เทรนด์ WorkLessLiveMore มาแรง คนรุ่นใหม่ไม่ขอสละชีวิตเพื่องานอีกต่อไป

เทรนด์ WorkLessLiveMore มาแรง คนรุ่นใหม่ไม่ขอสละชีวิตเพื่องานอีกต่อไป

‘ทำงานตลอดเวลา’ ไม่เท่ากับ ‘เก่ง ดี มีประสิทธิภาพ’ อีกต่อไป เปิดเทรนด์ทำงาน #WorkLessLiveMore ที่กำลังมาแรง เมื่อวัยทำงานรุ่นใหม่ไม่ขอเสียสละตัวเองเพื่องานอีกต่อไป

KEY

POINTS

  • ในยุคหนึ่งคนทำงานจะใช้ตัวชี้วัดแบบคลาสสิกเพื่อวัดความสำเร็จของตนเอง เช่น การทำงานหามรุ่งหามค่ำ กลับดึก การอุทิศตนให้กับนายจ้างเพียงคนเดียว ใครทำได้แบบนี้ก็จะได้รับการยกย่อง
  • ปัจจุบันค่านิยมการทำงานแบบใหม่กำลังเข้ามาแทนที่แบบเก่า คนยุคใหม่กำลังท้าทายระบบงานเดิมๆ พวกเขาปฏิเสธแนวคิดที่ว่า “ยิ่งใช้เวลาทำงานมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น” 
  • พนักงานในสหรัฐอเมริกา 11% ระบุว่าตนเองทำงานในรูปแบบ Digital Nomad ซึ่งเทรนด์นี้เติบโตขึ้นมากกว่า 147% นับตั้งแต่ปี 2019 จนมาถึงปี 2024

เป็นเวลาหลายสิบปีที่ชีวิตการทำงานของคนเราถูกควบคุมโดยบรรทัดฐานและค่านิยมทางสังคม แม้ไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่คนทำงานก็ปฏิบัติสืบต่อกันมา ทั้งค่านิยมการทำงานหนัก, การยอมแลกเวลาทั้งชีวิตไปกับงาน, เรื่องงานต้องมาก่อนเรื่องอื่นเสมอ, มอบความภักดีให้องค์กร เพื่อความมั่นคงทางการเงินและการเลื่อนตำแหน่ง

รวมไปถึงวัยทำงานรุ่นก่อนๆ มักจะใช้ตัวชี้วัดสุดคลาสสิกเพื่อบ่งบอกความสำเร็จของตนเอง เช่น การทำงานหามรุ่งหามค่ำกลับดึก การไต่เต้าในองค์กร และการอุทิศตนให้กับนายจ้างเพียงคนเดียว เหล่านี้ถือเป็นเครื่องหมายเกียรติยศเลยทีเดียว แต่ในปัจจุบัน ค่านิยมการทำงานแบบใหม่กำลังถูกเขียนขึ้นแทนที่แบบเก่า วัยทำงานรุ่นใหม่กำลังท้าทายรากฐานของระบบการทำงานที่ควรเป็น โดยปฏิเสธแนวคิดที่ว่า “ยิ่งใช้เวลาทำงานมากขึ้นเท่าไรก็ยิ่งประสบความสำเร็จมากขึ้นเท่านั้น” แต่ในทางกลับกัน พนักงานรุ่นใหม่กำลังผลักดันค่านิยมทำน้อยแต่ได้มาก

นิริท โคเฮน (Nirit Cohen) ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลและโลกการทำงานในอนาคต อธิบายถึงประเด็นนี้ผ่าน Forbes ไว้ว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัยทำงานนิยมพูดคุยเรื่อง “ความยืดหยุ่นในการทำงาน” เพิ่มขึ้น แม้ดูเหมือนว่าโลกการทำงานเริ่มเปลี่ยนรูปแบบไปในช่วงโควิด แต่ความจริงก็คือ ความต้องการที่จะเปลี่ยนวิธีทำงานได้ก่อตัวขึ้นเป็นเวลานานแล้ว ก่อนที่จะเกิดเทรนด์ทำงานระยะไกลด้วยซ้ำ พนักงานออฟฟิศพยายามหลีกหนีงานแบบ nine-to-five (09.00-17.00 น.) มาตลอด ซึ่งรูปแบบงานค่อยๆ ถูกปรับโฉมหน้าไปทีละน้อยๆ จนมาเห็นชัดเจนที่สุดในช่วงโควิด

วัยทำงานกำหนดคำนิยามของ “สถานที่ทำงาน” แบบใหม่

ตอนนี้สำนักงานไม่ใช่เพียงสถานที่เดียวที่คุณสามารถทำงานได้ ผู้คนตระหนักได้ว่าสามารถทำงานได้จากที่อื่นได้เช่นกัน ก่อนจะเกิดคำศัพท์อย่าง Quiet vacationing ขึ้นมาอย่างจริงจัง หากสังเกตในช่วงหลังโควิดซาลงใหม่ๆ จะพบว่าพนักงานออฟฟิศก็เริ่มทำงานได้จากทุกที่อย่างอิสระแล้ว (ไม่ใช่แค่ทำงานอยู่ที่บ้าน) ผู้คนเริ่มค้นพบว่าการทำงานไม่ต้องจำกัดอยู่ในออฟฟิศ แต่ทำได้ทุกที่ที่มีอินเทอร์เน็ต wifi ระบบคลาวด์ โทรศัพท์มือถือ และแล็ปท็อป

เทรนด์ WorkLessLiveMore มาแรง คนรุ่นใหม่ไม่ขอสละชีวิตเพื่องานอีกต่อไป

ทำไปทำมาก็เริ่มเดินทางท่องเที่ยวไปด้วยและทำงานไปด้วยได้ และกลายเป็นตัวเลือกการทำงานที่เหมาะสมกับหลากหลายอาชีพ วัยทำงานสามารถผสมผสานการทำงานและการพักผ่อนได้ในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน บางคนเลือกทำงานระหว่างช่วงวันหยุดพักผ่อน ต่อมาก็เกิดเป็นรูปแบบการทำงานที่เรียกว่า Digital Nomad ขึ้นมาซึ่งปัจจุบันกลายเป็นที่ยอมรับในสังคมทั่วโลก หลายคนยึดการทำงานแบบนี้เป็นอาชีพหลักไปเลยก็มี

สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าพนักงานไม่จำเป็นต้องถูกผูกติดอยู่กับสำนักงานอีกต่อไป เพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผล ตามรายงาน State of Independence ประจำปี 2024 ของ MBO Partners ระบุว่า พนักงานในสหรัฐอเมริกา 11% ระบุว่าตนเองเป็นคนทำงานแบบ Digital Nomad ซึ่งเทรนด์นี้เติบโตขึ้นมากกว่า 147% นับตั้งแต่ปี 2019

แนวคิด ‘การทำงานหนักคือเกียรติยศ’ เริ่มเสื่อมสลาย คนรุ่นใหม่เน้นใช้เวลาน้อยแต่ได้ประสิทธิผล

สัญญาณที่ชัดเจนอีกประการหนึ่งที่บ่งชี้ถึงอนาคตของโลกการทำงานแบบใหม่ คือ ผู้คนเริ่มเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อการทำงานหนัก ในอดีตคนทำงานหนักมักจะถูกยกย่องเหมือนได้รับเครื่องหมายเกียรติยศ แต่ค่านิยมนี้กำลังเสื่อมสลายลงอย่างรวดเร็วในยุคนี้ เมื่อมีการเคลื่อนไหวต่อต้านค่านิยมนี้ออกมาหลายรูปแบบ เช่น Quiet quitting (การลาออกอย่างเงียบๆ) และ Anti-hustle culture (แอนตี้วัฒนธรรมคลั่งงาน/ต่อต้านการทำงานที่เร่งรีบ)

พฤติกรรมเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาตอบสนองโดยตรงต่อความเหนื่อยล้าจากการทำงานหนัก และความผิดหวังในงานของพนักงานจำนวนมาก พวกเขาทุ่มเทมากเกินไปเป็นเวลาหลายปีจนเกิดภาวะเบิร์นเอาท์ ในปัจจุบันวัยทำงานกำลังกำหนดขอบเขตใหม่ระหว่างงานและเวลาส่วนตัว พวกเขาปฏิเสธที่จะทำงานเกินขอบเขตโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ยุติธรรม และมุ่งเน้นไปที่การสร้างสมดุลในชีวิตมากกว่าการเสียสละชีวิตตนเองเพื่ออาชีพการงาน

ในขณะเดียวกัน ยังพบว่ามีการเคลื่อนไหวในรูปแบบอื่นๆ อีกมากมาย เช่น การทำงานและใช้ชีวิตแบบ FIRE (Financial Independence, Retire Early) หมายถึงคนทำงานที่พยายามจำกัดระยะเวลาทำงานให้น้อยลงโดยสิ้นเชิง อยากเกษียณอายุก่อนเกณฑ์ ไม่อยากใช้เวลาทั้งชีวิตไปกับการทำงาน

เทรนด์ WorkLessLiveMore มาแรง คนรุ่นใหม่ไม่ขอสละชีวิตเพื่องานอีกต่อไป

โดยกลุ่ม FIRE จะมุ่งเน้นไปที่กลยุทธ์การออมและการลงทุนครั้งละมากๆ โดยมุ่งหวังที่จะเกษียณอายุงานได้เร็วขึ้น ซึ่งสิ่งนี้ทำให้เกิดแรงผลักดันที่จะเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการทำงานในวงกว้าง นำมาซึ่งแฮชแท็กต่างๆ ในโลกออนไลน์ เช่น #WorkLessLiveMore #ActYourWage และ #RestIsProductive ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอยากมาก

การพูดคุยในประเด็นเหล่านี้ผ่านโลกออนไลน์สะท้อนถึงความปรารถนาของวัยทำงานยุคนี้ที่อยากได้ความสมดุลในการใช้ชีวิต เกิดเป็นแนวคิดใหม่เกี่ยวกับการประสบความสำเร็จ ผู้คนละทิ้งความคิดที่ว่า “ทำงานตลอดเวลาเท่ากับความสำเร็จ” แต่กลับหันมาสนับสนุนแนวทางที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้นทั้งในการทำงานและการใช้ชีวิต

โลกการทำงานใหม่ เน้นการกระจายความเสี่ยงและกำหนดรายได้-เวลาได้เอง

การเพิ่มขึ้นของธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs) การทำงานอิสระ และ GIG Economy แสดงให้เห็นว่าวัยทำงานรุ่นใหม่ต้องการควบคุมรายได้และเวลาทำงานของตนเองให้ได้ พนักงานจำนวนมากไม่พอใจกับการพึ่งพาผู้จ้างงานเพียงรายเดียวอีกต่อไป เพราะมองว่าไม่มีความมั่นคงทางการเงินเพียงพอ พวกเขาเน้นหาแหล่งรายได้อื่นๆ ทำอาชีพเสริม หรือเปิดธุรกิจขนาดเล็กเพื่อรักษาความเป็นอิสระและความยืดหยุ่นในชีวิตเอาไว้ แนวโน้มเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับตำแหน่งงานน้อยลง พวกเขาอยากสร้างชีวิตที่มีอิสระ มีความคิดสร้างสรรค์ และควบคุมชีวิตตนเองได้มากกว่าจะให้บริษัทมาควบคุม

ยุคแห่งการเสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อบริษัทได้สิ้นสุดลงแล้ว พนักงานในปัจจุบันคาดหวังว่าอาชีพการงานของตนจะสอดคล้องกับขอบเขตของชีวิตที่กว้างขึ้น การพักงานหรือหยุดทำงานสักระยะ (Gap Year) กลายเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้ในโลกการทำงานยุคใหม่ จากการสำรวจพบว่า วัยทำงานระดับผู้เชี่ยวชาญเกือบ 2 ใน 3 เคยหยุดพักงานในบางช่วง และอีกหลายคนก็วางแผนที่จะทำเช่นนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการตระหนักรู้ว่าประสบการณ์ชีวิต ไม่ใช่แค่มาจากการทำงานเท่านั้น แต่กิจกรรมอื่นๆ รอบตัวก็ล้วนมีส่วนสนับสนุนการเติบโตและทักษะของคนเรา

เทรนด์ WorkLessLiveMore มาแรง คนรุ่นใหม่ไม่ขอสละชีวิตเพื่องานอีกต่อไป

โคเฮน มองว่าโลกการทำงานในอนาคตจะเป็นยุคของ “การทำงานน้อยลง” เน้นการค้นหาวิธีการทำงานที่ยั่งยืนและมีความหมายกับชีวิต มากกว่าการสร้างสมดุลระหว่างอาชีพและชีวิตส่วนตัว พนักงานจะไม่ขอความยืดหยุ่น แต่จะเกิดการเรียกร้องให้ต้องมีสิ่งนี้เป็นพื้นฐาน พวกเขาไม่เต็มใจที่จะเสียสละชีวิตส่วนตัวเพื่อคำมั่นสัญญาเรื่องความมั่นคงในการทำงานในระยะยาวอีกต่อไป และพวกเขาก็ไม่พอใจที่จะไต่อันดับในองค์กรโดยไร้ความหมาย พวกเขาต้องการสร้างอาชีพโดยยึดตามวิถีชีวิตของตนเอง

ดังนั้น นายจ้างที่ไม่ตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงนี้และยังยึดติดกับรูปแบบการทำงานที่ล้าสมัย อาจเสี่ยงต่อการสูญเสียบุคลากร สูญเสียการมีส่วนร่วม และสูญเสียความสำเร็จในระยะยาว นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของการทำงานจากระยะไกลหรือไฮบริดเท่านั้น แต่เกี่ยวกับการสร้างค่านิยมใหม่ทางสังคมที่จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งบุคลากรและองค์กร

พนักงานที่ดีที่สุดของคุณ ตั้งใจทำงานให้บริษัทไม่ใช่เพราะพวกเขารู้สึกว่าต้องทำ ไม่ใช่เพราะโดนสั่งให้ทำ และไม่ใช่เพราะนายจ้างวัดผลพวกเขาจากผลงาน แต่พวกเขาทำงานนี้เพราะพวกเขาอยากทำ เพื่อความหมายบางอย่างหรือเพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายในชีวิตของพวกเขา