บุคลากรการแพทย์ Gen Z เจอ Toxic ในที่ทำงาน วางแผนลาออกภายใน 1-3 ปี

บุคลากรการแพทย์ Gen Z เจอ Toxic ในที่ทำงาน วางแผนลาออกภายใน 1-3 ปี

ไปต่อไม่ไหว! บุคลากรการแพทย์รุ่นใหม่เจอ Toxic ในที่ทำงาน งานหนักงานล้นไม่มีขอบเขตงาน เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียม ไม่มีเป้าหมายในงาน เครียดสะสม หมดไฟ สุดท้ายวางแผนลาออกภายใน 1-3 ปี

KEY

POINTS

  • บุคลากรด้านการแพทย์รุ่น Gen Z ในสหรัฐ ราวๆ 22% มีแผนจะลาออกจากสายอาชีพนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาจยิ่งส่งผลให้ขาดแคลนบุคลากรสายงานนี้มากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ
  • ความเครียดและภาวะหมดไฟในการทำงานเป็นสาเหตุสำคัญในการมองหางานอื่น
  • คนรุ่น Gen Z กำลังเผชิญกับภูมิทัศน์การทำงานที่เต็มไปด้วยความท้าทายที่คนรุ่นอื่นไม่เคยเห็นมาก่อน ทำให้แนวคิดเรื่องสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ

ผลสำรวจใหม่ของ Soliant Health ซึ่งได้สำรวจแนวโน้มการจ้างงานในสายอาชีพดูแลสุขภาพ ประจำปี 2024 พบว่า บุคลากรด้านการแพทย์รุ่น Gen Z ในสหรัฐ ราวๆ หนึ่งในห้าหรือประมาณ 22% มีแผนจะลาออกจากสายอาชีพนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า บ่งชี้ว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังจะขาดแคลนบุคลากรมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันใกล้

เมื่อเทียบแนวโน้มการ “ลาออก” ของวัยทำงานสายอาชีพนี้ในแต่ละเจนเนอเรชัน ก็พบว่าคนรุ่นก่อนๆ ที่ทำงานด้านการดูแลสุขภาพและสาธารณสุข (แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ฯลฯ) มีแนวโน้มที่จะลาออกจากงานน้อยกว่าคนรุ่น Gen Z อย่างเห็นได้ชัด

โดยบุคลากรการแพทย์รุ่นมิลเลนเนียล (Gen Y) มีเพียง 5.4% เท่านั้นที่วางแผนจะออกจากสายงานนี้ ส่วนกลุ่มคนรุ่น Gen X ยิ่งมีจำนวนน้อยกว่านั้นมากไปอีก คือมีเพียง 2.5% ที่อยากลาออกจากงาน ในขณะที่กลุ่มคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ที่มีแนวโน้มจะเกษียณอายุเร็วๆ นี้ มีอยู่ที่ประมาณ 15.2% ซึ่งก็ยังต่ำกว่าตัวเลขของคนรุ่น Gen Z อย่างมาก

เมื่อที่ทำงาน Toxic ไม่ว่าจะเป็นบุคลากรการแพทย์หรือสายอาชีพไหนก็อยากลาออก

สำหรับสาเหตุที่ทำให้บุคลากรการแพทย์รุ่นใหม่ มีแนวโน้มอยากลาออกจากงานมากกว่ารุ่นอื่นๆ นั้น เหตุผลอันดับ 1 คือ สภาพแวดล้อมและวัฒนธรรมเป็นพิษในที่ทำงานที่ไม่ดีต่อสุขภาพจิตใจ รวมถึงข้อจำกัดในการก้าวหน้าในอาชีพ ในขณะที่เหตุผลรองลงมา คือ ความเครียดและความเหนื่อยล้าจากการทำงาน

