McKinsey ขอพนักงานกลับเข้าออฟฟิศ หวังแก้ปัญหา ลูกค้าใช้บริการลดลง
บริษัท McKinsey & Co. ก็เอากับเขาด้วย! ล่าสุด..ออกแถลงการณ์ใหม่ ขอให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศบ่อยขึ้น หวังแก้ปัญหา 'ลูกค้าใช้บริการลดลง' ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
KEY
POINTS
- McKinsey & Co. บริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ระดับโลกของสหรัฐ พิจารณาให้พนักงานกลับเข้าทำงานในออฟฟิศบ่อยขึ้นในแต่ละสัปดาห์ และพยายามจะจำกัด “การทำงานจากระยะไกล (Remote work)”
- บริษัทอ้างว่า การใช้เวลาร่วมกันที่ห้องประชุมทีมในออฟฟิศ ช่วยให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น เพิ่มความน่าเชื่อถือกับลูกค้าได้มากขึ้น เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ และความสัมพันธ์ในบริษัทก็จะแข็งแกร่งขึ้นด้วย
- ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านม McKinsey ประสบปัญหาลูกค้าใช้บริการลดลง คาดว่าการเรียกพนักงานกลับเข้าออฟฟิศอาจช่วยแก้ปัญหานี้ได้
เมื่อไม่กี่วันก่อนบลูมเบิร์ก (bloomberg) รายงานว่า McKinsey & Co. บริษัทที่ปรึกษารายใหญ่ระดับโลกของสหรัฐ กำลังพิจารณาออกคำสั่งให้พนักงานออฟฟิศ “เพิ่มจำนวนวันทำงานในสำนักงานมากขึ้น” ในแต่ละสัปดาห์ ว่ากันว่าที่นี่ก็เป็นบริษัทขนาดใหญ่อีกหนึ่งแห่งที่ต้องการจำกัด “การทำงานจากระยะไกล (Remote work)” ให้น้อยลง
หุ้นส่วนอาวุโสของบริษัท McKinsey ในสาขาไมอามีและบอสตัน ได้แจ้งต่อพนักงานของตนในที่ประชุมใหญ่เมื่อเร็วๆ นี้ว่า เร็วๆ นี้ ขอให้พนักงานทุกคนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศบ่อยขึ้น ซึ่งบริษัทอาจใช้คำสั่งนี้อย่างเข้มงวดกับพนักงานกลุ่มที่เรียกว่า “On The Beach” หมายถึงกลุ่มพนักงานที่อยู่ในช่วงพักชั่วคราวระหว่างการดำเนินงานโปรเจกต์ให้แก่ลูกค้า (ผู้ที่ทำงานด้านที่ปรึกษามักจะรับงานเป็นโครงการหรือโปรเจกต์ที่ใช้เวลานาน ซึ่งบางครั้งจะมีการพักชั่วคราวในบางขั้นตอน)
บริษัทชี้แจง การทำงานแบบเจอหน้ากันมีประโยชน์มากกว่า สร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้า ทำงานเชื่อมโยงกันได้ดีขึ้น
แหล่งข่าววงในคนหนึ่ง (ไม่เปิดเผยชื่อ) เปิดเผยข้อมูลว่า หลังจาก McKinsey ประกาศให้พนักงานของตนกลับเข้าออฟฟิศครั้งนี้ ก่อให้เกิดความวิตกกังวลในหมู่พนักงานที่ปรึกษาบางคนที่ยังคงต้องทำงานจากระยะไกล แม้จะอยู่ในช่วงพักการดูแลโครงการฯ ของลูกค้า โดยพนักงานเหล่านี้มักจะเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศเฉพาะเมื่อต้องพบปะกับลูกค้า หรือเข้ามารับงานที่จะต้องไปเจอลูกค้าที่ไซต์งานเท่านั้น
เอริค คุชเชอร์ (Eric Kutcher) หุ้นส่วนอาวุโสและประธานฝ่ายดูแลธุรกิจภูมิภาคอเมริกาเหนือของ McKinsey กล่าวในแถลงการณ์ที่ส่งถึงพนักงานทุกคนว่า “แนวทางใหม่ของเราจะสร้างสมดุลระหว่างการทำงานแบบเจอหน้ากันตัวต่อตัว เพื่อสร้างการเชื่อมโยงในทีมที่ดีที่สุด นี่เป็นสิ่งที่เราเรียนรู้ว่ามีประโยชน์ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราควรเน้นย้ำถึงคุณประโยชน์ของสิ่งนี้ นี่ไม่ใช่นโยบาย แต่เป็นการกำหนดชุดความคาดหวังใหม่ที่บริษัทมีต่อพนักงานของเรา”
