ยิ่งดูแลลูกจ้างดี ก็ยิ่งรวย! 54% ขององค์กรที่มีสวัสดิการดี พบอัตรากำไรพุ่ง

ยิ่งดูแลลูกจ้างดี ก็ยิ่งรวย! 54% ขององค์กรที่มีสวัสดิการดี พบอัตรากำไรพุ่ง

ยิ่งดูแลลูกจ้างดี ก็ยิ่งรวย! 54% ขององค์กรที่มีสวัสดิการพนักงานดี พบอัตรากำไรสูง-มูลค่าบริษัทโตแรง ตรงกันข้าม หากบริษัทไม่เคารพสิทธิ์ ไม่ยืดหยุ่น พนักงานก็พร้อมลาออกแม้เงินเดือนสูง

KEY

POINTS

  • วิจัยจากอาจารย์ ม.ฮาร์วาร์ด เผย 54% ขององค์กรที่มีสวัสดิการพนักงานดี พบอัตรากำไรสูง-มูลค่าบริษัทโตแรง
  • ตรงกันข้าม หากบริษัทไม่เคารพสิทธิ์พนักงาน พวกเขาก็พร้อมลาออกแม้เป็นงานเงินเดือนสูง แล้วเปลี่ยนไปหางานที่มีความหมาย และยืดหยุ่นมากกว่า
  • คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับงานที่มีความหมาย-มีเป้าหมาย มากกว่างานเงินเดือนสูง (แต่ต้องขายวิญญาณ) พวกเขาต้องการมีสิทธิ์มีเสียง คาดหวังจะได้รับการเคารพจากบริษัท

ค่านิยมของมนุษย์ออฟฟิศเมื่อ 20 ปีที่แล้วแตกต่างจากยุคนี้อย่างสิ้นเชิง ในอดีตพนักงานออฟฟิศจะรู้สึกซาบซึ้งต่อบริษัทและยินดีกับเงินเดือนที่ได้มา พวกเขาไม่ตั้งคำถามกับผู้มีอำนาจในองค์กร ก้มหน้าก้มตาทำงาน ด้วยเชื่อว่าหากไม่ย่อท้อและอดทนก็จะประสบความสำเร็จ แต่มาในปี 2024 พนักงานยุคนี้คาดหวังจากนายจ้างมากกว่าเงินเดือน

สมัยนี้ “เงินเดือน” ไม่ได้เป็นเรื่องของบุญคุณอีกต่อไป พนักงานต้องการทำงานที่มีจุดมุ่งหมายชัดเจน และคาดหวังให้นายจ้างใส่ใจพวกเขาอย่างเต็มที่ในฐานะมนุษย์ ซึ่งหากบริษัทใดตอบโจทย์นี้ได้ ก็จะยิ่งเติบโตก้าวหน้ามากกว่าคู่แข่ง ยืนยันจากงานวิจัยของ Future Forward Institute ที่ค้นพบความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่าง “แนวทางปฏิบัติที่เน้นพนักงานเป็นศูนย์กลางในที่ทำงาน” และ “การเติบโตทางการเงินของบริษัท (รายได้-กำไร)” 

ดร.แองเจลา แจ็คสัน (Angela Jackson) ผู้ก่อตั้ง Future Forward Institute และอาจารย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้แชร์รายงานผลการวิจัยครั้งนี้ผ่าน Forbes ไว้ว่า การที่พนักงานและนายจ้างร่วมมือกันได้อย่างดี จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งสองฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรใดที่ให้พนักงานเป็นศูนย์กลาง นั่นคือข้อได้เปรียบของการแข่งขันทางธุรกิจในปัจจุบัน

ดร.แองเจลา บอกอีกว่า มีปัจจัยหลัก 3 ประการที่ทำให้องค์กรที่เน้นพนักงานเป็นศูนย์กลาง กลายเป็นองค์กรธุรกิจที่แข็งแกร่งได้มากกว่า ได้แก่ 1. คนรุ่นใหม่มีอำนาจมากขึ้น 2. พนักงานมีทางเลือกมากขึ้น 3. ความสัมพันธ์นายจ้าง-ลูกจ้างที่แน่นแฟ้นกลมเกลียว

ปัจจัยด้านการผลัดรุ่นของวัยทำงาน: พนักงานคนรุ่นใหม่มีอำนาจมากขึ้น

อย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันมีหลายๆ องค์กรกำลังประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน พนักงานเดิมเกษียณอายุในอัตรารวดเร็ว จนบริษัทหาคนใหม่มาทดแทนไม่ทัน สำหรับบริษัทที่เน้นพนักงานเป็นศูนย์กลาง จะรับมือปัญหานี้ได้ดีกว่า เพราะพวกเขาตระหนักว่าสมัยนี้เกิดการผลัดรุ่นของวัยทำงานรวดเร็วกว่ายุคก่อนๆ มาก อีกทั้งรู้ดีว่าจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนองค์กรให้สอดคล้องกับความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของคนรุ่นใหม่ให้เร็วขึ้น

บริษัททั่วไปมักจะเกิดการแย่งชิงอำนาจระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง แต่บริษัทหัวสมัยใหม่ที่เน้นพนักงานเป็นศูนย์กลาง มักจะกระจายอำนาจจากนายจ้างสู่พนักงานอย่างเท่าเทียมกัน ยกเลิกโครงสร้างลำดับชั้นตามสายบังคับบัญชา แต่เสริมอำนาจให้กับพนักงานผ่านการเป็น “ผู้นำที่มีส่วนร่วม”

