ฮาวทูเตรียมสัมภาษณ์งานสุดปัง เพิ่มโอกาสเด็กจบใหม่คว้าความสำเร็จก้าวแรก
สัมภาษณ์งานยังไงให้ได้งาน? ฮาวทูเตรียมสัมภาษณ์ให้เป๊ะปัง เพิ่มโอกาสเด็กจบใหม่คว้าความสำเร็จได้ตั้งแต่ก้าวแรก หนึ่งในนั้นคือการ “สบตากับผู้สัมภาษณ์เสมอและสนทนาอย่างมีส่วนร่วม” แสดงให้เห็นถึงทักษะการสื่อสารที่ดี
KEY
POINTS
- ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากหลายบริษัทต่างพูดตรงกันว่า การสัมภาษณ์งานของเด็กจบใหม่ยุคนี้ค่อนข้างเป็นปัญหา บางคนไม่ได้เตรียมตัวเพื่อสัมภาษณ์งานเลย หรือประพฤติตัวไม่เป็นมืออาชีพ
- ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากหลายปัจจัย เพราะยุคดิจิทัลทำให้ผู้คนจำนวนมากไม่เก่งในการโต้ตอบแบบตัวต่อตัว ดังนั้นเด็กรุ่น Gen Z จึงรู้สึกไม่สบายใจกับการปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัว
- หากอยากประสบความสำเร็จหรืออยากได้งานจริง ก็ต้องเตรียมตัวให้ดีพอที่จะได้มันมาเช่นกัน ดังนั้น หากอยากมีงานทำก็ต้องลงมือเตรียมตัวสัมภาษณ์งานให้พร้อมจริงๆ เช่นกัน
“สบตากับผู้สัมภาษณ์เสมอและสนทนาอย่างมีส่วนร่วม” ทริกง่ายๆ ในการสัมภาษณ์งานที่เด็กจบใหม่หลายคนอาจไม่เคยรู้ แต่ภาษากายแบบนี้ทำให้หลายคนได้งานมาแล้ว ยืนยันจากเคสของ ‘เมแกน แรทเมลล์’ (Megan Rathmell) สาว Gen Z จบใหม่วัย 20 ปี ที่ไปสัมภาษณ์งานตำแหน่งผู้ช่วยทนายความ
แม้เจ้าตัวจะรู้สึกว่ายังเตรียมตัวได้ไม่ดีพอ จนกังวลว่าจะไม่ผ่านรอบสัมภาษณ์และพลาดงานนี้ไป แต่ไม่กี่วันต่อมาเธอก็ได้รับการติดต่อว่าเธอผ่านและได้งานนี้ในที่สุด โดยเจ้านายที่มาสัมภาษณ์เธอครั้งนั้นบอกว่า เป็นเพราะเธอโดดเด่นเรื่องการสบตาคู่สนทนา และใส่ใจระหว่างการพูดคุย ซึ่งสะท้อนถึงการมีทักษะการสื่อสารที่ดี และเขาไม่เคยเห็นคนรุ่นเดียวกันทำได้อย่างนี้มาก่อน ซึ่งนั่นทำให้แรทเมลล์ประหลาดใจมาก
ที่ผ่านมาผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคลจากหลายบริษัทต่างพูดตรงกันว่า การสัมภาษณ์งานของเด็กจบใหม่ยุคนี้ค่อนข้างเป็นปัญหา บางคนไม่ได้เตรียมตัวเพื่อสัมภาษณ์งานเลย บางคนประพฤติตัวไม่เป็นมืออาชีพในระหว่างการสัมภาษณ์งาน เช่น พาผู้ปกครองมาร่วมสัมภาษณ์งานแบบตัวต่อตัว หรือปฏิเสธที่จะเปิดกล้องในระหว่างการสัมภาษณ์ออนไลน์ รวมถึงการใช้ภาษาที่ไม่เหมาะสม แต่งกายไม่เป็นมืออาชีพ และมีปัญหาในการสบตากับคู่สนทนา
ดร.นาธาน มอนดรากอน (Nathan Mondragon) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายนวัตกรรมของ HireVue ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจ้างงาน สะท้อนความคิดเห็นว่า เด็กจบใหม่ยุคนี้ทำผลงานได้ค่อนข้างแย่ในการสัมภาษณ์งาน และพบเห็นได้บ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน แต่อย่างไรก็ตาม ปัญหาดังกล่าวอาจเกิดจากหลายปัจจัย เพราะยุคดิจิทัลทำให้ผู้คนจำนวนมากมีประสบการณ์ในการโต้ตอบแบบตัวต่อตัวน้อยลง ดังนั้น เด็กรุ่น Gen Z จึงรู้สึกไม่สบายใจกับการปฏิสัมพันธ์กันตัวต่อตัว
ขณะที่ สเตซี ฮัลเลอร์ (Stacie Haller) ที่ปรึกษาด้านอาชีพของแพลตฟอร์ม ResumeBuilder ให้ความเห็นว่า บางคนคิดว่าสามารถสัมภาษณ์งานได้แบบลวกๆ แต่ในความเป็นจริง หากอยากประสบความสำเร็จหรืออยากได้งาน ก็ต้องเตรียมตัวให้ดีพอที่จะได้มันมาเช่นกัน ดังนั้น หากอยากมีงานทำก็ต้องลงมือเตรียมตัวสัมภาษณ์งานให้พร้อมจริงๆ โดยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขาได้ให้คำแนะนำคนรุ่นใหม่เกี่ยวกับการเตรียมตัวในขั้นตอนต่างๆ ทั้งก่อนสัมภาษณ์งาน ระหว่างสัมภาษณ์งาน และหลังสัมภาษณ์งาน ดังนี้
วิธีการเตรียมตัวก่อนการสัมภาษณ์งาน
เริ่มจากคำแนะนำของ สเตซี ฮัลเลอร์ เธอบอกว่าก่อนที่คุณจะไปสัมภาษณ์งานแบบเจอหน้าตัวต่อตัว ต้องมั่นใจว่าเราโดดเด่นกว่าผู้สมัครคนอื่นๆ หลายร้อยคน และมีเวลาประมาณ 6 วินาทีในการดึงดูดความสนใจของนายจ้างหรือผู้ที่มาสัมภาษณ์คุณ โดยใช้ประวัติย่อของคุณ (Resume) ให้เป็นประโยชน์ เรซูเมของคุณควรเป็นเนื้อหาเพียงหน้าเดียวที่น่าดึงดูด ให้ข้อมูลชัดเจน และไม่ซับซ้อน ซึ่งเหมาะกับตำแหน่งงาน และเน้นย้ำว่าทำไมคุณถึงเป็นผู้สมัครที่ดีที่สุด
นอกจากนี้ผู้สมัครงานควรระมัดระวังในการขอคำแนะนำจากบุคคลอื่น หากคุณรู้จักบุคคลอื่นที่ทำงานในบริษัทนั้นๆ หรือในอุตสาหกรรมที่คล้ายคลึงกัน การปรึกษากับบุคคลเหล่านั้นก็อาจเป็นประโยชน์ได้ ไม่ควรขอคำแนะนำจากผู้ปกครองหรือเพื่อนวัยเดียวกัน เพราะพ่อแม่ไม่เคยสัมภาษณ์งานมานานหลายสิบปีแล้ว และเพื่อนของคุณก็อาจไม่ได้ทำงานในสายงานที่คุณกำลังสมัครงานอยู่ จากนั้นให้ทำตามขั้นตอนเหล่านี้ไปทีละอย่าง ได้แก่
1. ทำการค้นคว้า
ดร.นิโคลัส รูแล็ง (Nicolas Roulin) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กรจากมหาวิทยาลัย Saint Mary's ในแคนาดา อธิบายว่า ข้อผิดพลาดประการหนึ่งที่พบได้บ่อยคือ การที่ผู้สมัครถามคำถามถึงข้อมูลพื้นฐานของบริษัท ที่พวกเขาอาจค้นหาได้ง่ายๆ เพียงแค่ดูจากหน้าแรกของเว็บไซต์ของบริษัท นั่นแสดงให้เห็นว่าคุณไม่ได้ทำการบ้านมาอย่างดี และอาจไม่สนใจงานในบริษัทนั้นจริงๆ
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทให้ละเอียดถี่ถ้วน ต้องสามารถตอบคำถามได้ว่า “ทำไมคุณถึงอยากทำงานที่นี่” แสดงให้เห็นว่าคุณสามารถสนับสนุนค่านิยม วัฒนธรรม กลยุทธ์ เป้าหมาย และอื่นๆ ของบริษัทได้อย่างไร อีกทั้งควรหาข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่มาสัมภาษณ์คุณ จะช่วยให้คุณสามารถถามคำถามเชิงลึกเกี่ยวกับงาน เป้าหมาย และชีวิตของพวกเขาได้
