สิงคโปร์ ระบบบำนาญดีที่สุดในเอเชีย ได้เกรด B+ ส่วนไทยได้ C คะแนนต่ำรั้งท้าย

สิงคโปร์ ระบบบำนาญดีที่สุดในเอเชีย ได้เกรด B+ ส่วนไทยได้ C คะแนนต่ำรั้งท้าย

รายงานดัชนีเงินบํานาญทั่วโลกของ Mercer CFA Institute Global เผย “เนเธอร์แลนด์” ได้เกรด A ระบบบำนาญหลังเกษียณดีที่สุดในโลก ขณะที่ในเอเชียพบว่า “สิงคโปร์” มีระบบบำนาญดีที่สุด โดยได้เกรด B+ ส่วนไทยได้ C เกือบแย่สุด!

ปัจจุบันภาวะ ‘สังคมสูงวัย’ กำลังขยายวงกว้างไปทั่วโลก เด็กเกิดใหม่น้อยลง คนวัยแรงงานลดลง ส่วนคนแก่ก็อายุยืนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่น่ากังวลคือหลายประเทศกลับยังไม่มีมาตรการเตรียมรับมือปัญหาขาดแคลนแรงงาน และดูแลประชากรวัยเกษียณ ระบบบำนาญหลังเกษียณยังคงล้าสมัย แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายประเทศที่เร่งปรับปรุงระบบเกษียณใหม่ ให้สอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป

ล่าสุด.. มีรายงานจัดอันดับระบบบำนาญหลังเกษียณที่ดีที่สุดในโลก ประจำปีครั้งที่ 16 ซึ่งพิจารณาจากค่าดัชนีเงินบํานาญทั่วโลกของ Mercer CFA Institute Global Pension Index 2024 พบว่า “เนเธอร์แลนด์” ขึ้นแท่นอันดับ 1 เป็นประเทศที่ระบบเกษียณดีที่สุดในโลก ประเมินผลได้เกรด A มีค่าดัชนีโดยรวม 84.8 คะแนน รองลงมา คือ “ไอซ์แลนด์” ประเมินผลได้เกรด A มีค่าดัชนี 83.4 คะแนน และ “เดนมาร์ก” ประเมินผลได้เกรด A มีค่าดัชนี 81.6 คะแนน เป็นอันดับสองและสามตามลำดับ

กว่าจะได้ผลลัพธ์นี้มา ทีมวิจัยได้ตรวจสอบแหล่งที่มาของรายได้หลังเกษียณอายุจากภาครัฐและภาคเอกชนใน 48 ประเทศ ซึ่งครอบคลุม 65% ของประชากรโลก รวมถึงใช้ข้อมูลที่อัปเดตจาก OECD (องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ) และข้อมูลจากหน่วยงานระหว่างประเทศอื่นๆ ด้วย

จากนั้นนำมาวิเคราะห์และประเมินตามเกณฑ์พิจารณา 3 ข้อ คือ 1. ความเพียงพอของรายได้หลังเกษียณ ประชากรมีกำลังใช้จ่ายได้เหมาะสม 2. ความยั่งยืนของระบบเกษียณ สามารถส่งมอบต่อไปในอนาคตได้ 3. ความสมบูรณ์มั่นคงของระบบบำนาญหลังเกษียณที่สามารถเชื่อถือได้ และยังนำมาเทียบกับตัวชี้วัดอื่นๆ อีกมากกว่า 50 รายการ

สิงคโปร์ ขึ้นแท่นประเทศที่มีระบบบำนาญดีที่สุดในเอเชีย ส่วนไทยรั้งท้ายตาราง

อย่างไรก็ตาม เมื่อเจาะลึกลงไปในรายงานและดูเฉพาะกลุ่มประเทศในแถบเอเชีย พบว่า ประเทศที่มีระบบเกษียณดีที่สุดในเอเชีย คือ สิงคโปร์ ประเมินผลได้เกรด B+ มีค่าดัชนีรวม 78.7 คะแนน ขึ้นเป็นอันดับ 5 ของโลกบนชาร์ต ขณะที่ประเทศไทยมีระบบบำนาญหลังเกษียณไม่ดี ประเมินผลได้เกรด C มีค่าดัชนีรวม 50.0 คะแนน ได้อันดับ 43 ของโลกรั้งท้ายตาราง 

สำหรับผลประเมินระบบเกษียณของประเทศในโซนเอเชียทั้งหมด 12 ประเทศ มีการจัดอันดับ ประเมินเกรด และให้คะแนนค่าดัชนีรวม ดังนี้