“เรารู้ดีว่าการใช้เวลาร่วมกันในห้องประชุมทีมลูกค้าในสำนักงานของเรา ช่วยให้พนักงานเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้น สร้างอิทธิพลต่อลูกค้าได้มากขึ้น เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มากขึ้น และโครงสร้างทางสังคมภายในบริษัทก็แข็งแกร่งขึ้นด้วย” คัตเชอร์กล่าวเสริม
McKinsey พบ ลูกค้าใช้บริการลดลง หวังแก้ไขปัญหานี้โดยให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศ
ปัจจุบัน McKinsey มีพนักงานประมาณ 45,000 คนทั่วโลก ตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 60% ตั้งแต่ปี 2018 แต่ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บริษัทที่ปรึกษายักษ์ใหญ่แห่งนี้กลับประสบกับปัญหาลูกค้าใช้บริการลดลง แม้จะพบว่ามีลูกค้าจำนวนหนึ่งที่ต้องการโครงการที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์เพิ่มขึ้นจากเดิมก็ตาม แต่ในภาพรวมแล้วลูกค้าก็ยังลดลงอยู่ดี
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงในบอกอีกว่า การประกาศให้พนักงานกลับเข้าออฟฟิศครั้งนี้ของ McKinsey เกิดขึ้นหลังจากที่ PricewaterhouseCoopers LLP ซึ่งเป็นคู่แข่งได้แจ้งต่อพนักงานในสหราชอาณาจักรเมื่อไม่นานนี้ว่า ให้พนักงานเข้ามาทำงานในออฟฟิศอย่างน้อย 60% ของเวลาทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากข้อกำหนดก่อนหน้านี้ที่ให้เข้าออฟฟิศเพียง 2-3 วันต่อสัปดาห์
การเคลื่อนไหวดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงและวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อดีของการทำงานแบบยืดหยุ่น ซึ่งกลายเป็นบรรทัดฐานในหลายๆ อุตสาหกรรม ภายหลังการระบาดของไวรัสโคโรนา บริษัทหลายแห่งได้ชูเรื่องการทำงานยืดหยุ่นเป็นหลักสำคัญของบริษัทเพื่อดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถใหม่ๆ และหลากหลาย ให้เข้ามาร่วมงานด้วย
รวมถึงบริษัท McKinsey เองก็ด้วย ที่ในช่วงปีก่อนๆ ทางบริษัทได้ทำวิจัยเรื่อง Women in the Workplace และค้นพบข้อมูลว่า ผู้หญิงวัยทำงานให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่น พวกเธอต่างรายงานว่า “การทำงานแบบยืดหยุ่นช่วยทำให้มีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น และช่วยลดภาวะหมดไฟ (Burnout) และมีเวลาจดจ่อกับงานมากขึ้นอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม มีผลการสำรวจใหม่พบว่า พนักงานที่เลือกทำงานระยะไกลในสหราชอาณาจักร ไม่ได้รับการขึ้นเงินเดือนในช่วงสองปีแรกหลังจากการระบาดของโควิด-19 ขณะที่พนักงานที่เลือกเข้าทำงานในออฟฟิศมาตลอด กลับได้รับสิทธิผลประโยชน์การขึ้นเงินเดือนตามปกติ เหมือนว่าบริษัทชดเชยสิ่งนี้ให้ทดแทนกับการที่ไม่ได้ทำงานจากที่บ้าน