2. เขียนคำตอบของคุณไว้ล่วงหน้า
ให้จินตนาการว่าในระหว่างการสัมภาษณ์ คุณจะต้องแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่าคุณเหมาะสมกับงานนี้ และสามารถปฏิบัติงานตามที่องค์กรคาดหวังได้ ลองฝึกเขียนเรื่องราวความสำเร็จของคุณสำหรับแต่ละข้อกำหนด โดยใช้เทคนิค STAR ซึ่งย่อมาจาก “สถานการณ์ ตัวงาน การดำเนินการ และผลลัพธ์” โดยกำหนดสถานการณ์ขึ้นมา งานที่ต้องทำให้สำเร็จ การดำเนินการที่คุณทำคนเดียวหรือร่วมกับทีมเพื่อดำเนินการดังกล่าว และผลลัพธ์ที่ควรจะเป็น
3. เตรียมคำถามไปถามคนที่มาสัมภาษณ์คุณด้วย
การเตรียมคำถามไปด้วยจะแสดงถึงความสนใจ แรงจูงใจ และความเอาใจใส่ รวมถึงทำให้ผู้สมัครรับรู้ว่าเรื่องไหนในการทำงานสำคัญกับคุณในฐานะพนักงาน ผู้เชี่ยวชาญแนะนำถึงตัวอย่างคำถามบางส่วนที่คุณสามารถฝึกฝนด้วยตัวเอง หรือนำไปใช้ในการสัมภาษณ์ได้จริง ได้แก่
- วันทำงานโดยปกติของที่นี่เป็นอย่างไร? แล้วสัปดาห์แรกๆ ในการเริ่มงานจะเป็นอย่างไร?
- นี่เป็นบทบาทใหม่หรือเคยมีคนทำอยู่ก่อนแล้วลาออกไป?
- คุณจะวัดความสำเร็จของพนักงานใน 3 เดือน, 6 เดือนได้อย่างไร
- การทำงานที่นี่มีข้อดีและความท้าทายอะไรบ้าง?
- มีโอกาสฝึกอบรมประเภทใดบ้าง?
- โอกาสในการเลื่อนตำแหน่งหลังจากผ่านไป 1 ปีเป็นอย่างไร?
- เป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวของคุณที่นี่คืออะไร?
วิธีการรับมือ-การตอบคำถาม ขณะสัมภาษณ์งานจริง
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ไม่ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์งานแบบตัวต่อตัวหรือแบบออนไลน์ก็ตาม การแต่งกายให้ดูเป็นมืออาชีพนั้นมีความสำคัญ ไม่ว่าจะนัดสัมภาษณ์งานในสถานที่ใดก็ตาม ผู้สมัครงานควรแต่งกายสุภาพให้เหมาะสมกับการทำงานจะดีที่สุด ไม่ควรสวมกางเกงยีนส์ กางเกงขาสั้น รองเท้าแตะ หรือเสื้อผ้าที่เปิดเผยมากเกินไป
ขณะที่ ฮัลเลอร์ ให้คำแนะนำเพิ่มว่า แม้วัฒนธรรมของบริษัทจะสบายๆ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าคุณควรแต่งตัวแบบเดียวกับพวกเขาในการสัมภาษณ์งาน เพราะพวกเขายังไม่รู้จักคุณ คุณต้องสร้างความประทับใจที่ดีตั้งแต่แรกเห็น เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณเป็นคนให้เกียรติและจริงจัง ในขณะเดียวกัน อย่าใส่สูททับเสื้ออีกสองชั้นจนเกินพอดีและดูไม่ทันสมัย