สิงคโปร์   ได้เกรด B+ คะแนนรวม 78.7  อันดับ 5 ของโลก
ฮ่องกง    ได้เกรด C+  คะแนนรวม 63.9  อันดับ 25 ของโลก
จีน         ได้เกรด C+  คะแนนรวม 56.5  อันดับ 31 ของโลก
มาเลเซีย  ได้เกรด C   คะแนนรวม 56.3  อันดับ 32 ของโลก
ญี่ปุ่น      ได้เกรด C   คะแนนรวม 54.9  อันดับ 36 ของโลก
เวียดนาม  ได้เกรด C  คะแนนรวม 54.5  อันดับ 38 ของโลก
ไต้หวัน     ได้เกรด C  คะแนนรวม 53.7  อันดับ 39 ของโลก
เกาหลีใต้  ได้เกรด C  คะแนนรวม 52.2  อันดับ 41 ของโลก
อินโดนีเซีย ได้เกรด C คะแนนรวม 50.2  อันดับ 42 ของโลก
ไทย        ได้เกรด C  คะแนนรวม 50.0  อันดับ 43 ของโลก
ฟิลิปปินส์  ได้เกรด D  คะแนนรวม 45.8  อันดับ 46 ของโลก
อินเดีย     ได้เกรด D  คะแนนรวม 44.0  อันดับ 48 ของโลก

รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรเร่งแก้ปัญหาระยะยาวสำหรับผู้เกษียณอายุ ให้มีรายได้เพียงพอ

แพท ทอมลินสัน (Pat Tomlinson) ประธานและซีอีโอของ Mercer เปิดเผยว่า โลกของเราในปัจจุบันมีอัตราประชากรเกิดใหม่ลดลง ขณะที่ผู้สูงวัยก็มีอายุขัยที่ยืนยาวเพิ่มขึ้น ดังนั้นการจะดูแลประชากรในภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้นั้น “ระบบบำนาญหลังเกษียณ” ที่เหมาะสมจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง 

รัฐบาลประเทศต่างๆ ควรสร้างระบบรายได้หลังเกษียณของภาคเอกชนและภาครัฐให้สอดคล้องกันอย่างแน่นแฟ้น เพิ่มความคุ้มครองให้พนักงาน และสนับสนุนให้แรงงานสูงวัยมีส่วนร่วมในตลาดแรงงานมากขึ้น แม้จะอยู่ในวัยเกษียณแล้วก็ตาม เพื่อเป็นการแก้ปัญหาระยะยาวสำหรับผู้เกษียณอายุให้มีรายได้เพียงพอต่อการใช้ชีวิต ช่วยให้สมาชิกในระบบบำนาญได้มีรายได้และการเป็นอยู่ที่ดีที่สุด

ด้าน มาร์กาเร็ต แฟรงคลิน (Margaret Franklin) ประธานและซีอีโอของ CFA Institute กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่แผนการเกษียณอายุที่มีเงินสมทบกำหนดไว้อย่างชัดเจนนั้น นำมาซึ่งความท้าทายด้านการวางแผนการเงินมากมาย ซึ่งผู้เกษียณอายุในอนาคตจะต้องแบกรับภาระนี้เอง รายงานชิ้นนี้ถือเป็นเครื่องเตือนใจที่สำคัญเกี่ยวกับช่องว่างของระบบเกษียณที่ยังไม่เที่าเทียมกันในบางประเทศ และมันส่งผลต่อความมั่นคงทางการเงินระยะยาวของคนวัยเกษียณ 

ผู้สูงอายุควรได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี ได้ใช้ชีวิตหลังเกษียณอย่างดีมีคุณภาพ

เนื่องจากผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น แนวคิดเรื่องการเกษียณอายุกำลังเปลี่ยนแปลงไป หลายประเทศจึงเริ่มมีการปรับปรุงระบบจัดเก็บเงินเพื่อการเกษียณใหม่ให้มีความยืดหยุ่นมากว่าระบบเดิม คนวัยทำงานกลุ่มสูงวัยใกล้เกษียณจำนวนมากกำลังค่อยๆ ปรับตัวให้เข้ากับการเกษียณอายุแบบใหม่ เช่น การกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานในตำแหน่งอื่นหลังจากเกษียณอายุครั้งแรก 

“จำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบรายได้หลังเกษียณอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อตอบสนองความต้องการทางการเงินของผู้เกษียณอายุและความคาดหวังของการทำงานต่อไป ต้องใช้หลายๆ ยุทธวิธีในการแก้ปัญหานี้ เพื่อให้ระบบเกษียณอายุมีความมั่นคงมากขึ้น รัฐบาล ผู้กำหนดนโยบาย หน่วยงานผู้ดูแลเงินบำนาญ และนายจ้าง จะต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้แน่ใจว่าประชากรสูงอายุได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรี และสามารถใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างดีมีคุณภาพเหมือนกับตอนที่ยังทำงาน” ดร.เดวิด น็อกซ์ (David Knox) หุ้นส่วนอาวุโสของ Mercer อธิบาย

เมื่อผู้คนยุคนี้มีอายุยืนมากขึ้น และต้องใช้ชีวิตท่ามกลางภาวะอัตราดอกเบี้ยสูง และมีต้นทุนการดูแลสุขภาพตัวเองที่เพิ่มขึ้น ทําให้เกิดแรงกดดันต่องบประมาณของรัฐบาลเพื่อสนับสนุน “โครงการบํานาญวัยเกษียณ” ส่งผลให้ระบบบำนาญในภาพรวมทั่วโลกมีคะแนนลดลงเล็กน้อยในปีนี้ ตามรายงานระบุด้วยว่า ระบบบำนาญในหลายๆ ประเทศอย่างจีน เม็กซิโก อินเดีย และฝรั่งเศส ได้ดําเนินการปฏิรูปเงินบํานาญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา