มีความสุขในงานลดลง พนักงาน 76% เผยทำงานเกินหน้าที่ เงินเดือนไม่ขยับ
เปิดผลสำรวจใหม่ล่าสุดจาก Pew Research Center ปี 2024 วัยทำงานในสหรัฐมีความสุขในงานลดลง เมื่อเทียบกับปี 2023 และ 76% ของพวกเขาชี้ว่าทุกวันนี้ตนเองทำงานเกินหน้าที่
KEY
POINTS
- ผลสำรวจใหม่ล่าสุดของ Pew ชี้ ปีนี้วัยทำงานพึงพอใจในงานของตนเองลดลง เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยสาเหตุหลักมาจากความยืดหยุ่นหายไป ไม่มีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง เงินเดือนไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ
- ในแง่ของ “โอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนาตนเอง” ผลสำรวจก็พบเช่นกันว่า วัยทำงานมีความพึงพอใจในด้านนี้ลดลงเช่นกัน ส่วนหนึ่งเพราะนายจ้างไม่สนับสนุน
- ความกังวลใจด้านเงินเดือนของพนักงาน แบ่งย่อยได้เป็น เงินเดือนไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ (80%), ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าคุณภาพงาน (71%), ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าปริมาณงาน (70%)
ความสุขในการทำงานสำหรับบางคน อาจไม่ได้มาจากการได้ทำงานที่รัก หรือได้ทำงานในองค์กรชื่อดัง หรือได้ทำงานที่ทีความหมาย แต่อาจมาจากการได้เงินเดือนที่สมเหตุสมผลกับค่าครองชีพ เพื่อให้อยู่รอดในยุคข้าวยากหมากแพง!
ยืนยันจากผลสำรวจใหม่ล่าสุดของ Pew Research Center ซึ่งเพิ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 10 ธันวาคมที่ผ่านมา โดยสำรวจความเห็นวัยทำงานชาวอเมริกัน (5,273 คน) เกี่ยวกับความพึงพอใจต่ออาชีพการงานในปี 2024 พบว่า มีวัยทำงานเพียงครึ่งหนึ่งเท่านั้นที่พึงพอใจในงานของตนเอง ส่วนอีกครึ่งคือกลุ่มที่ไม่พึงพอใจในงาน ซึ่งหนึ่งในสาเหตุหลักคือไม่มีความสุขกับเงินเดือนที่ได้รับ
เมื่อเจาะลึกไปในกลุ่มพนักงานที่บอกว่าพอใจในงานของตนอย่างมาก ก็พบว่าปีนี้มีสัดส่วนต่ำลงกว่าปีที่แล้ว (โดยปีนี้อยู่ที่ 30% ลดลงจาก 34% เมื่อปีที่แล้ว) และเมื่อถามถึงความพึงพอใจในแง่ของ “โอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนาตนเอง” ก็พบว่าปีนี้วัยทำงานส่วนใหญ่พึงพอใจเรื่องนี้ลดลงเช่นกัน เมื่อเทียบกับปี 2023
โดยจากตัวชี้วัด 7 จาก 9 รายการที่ Pew สำรวจเมื่อปีที่แล้ว พบว่าสัดส่วนของพนักงานที่บอกว่าพึงพอใจมากนั้นลดลง 3-7% ยกตัวอย่างเช่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2023 Pew พบว่ามีพนักงาน 44% พอใจกับโอกาสในการฝึกอบรมและพัฒนาตนเอง แต่พอมาในเดือนตุลาคม 2024 มีเพียง 37% เท่านั้นที่รู้สึกพอใจกับประเด็นนี้
เจาะลึก 3 สาเหตุหลักที่ทำให้วัยทำงานพึงพอใจในงานลดลง
อันดับ1 : ไม่พอใจที่การทำงานยืดหยุ่นกำลังจะหายไป
พนักงานถึง 40% บอกว่าพวกเขาไม่พอใจกับนโยบายความยืดหยุ่นของบริษัทของตน (ยกเลิกการทำงานจากระยะไกล) โดยที่ผ่านมาในปีนี้มีรายงานว่าบริษัทในกลุ่ม Fortune 500 หลายแห่ง เช่น Amazon, Citigroup, Walmart และ UPS ได้ประกาศลดความยืดหยุ่นในการทำงานจากระยะไกลในปีนี้ และกำหนดให้พนักงานต้องเข้าออฟฟิศมากขึ้น การเคลื่อนไหวดังกล่าวก่อให้เกิดการตั้งคำถามของพนักงานในวงกว้าง
อันดับ2 : ไม่พอใจกับโอกาสเลื่อนตำแหน่ง
38% ของพนักงานที่ไม่พอใจในงานของตนนั้น มีสาเหตุมาจากไม่ได้รับโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งในการทำงานอย่างเหมาะสม
อันดับ3 : ไม่พอใจเงินเดือนที่ไม่ปรับตามค่าครองชีพ
เงินเดือนที่ไม่สอดคล้องกับสภาวะสังคมจริงทำให้คนงานไม่มีความสุข โดยความกังวลใจสูงสุดของพวกเขาคือเงินเดือนไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพ (80%) ได้รับค่าจ้างต่ำกว่าคุณภาพ (71%) หรือได้รับค่าจ้างต่ำกว่าปริมาณงาน (70%) ไม่ได้รับค่าจ้างมากพอที่จะจ่ายบิล (54%) หรือได้รับค่าจ้างน้อยกว่าเพื่อนร่วมงานที่ทำงานในลักษณะเดียวกัน (28%)
พนักงาน 76% เผย ทุ่มเททำงานเกินหน้าที่ และผิดหวังกับค่าตอบแทน
นอกเหนือจากความพึงพอใจที่ลดลงเกี่ยวกับสามประเด็นข้างต้นแล้ว พนักงานส่วนใหญ่ยังบอกผ่านผลสำรวจด้วยว่า พวกเขาความพึงพอใจน้อยลง กับข้อเสนอแนะหรือค่าตอบแทนที่ได้รับจากนายจ้าง เมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่นายจ้างได้รับจากการทำงานของพวกเขา ซึ่งส่งผลให้รู้สึกผิดหวังอย่างยิ่ง
เนื่องจากพนักงานวัยผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ถึง 76% รู้สึกว่าตนเองทำงานเกินขอบเขตหน้าที่ หรือเกินจากรายละเอียดของงานที่ทำอยู่ในตำแหน่งปัจจุบัน ที่น่าสังเกตคือ พนักงานรุ่น Gen Z ที่อายุน้อยกว่า 18-29 ปี มีแนวโน้มที่จะรายงานว่า พวกเขาทำงานเฉพาะตามบทบาทหน้าที่ที่ระบุไว้ในตำแหน่งงานเท่านั้น
ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบันเป็นยุคที่ Gen Z ก้าวเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น พวกเขามีอิทธิพลในที่ทำงานมากขึ้น โดยเฉพาะในแง่ของการกำหนดขอบเขตเกี่ยวกับชีวิตส่วนตัวและอาชีพ พวกเขาปฏิเสธแนวคิดเก่าๆ เกี่ยวกับวัฒนธรรมการทำงานแบบเร่งรีบและทุ่มเทให้องค์กรแบบหามรุ่งหามค่ำ
เมื่อมองไปในอนาคตข้างหน้า ตามผลสำรวจข้างต้นรายงานด้วยว่า 1 ใน 4 ของพนักงานกลุ่มตัวอย่าง มีแนวโน้มที่จะมองหางานใหม่ในอีก 6 เดือนข้างหน้า แต่พวกเขาคาดว่าจะมีอุปสรรคสำคัญเกิดขึ้นในระหว่างหางานใหม่ โดยส่วนใหญ่ 52% เชื่อว่า การหางานในปัจจุบันจะยากขึ้นเมื่อเทียบกับโอกาสด้านอาชีพการงานในปี 2022