5 เทคนิคตั้งตัวชี้วัดชีวิตให้ประสบความสำเร็จ

5 เทคนิคตั้งตัวชี้วัดชีวิตให้ประสบความสำเร็จ

ช่วงนี้เราเห็นข่าวคนดังหลายคนถูกดำเนินคดี เพื่อนผมจึงโพสต์ถึงหนังสือที่ส่วนหนึ่งกล่าวถึงเพื่อนนักธุรกิจของผู้เขียนที่มีชื่อเสียงและดูเหมือนอนาคตสดใส แต่ปลายทางกลับต้องเข้าคุก สาเหตุหนึ่งมาจากการโอนอ่อนของตัวเองด้วยคำว่า “ขัดหลักการครั้งเดียวคงไม่เป็นไร”

ใน “How will you measure your life?” เขียนโดย Clayton M. Christensen นักธุรกิจ-นักวิชาการที่ทรงอิทธิพลระดับโลกและป่วยเป็นมะเร็งขณะเขียนเรื่องนี้ ผมจึงขออนุญาตดึงส่วนที่ประทับใจมา Remix กับมุมมองและประสบการณ์ส่วนตัวในบทความนี้ครับ

ตั้งเป้าให้ชัด พร้อมกำหนดน้ำหนักที่ชัดเจน

เมื่อถามถึงความสำเร็จในชีวิตในวงสนทนาต่างๆ ผมพบว่าส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับความสำเร็จด้านการเงินมาเป็นอันดับแรก ทั้งการเพิ่มสินทรัพย์ เพิ่มความมั่นคง ส่วนอันดับถัดมามักเป็นความสำเร็จด้านการงาน ทั้งการมีตำแหน่งสูง อำนาจบารมี จนไปถึงการมีหน้ามีตาในสังคมทั้งออฟไลน์และออนไลน์

คนที่มองเป้าหมายเดียวคือ “เงิน” หรือให้น้ำหนักกับเป้าอื่นๆ ต่ำกว่ามาก ผมพบว่ามักจะมุ่งใช้เวลากับการเพิ่มทรัพย์สินอย่างไม่มีวันจบสิ้น สำเร็จแล้วก็ขยับเป้าเดิมสูงขึ้นอีก บางคนแม้หลักการของตัวเองก็ถูกยกเว้นบ่อยครั้ง เริ่มจากโอนอ่อนให้กับกิจกรรมสีเทาจนไปสู่ธุรกิจสีเทาเข้มขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนที่ให้น้ำหนักกับเป้าที่สองที่สามก็จะมีเงื่อนไขที่ยากขึ้น เพราะต้องคำนึงถึงเป้าอื่นด้วย เช่น การมีหน้าตาในสังคมระยะสั้น-ระยะยาว ความสำเร็จด้านความสัมพันธ์ ครอบครัว สุขภาพ การพัฒนาตนเอง จนไปถึงความสำเร็จด้านจิตวิญญาณตามความเชื่อของตน ซึ่งคนที่เป้าเยอะ แม้จะต้องใช้ชีวิตอย่างระมัดระวังมากขึ้น เพราะจะตัดสินใจทำอะไรก็ต้องมองหลายมิติ แต่สิ่งที่ประสบความสำเร็จมีโอกาสที่จะยั่งยืนมากกว่า

ในขณะที่การตั้งเป้าด้าน “การสร้างผลกระทบกับผู้อื่นในเชิงบวก” (Create positive impacts on others) ได้รับการพิสูจน์แล้วว่าเป็นหนึ่งในเป้าที่จับต้องได้ดีและเห็นผลชัดเจน (ผลในที่นี้หมายถึง Impact ที่เกิดกับคนอื่นนะครับ ไม่รวมถึงที่กลับมาตอบแทนคนทำ) ทุกคนสามารถทำได้ในขอบเขตหน้าที่ที่ตัวเองใช้ชีวิตอยู่ทุกวัน และพบว่าคนใกล้ตายหลายคนสรุปตรงกันว่า นี่คือการตั้งเป้าหมายที่ถูกต้องของชีวิต

จัดสรรทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพ

ทรัพยากรหลักที่ทุกคนมีคือ เวลา (Time) พลังงาน (Energy) และความสามารถ (Talent) ซึ่งต้องจัดสรรไปกับกิจกรรมต่างๆ ที่จะทำให้เราไปถึงทุกเป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างสมดุลตามลำดับความสำคัญ โดยคนที่ล้มเหลวมักเกิดจากการเพลิดเพลินกับความสำเร็จระยะสั้น จนหลงลืมที่จะจัดสรรไปกับสิ่งที่จะพาไปถึงเป้าระยะยาว

สร้างวัฒนธรรมเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริม

การสร้างวัฒนธรรมในทุกที่ที่เราใช้ชีวิต ซึ่งเริ่มได้จากในครอบครัว หน่วยงาน จนไปถึงองค์กรที่เรามีส่วนร่วม จะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ช่วยส่งเสริมความสำเร็จของชีวิตที่ตั้งเป้าไว้ได้ ตามหลักแล้ววัฒนธรรมจะเกิดขึ้นได้ ต้องเริ่มจากคนหนึ่งส่งไปสู่คนรอบตัวในการเริ่มให้คุณค่ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนนำไปสู่ค่านิยมที่ยั่งยืนมากขึ้นจนเป็นวัฒนธรรม เช่น ให้ค่ากับการตรงต่อเวลา การเคารพความเห็นซึ่งกันและกัน การเรียนรู้ความผิดพลาด หลักการใดที่ทุกคนควรยึดมั่น จนไปถึงการสร้างกิจกรรมร่วมกันที่มีคุณภาพเช่น การทานอาหาร และออกกำลังด้วยกัน

เทคนิคที่ทำให้เกิดวัฒนธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จคือ การตั้งเป้าหมายและวิธีการร่วมกัน ออกแบบค่านิยมที่จะส่งเสริมให้ไปถึงเป้านั้นให้ชัดเจน (อย่าให้เกิดโดยบังเอิญโดยไม่มีทิศทาง) เรียนรู้-ปรับเพื่อให้เกิดความสำเร็จขึ้นซ้ำๆ และสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่องจากสมาชิกที่เกี่ยวข้อง

ผิดหลักการ “แค่ครั้งเดียว ก็ไม่ได้”

หนึ่งในบทเรียนที่มีคุณค่ามากที่สุดคือ เมื่อได้วางหลักการของตัวเองแล้ว (Personal Principles) อย่าประนีประนอมในสิ่งที่ขัดกับหลักการ แม้จะดูเหมือนเล็กน้อย แต่การโอนอ่อนแม้เพียงครั้งเดียว ก็อาจเปิดให้เกิดการทำซ้ำๆ จนนำไปสู่ความล้มเหลวในที่สุด

การยึดมั่นในหลักการของตนช่วยสร้างความมั่นคงในจิตใจและเป็นแนวทางให้กับการตัดสินใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เช่น หากเรามีหลักการในการทำงานอย่างซื่อสัตย์และยุติธรรม แม้จะมีแรงกดดันมาก แต่เรายังสามารถยืนหยัดในสิ่งที่เชื่อมั่นว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จในเป้าหมายระยะยาวได้

ตั้งตัวชี้วัดให้สัมพันธ์กับเป้าหมาย

ตัวชี้วัดที่ผิดจะนำสู่การตัดสินใจที่ผิด ในฐานะนักข้อมูลผมจึงมองว่าขั้นตอนนี้สำคัญที่สุดโดย

  1. ระบุสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิต: เช่น การเงิน การงาน ความสัมพันธ์ สุขภาพ จนไปถึงการสร้างผลกระทบกับผู้อื่น ฯลฯ ซึ่งแต่ละคนจะเรียงลำดับนี้ต่างกัน
  2. เลือกตัวชี้วัดให้สัมพันธ์กับเป้าหมาย หรือสะท้อนคุณค่าที่เรายึดถือ: อย่าไขว้เขวกับคุณค่าของคนอื่น เพราะความสำคัญและตัวชี้วัดของแต่ละคนต่างกัน
  3. หลีกเลี่ยงตัวชี้วัดที่มุ่งเฉพาะผลระยะสั้น: เพราะจะทำให้ละเลยเป้าหมายระยะยาว ซึ่งผมพบว่าหลายคนที่เวลาผ่านไปแล้วพูดคำว่า “รู้งี้” เกิดจากเหตุผลนี้กันเยอะ
  4. ประเมินและปรับปรุงตัวชี้วัดอย่างต่อเนื่อง: ทบทวนตัวชี้วัดเพื่อให้แน่ใจว่ายังคงสอดคล้องกับเป้าหมายในชีวิต ซึ่งหากพบว่าตัวชี้วัดเดิมไม่เหมาะสม ก็ปรับเป็นตัวใหม่

แนะนำให้ลองอ่าน “ปรัชญาปัญญาชีวิต” โดย คุณภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ที่เป็นฉบับแปลไทยซึ่งเพิ่มทฤษฏีธุรกิจที่ถูกอ้างอิงจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ แล้วนำมา Remix เป็นเทคนิคส่วนตัวสำหรับวัดผลชีวิตกันดูนะครับ