ค่าดูแลบุตร ลาเลี้ยงลูก สวัสดิการสำคัญที่ลูกจ้าง 94% ต้องการมากที่สุด
“ค่าดูแลบุตร ลาเลี้ยงลูก” สวัสดิการที่ลูกจ้าง 94% ต้องการจากนายจ้างมากที่สุด และ 3 ใน 4 ของพนักงานกลุ่มตัวอย่าง บอกว่าพร้อมจะเปลี่ยนบริษัทเพื่อให้ได้รับสวัสดิการครอบครัวที่ดีกว่า
KEY
POINTS
- พนักงานรุ่นใหม่จัดอันดับให้ “การลาแบบมีเงินเดือน” เป็นสวัสดิการที่สำคัญสูงสุดเมื่อเทียบกับสวัสดิการอื่นๆ ของพนักงาน ซึ่งสูงกว่าประกันสุขภาพเสียอีก
- สวัสดิการวันลาเพื่อเลี้ยงบุตร (โดยไม่ถูกหักเงินเดือน) เป็นสิ่งที่ลูกจ้างคาดหวังกับนายจ้างอย่างมาก และมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
- พนักงานกำลังมองหาข้อมูลเปรียบเทียบจากหลายๆ บริษัท เพื่อตัดสินใจว่าจะเปลี่ยนใหม่ดีหรือไม่? โดยพิจารณาจาก “สวัสดิการวันลาเพื่อเลี้ยงบุตร” เป็นหลัก
การเสนอสวัสดิการครอบครัวที่ดีให้แก่พนักงาน กลายเป็นจุดแข่งขันกันในธุรกิจและตลาดงานในปีนี้ โดยมีผลสำรวจจาก Ovia Health พบว่า พนักงาน 94% ระบุว่า สวัสดิการครอบครัวนั้น “สำคัญถึงสำคัญมาก” อีกทั้งเกือบ 3 ใน 4 ของพนังานกลุ่มตัวอย่าง ระบุว่า พวกเขาพร้อมจะเปลี่ยนบริษัทเพื่อให้ได้รับสวัสดิการครอบครัวที่ดีกว่า
ขณะเดียวกัน ผลสำรวจดังกล่าวพบด้วยว่านายจ้างกลับไม่มีสวัสดิการที่สอดคล้องกับความต้องการของพนักงาน โดยพนักงานกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 6 ใน 10 รายงานว่าพวกเขาไม่มองว่านายจ้างปัจจุบันเป็นมิตรกับครอบครัว และพนักงานมากกว่า 40% ให้คะแนนสวัสดิการครอบครัวของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ในปัจจุบันเท่ากับเกรด “C” หรือต่ำกว่า
จากข้อมูลข้างต้น ศาสตราจารย์มิเชลล์ ทราวิส (Michelle Travis) อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ และผู้อำนวยการโครงการกฎหมายแรงงานและความยุติธรรม แห่งมหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก วิเคราะห์ถึงประเด็นนี้ผ่าน Forbes ไว้ว่า นายจ้างหรือบริษัทที่ขาดการดูแลสวัสดิการด้านครอบครัวให้แก่พนักงาน อาจทำให้เสียเปรียบทางการแข่งขันได้ในปีหน้า ดังนั้น หากองค์กรอยากแข่งขันได้ มีภาพลักษณ์ที่ดี เพื่อดึงดูดแรงงานทักษะสูงให้มาร่วมงานได้นั้น จำเป็นต้องลงทุนในสวัสดิการด้านครอบครัวให้แก่พนักงานมากขึ้น
ศาสตราจารย์มิเชลล์ บอกด้วยว่าในปี 2568 การแข่งขันขององค์กรในแง่ของสวัสดิการพนักงานจะยิ่งดุเดือดกว่าปีนี้ โดยมีแนวโน้มสำคัญด้านสวัสดิการในที่ทำงาน 4 ประการ (สำรวจจากปี 2567) ที่คาดว่าลูกจ้างจะต้องการมากขึ้นจากนายจ้าง และใช้เป็นเกณฑ์ในการมองหางานใหม่ช่วงหลังปีใหม่ ดังนี้
พนักงานให้ความสำคัญกับ “วันลาแบบมีเงินเดือน” (มากกว่าที่นายจ้างคิด)
พนักงานรุ่นใหม่เป็นกลุ่มแรกที่จัดอันดับให้ “การลาแบบมีเงินเดือน” เป็นสวัสดิการที่สำคัญสูงสุดเมื่อเทียบกับสวัสดิการอื่นๆ ของพนักงาน ซึ่งสูงกว่าประกันสุขภาพเสียอีก ตามข้อมูลผลสำรวจของ MetLife ในปี 2024 พบว่า 69% ของพนักงานรุ่น Gen Z มองว่าการลาแบบได้เงินเดือนเป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องมี โดยเฉพาะวันลาเพื่อเลี้ยงลูก
สวัสดิการวันลาเพื่อเลี้ยงบุตร (โดยไม่ถูกหักเงินเดือน) กลายเป็นสิ่งที่ลูกจ้างคาดหวังกับนายจ้างอย่างมาก และมีความต้องการเพิ่มขึ้น พนักงานกำลังมองหาข้อมูลเปรียบเทียบเพื่อตัดสินใจว่าจะย้ายงานไปบริษัทใหม่ดีหรือไม่? โดยพิจารณาจาก “แผนการลาเพื่อเลี้ยงบุตร” เป็นหลัก โดยเฉพาะเมื่อผู้เลี้ยงดูไม่ใช่แม่ แต่เป็นพ่อ หรือพ่อแม่บุญธรรม หรือผู้ที่มีภาระเลี้ยงหลานตัวน้อยซึ่งไม่ใช่ลูกแท้ๆ ของตนเอง
อย่างไรก็ตาม นายจ้างหลายรายยังไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าของสวัสดิการนี้มากนัก การสำรวจที่จัดทำโดย Forbes Advisor ได้ขอให้พนักงานในสหรัฐอเมริกา ระบุถึงสวัสดิการที่พวกเขาให้ความสำคัญมากที่สุด แล้วนำมาเปรียบเทียบกับผลประโยชน์ที่นายจ้างมักเสนอให้พวกเขามากที่สุด ผลปรากฏว่า เกือบหนึ่งในสามระบุว่า การลางานโดยได้รับค่าจ้างเป็นสวัสดิการที่พวกเขาต้องการมากที่สุด แต่กลับไม่พบสวัสดิการนี้บรรจุอยู่ในรายการผลประโยชน์ที่นายจ้างจะมอบให้ลูกจ้าง
“พนักงานให้ความสำคัญกับการลาโดยได้รับค่าจ้างมากกว่าที่นายจ้างรับรู้” เดนนิส โอไรลลี ผู้เขียนรายงานหลักกล่าว บริษัทต่างๆ ที่สนใจดึงดูดบุคลากรที่มีความสามารถสูงจะต้องขยายข้อเสนอการลาโดยได้รับค่าจ้างในปี 2025
พนักงานคาดหวังสวัสดิการ ด้านการตั้งครรภ์-การลาคลอด จากบริษัทเพิ่มขึ้น
ในปี 2025 วัยทำงานกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z ซึ่งจะคิดเป็นประชากรส่วนใหญ่ของตลาดแรงงานในสหรัฐฯ กำลังมองหาสวัสดิการด้านการตั้งครรภ์-การลาคลอดเพิ่มขึ้นจากนายจ้าง ซึ่งจะส่งผลต่อการสรรหาและรักษาพนักงานขององค์กรมากขึ้น
จากการสำรวจของ HRC Fertility ในปี 2023 พบว่า พนักงานกลุ่มมิลเลนเนียลและ Gen Z กว่า 60% มองว่าสวัสดิการด้านการตั้งครรภ์-การลาคลอด มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการเลือกงานใหม่ นอกจากนี้ พนักงานยังต้องการความคุ้มครองด้านสุขภาพที่มากขึ้นสำหรับการดูแลก่อนคลอดและหลังคลอดอีกด้วย
จากการสำรวจของ Carrot Fertility และ RESOLVE พบว่าในช่วงต้นปี 2021 พนักงาน 88% ยินดีที่จะเปลี่ยนงานเพื่อรับสิทธิประโยชน์ด้านการตั้งครรภ์-การลาคลอด ขณะที่ในปี 2024 พบว่าพนักงานมีความต้องการสวัสดิการด้านการเจริญพันธุ์อื่นๆ เช่น การปฏิสนธิในหลอดแก้ว การทดสอบการเจริญพันธุ์สำหรับทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และบริการวินิจฉัยและการรักษาที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์อื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แนวโน้มนี้เกิดจากค่าใช้จ่ายด้านการดูแลสุขภาพสืบพันธุ์มีราคาแพงขึ้นในปัจจุบัน
ความคาดหวังของพนักงานต่อสวัสดิการด้านสุขภาพสืบพันธุ์ สอดคล้องกับการพัฒนากฎหมายในส่วนนี้ของนายจ้างในสหรัฐ โดยมีระเบียบของ “คณะกรรมการโอกาสการจ้างงานเท่าเทียมของรัฐบาลกลาง” ภายใต้ พ.ร.บ.ความยุติธรรมของแรงงานหญิงตั้งครรภ์ (มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2024) กำหนดให้นายจ้างในภาคเอกชนที่มีพนักงาน 15 คนขึ้นไป ต้องจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม ให้แก่พนักงานหญิงที่ได้รับผลกระทบจากการตั้งครรภ์ การคลอดบุตร หรือภาวะทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้อง เช่น การรักษาภาวะมีบุตรยากและการฟื้นตัวจากการแท้งบุตรด้วย เว้นแต่จะเกิดความยากลำบากอย่างไม่สมควร
จากการสำรวจของ Ovid พบว่าพนักงาน 53% ให้ความสำคัญกับการลาเพื่อชดเชยการสูญเสียการตั้งครรภ์เป็นอย่างมาก แต่มีเพียง 5% เท่านั้นที่มีสิทธิ์ได้รับสิทธิประโยชน์นี้ นายจ้างที่ตระหนักถึงความต้องการนี้กำลังเริ่มปรับเปลี่ยนนโยบายขององค์กรให้สอดคล้องกับความต้องการนี้ของพนักงานมากขึ้น ซึ่งบริษัทที่ใส่ใจเรื่องนี้อย่างจริงจัง จะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในปี 2025
สวัสดิการสำหรับวัยหมดประจำเดือนสำคัญไม่น้อย อาจชดเชยการขาดแคลนแรงงานได้
ผู้นำธุรกิจจึงควรใส่ใจและสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับพนักงานวัยหมดประจำเดือนให้มากขึ้น ตอนนี้ในสหรัฐอเมริกากำลังเกิดการเคลื่อนไหวครั้งใหญ่ของพนักงานหญิง ที่ต้องการขจัดอคติต่อวัยหมดประจำเดือน และเรียกร้องให้มีการสนับสนุนจากที่ทำงานมากขึ้นสำหรับพนักงานหญิงกลุ่มนี้
ตามข้อมูลของกระทรวงแรงงาน ระบุว่าพนักงานหญิงที่มีอายุระหว่าง 45-64 ปี คิดเป็นเกือบ 20% ของแรงงานในสหรัฐอเมริกา ผู้หญิงเหล่านี้อยู่ในช่วงรุ่งโรจน์ที่สุดของอาชีพการงาน ขณะที่จำนวนแรงงานที่อายุน้อยในสหรัฐอเมริกากำลังลดจำนวนลงอย่างมาก (ขาดแคลนแรงงานวัยหนุ่มสาวเพราะคนเกิดใหม่น้อยลง) พนักงานหญิงวัยหมดประจำเดือนจึงกลายเป็นส่วนสำคัญขององค์กรที่นายจ้างไม่ควรมองข้าม
Society for Human Resource Management ได้ทำการสำรวจเกี่ยวกับผลประโยชน์ของพนักงานวัยหมดประจำเดือนเป็นครั้งแรก ซึ่งเป็นหนึ่งในการสำรวจด้านสวัสดิการของพนักงานประจำปี ที่ดำเนินการมายาวนานที่สุดในสหรัฐอเมริกา ผลสำรวจพบว่า หากผลักดันให้สวัสดิการนี้มีขึ้นในวงกว้างจะมีผลดีต่อทั้งสองฝ่าย โดยฝั่งนายจ้างจะได้รับประโยชน์มากมายต่อองค์กร เช่น ช่วยปรับปรุงการสรรหาพนักงานใหม่, สามารถรักษาพนักงานเดิมไว้ได้ดีขึ้น, ภาพลักษณ์องค์กรดีขึ้น, เพิ่มผลผลิต, ลดการขาดงาน และส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและความเป็นผู้นำของผู้หญิง
อีกทั้งการสร้างสถานที่ทำงานที่เป็นมิตรต่อวัยหมดประจำเดือน จะช่วยลดความเสี่ยงจากการฟ้องร้องทางกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกปฏิบัติ และการไม่อำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องกับวัยหมดประจำเดือน