ในกรณีการสัมภาษณ์ตัวต่อตัวควรนำเอกสารที่คุณเตรียมไว้ทั้งหมดไปสัมภาษณ์งานด้วย แต่อย่าพาพ่อแม่ไปด้วย เพราะนั่นหมายถึงความไม่เป็นผู้ใหญ่และไม่มีความสามารถ สำหรับกรณีสัมภาษณ์งานออนไลน์ ควรเลือกสถานที่ที่ไม่มีเสียงรบกวน หลีกเลี่ยงพื้นที่สาธารณะ เช่น ร้านกาแฟ และจำไว้ว่าการปิดกล้องตอนสัมภาษณ์ถือเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และอาจสื่อว่าคุณกำลังปกปิดบางอย่างอยู่หรือไม่สบายใจที่จะพูดคุยกับผู้อื่น ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่น่ากังวล
หากคุณไม่มีคำตอบสำหรับคำถามใดๆ จากผู้สัมภาษณ์ ขอให้เขาหรือเธอช่วยสรุปคำถามใหม่อีกครั้ง หรือบอกไปว่า “ฉันไม่มีประสบการณ์มากนักกับประเด็นนั้น แต่ฉันสามารถเล่าให้คุณฟังเกี่ยวกับช่วงเวลาอื่นๆ ได้บ้าง” หรืออาจบอกว่าคุณต้องการโอกาสในการคิดคำตอบของคำถามนั้นอย่างจริงจังและขอตอบในภายหลัง สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าคุณปรับตัวและแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าได้
เมื่อคุณได้รับโอกาสให้ถามคำถาม ให้ถามเกี่ยวกับรายละเอียดการทำงาน วัฒนธรรมในที่ทำงานก่อน แล้วค่อยถามเกี่ยวกับเงินเดือน หรือผลประโยชน์จากการลาพักร้อน ไว้ในช่วงท้ายของการสัมภาษณ์ คำถามเหล่านี้มีความสำคัญต่อการอยู่รอดและคุณภาพชีวิตของคุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่น Gen Z ให้ความสำคัญมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องดี และอย่าลืมถามว่า หากคุณผ่านรอบสัมภาษณ์แล้วขั้นตอนต่อไปควรทำอย่างไร สิ่งนี้จะแสดงถึงความสนใจของคุณที่มีต่อบริษัทนี้อย่างจริงจัง
หลังการสัมภาษณ์งาน ควรติดต่อไปสอบถามผลบ่อยแค่ไหน?
ฮัลเลอร์บอกว่า ภายใน 24 ชั่วโมงหลังการสัมภาษณ์ ให้ส่งอีเมลจดหมายขอบคุณไปยังผู้ที่มาสัมภาษณ์คุณ เพื่อแสดงความขอบคุณสำหรับการเสียสละเวลาและโอกาสที่ผู้สัมภาษณ์มอบให้ แต่จงรู้ไว้ว่าข้อความนั้นเป็นมากกว่าจดหมายขอบคุณ แต่ยังเป็นการเตือนทางอ้อมว่าให้พิจารณาจ้างงานคุณด้วย
หากคุณได้รับการติดต่อให้สัมภาษณ์งานซ้ำอีกครั้ง หรือเสนอตำแหน่งงานใหม่ในบริษัทเดิม ให้ตอบกลับโดยเร็วที่สุด แม้ว่าคุณจะไม่สนใจอีกต่อไปแล้วก็ตาม แต่คุณควรแจ้งทางบริษัทให้ทราบโดยเร็วเช่นกัน นี่ถือเป็นการกระทำที่น่านับถือ และคุณคงไม่อยากทำลายโอกาสครั้งต่อๆ ไปหากคุณสนใจงานนี้อีกครั้งในอนาคต
อีกทั้งผู้สมัครงานไม่ควรโทรศัพท์ไปสอบถามผลการสัมภาษณ์เร็วเกินไป ให้รอจนกว่าทางบริษัทจะติดต่อมาก่อน หรือรอให้เวลาผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ก่อนจึงควรติดต่อไป หรือหากได้คำตอบว่ายังไม่ทราบผล ก็ให้โทรติดตามผลได้สัปดาห์ละครั้งอย่าถี่ไปกว่านี้ นอกจากนี้หากผ่านไปหนึ่งหรือสองเดือนแล้วไม่มีการตอบกลับจากนายจ้าง คุณก็ไม่ควรรออีกต่อไป และไม่มีใครควรเข้าทำงานกับบริษัทที่ปฏิบัติต่อพนักงานแบบนั้น