะมีเทคโนโลยีดิจิทัล เราไม่มีการล่วงล้ำเวลาส่วนตัวกัน พนักงานกลับบ้านเมื่อถึงเวลาเลิกงาน และจะไม่มีการติดต่อใดๆ จนกว่าจะกลับมาทำงานในวันถัดไป แต่ปัจจุบัน มันกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้วที่เราต้องตอบอีเมล SMS หรือรับโทรศัพท์นอกเวลางาน แม้กระทั่งวันหยุด" จอห์น ฮอปกินส์ รองศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสวินเบิร์นกล่าว
ทางด้านสถาบัน Australia Institute เปิดเผยผลสำรวจเมื่อปีที่แล้วว่า มีชาวออสเตรเลียต้องทำ "โอฟรี" หรือทำงานล่วงเวลาโดยไม่ได้ค่าจ้างเพิ่มโดยเฉลี่ยถึง 281 ชั่วโมง หรือคิดเป็นมูลค่าโดยเฉลี่ยประมาณ 1.3 แสนล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (เกือบ 3 ล้านล้านบาท)
ปัจจุบันมีประมาณ 24 ประเทศทั่วโลกที่มีกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิตัดการเชื่อมต่อ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศยุโรปและละตินอเมริกา
"ฝรั่งเศส" นับเป็นประเทศแรกที่ออกกฎหมายนี้ขึ้นในปี 2560 และมีการปรับบริษัทที่ละเมิดกฎหมายนี้ไปแล้ว เช่น กรณีบริษัทกำจัดปลวกและแมลง Rentokil Initial ที่ถูกปรับเป็นเงิน 6 หมื่นยูโร (เกือบ 2.3 ล้านบาท)
'ฉุกเฉิน-มีเหตุผล' ติดต่อได้
อย่างไรก็ดี "ไม่ใช่ทุกกรณี" ที่ลูกจ้างจะสามารถปฏิเสธการติดต่อจากนายจ้างได้
รายงานระบุว่า ในกรณีฉุกเฉินหรืองานที่มีเวลาเข้างานไม่แน่นอน กฎหมายนี้อนุญาตให้นายจ้างยังคงสามารถติดต่อลูกจ้างได้ โดยลูกจ้างมีสิทธิ์ปฏิเสธได้เฉพาะในกรณีที่เห็นว่าสมเหตุสมผลเท่านั้น
ส่วนการพิจารณาว่าการปฏิเสธนั้นสมเหตุสมผลหรือไม่ จะขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการการจ้างงานที่เป็นธรรม (FWC) ซึ่งต้องพิจารณาจากบทบาทของลูกจ้าง สถานการณ์ส่วนบุคคล ตลอดจนเหตุผลและวิธีการที่นายจ้างติดต่อ
FWC มีอำนาจออกคำสั่งให้ยุติการกระทำ และหากฝ่าฝืนก็สามารถสั่งปรับได้ โดยพนักงานอาจโดนปรับสูงสุด 19,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย ส่วนบริษัทอาจโดนปรับหนักถึง 94,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย
อย่างไรก็ตาม กลุ่มอุตสาหกรรมออสเตรเลีย (Australian Industry Group) ซึ่งเป็นองค์กรตัวแทนนายจ้าง ออกมาแสดงความเห็นว่า ความกำกวมในการบังคับใช้กฎหมายนี้จะสร้างความสับสนให้กับทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง การทำงานจะขาดความยืดหยุ่น ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงด้วย
"กฎหมายนี้ออกมาแบบไม่ทันตั้งตัว แทบไม่มีการหารือกันถึงผลกระทบในทางปฏิบัติ และนายจ้างมีเวลาเตรียมตัวน้อยมาก" กลุ่มดังกล่าวแถลงเมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา
มิเชล โอนีล ประธานสภาสหภาพแรงงานออสเตรเลียกล่าวว่า ข้อกำหนดในกฎหมายระบุชัดเจนว่า ลูกจ้างยังคงต้องตอบสนองต่อการติดต่อที่สมเหตุสมผล เพียงแต่ลูกจ้างจะไม่ต้องเป็นฝ่ายเสียเปรียบจากการวางแผนงานไม่ดีของฝ่ายบริหารอีกต่อไป
โอนีลยกตัวอย่างกรณีของพนักงานรายหนึ่งซึ่งเลิกงานตอนเที่ยงคืน แต่หลังจากนั้น กลับได้รับข้อความตอนตี 4 เพื่อเรียกตัวให้กลับไปทำงานตอน 6 โมงเช้า
"เดี๋ยวนี้ติดต่อกันง่าย เลยไม่ค่อยใช้สามัญสำนึกกันแล้ว" เธอกล่าว "เราเชื่อว่ากฎหมายนี้จะทำให้เจ้านายฉุกคิดก่อนจะส่งข้อความหรืออีเมลหาลูกจ้าง"