ผู้เชี่ยวชาญและที่ปรึกษาด้าน HR อย่าง ไบรอัน ดริสโคลล์ (Bryan Driscoll) ให้ความเห็นประเด็นนี้ผ่าน Newsweek ว่า บริบทของโลกการทำงานยุคนี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย แต่วัฒนธรรมองค์กรหลายแห่งยังไม่ปรับตาม อีกทั้งคนรุ่น Gen Z พวกเขาคาดหวังในเรื่องความโปร่งใส ความเท่าเทียม และจุดมุ่งหมายในการทำงานที่มีความหมาย เมื่อสถานที่ทำงานไม่สามารถตอบโจทย์เหล่านี้ได้ พวกเขาก็พร้อมจะลาออก

“สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักว่า คนรุ่น Gen Z กำลังเผชิญกับภูมิทัศน์การทำงานที่เต็มไปด้วยความท้าทายที่คนรุ่นอื่นไม่เคยเห็นมาก่อน รวมถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและโรคระบาดทั่วโลก ก็ได้เข้ามาเปลี่ยนแนวคิดเรื่องความสมดุลระหว่างชีวิตกับการทำงาน และสุขภาพจิตไปอย่างสิ้นเชิง” ดริสโคลล์ อธิบาย

เขาตั้งข้อสังเกตอีกว่า จุดแตกหักที่ทำให้คนรุ่นใหม่อยากลาออกจากงานไม่ว่าจะสายอาชีพอะไรก็ตาม นั่นคือ พวกเขาเบื่อหน่ายกับระบบที่ปฏิบัติต่อพวกเขาเหมือนเป็นแค่ทรัพยากรหนึ่งขององค์กร ทั้งที่พวกเขาเป็นมนุษย์ คนรุ่นใหม่อยากได้รับการสนับสนุนในเรื่องขอบเขตการทำงาน พวกเขาเห็นว่าการทำงานแบบไม่ยั่งยืน ไม่ดูแลสุขภาพ สามารถทำลายชีวิตได้ พวกเขาจึงกล้าที่จะให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งจะโทษพวกเขาในเรื่องนี้ได้เหรอ?

ความเครียด-ภาวะหมดไฟ ส่งอิทธิพลสูงในการมองหางานอื่น 

เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว กลุ่มคนรุ่นมิลเลนเนียล คนรุ่น X และคนรุ่นเบบี้บูมเมอร์ ต่างพบว่า ความเครียดและภาวะหมดไฟในการทำงานเป็นสาเหตุสำคัญในการมองหางานอื่น

รอน วอชเบิร์น (Ron Washburn) รองประธานบริหารของ Soliant Health บอกว่า ผลการศึกษาครั้งนี้เน้นย้ำว่ามันมีความจำเป็นเร่งด่วนที่นายจ้างของสายอาชีพนี้ ต้องเร่งจัดการกับความเครียดที่ส่งผลกระทบต่อพนักงานและบุคลากรของตน 

สิ่งสำคัญคือต้องตระหนักถึงแรงจูงใจและความท้าทายด้านอาชีพการงาน ที่บุคลากรด้านกรแพทย์รุ่น Gen Z กำลังเผชิญ นายจ้างต้องปรับตัวให้เข้ากับค่านิยมที่เปลี่ยนแปลงไปเหล่านี้ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีความยืดหยุ่นและสามารถทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ขณะที่ดริสคอลล์ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า หากแนวโน้มการลาออกนี้ยังคงดำเนินต่อไป อุตสาหกรรมการแพทย์และการดูแลสุขภาพอาจเผชิญกับวิกฤติขาดแคลนบุคลากรที่มีพรสวรรค์ได้ แต่หากมองในแง่ดี การที่คนรุ่นใหม่ลาออกจากสายงานนี้จำนวนมาก อาจบังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระบบโครงสร้างของการทำงานได้จริง ในอนาคตอาจได้เห็นภาพว่า บุคลากรทางการแพทย์มีสภาพการทำงานที่ดีขึ้น ฝ่ายบริหารมีการลงทุนด้านความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานอย่างแท้จริง ซึ่งจะนำไปสู่เส้นทางอาชีพที่ยั่งยืนมากขึ้น