พนักงานอยากให้สวัสดิการด้านครอบครัวของบริษัท มีความโปร่งใสมากขึ้น
เนื่องจากพนักงานต้องการสวัสดิการด้านครอบครัวเพิ่มมากขึ้น ความโปร่งใสขององค์กรในการดูแลสวัสดิการเหล่านี้ จึงกลายเป็นสิ่งที่พนักงานจึมองหามากขึ้นตามไปด้วย เพราะที่ผ่านมายังพบว่าหลายๆ บริษัทจ่ายค่าจ้างให้พนักงานชายและพนักงานหญิงไม่เท่าเทียมกัน และเกิดการเรียกร้องให้องค์กรมีความโปร่งใสในการจ่ายเงินค่าจ้าง รวมถึงสวัสดิการต่างๆ ด้วย
แม้ว่าเมืองต่างๆ ในสหรัฐได้ผ่านกฎหมายที่กำหนดให้ผู้จ้างงานต้องเปิดเผยช่วงเงินเดือนและอัตราเงินเดือนแก่พนักงานปัจจุบันและพนักงานใหม่ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครงาน แต่กฎหมายเหล่านี้ไม่ได้กำหนดให้ผู้จ้างงานต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงาน ซึ่งคิดเป็นประมาณ 30% ของเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานทั้งหมด ตามข้อมูลของสำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา
“ความโปร่งใสกำลังกลายเป็นส่วนสำคัญของการจ้างงานยุคนี้ ความโปร่งใสดังกล่าวไม่ใช่แค่เรื่องเงินเดือนเท่านั้น แต่ต้องขยายขอบเขตไปถึงเรื่องสวัสดิการของพนักงานด้วย หากไม่มีความโปร่งใสเรื่องนี้ พนักงานก็ไม่สามารถเปรียบเทียบข้อมูลและตัดสินใจได้อย่างถูกต้องว่าตนเองควรจะทำงานที่ไหน” ซาแมนธา พรินซ์ (Samantha Prince) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยเพนน์สเตต วิทยาเขตดิกกินสัน อธิบาย
นอกจากนี้ยังมีผลวิจัยอีกชิ้นที่แสดงให้เห็นว่าความโปร่งใสคือสิ่งที่พนักงานมองหามากที่สุด โดย ฮิลลารี คุกเลอร์ (Hillary Cookler) นักศึกษาปริญญาเอกและนักวิจัยจาก UCLA Anderson School of Management ได้ทำวิจัยและจัดอันดับบริษัทมหาชนที่ใหญ่ที่สุด 500 แห่งในสหรัฐอเมริกา ที่มีความโปร่งใสและมีสวัสดิการวันลาเพื่อเลี้ยงดูบุตรแบบมีเงินเดือนที่ดีที่สุด (จากฐานข้อมูลออนไลน์ในปี 2024)
จากการวิจัยพบว่า หากบริษัทใดที่มีความโปร่งใสต่อสาธารณชนสูง ก็มักจะเสนอสวัสดิการ “วันลางานเพื่อเลี้ยงดูบุตร” ที่มากกว่าบริษัทอื่น ดังนั้นผู้สมัครงานที่ให้ความสำคัญกับการลาเพื่อเลี้ยงดูบุตร ย่อมมองหางานในองค์กรที่มีความโปร่งใสสูง และพวกเขามองว่าหากบริษัทใดขาดความโปร่งใสก็เป็นสัญญาณเตือนว่าบริษัทนั้นขาดสวัสดิการด้านครอบครัวที่ดี
อีกทั้งพนักงานอาจมองว่า การขาดความโปร่งใส คือ การขาดความมุ่งมั่นในการรักษาสมดุลระหว่างงานและครอบครัว ซึ่งสวัสดิการของพนักงานถือเป็น “ตัวบ่งชี้คุณค่าของบริษัท” ดังนั้น บริษัทที่ติดตามเทรนด์สวัสดิการระหว่างงานและครอบครัวอย่างต่อเนื่องสามารถส่งสารอันทรงพลังเพื่อช่วยดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ได้ในปีหน้าและปีต่อๆ ไป