เจ้านาย 37% ยอมรับแกล้งงานยุ่ง แต่จริงๆ ทำเรื่องไร้สาระมากกว่าลูกน้อง

เจ้านาย 37% ยอมรับแกล้งงานยุ่ง แต่จริงๆ ทำเรื่องไร้สาระมากกว่าลูกน้อง

ผลสำรวจเผย หัวหน้างาน 37% ยอมรับว่าแกล้งทำเป็นงานยุ่ง แกล้งทำเหมือนว่ามีประสิทธิภาพในการทำงาน แต่จริงๆ แล้วทำเรื่องไร้สาระในออฟฟิศมากกว่าลูกน้อง

วัยทำงานยุคนี้คงคุ้นเคยเทรนด์ทำงานยุคใหม่ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น “Coffee badging” หรือการเข้าออฟฟิศไม่กี่ชั่วโมงเพื่อดื่มกาแฟ-คุยงานสั้นๆ แล้วกลับบ้าน, “Quiet quitting” หรือการทำงานตามหน้าที่ไปวันๆ ไม่ทุ่มเทให้งานแบบหามรุ่งหามค่ำ, “Mouse jigglers” หรือการเข้าระบบให้โชว์ว่าออนไลน์ทำงานอยู่ตลอดเวลา (กรณีทำงานที่บ้าน) เพื่อให้นายจ้างเห็นผ่านระบบติดตามงาน แต่จริงๆ ไม่ได้ทำงานตลอดเวลาขนาดนั้น 

เหล่านี้ล้วนเป็นพฤติกรรมที่พบเห็นได้บ่อยมากขึ้นในกลุ่มคนทำงานออฟฟิศยุคนี้ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญนิยามพฤติกรรมการทำงานเหล่านี้ว่า “Fauxductivity” หรือ “Fake Productivity” หมายถึง การแกล้งทำเหมือนว่าทำงานอยู่ หรือการแกล้งทำว่าตนเองมีประสิทธิภาพ 

“ประสิทธิภาพการทำงานต่ำ” ถือเป็นความท้าทายขององค์กรในยุคนี้

ไม่กี่ปีมานี้ ปัญหาเรื่อง “ประสิทธิภาพการทำงาน” ถือเป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมการทำงานต่างพูดตรงกันว่า นี่เป็นปัญหาใหญ่ซึ่งเป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจาก “การแยกตัวจากกันมากขึ้นตั้งแต่หลังการระบาดใหญ่” ผู้คนเคยชินกับการทำงานแบบยืดหยุ่น (Hybrid work) มากขึ้น

จากรายงานของบริษัทซอฟต์แวร์ Atlassian เผยว่า ซีอีโอของกลุ่มบริษัท Fortune 500 ถึงกับจัดให้กรณีของ “ประสิทธิภาพการทำงานต่ำ” ถือเป็นความท้าทายด้านองค์กรอันดับต้นๆ ของปีนี้ 

แม้ว่าพนักงานระดับปฏิบัติการส่วนใหญ่จะแสดงออกให้เห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า พวกเขามีพฤติกรรมการทำงานแบบ Coffee badging, Quiet quitting, Mouse jigglers ฯลฯ แต่สิ่งที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือ มีรายงานว่า พนักงานระดับหัวหน้างานและระดับผู้บริหารก็มีพฤติกรรมคล้ายๆ กันนี้ด้วย

หัวหน้างานแสร้งเป็นงานยุ่ง 37% เทียบกับลูกน้องที่แสร้งทำงาน 32%

ยืนยันจากผลสำรวจล่าสุดของ Workhuman ซึ่งเป็นบริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์การจัดการทรัพยากรมนุษย์บนระบบคลาวด์ ระบุว่า ในภาพรวมผู้จัดการหรือหัวหน้างาน 48% มองว่าการแสร้งทำเป็นว่าตนเองมีประสิทธิภาพนั้นเป็นปัญหาของทีม แต่พฤติกรรมการทำงานแบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับพนักงานทั่วไป 

แต่จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่เป็น “ระดับหัวหน้างาน” ก็พบว่า 37% ของพวกเขา ยอมรับว่าแสร้งทำเป็นว่าตนเองมีประสิทธิภาพ เมื่อเทียบกับลูกน้อง (ผู้ที่ไม่ใช่ผู้จัดการ) ที่มีพฤติกรรมแกล้งว่าทำงานเพียง 32% ขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงมากถึง 38% ก็ยอมรับว่า ตนเองมีส่วนในการทำงานแบบ Fake Productivity อยู่บ้างเช่นกัน 

เห็นได้ชัดว่าพนักงานไม่ใช่คนเดียวที่แสร้งทำเป็นว่าตนเองมีประสิทธิภาพการทำงาน แต่เจ้านายของพวกเขาก็ทำแบบนั้นเหมือนกัน ปรากฏการณ์นี้อาจเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมที่ทำงานแบบ “Always-on” หรือการที่ต้องทำงานอยู่ตลอดเวลาผ่านทางออนไลน์ ที่เริ่มจะขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ 

เมชา-แอนน์ มาร์ติน (Meisha-ann Martin) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์บุคลากรและการวิจัยของ Workhuman กล่าวว่า “หัวหน้างานมีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่มีประสิทธิภาพ พวกเขาควรอนุญาตให้พนักงานทำงานอย่างเป็นมนุษย์ (เหนื่อยก็พักได้ ไม่ต้องแสร้งเหมือนทำงานอยู่) อีกทั้งควรสนับสนุนให้พนักงานแสดงความคิดเห็นเมื่อประสบปัญหา ไม่ใช่หันไปมีพฤติกรรมการทำงานแบบเดียวกัน ผู้นำที่ดีต้องกระตุ้นในเกิดการรักษาภาพลักษณ์ และสื่อสารถึงการแบ่งเวลาพักเบรกในการทำงานอย่างชัดเจน”