ปัจจัยด้านทางเลือกในอาชีพการงาน: พนักงานยุคนี้มีทางเลือกทางอาชีพมากขึ้น

คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับงานที่มีความหมาย-มีเป้าหมาย มากกว่างานเงินเดือนสูงแต่ต้องขายวิญญาณตนเอง นั่นหมายความว่า พวกเขายินดีที่จะสละผลประโยชน์แบบเดิมๆ เพื่อประสบการณ์การทำงานซึ่งได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดี พวกเขาต้องการมีสิทธิ์มีเสียง คาดหวังว่าจะได้รับการเคารพ พวกเขาก็ให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและความไว้วางใจที่พวกเขาทำผลงานได้ดีที่สุด (ตามเงื่อนไขของพวกเขาเองมากกว่าของนายจ้าง)

“โลกการทำงานยุคนี้ เราจะเห็นพนักงานศักยภาพสูงเปลี่ยนไปทำงานในองค์กรอื่นที่สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ และค่านิยมของพวกเขามากกว่า นายจ้างที่ปฏิเสธความเปลี่ยนแปลง พวกเขาจะสูญเสียบุคลากรที่มีความสามารถสูง หากองค์กรต้องการให้พนักงานมีทัศนคติที่เป็นเจ้าของ ก็ต้องเปิดใจและปรับตัวตามยุคสมัย” ดร.แองเจลา อธิบาย และบอกว่า หากพนักงานรู้สึกว่าองค์กรไม่ใส่ใจในความเป็นอยู่ของพวกเขา จะส่งผลให้ทั้งพนักงานและนายจ้างต้องสูญเสียผลประโยชน์

ปัจจัยด้านความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่ง: นายจ้าง-ลูกจ้างที่กลมเกลียวกัน ส่งผลลัพธ์ที่ดีทางธุรกิจ

บริษัทที่เน้นพนักงานเป็นศูนย์กลางจะประสบความสำเร็จมากกว่า ซึ่งเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้จริง ตามการศึกษาวิจัยของ ดร.แองเจลา พบว่า 

- 55% ของบริษัทที่มีการส่งเสริมความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันอย่างโดดเด่น มักเป็นบริษัทที่มีมูลค่าแข็งแกร่ง
- 51% ของบริษัทที่มีความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันอย่างแข็งแกร่ง มีกำไรสูงขึ้นจากยอดขาย
- 54% ของบริษัทที่มีนวัตกรรมด้านสวัสดิการพนักงานที่ดี รายงานว่ามีอัตรากำไรที่สูงขึ้น
- 56% ของบริษัทที่ปรับปรุงสวัสดิการพนักงานใหม่ แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการประเมินมูลค่าที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ แนวทางสำคัญขององค์กรที่บริหารงานแบบให้พนักงานเป็นศูนย์กลาง มักจะมีกรอบการทำงานแบบ Win-Win ซึ่งสิ่งนี้มีความสัมพันธ์กับผลลัพธ์ทางธุรกิจ ทำให้ธุรกิจเติบโตก้าวหน้า ยอดขายพุ่ง กำไรสูง โดยกรอบการทำงานดังกล่าวมีหลักสำคัญ 5 ข้อ คือ

1. ความเปิดกว้างในการรับฟัง (มากกว่าแค่กล่องข้อเสนอแนะ)
2. การตัดสินใจแบบครอบคลุม (จัดสรรเวลาและใช้เทคโนโลยีมากขึ้น)
3. ความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกัน (นายจ้างให้บริการแก่ลูกจ้าง)
4. วัฒนธรรมความเป็นเจ้าของ (พนักงานเป็นศูนย์กลาง)
5. การสร้างท่อส่งบุคลากรที่มีความสามารถอย่างลึกซึ้ง (คัดกรองคนเข้าหรือคนออก)

ปรับแนวคิดเพียงเล็กน้อย แต่สร้างความแตกต่างครั้งใหญ่ (ในแง่รายได้) ให้บริษัทได้

สำหรับผู้นำองค์กร หากไม่แน่ใจว่าบริษัทของตนมีกรอบการทำงานแบบ Win-Win หรือไม่ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ตรวจสอบจากหลักการทำงาน 5 ข้อดังกล่าวข้างต้น แล้วดูว่าคุณเห็นพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นที่ทำงานบ่อยเพียงใด

ในฐานะผู้นำที่มีเจตนาดี คุณจะรู้ได้อย่างรวดเร็วว่า “ควรทำอะไร” เพื่อปรับปรุงแก้ไข และตอนนี้ “กำลังทำอะไรอยู่” จงซื่อสัตย์กับตัวเอง

ท้ายที่สุด ทีมวิจัยเน้นย้ำว่าการดำเนินการปรับปรุงวัฒธรรมองค์กรหรือกรอบการทำงานแม้เพียงเล็กน้อย ก็จะสามารถสร้างความแตกต่างครั้งใหญ่ในชีวิตของพนักงานและสร้างผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรมให้กับบริษัทได้ องค์กรที่เน้นพนักงานเป็นศูนย์กลาง ย่อมสร้างผลลัพธ์ทางธุรกิจที่แข็งแกร่งกว่าองค์กรที่ไม่ยอมปรับตัว (ตามโลกยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว) ได้แน่นอน